Social Enterprise หรือ กิจการเพื่อสังคม เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ท้าทายและต้องใช้ใจทำงานเพื่อความสุขของผู้อื่น อยู่ตรงกลางระหว่างนักธุรกิจและนักสงคมสงเคราะห์ เพราะการดำเนินกิจการเพื่อสังคมนั้นมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดไปพร้อมกับการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคม
กิจการเพื่อสังคม เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นและเป็นแนวโน้มที่ดีมากในการช่วยแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน วันนี้ FAVFORWARD ขอหยิบยก 6 คำแนะนำจากคนรุ่นใหม่ในวงการอย่าง คุณกิ๊ฟ-ปรีห์กมล จันทรนิจกร แห่งกิจการเพื่อสังคม Ma:D มาให้ได้ลองสำรวจทบทวนตนเองกันดู ว่าคุณมีโอกาสประสบความสำเร็จในฐานะผู้ประกอบการเพื่อสังคมมากแค่ไหน
คุณมีความรู้สึกว่า การได้ออกไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อม น่าสนุกกว่าการนั่งทำงานอะไรทั่วๆไป
นี่แหล่ะคือจุดเริ่มต้นของความคิด แน่นอนว่าความคิดนี้เป็นอะไรที่มากกว่าการหลีกหนีจากความจำเจ การจะเป็นผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมนั้น ต้องมีความต้องการมากกว่าการเป็นผู้ประกอบการทั่วๆ ไป คือ ต้องมีความรู้สึกอย่างแรงกล้าที่อยากแก้ไขปัญหาที่อยู่ใกล้ตัวมากพอที่จะลงมือทำกิจการเพื่อสังคมของตัวเอง เพื่อจะช่วยแก้ไขหรือบรรเทาปัญหานั้นๆ เพราะเพียงแค่ความต้องการมีกิจการส่วนตัวนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้คุณเป็นผู้ประกอบการทางสังคมที่ประสบความสำเร็จได้
คุณมีความเข้าใจในปัญหาที่คุณอยากแก้ไขมากพอ
การจะเป็นผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมที่ดีนั้น ต้องเริ่มจากการศึกษาหาข้อมูล ลงลึกให้ถึงต้นตอของปัญหา ถามไถ่คนในพื้นที่หรือผู้ที่เกี่ยวข้องหรือ คนที่คิดว่าจะมาเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจของคุณ รวมถึงมีความชัดเจนว่า คุณต้องการแก้ปัญหาในด้านใด โดยไม่ได้จำกัดยู่แค่เพียง ด้านชุมชน ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตเท่านั้น
คุณพร้อมจะให้กำลังใจตัวเอง
การทำงานกับชุมชน สังคม และผู้คนมากมาย ไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาเหล่านั้นอาจจะไม่ได้อ้าแขนรับความหวังดีของคุณ กลุ่มคนที่คุณอยากช่วยเหลืออาจไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง แม้ว่าสิ่งที่คุณนำเสนอจะสามารถช่วยพวกเขาให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ การเป็นผู้ประกอบการนั้นสามารถเพิ่มความกดดันให้กับตัวคุณเองได้มากกว่าชีวิตการทำงานแลกค่าตอบแทนเสียอีก เพราะสิ่งที่คุณกำลังทุ่มเทแรงกายและแรงใจให้นั้นเป็นสิ่งที่คุณใส่ใจและให้ความสำคัญจริงๆ คุณจึงมีโอกาสที่จะเกิดความเครียดได้ง่ายมากจากการคาดหวังและกดดันตัวเอง คุณจึงต้องรู้จักให้อภัย และให้กำลังใจตนเองอย่างสม่ำเสมอหากสิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้
คุณเป็นคนรู้จักปรับตัว เปิดใจ และไม่ยึดติด
ในบางครั้งคุณอาจมีไอเดียตั้งต้นที่เป็นแรงผลักดันให้คุณได้เริ่มกิจการเพื่อสังคมของตัวเอง อาจมีหลายอย่างที่อยู่เหนือการควบคุมของคุณ เช่นเดียวกับการทำธุรกิจทั่วไป คุณต้องพร้อมรับความเสี่ยงและรู้จักปรับตัวไปตามสถานการณ์ ไอเดียที่คุณเคยคิดว่าต้องเวิร์คแน่ๆ ก็อาจจะไม่เวิร์คอย่างที่คิด แต่คุณพร้อมที่จะลองผิดลองถูก ไม่ยึดติดกับทฤษฎีโครงสร้างความสำเร็จของคนอื่น ด้วยการพยายามมองหาไอเดียหรือกลยุทธ์ใหม่ๆ ของตัวเอง ระหว่างทางคุณอาจพบเจอมุมมองใหม่ๆ ที่อาจจะทำให้กิจการเพื่อสังคมของคุณมีคุณค่าและทำประโยชน์ให้สังคมหรือให้โลกนี้ได้มากกว่าที่คุณตั้งใจไว้แต่แรกเสียอีก แต่เป้าหมายของคุณต้องชัดเจนพอที่จะเป็นแนวทางให้ตัวคุณเองได้
คุณรู้ตัวและเชื่อมั่นว่าคุณมีดีพอ
อย่าไปเปรียบเทียบกับคนอื่น บางทีคุณอาจจะยังไม่สามารถพูดได้เต็มปากหรอกว่าคุณเก่งเรื่องอะไรจริงๆ จนกว่าจะได้ลงมือทำมัน แต่คุณควรตั้งใจที่จะดึงทักษะที่คุณคิดว่าคุณมีดี (และอาจจะมีดีมากกว่าคนอื่นๆ หลายคนเสียด้วยซ้ำ) มาใช้ในการเริ่มต้นธุรกิจ มาจับเข้ากับประเด็นปัญหาที่คุณเลือก ที่สำคัญคุณต้องมีความมุ่งมั่นที่จะทำมันอย่างเต็มความสามารถ
คุณชอบที่จะพบปะทำความรู้จักกับคนและความคิดใหม่ๆ
การเดินทางสู่ความเป็นผู้ประกอบการกิจการเพื่อสังคมนั้นเป็นหนทางที่เต็มไปด้วยมิตรภาพ อาจมีคนอีกหลายคนที่มีอุดมการณ์ร่วมกับคุณอยู่ตอนนี้ก็ได้ ในประเทศไทยยังมีเครือข่ายผู้ประกอบการเพื่อสังคมหรือผู้ที่อยากทำกิจการเพื่อสังคมอีกมากมายที่รอให้คุณได้ทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนมุมมอง เป็นทั้งผู้ที่สามารถให้คำแนะนำปรึกษาและร่วมผลักดันอุดมการณ์ให้เกิดเป็นผลที่จับต้องได้ด้วยทักษะความสามารถที่ส่งเสริมและแลกเปลี่ยนกันได้
สำหรับใครที่มีความฝันอยากมีกิจการเพื่อสังคมของตนเองและร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับสังคม ลองลบความคิดที่ว่าไม่พร้อมและความกลัวออกไป แล้วเริ่มต้นสานฝันให้ตัวเองตั้งแต่นาทีนี้ได้เลยครับ