อนาคตมาแน่ 5 วิธีซื้อสินค้าแนวใหม่ ให้อิสระในการช้อปเลือกได้ตั้งแต่อยู่บ้าน – หน้าร้าน

ร้านค้าสะดวกซื้ออาจสั่นสะเทือน เมื่อพนักงานที่เป็นมนุษย์อาจถูกลดบทบาทลงให้เหลือเพียงแค่พนักงานจัดส่งไม่ต้องพูดคุยเจรจากับลูกค้าอีกต่อไป เมื่อช่วงต้นปีหลายๆ บริษัทเริ่มวางแผนเสิร์ฟความสบายให้ลูกค้ามากขึ้นกับไอเดียการเลือกซื้อของเข้าบ้าน ตั้งแต่ของใช้ในชีวิตประจำวันไปจนถึงเสื้อผ้า ของแต่งบ้านหรือของชิ้นใหญ่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการ

1. Amazon Go: ไม่ต้องมีแคชเชียร์ ไม่ต้องต่อคิวจ่ายเงิน ไม่ต้องเสียเวลากับการช้อปปิ้งแบบเดิมๆ

ถ้าคุณยังอยากมีประสบการณ์เดินเลือกซื้อสินค้าแบบเก่า แต่เบื่อหน่ายกับการต่อแถวจ่ายเงินสินค้า บริการใหม่นี้ได้ผสมผสานทั้งสองสิ่งเข้าไว้ด้วยกัน เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา Amazon เปิดคอนเซ็ปต์สโตร์ “Amazon Go” ซุปเปอร์มาร์เก็ตอัจฉริยะ ซื้อของไม่ต้องหยิบเงินจ่าย และไม่ต้องต่อแถว ภายใต้แนวความคิดผสมผสานธุรกิจแบบ “E-Commerce” เข้ากับ “Brick-and-mortar” (หน้าร้าน ตั้งอยู่ตามทำเลต่างๆ) โดยมี “เทคโนโลยี” เป็นตัวเชื่อมต่อ เพื่อสร้างสิ่งที่เรียกว่า “Seamless Shopping Experience” ให้กับผู้บริโภค Amazon Go จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังมีห้องครัวและเชฟทำเมนูอาหารเช้า – กลางวัน – เย็น และขนมสดใหม่ทุกวัน

ความน่าสนใจของ “Amazon Go” อยู่ตรงที่การนำ “เทคโนโลยี” ประเภทเดียวกับเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ มาสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งรูปแบบใหม่ ที่ลูกค้าสามารถบริหารจัดการการช้อปปิ้งได้ด้วยตัวเองตั้งแต่ต้น จนจบกระบวนการซื้อสินค้า โดยไม่ต้องเสียเวลาเข้าคิวจ่ายเงินอีกต่อไป ขั้นตอนง่ายๆ เพียงแค่ก่อนเข้าร้าน ลูกค้าเปิดแอปพลิเคชั่น Amazon Go แล้วสแกนแอปพลิเคชั่นผ่านทางเข้าหน้าร้าน จากนั้นก็เดินเลือกสินค้าต่างๆ โดยในร้านมีเทคโนโลยี Computer Vision, Sensor Fusion และ Deep Learning ทำหน้าที่ติดตามและประมวลผลการจับจ่ายของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ ดังนั้น ไม่ว่าลูกค้าจะหยิบสินค้าประเภทไหน หยิบจำนวนเท่าไร ราคาเท่าใด หรือแม้แต่หยิบมาแล้ว แต่เปลี่ยนใจไม่เอา นำไปวางที่ชั้นวาง เทคโนโลยีดังกล่าวจะติดตามการช้อปปิ้งของลูกค้า จากนั้นเมื่อซื้อสินค้าเสร็จ ก็เดินออกจากร้านได้ทันที เพียงไม่นาน ระบบจะตัดเงินผ่าน Amazon Account และส่งใบเสร็จมาให้ ซึ่งคาดว่าคอนเซ็ปต์นี้น่าจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2017 ที่ซีแอตเทิลเป็นที่แรก และเตรียมขยายสาขาไปทั่วสหรัฐอเมริกาในอีกไม่นาน

2. Tesco’s Homeplus : ซื้อของผ่านซุเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ Virtual Store ในสถานีรถไฟใต้ดิน

มันเกิดขึ้นแล้วที่เกาหลีใต้ เพราะชีวิตคนเมืองมันยุ่งยากนัก ไหนจะต้องรีบออกไปแต่เช้าเพื่อทำงาน ตกเย็นก็ต้องรีบกลับบ้านฝ่ารถติดเอย ประชากรมนุษย์เงินเดือนเอย จะเอาเวลาที่ไหนเหลือสำหรับการซื้อของเข้าบ้าน Tesco จึงปิ๊งไอเดียเพื่อผู้บริโภค เปลี่ยนพื้นที่ป้ายโฆษณาบริเวณรถไฟใต้ดินให้เป็นร้านซุเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ซะเลย ในรูปแบบ Virtual Store โดยจะโชว์สินค้าและราคาล่าสุดบนหน้าจอ เพียงคุณ ใช้มือถือถ่าย QR Code เพื่อสั่งซื้อสินค้าตามความต้องการ แล้วของจะจัดส่งถึงบ้านได้ทันที เป็นการช่วยประหยัดเวลาในการไปเลือกซื้อสินค้า และให้คุณสามารถใช้เวลาที่เหลือไปทำกิจกรรมอื่นๆ ได้สะดวกสบายไร้กังวลยิ่งขึ้น หลังจากเปิดใช้ Tesco’s Homeplus ก็มียอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราก้าวกระโดด ความสำเร็จของโครงการนี้สามารถเพิ่มยอดขายให้บริษัท เป็น 130% ในสามเดือน และจำนวนของผู้ใช้ที่ลงทะเบียนเพิ่มขึ้น 76% เทสโก้ โฮมพลัส เป็นหนึ่งร้านค้าปลีกออนไลน์ในประเทศเกาหลีใต้และลดช่องว่างระหว่างพวกเขา และ E – Mart ที่สุดยอด


3. “Drive Market” ไอเดียขับ ช้อป จ่าย ไม่ต้องจอด ผูกขาดการช้อปด้วยการซื้อแบบไม่ต้องลงจากรถ

แค่บริหารเวลาแต่ละวันก็เหลือไม่พอที่จะไปเดินจ่ายตลาดเพื่อซื้อของเข้าบ้านแล้ว แต่ไอเดียนี้จะช่วยให้คุณประหยัดเวลา เพลินเพลินกับการจ่ายตลาดแบบไม่ต้องเดินหาให้เปลืองพลังงาน ภายใต้คอนเซ็ปต์ใหม่ของซุปเปอร์มาเก็ตแห่งอนาคต ที่ถูกออกแบบโดยชาวรัสเซียภายใต้ชื่อว่า “Drive Market”ิเหมาะสำหรับคนที่รักความสะดวกสบายและมีเวลาจำกัดในการช้อปปิ้ง Drive Market ออกแบบให้สามารถขับรถยนต์เข้าไปจอดเทียบที่ช้อปปิ้งสินค้าได้เลย จากนั้นกดปุ่มเลือกของที่ต้องการบนเชลฟ์ ของแต่ละประเภทจะทยอยเลื่อนลงมาให้คุณเลือก เมื่อได้ชิ้นที่เราต้องการ ให้ส่งต่อวางลงไปยังสายพานเพื่อทำการชำระเงิน แต่ระบบนี้ทำมาเพื่อลูกค้าที่ต้องการซื้อของจำนวนน้อย และไม่อยากลงไปเดินเข็นรถเข็นช้อปปิ้งให้เสียเวลา ข้อดีของระบบนี้นอกจากซื้อง่าย สะดวกรวดเร็ว พนักงานยังสามารถเติมสต็อคได้คล่องและอำนวยความสะดวกได้ทั่วถึง ไม่ต้องคอยเดินเช็คสินค้าให้เสียเวลา หลังจากลูกค้าเลือกของและจ่ายเงินเสร็จ ก็รับของและขับรถออกไปได้เลย น่าเสียดายว่าโครงการนี้ยังเป็นเพียงคอนเซ็ปต์สโตร์ที่รอการลงทุนจริงอยู่ ต้องลุ้นว่าเราจะได้เห็นโปรเจ็คต์ดีๆ แบบนี้ในบ้านเราบ้างรึเปล่านะ

4. Digitally-Enhanced Flagships สร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งแนวใหม่ในแฟลคชิพที่ผสมผสานความเป็นดิจิตอล

เพราะนักช้อปปิ้งที่ชอบเข้าร้านแบรนด์ต้องการความสะดวกสบายและประสบการณ์ที่ดีในการเลือกซื้อสินค้า ฉะนั้นการนำระบบดิจิตอลในการขายเข้ามา จะช่วยกระตุ้นต่อมความอยากให้กับผู้บริโภคมากขึ้น การได้สัมผัสเนื้อผ้าหรือลองใส่ชุดสำหรับในโลกปัจจุบันอาจยังไม่พอ หากคุณได้เห็นดีเทลตั้งแต่วิธีการผลิต สัดส่วนขององค์ประกอบบนชุดอย่างละเอียด รวมถึงตัวอย่างโมเดลที่ใส่ออกมาให้เห็น ก่อนที่คุณจะตัดสินใจซื้อ ถูกนำมาทดลองใช้แล้วในแฟลคชิพสโตร์ของ Burberry จริงๆ แล้วแบรนด์เบอร์เบอรี่มีการผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังมาหลายปีแล้ว แต่เมื่อเวลาประจวบเหมาะโลกเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างเต็มตัว นั่นทำให้ทุกคนเห็นศักยภาพที่แบรนด์ทำออกมาได้อย่างเต็มที่ เบอร์เบอรี่เปลี่ยนกระจกส่องเป็นจอดิจิตอล แวดล้อมด้วยเสียงเพลงจากการแสดงสดที่ถ่ายผ่านจอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่ องค์ปประกอบทั้งหมดทั้งมวลภายในร้านแสดงให้เห็นแล้วว่าช่วยกระตุ้นการช้อปของลูกค้าได้มากขึ้นเป็นเท่าตัว และเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนออกมาจับจ่ายในร้านมากกว่าการสไลด์เลือกออนไลน์ผ่านหน้าจอที่บ้าน

5. VRetail ช้อปปิ้งผ่าน VR

ไม่ใช่ทุกคนที่มีบ้านอยู่ในเมืองและใกล้ย่านช้อปปิ้งสินค้าต่างๆ เราลืมคนที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดกับการต้องใช้เวลาเป็นจำนวนมากในการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาซื้อของในเมืองสักครั้งรึเปล่า และนั่นคือที่มาของ VRetail ซึ่งใช้ความเป็นจริงเสมือนเพื่อจำลองประสบการณ์ของแบรนด์และนำไปสู่ความสามารถในการซื้อสินค้าในร้านค้าที่มีการจัด vCommerce เป็นสิ่งต่อไป เพิ่มประสบการณ์การช้อปปิ้งที่ไร้รอยต่อของอีคอมเมิร์ซและเทคโนโลยีอนาคตของ VR แน่นอนว่าตอนนี้เราใช้เครื่อง VR เพื่อดูหนังและเล่นเกม แต่ตอนนี้ VR ได้แสดงความสามารถในการพาคุณไปหยิบจับเลือกซื้อสินค้าจากภาพเสมือน แม้จะไม่สนุกเท่าไปเห็นด้วยตาและลองสวมใส่ แต่การช้อปแบบนี้ก็ช่วยร่นระยะเวลาในการเดินทางได้มากทีเดียว

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.