The Stories เพราะโลกนี้ยังมีเรื่องเล่า : ภาษา กาแฟ
สมัยเรียนอาจารย์ภาษาไทยมักเล่าเรื่องน่าขันของภาษาในสมัยก่อนให้ฟัง รู้หรือไม่ว่า ก่อนเราจะบัญญัติศัพท์คำว่า “โทรเลข” ในพจนานุกรมนั้น เราเคยพูดทับศัพท์คำว่า “telegraph” คำในภาษาอังกฤษว่า “ตะแล๊บแก๊บ” มาก่อน (ฟังดูก็น่ารักดีนะ) แทนการออกเสียงว่า “เทเลกราฟ” อย่างสำเนียงของคนไทยในปัจจุบัน นั่นเป็นเพราะ คนไทยในสมัยก่อนไม่ถนัดพูดภาษาอังกฤษ จึงนิยมเรียกคำภาษาอังกฤษให้คล่องปาก ฟังสนิทหู และมักลากเอาภาษาอังกฤษมาเป็น ภาษาของตนที่ออกเสียงง่ายๆ เข้าใจง่ายๆ ในหมู่คนไทยด้วยกันเอง ฝรั่งได้ยินคงอดขำกับความช่างประดิดคำของคนไทยไม่ได้
นอกจากคำว่า “ตะแล๊บแก๊บ” แล้ว ยังมีคำอื่นๆ ที่คนไทยได้ลากคำต่างประเทศมาแปลงเป็นภาษาเรียกแบบไทยได้อย่างรื่นหู หนึ่งในนั้นคือ “ข้าวแฝ่” หรือ “กาแฟ” ชื่อเรียกเครื่องดื่มยอดนิยมในปัจจุบัน แต่ใช่เพียงคนไทยที่ลากคำมาใช้อย่างคล่องปากเท่านั้น ชนชาติอื่นก็เช่นกัน เรามาตามอ่านกันต่อว่า “กาแฟ” มีต้นกำเนิดมาจากคำว่าอะไร และแต่ละประเทศเรียกกาแฟว่าอย่างไร
ที่มา และ ภาษา ของกาแฟ
เมื่อสมัยพันกว่าปีก่อน ชาวอาหรับจะเรียกกาแฟว่า “Qahwa – เกาะหุวะหุ” สันนิษฐานมาจากคำว่า “Kaffee” แหล่งปลูกกาแฟในแคว้นคัฟฟาของเอธิโอเปีย ที่มีการค้นพบกาแฟเป็นแห่งแรกของโลก หรืออีกทางหนึ่งอาจมาจากคำว่า “qqahwat al-būnn” ในภาษาอารบิก อันหมายถึง “Wine of the bean – ไวน์แห่งถั่ว” แล้วเพี้ยนเป็น “กาห์เวห์” ในภาษาตุรกี หมายถึง “พระผู้เป็นเจ้า” ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ก่อนที่จะมาเป็นคำว่า “Caffe” ในภาษาอิตาเลียน และเป็นคำว่า “Coffee – คอฟฟี่” ในภาษาอังกฤษ ส่วนคนจีนแต้จิ๋วเรียกว่า “โกปิ๊”
วิวัฒนาการทาง ภาษา กาแฟ ในเมืองไทย
ใน จดหมายเหตุลาลูแบร์ โดยซีมง เดอ ลา ลูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาทูลพระราชสาส์น ณ ประเทศสยาม ได้พรรณนาถึงกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อพ.ศ. 2230 รวมถึงกล่าวถึงว่า “พวกแขกมัวร์ชอบดื่มกาแฟมาก” แต่ไม่มีหลักฐานอื่นใดที่แสดงให้ชัดกว่านี้ว่า กาแฟถูกนำเข้ามาในไทยตั้งแต่สมัยไหน ใครเป็นผู้นำเข้ามา และคนไทยในสมัยนั้นเรียก “กาแฟ” ว่าอย่างไร
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ มีปรากฏอยู่ในหนังสือ “สัพพะวัจนะภาษาไทย” ของบาทหลวงปาเลอกัว ฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2397 ในสมัยรัชกาลที่ 4 หรือเมื่อกว่า 160 ปีที่แล้ว จะเรียกกาแฟว่า “ข้าวแฟ” แล้วเพี้ยนเสียงมาเป็น “ข้าวแฝ่” “กาแฝ่” และ “กาแฟ” ในท้ายที่สุด
มาจนถึงยุคปัจจุบัน เรามักได้ยินคนรุ่นใหม่นิยมสั่งกาแฟในร้านหรูย่านสยามสแควร์ว่า “ขอ ไอซ์ คอฟฟี่ ลาเต้ หวานน้อย หนึ่งแก้ว” เป็นการทับศัพท์ภาษาอังกฤษ แทนที่จะสั่งว่า “ขอ กาแฟเย็นใส่นม หวานน้อย หนึ่งแก้ว” หรืออาจเป็นเพราะการเรียกแบบแรกจะคล่องปากและสนิทหูมากกว่า สำหรับคนในยุคศตวรรษที่ 21 ไปแล้ว แต่จะบอกไว้ก่อนว่า ขืนมาสั่งตามแบบแรกที่ร้านกาแฟของอาเจกแถวบ้าน มีหวังโดนไล่ให้ไปสั่งร้านอื่นแทน เพราะคนรุ่นเก่าฟังแล้วไม่สนิทหูเช่นกัน ดูเหมือนเป็นเรื่องน่าขันนะครับ ว่ามั้ย เดี่ยวนี้จะสั่งกาแฟหนึ่งแก้ว ต้องดูร้านและตามใจคนชงด้วย เอาเป็นว่า ปรับตัวตามยุคตามสมัยละกันครับ
photo : pixabay