Dos and Don’ts in Thailand 2 สิ่งที่(ไม่)ควรกราบ

The Stories เพราะโลกนี้ยังมีเรื่องเล่า : #กราบรถ

จริงๆ แล้ว การกราบ นั้นเป็นวัฒนธรรมอันดีงามของไทยที่ควรปฏิบัติ แต่เหตุอันใดที่คนไทยบางคนถึงหลงลืม แล้วใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร เรามาทบทวนความจำกันหน่อยดีมั้ย

การกราบ ถือว่าเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง มี 2 สิ่งที่ควรกราบ คือ กราบพระ และการกราบผู้ใหญ่ เท่านั้น ผู้ใหญ่ในที่นี้ หมายถึง ผู้ที่มีอาวุโสกว่า รวมทั้งผู้มีพระคุณ ได้แก่ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ครูบาอาจารย์ และบุคคลที่เราเคารพ

สองวันที่ผ่านมา สเตตัสในโซเชียลมีแต่เรื่อง #กราบรถ ขึ้นเป็น hashtags อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ ในช่วงระยะเวลาเพียงข้ามคืน

เรื่องนี้มีที่มาจากกระแสดราม่าเรื่อง ดารา พิธีกรชายคนหนึ่ง สั่งคู่กรณีให้ #กราบรถ หลังเกิดเหตุเฉี่ยวชนกันระหว่าง รถมินิสีเหลืองของหนุ่มเลือดร้อน และรถมอเตอร์ไซต์ของคู่กรณี จนกลายเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องข้ามวันหยุด แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เรื่อง “กราบ” กลายเป็นประเด็นร้อนข้ามสัปดาห์ ถ้ายังจำกันได้ เมื่อไม่กี่เดือนก่อนก็เกิดกระแสดราม่า #แอร์กราบ มาแล้ว ยังพอจำกันได้เนอะ ใครว่า คนไทย ลืมง่าย จริงมั้ย

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมานานแล้ว คือ คนไทยเสพติดความดราม่าอย่างไร้สติ จริงๆ ก็น่าจะหมดไปจากสังคมไทยเสียที โดยเฉพาะในโลกโซเชียล ที่มีนักเลงคีย์บอร์ดใช้คำจาบจ้วง หยาบคาย อย่างน่าละอาย ไม่ต่างอะไรกับคนสั่งกราบอย่างขาดสติ เลยแม้แต่น้อย หรืออาจแย่กว่าด้วยซ้ำไป เพราะอย่าลืมว่า “เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง” และไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ทั้งที่เกิดเหตุและบนโรงพัก อีกทั้งเราเองก็ไม่รู้จักคู่กรณีทั้งสองเป็นอย่างดีมาก่อน แถมบางคนน่าละอายยิ่งกว่า จาบจ้วงไปถึงบุพการีและคนรอบข้างด้วยถ้อยคำที่รุนแรง จนเลยเถิดไปถึง การคุกคามสิทธิอย่างไร้ความชอบธรรม ด้วยการขว้างปาข้าวของใส่บ้านคนอื่น นี่ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปัญหาบานปลาย และนำไปสู่การสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคม

ที่กล่าวมานั้นไม่ใช่ปกป้อง “คนทำผิด” แต่อย่างใด และขอบอกอีกทีว่า คนสั่งกราบและทำร้ายร่างกายคู่กรณี ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ และเป็นความผิดทางอาญาที่ควรได้รับโทษทางกฎหมาย แต่ไม่ใช่กฎหมู่

… แล้วเราควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก

ในฐานะ “ผู้ดู” ไม่ใช่ “ผู้ทำ” เช่นเรา ก็ควรจะดูด้วยความเป็นกลางอย่างมีสติ “ผิด ก็ว่าไปตาม ผิด” แต่อย่าลืมว่า เขาเองก็เป็นผู้ถูกกระทำด้วยเช่นกัน ทรัพย์สินของเขาเสียหาย ทั้งยังถูกบั่นทอนจิตใจจากบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องอีกด้วย เรื่องนี้ปล่อยให้กฎหมายได้ทำงานดีกว่า ส่วนผลจะเป็นเช่นไร เราก็ยังคงเป็น “ผู้ดู” อยู่เช่นเดิม

และในเวลานี้เราคงได้เห็นแล้วว่า สังคมก็กำลังสอนเขาอยู่ เราต้องไม่ลืมว่า ทุกคนย่อมเคยทำผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น และเขาก็ออกมายอมรับผิดชอบในส่วนที่เขาพลาดไปแล้ว “การให้อภัย” จะช่วยให้เขาได้เรียนรู้ “ความผิดพลาด” พร้อมทั้งสอนให้เขาได้รู้จักกับคำว่า “ความละอาย” ในเหตุที่พลั้งเผลอขาดสติไป และที่สุดแล้ว “การให้โอกาส” จะช่วยให้เขามีที่ยืนในสังคม ดำเนินชีวิตต่อไปอย่าง “มีสติ” มากขึ้น และย้ำเตือนถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมาว่าจะ “ไม่หวนไปทำพลาดซ้ำอีก”

สุดท้ายนี้ เรายังคงเชื่อว่า “มนุษย์เป็นผู้ฝึกตนได้” เพียงขอเวลาให้เขาพิสูจน์ตัวเองสักหน่อย

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.