มาทำความรู้จักกับ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา กันเถอะ

มาทำความรู้จักกับ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา กันเถอะ

หลายๆคนคงเคยได้ยิน โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา กันใช่ไหมครับ แต่จะมีสักกี่คนที่จะทราบว่า โครงการนี้มีที่มาอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไรกับประชาชนชาวไทย วันนี้ทาง Favforward หาคำตอบมาให้แล้วครับ

จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมพสกนิกรในพื้นที่ต่างๆ ด้วยทรงปรารถนาจะได้เห็นประชาชนอยู่ดีมีสุขตามสมควรแก่อัตภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบอาชีพทางด้านเกษตรกรรม ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพหลักของประเทศไทยมาช้านาน จึงทำให้เกิด “โครงการส่วนพระองค์เกี่ยวกับการเกษตร สวนจิตรลดา” ภายในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นราชฐานที่ทรงประทับในปี พ.ศ. 2504

โดยโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา นั้นจะมุ่งเน้นการดำเนินงานโดยยึดแนวพระราชดำริของพระองค์เกี่ยวกับ “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน ให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และได้มีการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยกระบวนการผลิตที่ง่าย แต่มีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลารวมไปถึงค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ โดยดำเนินการภายใต้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มีการศึกษา ทดลองเก็บรวบรวมข้อมูล ก่อนที่จะเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ประชาชน และผู้ที่สนใจทั่วไปให้ได้นำไปใช้กัน

การดำเนินการของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดานั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 โครงการหลักๆได้แก่

1.โครงการที่ไม่ใช่ธุรกิจ

เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการต่างๆที่สนองพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาด้านเกษตรควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผลงานที่เด่นๆในโครงการนี้ก็ได้แก่

ป่าไม้สาธิต เป็นการนำพันธุ์ไม้ต่างๆภายในประเทศ เช่น หวาย หว้า มะเดื่อ ไทร ฯลฯ มาปลูกเพิ่มเติมในลักษณะป่าไม้สาธิต เพื่อเป็นการจำลองป่าไม้ภาคต่างๆของประเทศมาไว้ให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเรื่องระบบพันธุ์ไม้

นาข้าวทดลอง เป็นการนำข้าวสายพันธุ์ต่างๆจากทั่วประเทศมาทดลองปลูกในนาข้าวทดลอง ทั้งแบบนาดำ และนาหว่านที่ปลูกในพื้นที่ลุ่มมีน้ำขัง รวมไปถึงนาหยอดหลุมซึ่งเป็นลักษณะการทำนาบนที่ดอนแบบชาวเหนือ โดยมีพันธุ์ข้าวเจ้าและข้าวเหนียวรวมกันทั้งสิ้นกว่า 50 สายพันธุ์ในแปลงทดลอง ซึ่งผลผลิตที่ได้นอกเหนือจากการเก็บรักษาและพัฒนาสายพันธุ์ในกรมการข้าวแล้วนั้น พระองค์ยังได้นำข้าวบางส่วนไปใช้ในพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และได้บรรจุถุงเป็น พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน เพื่อแจกจ่ายแก่เกษตรกรให้เป็นขวัญและกำลังใจพร้อมทั้งนำกลับไปเพาะปลูกในที่นาของตนอีกด้วย

การเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลานิล เกิดจากความเป็นห่วงพสกนิกรถึงสุขภาพอนามัยและฐานะของประชาชนส่วนใหญ่นั้นยังยากจน การบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่นั้นย่อมลำบากในการจะหาเนื้อสัตว์ที่มีสารอาหารประเภทโปรตีนมารับประทาน เนื้อสัตว์ที่หาได้ง่ายตามแหล่งธรรมชาติส่วนใหญ่ในขณะนั้นคือ เนื้อปลา แต่ด้วยจำนวนปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ลดลงเรื่อยๆ จึงทรงมีพระราชดำรัสให้กรมประมงนำปลาตระกูล (Tilapia) มาทดลองเลี้ยงในสระน้ำหน้าพระที่นั่งอุดรในบริเวณพระอัมพรสถาน ซึ่งได้พัฒนาและปรับปรุงสายพันธุ์ให้เหมาะสมกับประเทศไทย รวมไปถึงพระราชทานชื่พันธุ์ปลาให้ว่า ปลานิล โดยในปัจจุบันกรมประมงได้ทำการปรับปรุงสายพันธุ์ของปลานิลทั้งหมด 3 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนาม สายพันธุ์จิตรลดา 1 , 2 และ 3 ที่ได้แจกจ่ายให้ประชาชนนำไปขยายพันธุ์และบริโภคสืบไป

2.โครงการกึ่งธุรกิจ

เป็นโครงการที่มีกระบวนการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตร และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในราคาที่ไม่หวังผลกำไร โดยจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือการมุ่งเสริมให้ประชาชนบริโภคสินค้าที่ผลิตได้ภายในประเทศ และนำรายได้จากการจัดจำหน่ายมาบริหารจัดการภายในโครงการต่อไป ผลงานที่เด่นๆในโครงการนี้ก็ได้แก่

โรงโคนมสวนจิตรลดา เริ่มมาจากปีพ.ศ. 2503 ที่พระองค์ได้ทรงเสด็จดำเนินประพาสประเทศเดนมาร์ค และได้ศึกษาเรื่องการทำฟาร์มโคนมเพื่อเป็นอาชีพใหม่ให้แก่เกษตรกรชาวไทย ต่อมาพระองค์ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการดำเนินการจัดสร้างโรงโคนมขึ้นเป็นที่แรกในประเทศ จนถือเอาวันที่ 16 มกราคมของทุกปี เป็นวันโคนมแห่งชาติ และเกษตรกรยังถือว่าอาชีพเลี้ยงโคนม เป็นอาชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศอีกด้วย ในระยะแรกนั้นโรงโคนมสวนจิตรลดามีโคนมทั้งสิ้น 6 ตัว และจำหน่ายน้ำนมที่เหลือแก่ข้าราชบริพารภายในพระตำหนักสวนจิตรลดาในราคาถูก ครั้นเมื่อแม่โคมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีจึงได้นำกำไรสะสมจากการขายให้แก่บุคคลภายนอกและโรงเรียนบริเวณใกล้เคียงมาพัฒนาภายในโครงการฯต่อไป

โรงนมผงสวนดุสิต เกิดจากภาวะน้ำนมโคล้นตลาดในปี 2512 พระองค์จึงริเริ่มสร้างโรงนมผงขนาดย่อมเพื่อการแปรรูปขึ้น โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินการเพื่อศึกษาค้นคว้าและแปรรูปนมผงที่ล้นตลาด ซึ่งในปัจจุบันนั้นโรงนมผงสวนดุสิตสามารถผลิตนมผงได้ประมาณ 900 กิโลกรัมต่อวัน

โรงนมเม็ดสวนดุสิต นมเม็ดสวนดุสิตเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์โครงการหลวง ที่ชาวต่างชาติชื่นชอบและมักจะซื้อกลับไปเป็นของฝากยังประเทศของตน (โดยเฉพาะชาวจีน) ซึ่งโรงนมเม็ดสวนดุสิตนั้นได้เริ่มทำการทำลองผลิตนมอัดเม็ดเมื่อปีพ.ศ. 2527 อันเนื่องมาจากการส่งเสริมด้านโภชนาการให้ประชาชนของพระองค์ได้บริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี ราคาถูก อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการผลิตนมผงภายในประเทศอีกด้วย

นอกจากนี้ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ยังมีโครงการอื่นๆที่เป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรชาวไทยอีกมากมาย นับเป็นโชคดีของชาวไทยที่ได้เกิดภายใต้ร่มพระบารมีของกษัตริย์นักพัฒนาพระองค์นี้อย่างหาที่สุดมิได้


ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก : www.kanchanapisek.or.th

เรื่องโดย : Nomad609

ภาพประกอบ : www.kanchanapisek.or.th

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.