ในคืนวันที่ 17 ตุลาคม 2559 ในขณะที่ผู้คนจากหลากหลายภูมิภาคมุ่งหน้าสู่พระบรมมหาราชวังเพื่อเคารพสักการะ บ้างก็ทำความดีถวายแด่พ่อหลวงเป็นครั้งสุดท้าย ในอีกฝั่งฟากตรงข้ามพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นสถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยอันมีชื่อเสียงเรื่องงานศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กำลังติดตั้ง 9 ภาพ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ซึ่งใช้เวลาวาดแล้วเสร็จกว่า 5 วัน สร้างสรรค์ผ่านฝีมืออันวิจิตรจากนักศึกษาคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งหมดเลือกถ่ายทอดพระอัจฉริยภาพของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้ชื่อว่าเป็น อัครศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในทุกๆ ด้าน นำมาจัดแสดงตลอดแนวกำแพงมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เพื่อน้อมถวายความอาลัยและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้แห่งองค์พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 สื่อความหมายผ่านการสร้างสรรค์ศิลปะในสาขาวิชาชีพที่กำลังศึกษาเล่าเรียน โดยใช้สีน้ำพลาสติก ทีมีความคงทนต่อแสงและน้ำ ลงบนผืนผ้าใบสูงประมาณ 2 เมตร กว้าง 4 เมตร
โดยทั้ง 9 ภาพเป็น พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตามแนวคิด “อัครศิลปิน” ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากพระอัจฉริยภาพทางด้านกีฬาและดนตรี ได้แก่ ภาพขณะที่ทรงจักรยานครั้งพระเยาว์ ภาพทรงจำลองเรือ ภาพทรงถ่ายภาพ ภาพทรงพระราชนิพนธ์ ภาพทรงเปียโน ภาพทรงวาด ภาพทรงแซกโซโฟน ภาพทรงเรือใบ และภาพทรงต่อเรือใบมด
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านกีฬาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โปรดการปั่นจักรยานเป็นสิ่งแรกก่อนที่จะทรงกีฬาต่างๆ เป็นต้นว่า เรือใบ แบดมินตัน สกีน้ำ และทรงออกกำลังกาย ด้วยการว่ายน้ำ ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงเรือใบ และเมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๐ ได้ทรงเรือใบประเภทโอเคที่ทรงต่อเองเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเรือใบระหว่างประเทศในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง และทรงชนะเลิศการแข่งขันในครั้งนั้น
ไม่ว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะทรงเสด็จไปที่แห่งหนใด โปรดที่จะเก็บภาพด้วยกล้องถ่ายรูปไว้เสมอพระองค์ทรงชำนาญการถ่ายภาพทั้งกล้องธรรมดาและกล้องถ่ายภาพยนตร์ ในระยะแรกทรงถ่ายภาพด้วยกล้องที่ไม่มีเครื่องวัดแสงในตัวจึงต้องทรงคำนวณความเร็วของแสงด้วยพระองค์เองจนสามารถวัดแสงได้อย่างแม่นยำ ทรงประดิษฐ์แผ่นกรองแสงขึ้นเองที่เรียกว่า Bicolocer Filter ได้ตั้งแต่ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย ทั้งยังทรงเชี่ยวชาญในการล้างฟิล์มอัดขยายภาพขาวดำและภาพสี เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นต่างๆ จะทรงถ่ายภาพด้วยพระองค์เองตามพระราชประสงค์ในการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์มิได้แสดงคุณลักษณะแห่งศิลปะเพียงอย่างเดียว หากยังอำนวยประโยชน์อเนกอนันต์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเริ่มวาดภาพเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๒ ภาพวาดฝีพระหัตถ์เป็นแบบภาพเหมือน โดยทรงศึกษาและเขียนจากต้นแบบจริง ต่อมาระหว่าง พุทธศักราช ๒๕๐๕-๒๕๐๗ ผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่มีลักษณะการตัดทอนรูปทรงจากแนวเสมือนจริง(Realistic) เป็นการเขียนแบบไม่ยึดติดรูปแบบที่เหมือนจริง พุทธศักราช ๒๕๐๘ – ๒๕๑๐ ลักษณะงานเป็นแบบแสดงออกถึงรูปทรง(Figurative) และไร้รูปทรงหรือนามธรรม(Abstraction) ตลอดจนกึ่งนามธรรม (Semi – Abstraction) และในระยะต่อมาทรงเริ่มเขียนแบบฉับพลัน ที่เรียกว่า แบบเอ็กเพรสชันนิสซึ่ม(Expressionism) เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๖ ได้พระราชทานภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ร่วมแสดงในงานศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ ๑๔ เป็นการแสดงนิทรรศการภาพฝีพระหัตถ์ครั้งแรกของพระองค์ ต่อมาเมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๕ ได้ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้เชิญภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์จำนวน ๔๗ องค์ ไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และเมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๙ ทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้รัฐบาลเชิญผลงานจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ไปจัดแสดง ณ ห้องพระอัจฉริยภาพในการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติ ครบ ๖๐ ปี
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีฝีพระหัตถ์เป็นเยี่ยมในด้านการช่าง ทั้งช่างไม้ ช่างโลหะ และช่างกล ซึ่งเป็นงานพื้นฐานด้านวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงสร้างมอเตอร์ไฟฟ้าใช้เอง ทรงสร้างเครื่องรับวิทยุร่วมกับพระเชษฐาธิราช โดยซื้ออุปกรณ์ราคาถูกมาประกอบเอง ทรงจำลองสิ่งของต่างๆ ได้หลายอย่าง ทรงประดิษฐ์เครื่องร่อนที่บินร่อนได้จริง ทรงจำลองเรือรบหลวงของไทยชื่อ “ศรีอยุธยา”ซึ่งยาวเพียงสองฟุต มีทั้งสายเคเบิ้ล และปืนเรือครบครันเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มต่อเรือใบ ตามมาตรฐานสากล ประเภท เอ็นเตอร์ไพรส์ (EnterpriseClass) ชื่อ ราชปะแตน ในปีต่อมา ทรงต่อเรือใบประเภท โอเค (OKClass) ลำแรกในประเทศไทย ชื่อ นวฤกษ์ และทรงต่อเรือใบประเภทโอเคอีก ๓ ลำ ชื่อ เวคา๑ เวคา๒ เวคา๓ ระหว่างพุทธศักราช๒๕๐๙–๒๕๑๐ ทรงต่อเรือใบประเภท มด (MothClass) ๓ ลำ ชื่อ มด ซุปเปอร์มด และ ไมโครมด
เรือใบลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบและต่อด้วยพระองค์เองเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช๒๕๑๐ คือ “เรือโม้ก” (Moke) ซึ่งเป็นเรือที่มีลักษณะผสมระหว่างเรือโอเค กับเรือซูเปอร์มด
“เรือมด เรือซูเปอร์มด และเรือไมโครมด” นอกจากจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สะท้อน ให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการที่ทรงนำเอาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มาปรับแต่งให้เหมาะสมกับลักษณะของคนไทยที่พระองค์ทรงให้ความสำคัญมาตลอดแล้ว ความสนพระราชหฤทัยในด้านการต่อเรือของพระองค์ ยังนับเป็นตัวอย่างให้แก่พสกนิกรชาวไทยในด้านความวิริยะพยายามในอันที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จตามเป้าหมายอีกด้วย
ทรงได้รับการยกย่องจากคณะกรรมการสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ ให้เป็นองค์อัครศิลปินแห่งชาติ ทรงแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพทางดนตรีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยทรงได้รับการฝึกหัดดนตรีตั้งแต่พระชนมายุ ๑๐ พรรษา ทรงนำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ทรงสะสมไว้ไปซื้อคลาริเนตมาทรงฝึกเป่า นอกจากนั้นยังสามารถทรงดนตรีอื่นๆได้อีกหลายชนิด หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้วเมื่อมีเวลาว่างจะทรงดนตรีกับนักดนตรีและข้าราชบริพาร ซึ่งต่อมาได้ทรงรวบรวมนักดนตรีแล้วจัดตั้งวง อ.ส.วันศุกร์ โดยทรงร่วมบรรเลงบทเพลงร่วมกับนักดนตรีออกอากาศผ่านทางสถานีวิทยุ อ.ส.ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐานเป็นประจำในตอนเย็นวันศุกร์ แต่ต่อมาทรงว่างเว้นการทรงดนตรีลงเนื่องด้วยพระราชกิจ นอกจากนี้ ยังทรงจัดตั้งวงดนตรี สหายพัฒนา โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นหัวหน้าวง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระราชนิพนธ์เพลงด้วยพระองค์เองมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ จนถึงปัจจุบันนับได้เกือบ ๕๐ เพลง ซึ่งล้วนเป็นบทเพลงที่ไพเราะและมีความหมายลึกซึ้งในพ.ศ.๒๕๐๗ วงดุริยางค์ เอ็นคิวโทนคุนสเลอร์ (N.Q.Tonkunstler Orchestra) แห่งกรุงเวียนนา ได้คัดเลือกบทเพลงพระราชนิพนธ์ไปบรรเลง มีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศออสเตรีย ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างสูง จนสองวันต่อมาสถาบันการดนตรี และศิลปะแห่งกรุงเวียนนา (InstituteofMusic and ArtsofCityofVienna) โดยรัฐบาลออสเตรียได้ทูลเกล้าฯ ถวายสมาชิกภาพกิตติมศักดิ์ลำดับที่๒๓ ของสถาบัน มีการจารึกพระนามลงบนแผ่นหินสลักของสถาบัน นับเป็นผู้ประพันธ์เพลงชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับเกียรติเช่นนี้
พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและวรรณกรรม
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระปรีชาสามารถโดดเด่นในด้านภาษา พระองค์ทรงเจริญวัยในประเทศสวิตเซอร์แลนด์จึงทรงใช้ภาษาฝรั่งเศสและเยอรมันได้เป็นอย่างดี ต่อมาทรงตระหนักว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกนิยมใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร จึงสนพระราชหฤทัยหันมาทรงศึกษาภาษาอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงเข้าถึงพื้นฐานของภาษาและทรงคุ้นเคยในการใช้ภาษานี้ถึงระดับที่ ทรงใช้ได้ดีเป็นพิเศษ และยังทรงสนพระราชหฤทัยในการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องตามหลักนิรุติศาสตร์ เมื่อทรงมีเวลาว่างจะทรงพระอักษรและทรงพระราชนิพนธ์แปลบทความจากวารสารภาษาต่างประเทศ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๗ ทรงแปลหนังสือเรื่อง นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ของวิลเลียม สตีเวนสัน เป็นภาษาไทย ในปีต่อมาทรงแปลหนังสือเรื่อง ติโต ซึ่งเป็นชีวประวัติของนายพลติโต ประพันธ์โดย ฟิลลิส ออติ พระปรีชาสามารถในการใช้ภาษาต่างๆ ได้อย่างเชี่ยวชาญเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจมาก แม้แต่ภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาโบราณและศักดิ์สิทธิ์ของชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูก็ทรงศึกษารอบรู้อย่างลึกซึ้ง
ภาพ: กลุ่มลีลา หอวังรุ่น 32