หลังจากมีเหตุการณ์ที่เฟซบุ๊กเผอิญทำข้อมูลผู้ใช้งานรั่วไหล ทำให้ผู้ใช้หลายประเทศตื่นตระหนกและตั้งคำถามถึงความปลอดภัย รวมทั้งมองหามาตรการในการรักษาข้อมูลส่วนตัว แม้ในบ้านเราจะไม่ตื่นกลัวสักเท่าไร แต่อย่างน้อยกันไว้ก่อนดีกว่า ด้วยการป้องกันข้อมูลในเบื้องต้นกับ “7 สิ่งที่ไม่ควรโพสต์และควรลบออกจาก FACEBOOK ป้องกันข้อมูลรั่วไหล”
01. วันเกิดและที่อยู่
ข้อมูลวันเกิดที่ดูเหมือนไม่สำคัญ แต่จริงๆ แล้วเพียงข้อมูลนี้ก็ทำให้มือดีเข้าไปสืบหาและเข้าถึงบัญชีธนาคารและรายละเอียดส่วนตัวได้ง่ายขึ้น รวมทั้งข้อมูลที่อยู่อาศัยที่ไม่ควรใส่ไว้ในเฟซบุ๊ก ยิ่งเมื่อเฟซบุ๊กที่เราใช้อยู่มีชื่อ – นามสกุลพร้อมสรรพด้วยแล้ว ก็ยิ่งง่ายต่อการสวมรอย
02. หมายเลขโทรศัพท์
ข้อมูลโทรศัพท์คือช่องทางติดต่อที่ดีสำหรับบริการต่างๆ ที่นิยมโทรมาขาย อย่างประกันชีวิต บัตรเครดิต ฯลฯ ดังนั้นในกรณีเลวร้ายที่เบอร์โทรหลุดรั่วออกไปคือ อาจมีมิจฉาชีพสวมรอยโทรมาหลอกโอนเงิน หรือดีขึ้นหน่อยคือรับโทรศัพท์ของคนขายประกันชีวิตเรื่อยๆ
03. เพื่อนที่ไม่ใช่เพื่อนจริงๆ
นั่นแหละอย่างที่เข้าใจ คือให้เราลบเพื่อนที่ไม่ใช่เพื่อนจริงๆ บนเฟซบุ๊กออกไปบ้าง (ใครก็ตามที่เราไม่รู้จักในชีวิตจริง แต่รับแอดฯ มาเป็นเพื่อนบนเฟซบุ๊ก) เพราะสายสัมพันธ์ของเพื่อนบนเฟซบุ๊กสามารถลิงก์เข้ากับข้อมูลของเราได้ ทางที่ดีให้เหลือเพื่อนจริงๆ สัก 150 คน ตามทฤษฎีของศาสตราจารย์วิชาจิตวิทยา Rubin Dunbar ประจำ Oxford ที่บอกไว้ว่า คนเราจะสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่มั่นคงได้เพียง 150 ราย …แต่การลบเพื่อนในข้อนี้ก็แล้วแต่คุณจะพิจารณา
04. ระวังการโพสต์ภาพเด็กๆ
คงเคยได้ยินกันมาบ้างเรื่องการระวังโพสต์ภาพเด็กๆ บนเฟซบุ๊ก ซึ่งอาจเป็นเส้นทางที่นำไปสู่การก่อนอาชญากรรมได้ โดยเฉพาะเด็กน่ารักๆ รวมทั้งการโพสต์พร้อมระบุสถานที่ที่เด็กๆ กำลังไปหรือกำลังอยู่ที่ไหน รวมทั้งเข้าเรียนที่ไหน จากสถิติในต่างประเทศมีการบันทึกความผิดทางอาชญากรรมไว้ว่า ปี 2013 – 2014 ในสหราชอาณาจักรมีการกระทำผิดทางเพศกับเด็กมากถึง 36,429 ครั้ง แน่นอนว่าเราคงไม่อยากให้เหตุการณ์ร้ายๆ เกิดขึ้นกับลูกหลานของเราหรอก
05. เช็กอินที่อยู่แบบเรียลไทม์
การเช็กอินที่อยู่ ณ ขณะนั้นก็เหมือนชี้เป้าให้คนอื่นรู้ว่าเราอยู่ไหน รวมทั้งยังเป็นการชี้โพลงให้อาชญากรรู้ว่า บ้านเราไม่มีใครอยู่ เชิญขึ้นบ้านได้เลย โดยเฉพาะยิ่งเราเช็กอินว่ากำลังเริงร่าในต่างแดน ก็ยิ่งเป็นช่องโหว่ให้โจรขึ้นบ้านได้ง่ายขึ้น อ่านแล้วดูเหมือนจะเว่อร์ แต่เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นจริงในต่างประเทศ เพราะโจรเดี๋ยวนี้ไม่กระจอกอีกต่อไป
06. งดโพสต์ Boarding Pass
หลายคนชอบโพสต์ Boarding Pass ว่ากำลังเดินทางไปไหน ซึ่งการโพสต์ Boarding pass อาจดูเหมือนโพสต์ภาพหนึ่งภาพ ไม่ส่งผลใดๆ กับข้อมูลของเราหรอก แต่คุณรู้หรือไม่ว่าบาร์โค้ดของ Boarding pass สามารถนำไปสืบค้นข้อมูลของเราที่ให้ไว้กับบริษัททัวร์หรือสายการบินได้ และนั่นก็คือช่องทางที่ทำให้ข้อมูลเรารั่วไหล
07. รายละเอียดของบัตรเครดิต
เรื่องนี้ไม่ต้องพูดถึงก็เข้าใจกันได้ว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ควรโพสต์ข้อมูลบัตรเครดิต ทั้งในแง่ภาพนิ่งหรือเลขหน้าบัตร 13 ตัว เพราะอาชญากรรมไซเบอร์น่ากลัวกว่าที่คิด