Louis Sketcher : จากสถาปนิกผู้ผันตัวเป็นนักวาดภาพ urban sketch

ทุกคนล้วนมีสิ่งที่ชอบ เพียงแต่เราจะมุ่งมั่นกับสิ่งที่ชอบมากเพียงใด หลายคนเลือกจะเก็บสิ่งที่ชอบให้เป็นงานอดิเรกยามว่าง แต่ก็มีอีกหลายคนที่เลือกจะเปลี่ยนสิ่งที่ชอบให้กลายเป็นอาชีพหลักที่หาเลี้ยงตัวเองได้ …ลองคิดดูสิ! หากเราสามารถทำสิ่งที่ชอบได้ทุกวันและทุกเวลาจะสุขใจมากเพียงใด จึงไม่แปลกหากคนกลุ่มที่ว่านี้จะเป็นคนที่มีความสุขที่สุดคนหนึ่ง

และวันนี้เราจะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักคนๆ หนึ่ง คนที่เชื่อมั่นว่า “การวาดรูปคือสิ่งที่ชอบและเป็นสิ่งที่ทำได้ดีที่สุด” จนกระทั่งสิ่งที่ชอบกลายเป็นงานอดิเรก และ ณ ขณะนี้เขาคนนี้ก็กำลังเปลี่ยนงานอดิเรกให้กลายเป็นงานหลักในชีวิต “คุณหลุยส์ – ศุภชัย วงศ์นพดลเดชา” เจ้าของเพจ Louis Sketcher ที่ลงผลงานภาพวาดแนว Urban Sketch สุดคูลจนมีผู้ติดตามกว่าหมื่นคน และด้วยแน่วแน่ในสิ่งที่รัก คุณหลุยส์จึงผันตัวจากสถาปนิกสู่ ‘นักวาดภาพ Urban Sketch’ แบบเต็มตัว

“…พอสิ่งที่ทำมันเริ่มมาจากความชอบ พอทำไปเรื่อยๆ เราก็จะไม่เบื่อ เพราะความสุขมันอยู่ตอนที่เราทำงานอยู่แล้ว

• จุดเริ่มต้นของเป็นนักวาดรูป Urban Sketch เริ่มมาจากไหน?

“เริ่มมาจากความชอบตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งไม่รู้ว่าทำไมถึงชอบวาดรูปเหมือนกัน แต่พอโตมาเหมือนโดนฝังหัวว่าเราชอบวาดรูป แล้วเราก็คิดไปเองว่าเราทำได้ดี จนสุดท้ายเราก็อยากสอบเข้าสถาปัตฯ แต่พอสอบติดแล้วเราก็แทบไม่ได้วาดรูปเลย เพราะว่ามันจะเป็นการเขียนแบบซะมากกว่า

แล้วประมาณสักปี 2 ปี 3 อาจารย์ที่ปรึกษาเขาเป็นสมาชิกกลุ่ม Bangkok Sketcher คือกลุ่มคนที่ออกไปวาดเมือง แล้วเขาก็เชิญผู้ก่อตั้งคือ อาจารย์อัสนีมาบรรยายเล็กๆ ที่คณะ เราก็เลยไปฟัง พอเราเห็นสมุดสเก็ตของอาจารย์ เรารู้สึกว่าเราอยากทำได้แบบนี้ เหมือนกับย้ำว่าเราเคยชอบวาดรูปนะ แต่ทำไมเดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยได้วาดเลย ก็เลยเป็นแรงกระตุ้นให้เราอยากวาดได้แบบนี้ เราก็เลยวาดเยอะขึ้นเรื่อยๆ”

 

• แล้วตอนนี้คุณหลุย์ทำอาชีพอะไร?

“ตอนนี้เป็นสถาปนิกให้กับบริษัทหนึ่งอยู่ ผมอยากยึดอาชีพสถาปนิกก่อน เพราะว่าผมเรียนมา 5 ปีก็รู้สึกผูกพัน แล้วก็อยากรู้ว่าจริงๆ ผมจะไปทางนี้ได้ดีแค่ไหน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ถึงกับเบื่อหรือว่าไม่ชอบ แต่ผมว่าช่วงนี้ผมรู้สึกอยากออกมาทำสิ่งที่ผมยังมีแรงทำอยู่ คือออกมวาดรูป คิดจะทำหนังสือด้วย อาจมีงานสอนวาดรูปบ้าง”

• ถ้าออกมาวาดรูปแบบจริงๆ จังๆ หรือยึดเป็นอาชีพเลย คิดว่าตัวเองจะไปรอดไหม?

“ไม่รู้เลยครับ คงต้องไปตายเอาดาบหน้า (หัวเราะ) จริงๆ ไม่เชิงนั้นหรอกครับ เพราะจริงๆ มีการวางแผนเอาไว้แล้วว่า ผมมีงานสอนที่คอยช่วยอยู่ มันก็คงไม่ใช่ artist จ๋าเลยว่าต้องรอให้มีคนมาจ้างถึงจะค่อยวาดรูป แต่ผมว่างานนี้ค่อนข้างเป็นหลักเป็นฐานประมาณหนึ่ง แล้วจริงๆ อนาคตเนี่ย มันก็ต่อยอดต่อไปได้ แต่เรายังไม่กล้าฟันธงว่ามันจะเป็นอะไร แต่ก็มีการวาดแผนเอาไว้แล้วว่าไปได้แน่นอนครับ”

 

• ถ้าคิดว่าไปได้ ในอีก 5 ปีข้างหน้ามองอนาคตเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง?

“ก็คงวาดอยู่ แต่พื้นที่แสดงงานของเราอาจมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ เราก็คงมีการจัด solo exhibition หรือจัดร่วมกับพี่ๆ คนอื่นในกลุ่มด้วยกัน แล้วก็คงเปิดเวิร์คช็อปมากขึ้น”

 

• ตอนนี้มีงานประจำอยู่แล้วเอาเวลาไหนไปวาดรูป?

“ที่จริงผมจะพกอุปกรณ์ติดตัวทุกวันอยู่แล้ว เผื่อไปไหนจะได้วาดได้เลย จะมีขวดน้ำเล็กๆ อันหนึ่ง แล้วก็ทิชชูซองห้าบาทติดตัวตลอดเวลา เจอที่ไหนสวยก็วาดเลย ไม่จำเป็นต้องจำกัดว่าต้องว่าง เพราะว่าถ้าคิดแบบนั้นจะไม่ได้วาด เคยคุยๆ กับพี่ๆ หลายๆ คนที่เขาวาดรูปเหมือนกัน ทุกคนบอกคล้ายๆ กันหมดว่า ยิ่งเครียดยิ่งวาด ยิ่งเหนื่อยยิ่งเครียด ยิ่งต้องวาด เพราะมันคือการผ่อนคลาย ไม่ใช่การทำงาน”

• ส่วนใหญ่คุณหลุยส์จะชอบวาดรูปแบบไหน?

“ชอบวาดของเก่าๆ อาคารเก่าๆ ที่มีเอกลักษณ์มีเรื่องราวให้เล่า อย่างชุมชนท่าเตียนผมไปบ่อยมาก วัดโพธิ์ วังบางขุนพรหมอย่างนี้ แต่พอเบื่อวาดของใหญ่ๆ แล้วก็วาดของเล็กๆ บ้าง ก็เลยชอบไปนั่งในร้านกาแฟ เลยชอบวาดร้านกาแฟอีกอย่างหนึ่งด้วย เป็นร้านกาแฟที่มีเอกลักษณ์ ผมจะไม่ค่อยวาดพวกตึกคอนโดฯ หรืออาคารสมัยใหม่มากๆ คือให้วาดก็วาดได้ ไม่ได้รังเกียจอะไร อยู่ที่ซีนนั้นที่เราไปเจอมากกว่า เราจะสื่ออะไร เราจะบอกเล่าอะไรมากกว่า”

 

• แล้วทำไมถึงชอบวาดอาคารเก่าๆ หรือชุมชนเก่าที่มีเรื่องราวด้วยละ?

“น่าจะเป็นความอินตั้งแต่แรกอยู่แล้ว คือตอนเด็กๆ เป็นคนชอบอ่านประวัติศาสตร์อยู่แล้ว ตอนเรียนก็ดันเรียนสถาปัตฯ ไทย คืออยู่วนๆ กับอะไรพวกนี้อะครับ จนมันอินไปเอง เราเลยรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราถนัดมาก โดยเฉพาะอะไรที่มันมีดีเทลแบบนี้ เราจะชอบและเราจะถนัดมาก”

• ตอนนี้นอกจากวาดภาพเมืองภาพชุมชมแล้ว ยังมีวาดอย่างอื่นอีกไหม?

“จริงๆ ช่วงนี้ก็มีงานวาดภาพประกอบด้วยนะครับ เป็นชุมชนของโรงแรมที่หนึ่ง เป็นภาพประกอบในโฆษณา ที่จริงมีงานวาดเยอะนะ ในอนาคตผมก็คิดว่าคนจะหันกลับมาที่งานวาดเยอะขึ้นด้วย เห็นได้จากเวิร์คช็อปวาดรูปที่เต็มไปหมดเลยครับ”

 

• แล้วคิดว่าผลงานของตัวเองแตกต่างหรือมีจุดเด่นตรงไหน?

“หลายๆ อย่าง เรื่องลายเส้น เพราะว่าของผมเป็นเหมือนคนที่เรียนสถาปัตฯ มา แต่ว่าผมไม่ได้เขียนเป๊ะมาก ผมยังมีความซุกซนอยู่ ความชุ่ยๆ อยู่นิดนึง ซึ่งหลายๆ คนเขามองแล้วเขาชอบ เพราะเขาคิดว่าเขาทำได้ เขาสามารถทำแบบนี้ได้ แล้วก็เรื่องสี คนส่วนใหญ่ที่เพิ่งเริ่มวาดรูปเลยครับ จะไม่ค่อยกล้าลงสีหนักๆ แต่ผมจะใช้สีค่อนข้างหนักและสดใส บางภาพบางเรื่องผมจะมีการใส่คนไปด้วยในสถานการณ์นั้น คนในที่นี้มันบอกเรื่องราวของสถานที่นั้น มันบอกสเกล ซึ่งคนเวลาที่วาดก็จะยาก ซึ่งเขาไม่ค่อยวาดกัน แต่ผมจะใส่ไปบ้าง แล้วมันก็ทำให้ภาพน่ารักขึ้น”

 

“…การวาดภาพด้วยสีน้ำ บางคนบอกว่ามันเป็นการ balance กันระหว่าง control and letting go ก็คือควบคุมแล้วปล่อยให้มันเป็นไป”

รูปแต่ละรูปใช้เวลาวาดนานไหม?

“แต่ก่อนจะพยายามไม่ให้เกินชั่วโมงครึ่ง เพราะถ้านานกว่านี้มันจะเหนื่อย แดดประเทศก็แรงเกินไปอยู่แล้ว แต่ว่าหลังๆ นี้ อิทธิพลที่เราได้รับมาทำให้ภาพละเอียดขึ้น แต่ก่อนเส้นจะแบบรีบๆ เร็วๆ แต่หลังๆ เราจะละเอียดขึ้นเยอะมาก มีพลังเยอะขึ้นหน่อยนึง บางภาพเลยวาดสองชั่วโมงกว่า นั่งวาดอยู่ริมฟุตบาท วาดๆ อยู่ก็มีคนเมามาคุยด้วย (หัวเราะ)”

 

• เมื่อกี้บอกว่านั่งวาดริมฟุตบาท แล้วมีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ประทับใจบ้างไหม?

“มันเยอะจนลืมๆ ไปพอสมควร ต้องดูจากรูปวาด เพราะสมุดสเก็ตภาพนี้ก็เหมือน memory เราเหมือนกัน อย่างรูปนี้ ตอนวาดก็มีนักศึกษาอินเดีย เป็นนักศึกษาสถาปัตฯ เหมือนกันจากมุมไบ เขาเห็นเขาคงชอบก็เข้ามาคุยด้วย หรือเวลาวาดก็จะมีฝรั่งมุงกันเต็มเลย

ครั้งหนึ่งเคยไปวาดที่อินเดีย ผมไปดูงานที่นั่น พอมีเวลาว่างก็เลยวาดรูป ก็ไปวาดเจดีย์สันติภาพที่นาลันทา ตามลักษณะนิสัยของคนอินเดีย เขาก็มีความอยากรู้อยากเห็นเยอะ เขาก็มามุงแบบล้อมเต็มไปหมดเลย แต่เราก็แฮปปี้ดี เพียงแต่เขาบังวิวเรานิดนึง (หัวเราะ) แต่เวลาเขามอง เขาไม่ได้มองอยู่ไกลๆ เหมือนคนไทยที่จะมองห่างๆ แต่อันนี้เขามองแบบจ้องเลย หน้าผมห่างจากเขาแค่นี้เอง (ประมาณ 1 นิ้วเห็นจะได้) แต่จริงๆ มันก็มีเรื่องดีๆ กับเรื่องแย่ๆ เหมือนกัน”

• เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม

“เรื่องนี้เกิดในร้านหนังสือเดินทาง ตรงถนนพระสุเมรุ แล้วก็พี่หนุ่ม พี่โย เจ้าของร้านเขาก็ใจดีด้วย ผมไปที่ร้านสัก 2-3 ครั้ง เหมือนเขาจำผมได้ว่าผมเป็นคนที่วาดรูป แล้วก็มีลูกค้าที่พี่เขาสนิทด้วยคนหนึ่ง ซึ่งเหมือนเขา (ลูกค้า) เคยมาเรียนกับผม พี่หนุ่มก็มาเล่าให้ฟังว่า พอเขามาเรียนกับเรา เหมือนเขามองโลกเปลี่ยนไป เขาวาดรูปมากขึ้น เหมือนผมได้เพิ่มความสุขให้เขา

ส่วนเรื่องแย่ก็ถัดไปอีกร้านหนึ่ง ซึ่งที่จริงก็ไม่ได้แย่อะไรมาก แต่ผมรู้สึกว่าทำไมทำกับผมแบบนี้ ผมก็นั่งวาดตามปกติในร้านกาแฟ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ผมจะสั่งกาแฟมากินแล้วก็นั่งวาด แต่เจ้าของร้าน เขาก็คงไปเจออะไรสักอย่างมาแล้วก็มาลงที่ผมก็ได้ ออกแนวเหมือนไล่ ประมาณว่าที่นี่ไม่ใช่ที่สาธารณะนะ ผมก็อ้าว แต่ที่นี่เป็นร้านกาแฟ ผมก็งง แต่ก็ออกมา แล้วไปร้านพี่หนุ่มต่อ แต่ดีที่ว่าวาดเกือบเสร็จแล้ว”

 

• แล้วมีไหมที่วาดจากภาพถ่าย?

“ตอนแรกๆ ครับที่ผมวาดจากรูปถ่าย พวกสถาปัตฯ ต่างประเทศ แต่หลังๆ ให้วาดตามรูปแถบไม่เอาแล้ว รู้สึกไม่ชอบ คือถ้าดูจากรูปถ่าย มันจะแห้งๆ มันจะไม่มีความสัมพันธ์ของเรากับสถานที่นั้น มันจะเล่าเรื่องไม่ได้ว่าตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น บรรยากาศตอนนั้นมันจะไม่ได้ เพราะการวาดรูปเป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ของเรากับสถานที่นั้น มันทำให้เราจำอะไรต่างๆ ได้แม่นกว่าอย่างอื่น เหมือนเราจำได้ว่าแม่ค้าหมูปิ้งทำอะไร การวาดรูปมันต่างจากการถ่ายรูปตรงที่เราอยากใส่อะไรก็ใส่ เราอยากเอาอะไรออกก็เอาออกได้”

• ตอนที่กำลังวาดรูปแต่ละรูปคิดอะไรอยู่?

“สำหรับ Urban Sketch การวาดในที่จริง เราจะเห็นภาพที่เราเห็นแล้วก็มาแปลงมาเป็นภาพในหัว จากนั้นเนี่ยบรรยากาศมันจะพาไป มุมแดด ผู้คน เราจะไม่ค่อยคิดอะไร เราจะปล่อยตัวเองไปกับบรรยากาศนั้น ถ้าอากาศร้อน เส้นก็จะดูรีบๆ รีบให้มันเสร็จ คือเราจะปล่อยให้ตัวเองไปตามบรรยากาศนั้นมากกว่า ไม่ค่อยคิดอะไรมากครับ คิดว่าให้มันเสร็จมากกว่า (หัวเราะ)”

 

• สุดท้าย ความสุขของการได้วาดรูปอยู่ตรงไน?

มันเริ่มมาจากความชอบอยู่แล้ว พอสิ่งที่ทำมันเริ่มมาจากความชอบ พอทำไปเรื่อยๆ เราก็ไม่เบื่อครับ เพราะปกติเป็นคนเบื่อง่าย แต่ว่าเรื่องวาดรูปเราจะไม่เบื่อ ความสุขมันก็อยู่ตอนที่เราทำงานอยู่แล้ว เพราะเราได้ทำสิ่งที่ชอบ เวลาที่เราวาดรูปก็วาดในบรรยากาศที่ชอบ อยู่ในที่ที่เราชอบ เปิดเพลงที่เราชอบ มันก็คือการผลิตงานที่เราชอบในบรรยากาศที่เราชอบด้วย

 

“…ยิ่งเครียดยิ่งวาด ยิ่งเหนื่อยยิ่งเครียด ยิ่งต้องวาด เพราะมันคือการผ่อนคลาย ไม่ใช่การทำงาน”

ขอบคุณสถานที่  Smitr Café
Story : Taliw
Photo : Wara Suttiwan
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.