“พระบิดาแห่งกิจการโคนมไทย” จากโครงการส่วนพระองค์สู่ผลิตภัณฑ์นมที่ให้เราได้ดื่มในวันนี้

“พระบิดาแห่งกิจการโคนมไทย”
จากโครงการส่วนพระองค์สู่ผลิตภัณฑ์นมที่ให้เราได้ดื่มในวันนี้

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงได้รับการน้อมเกล้าถวายพระราชสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งกิจการโคนมไทย” จากการที่พระองค์ทรงช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมแก้ไขปัญหา วางแผนกิจการ และปกป้องผลประโยชน์ ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการเลี้ยงโคนม

“โรงโคนมสวนจิตรลดา” คือหนึ่งในโครงการส่วนพระองค์โครงการแรกๆ ที่ทรงดำริขึ้น โดยโครงการนี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2505 ซึ่งมีผู้น้อมเกล้าฯ ถวายโคพันธุ์นมจำนวน 6 ตัว และเนื่องด้วยในหลวงรัชกาลที่ 9 เล็งเห็นความสำคัญของกิจการโคนมจึงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงิน 32,886.73 บาท เพื่อสร้างโรงโคนมขึ้นในบริเวณสวนจิตรลดา

วัตถุประสงค์ของโรงโคนมนี้ เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่การเลี้ยงโคนม ทั้งวิธีการและการดำเนินกิจการโคนม เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรชาวไทย โดยที่เกษตรสามารถนำไปดำเนินการได้เองภายในครอบครัว รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการบริโภคนมสดให้กว้างขวางยิ่งขึ้น

น้ำนมที่ได้ในช่วงแรกพระองค์ท่านทรงให้แปรรูปเพื่อการบริโภคโดยการนึ่งหรือต้มให้สุก โดยจำหน่ายให้ข้าราชบริพารในสวนจิตรลดาแบบบรรจุขวด ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2506 – 2512 ได้มีบริษัทเอกชน ห้างร้าน สมาคมต่างๆ น้อมเกล้าฯ ถวายโคพันธุ์นมเพิ่มรวมเป็น 17 ตัว ทำให้กิจการโคนมสวนจิตรลดาเจริญรุกหน้าจนสามารถขยายการจำหน่ายน้ำนมสู่ประชาชนภายนอกได้ รวมทั้งมีการปรับปรุงวิธีการผลิต

นอกจากนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังทรงช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมแก้ไขปัญหา วางแผนกิจการ และปกป้องผลประโยชน์ ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการเลี้ยงโคนม จนในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงได้รับการน้อมเกล้าถวายพระราชสมัญญานามว่า “พระบิดาแห่งกิจการโคนมไทย”

“โรงงานแห่งนี้เป็นแห่งแรกที่ทำขึ้นในเมืองไทยและก็เป็นที่น่าภูมิใจว่าคนไทยได้ออกแบบและเป็นผู้สร้างขอให้ถือว่าโรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานตัวอย่าง ใครอยากได้ความรู้ ใครอยากที่จะทำกิจการโคนมให้สำเร็จให้ก้าวหน้า และเป็นประโยชน์แก่ตนแก่เศรษฐกิจของบ้านเมือง ก็ให้มาดูกิจการได้ทุกเมื่อ และถ้ามีปัญหาอะไรมีความคิดอะไร ก็ให้แสดงออกมา บางทีบางคนอาจเกิดความคิดอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมที่ทางนี้ไม่ได้คิดก็จะเป็นประโยชน์ที่จะร่วมแรงกันในทางความคิด เพื่อความก้าวหน้าของกิจการโคนมของประเทศไทย” — พระราชดำรัส พระราชทานเนื่องในพระราชพิธีเปิดโรงนมผงสวนดุสิต ณ บริเวณสวนจิตรลดา วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2512

นมอัดเม็ดสวนดุสิต

ในช่วงปี พ.ศ. 2512 เกิด ‘วิกฤตินมดิบล้นตลาด’ ถึงขั้นที่เกษตรกรโคนมต้องเทน้ำดิบทิ้งเป็นจำนวนมาก ด้วยความเดือดร้อนของเกษตรโคนมไทยทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาค้นคว้าและทำการทดลองจนสามารถก่อตั้ง “โรงนมผง สวนดุสิต” ขึ้นเป็นแห่งแรกของไทย

โดยเริ่มแรกเป็นโรงงานแปรรูปนมโคสดเป็นนมผงก่อน ต่อมาจึงได้มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์ ด้วยการนำนมผงมาแปรรูปเป็น “ทอฟฟี่รสนม” แต่ทอฟฟี่รสนมไม่ได้รับความนิยมอย่างที่คิด ทางโรงนมผงสวนดุสิตจึงได้เปลี่ยนวิธีการแปรรูปอีกครั้งด้วยการนำเครื่องตอกเม็ดยามาตอกนมผงให้เป็นเม็ดเมื่อปี พ.ศ. 2512 และปี พ.ศ. 2527 โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาได้ก่อสร้าง โรงนมอัดเม็ดขึ้นใหม่ เพื่อผลิต “นมอัดเม็ด” อย่างที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน

นมยู เอช ที สวนจิตรลดา

นมกล่องที่ตีตราสวนจิตรลดานี้ก็มีจุดเริ่มต้นเดียวกันกับนมอัดเม็ดสวนดุสิต คือวิกฤตน้ำนมดิบล้นตลาดเมื่อปี พ.ศ. 2545 โรงโคนมสวนจิตรลดา จึงได้ก่อสร้าง “โรงนมยูเอชที สวนจิตรลดา” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและสหกรณ์โคนม โดยโครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรโคนมและปรับปรุงการรีดนมแบบเดิม รวมทั้งเป็นตัวอย่างโรงนมแบบครบวงจรของอุตสาหกรรมนม จนกลายมาเป็นนมยูเอชทีกล่องสีเหลืองจากนมโคแท้ 100% ในปัจจุบัน

นมหนองโพ

เพราะเล็งเห็นว่ากิจการโคนมนี้ยังไม่ครบวงจร เพราะการทำนมผงอย่างเดียวนั้นขาดทุน ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงทรงวางรูปแบบการพัฒนาอุตสาหกรรมนมผ่านสหกรณ์โคนมราชบุรี “หนองโพ” โดยโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์รวมนมสวนจิตรลดา มีวัตถุประสงค์ เพื่อนำกำไรจากนมสดมาสนับสนุนกิจการนมผง

ศูนย์รวมนมแห่งนี้จะรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมาทำการพาสเจอไรส์และจัดจำหน่าย โดยเฉพาะในตำบลหนองโพ จังหวัดราชบุรีที่รวมตัวกันเพื่อรวบรวมน้ำนม จนเกิดเป็นกิจการโคนมในรูปแบบสหกรณ์ชื่อ สหกรณ์โคนมราชบุรี จำกัด ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด” พร้อมกับต่อยอดเป็นโรงงานนมผงตามแบบโรงงานนมผงในวังสวนจิตรลดา

โดยในปี พ.ศ. 2515 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงให้จัดตั้งบริษัทผลิตภัณฑ์นมหนองโพจำกัดขึ้น ซึ่งพระองค์ท่านถือหุ้นใหญ่ ภายใต้เงื่อนไขว่าไม่มีการแบ่งกำไรให้ผู้ถือหุ้น แต่ให้นำกำไรส่วนหนึ่งเข้ากองทุนสะสมเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาของลูกหลานเกษตรกรผู้เป็นสมาชิกสหกรณ์แทน

นมไทย-เดนมาร์ค

เมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จประพาสประเทศเดนมาร์ค เมื่อปี พ.ศ. 2503 พระองค์ทรงสนพระทัยกิจการการเลี้ยงโคนมของชาวเดนมาร์คเป็นอย่างมาก ต่อมาก็กลายเป็นความร่วมมือด้านวิชาการการเลี้ยงโคนมระหว่างประเทศไทยและประเทศเดนมาร์คจนเกิดเป็นนมไทย – เดนมาร์ค

ในปี 2504 ได้มีคณะผู้เชี่ยวชาญชาวเดนมาร์คเดินทางไปสำรวจพื้นที่ในการจัดตั้งฟาร์มโคนมสาธิต และศูนย์ฝึกอบรม ณ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ซึ่งในปีเดียวกันก็ได้มีการลงนามสัญญาการให้ความร่วมมือช่วยเหลือทางวิชาการการเลี้ยงโคนมระหว่างรัฐบาลเดนมาร์คกับรัฐบาลไทย โดยเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2505 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงประกอบพิธีเปิดฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนมไทย-เดนมาร์คอย่างเป็นทางการ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 รัฐบาลไทยได้รับโอนกิจการฟาร์มโคนมและศูนย์ฝึกอบรมการเลี้ยงโคนม ไทย-เดนมาร์ค จัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีชื่อว่า “องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)” เพื่อดำเนินบทบาทในการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมและพัฒนาอุตสาหกรรมนมตามพระราชดำริต่อไป


อ้างอิงข้อมูลจาก
www.scc.ac.th
web.ku.ac.th
www.thairath.co.th
www.facebook.com/fulfillingfatherslegacy/

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.