ความแข็งแกร่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้รอยยิ้มที่งดงามของ “ซาซ่า ศ.อารีย์” นักมวยอาชีพหญิง

ความแข็งแกร่งที่ซ่อนอยู่
ภายใต้รอยยิ้มที่งดงามของ
“ซาซ่า ศ.อารีย์” นักมวยอาชีพหญิง

ชวนไปพูดคุยและทำความรู้จักเส้นทางนักมวยอาชีพหญิง “ซาซ่า ศ.อารีย์” สังกัด “กลอรี่” (Glory Kickboxing) กับการก้าวเดินทางบนสังเวียน พร้อมสัมผัสความแข็งแกร่งของเธอที่ซ่อนอยู่ภายใต้รอยยิ้ม

คุณคิดว่าการเดินบนเส้นทางมวยไทยของผู้หญิงคนหนึ่งจะยากเย็นสักแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกีฬานี้ได้ชื่อว่า ‘เป็นกีฬาผู้ชาย’ แถมหลายคนยังตราหน้าว่าเป็นกีฬาป่าเถื่อนอีกต่างหาก โดยเฉพาะ ‘มวยไทย’ ที่หนักหน่วงทั้งหมัด ศอก และเข่า ดังนั้นหากบอกใครต่อใครว่า เธอมีอาชีพเป็นนักมวย ภาพแรกที่เกิดขึ้นคงหนีไม่พ้นผู้หญิงร่างบึกที่มาพร้อมความดุดัน

แต่เดี๋ยวก่อน! เราอยากให้คุณได้ไปสัมผัสอีกมุมมองของกีฬานี้ ผ่านการพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับนักมวยอาชีพหญิงที่คลุกวงการนี้มานานถึง 10 ปี แล้วคุณอาจเปลี่ยนความคิด เพราะภายใต้ความแข็งแกร่งยังซ่อนความอ่อนหวานจนเราแทบไม่เชื่อ

“…มันอาจจะไม่ใช่แค่มวยอย่างเดียว ทุกๆ กีฬา มันมีเสน่ห์ในตัวมัน ในการฝึกซ้อม ความยากของมัน การที่เราต้องอดทนกับมัน หรือว่ามี Process อะไรต่างๆ ที่เราฝึก มันเป็นเสน่ห์ของมัน เป็นอะไรที่ Challenge เป็นสิ่งที่ท้าทายกับตัวเราเอง เป็นเหมือนเส้นให้เราข้ามไป เป็นสิ่งที่ซ่าชอบ แล้วก็เรื่องของความสวยงามของมวย มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ซ่าชอบเหมือนกัน”

คำบอกเล่าถึงเสน่ห์กีฬามวยไทยที่ทำให้เด็กสาวคนหนึ่งเลือกที่จะยึดกีฬานี้เป็นอาชีพมายาวนานถึง 10 ปี  “ซาซ่า ศ.อารีย์” หรือ อังศนา คำหาญพล นักมวยอาชีพ สังกัด “กลอรี่” (Glory Kickboxing)

• จุดเริ่มต้นที่ทำให้น้องซาซ่ามาชกมวย

เด็กๆ เราชอบผจญภัย ติดห้าวๆ นิดนึง ติดคุณพ่อ คุณพ่อก็จะพาไปเล่นกีฬา กีฬาทุกประเภทคือเล่นมาเกือบหมด แล้วก็สุดท้ายมาจริงจังมวยไทย เพราะว่าคุณพ่อเป็นนักมวยเก่า แล้วคุณพ่อก็ทำค่ายมวย เราก็เลยมีโอกาสได้ลองฝึกมวย

• แล้วจากวันนั้นจนถึงตอนนี้ ชกมวยมากี่ปีแล้ว

10 ปีได้แล้วค่ะ เริ่มตั้งแต่ 14 ย่าง 15 ก็นับเป็น 15 ไปเลยละกัน ตอนนี้ 25 ก็ 10 ปีพอดี

• ระหว่างช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เคยคิดอยากไปลองเล่นอย่างอื่นไหม

ก็มีช่วงหนึ่งที่แอบคิดเหมือนกัน เพราะว่าเหนื่อย ช่วงนั้นเรียนด้วย เราเลยหยุดไปพักนึงเพื่อการเรียน เพราะถ้าซ้อมมวยไปด้วย เรียนไปด้วย เราจะเต็มที่กับการเรียนไม่ได้ ก็กลัวจะเรียนไม่จบ เราก็เลยหยุดไปสักประมาณ 3 ปี พอเรียนจบก็กลับมาชกใหม่ค่ะ

• หลังเรียนจบ ไม่คิดจะไปทำงานอย่างอื่น อย่างงานประจำบ้างหรือคะ

ซ่าไม่ชอบงานประจำ ไม่ชอบงานอะไรที่ต้องอยู่กับที่ เป็นคนที่ชอบเคลื่อนย้าย ชอบไปเจอผู้คน ไม่ชอบอยู่กับที่ ทำอะไรเดิมๆ

• แสดงว่ารักแล้วรักเลย ไม่ปันใจไปอื่น

ไม่ปันใจค่ะ เป็นอาชีพที่เราเกิดมาจากตรงนี้ เราทำมาตั้งแต่เล็กๆ เรารู้สึกว่า มันสร้างอาชีพให้เราได้จริงๆ เรามาอยู่จุดนี้ได้เพราะว่ามวย ก็ไม่อยากทิ้ง อยากทำให้ดีที่สุด ต่อให้ไม่ได้ชกในอนาคตข้างหน้า ก็อยากทำอะไรเกี่ยวกับเบื้องหลัง ก็ยังเกี่ยวข้องกับมวย

• ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ชกมากี่เวทีแล้ว

แต่ก่อนที่อยู่ช่อง 9 ขึ้นชกศึกอัศวินดำ ซึ่งจะชกบ่อยมาก ชกทุกเดือน แต่พอเริ่มโตขึ้น ก็เหมือนเลือกไฟล์ชกนิดนึง จะเลือกชกที่ไหน อะไรยังไง จะได้เตรียมตัวมากขึ้น ซึ่งก็จะชกไม่บ่อยอยู่ที่ประมาณ 60 กว่าไฟล์ ถ้าเอาเป็นประมาณการณ์

• 60 กว่าไฟล์ที่ถือว่าเยอะหรือน้อย

ถือว่าน้อยค่ะ สำหรับนักมวยถือว่าน้อยมาก นักมวยใหม่ๆ ขึ้นมาชกเลยหนูไปแล้ว เป็น 100 ไฟล์ น้องๆ ต่อยมา 3 ปี ต่อยมาเป็น 100 ไฟล์แล้วก็มี จริงๆ แล้วการต่อยเยอะหรือต่อยน้อย มันไม่ได้ชี้วัดว่าคุณเก่งมากเก่งน้อย มันขึ้นอยู่กับการชกของเรามากกว่า

• มวยหญิงกับมวยชาย ต่างกันมากไหม ทั้งในการเทคนิคการชก การยอมรับของคนดู และอื่นๆ

ก็จะมีความแตกต่างอยู่เยอะค่ะ เรื่องของการฝึกซ้อม ผู้หญิงอาจจะซ้อมได้ไม่เท่าผู้ชาย แล้วก็มีเทคนิคได้ไม่เท่าผู้ชาย ด้วยเรื่องของความอดทน ผู้หญิงบางคนขีดจำกัดในร่างกายของตัวเอง มันก็ไม่เท่าผู้ชาย ไม่ได้แข็งแกร่งเท่าผู้ชาย มันก็จะใช้ความพยายามและอดทนมากกว่าผู้ชายเป็น 2 เท่า มันจะไม่ได้ง่ายเหมือนผู้ชาย ฉะนั้นผู้หญิงจะต้องมีความอดทน มีวินัย แล้วก็รักในกีฬานี้มากจริงๆ ถึงจะอยู่ได้

แล้วก็เรื่องของการยอมรับ ถามว่าอะไรเป็นที่นิยม เป็นผู้ชายอยู่แล้วในเรื่องของความนิยม แต่ความหวือหวาจะอยู่กับนักมวยหญิง เรื่องความสวยงาม ความอ่อนช้อย เวลาเป็นผู้หญิงขึ้นไป มันจะดูน่าตื่นเต้นมากกว่า เพราะว่าเขาเป็นผู้หญิง เขามาเล่นกีฬาผู้ชาย อันนี้ในแง่อดีตนะ แต่ถ้าเป็นตอนนี้ บางคนเห็นมวยหญิงมาเยอะก็จะคิดว่า ก็มวยหญิง ก็เหมือนผู้ชายนั่นแหละ

• ตั้งแต่ชกมา เวทีไหนที่ภูมิใจที่สุดในตอนนี้

ก็จะเป็นแชมป์ของสหพันธ์มวยไทยอาชีพโลก (WPMF) ตอนนั้นอายุ 15-16 ปี ก็คือเริ่มชกใหม่ๆ เราก็ไปชกชิงแชมป์เลย ผลงานค่อนข้างไวนิดนึง ช่วงสร้าง เพราะว่าตอนนั้นมวยหญิงน้อย มวยหญิงไม่ค่อยเยอะมาก ก็ไม่ได้ถ่ายทอดสด แต่ซ่าจะชกผ่านมวยตู้ (มวยตู้คือ มวยที่ชกผ่านการถ่ายทอดทางโทรทัศน์) บ่อยๆ ผู้ใหญ่เห็นผลงานก็เลยให้เรามีโอกาสให้เราได้ชิงแชมป์

• แล้วมีเวทีไหนไหมที่ขึ้นชกแล้วเสียใจ

หลายเวทีค่ะ คือทุกไฟล์ที่ชก มันจะรู้สึกว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้นะ แบบว่าเสียดายจัง มีความเสียดายทุกไฟล์ แต่ถ้าเสียดายมากที่สุดคือเวลาไปชกเมืองนอก แล้วเราทำได้ไม่เต็มที่ เรื่องความเหนื่อยจากการเดินทาง นู้นนี่นั่น มันมีผล บางทีมันท้อ มันเหนื่อย และด้วยแรงกดดันก็มีหลายเวที ซึ่งทำให้เราท้อ สุดท้ายก็กลับมาเอาใหม่ได้

• เรากลับมามีแรงบันดาลใจใหม่ได้ยังไง

เราก็รู้สึกว่าก็ทำมาตั้งนานแล้ว จะมาหยุดง่ายๆ จะมาจบง่ายๆ จะมาทิ้งไปได้ยังไง มันไม่ใช่ตัวเราอยู่แล้ว ก็เลยไม่เลิก ก็มีแรงกลับมาสู้ใหม่ เราก็คิดถึงคนที่อยู่รอบตัวเรา คนที่ค่อยช่วยเรา ขนาดเขายังเชื่อเรา ทำไมเราจะไม่เชื่อในตัวเอง เราก็เลยเอาใหม่ เพราะว่าซ้อมมวย มันไม่ได้ซ้อมคนเดียว ทุกกีฬาไม่ได้เล่นคนเดียวได้ เพราะฉะนั้นคนที่อยู่รอบข้างเรา เขาช่วยเราเต็มที่ขนาดนี้ ทำไมอยู่ดีๆ เราจะทิ้งเขาไปง่ายๆ

• แล้วมีเวทีไหนที่รู้สึกกังวลบ้างไหม

ก็มีของ Shootboxing ค่ะ ซ่าเคยชก Shootboxing ซึ่งเป็นกีฬาของญี่ปุ่น คล้ายๆ MMA ที่ยืนอยู่บนพื้น เขาจะมีการล็อคคอ หักแขน เราไปชก เราก็ไม่รู้ ช่วงนั้นเรายังเด็ก เราก็ไปรับรายการมาแบบไม่รู้เรื่อง ด้วยความที่เด็กแล้วเก่งมวยไทย ตอนนั้นหัวยังไม่เปิดกว้างเท่าไร เลยคิดว่าตัวเองเก่งมาก แต่เป็นประสบการณ์ที่ดีมากเลยคะ ทำให้เรารู้สึกว่าบางครั้งอย่ามั่นใจในตัวเองมากเกินไป ตอนไปต่อย โดนเลอะเทอะเลยค่ะ โดยรัดคอ หักแขน สู้ไม่ได้

อันนี้เป็นความประมาทของเรา คือเป็นประสบการณ์ที่สอนเราได้เยอะมากจริงๆ เราประมาท เราคิดว่าเราเก่งแล้วในมวยไทย แต่พอไปเจออีกกีฬานึง เราไม่ได้ไปฝึก ไม่ได้เรียนรู้กีฬานี้เลย เราเอาแต่มวยไทยไปสู้ แต่สู้ไม่ได้ค่ะ หลังจากนั้น เราก็พยายามเปิดใจมากขึ้น ได้บทเรียนมาว่า คุณจะทำอะไรก็ตามศึกษามันก่อน

• เมื่อกี้บอกว่ามวยหญิงในช่วงนั้นมีน้อย แล้วตอนนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้วหรือยัง

ถามว่าคนทั่วไปรู้จักนักมวยหญิงไหม อาจจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายในวงการคนทั่วไป แต่ถ้าเป็นวงการนักมวยเอง ตอนนี้มวยหญิงเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เพราะว่านักมวยหญิงมีเทคนิคในการชกมากขึ้น มีวิธีการซ้อมที่ทำให้เราเก่ง มีฝีมือ ความแข็งแรงอาจจะไม่เท่าผู้ชาย แต่ด้วยความที่เป็นผู้หญิง มันดูสวยงาม คนในวงการมวยก็ยอมรับมากขึ้น

เด็กรุ่นใหม่ที่มาสนใจที่เป็นมวยหญิงตอนนี้ ก็มีเยอะขึ้นมากกว่าแต่ก่อน เพราะเขาเปิดใจมากขึ้น เพราะเขารู้ว่าการซ้อมมวย ไม่ได้เป็นแค่การเอาแรงไปสู้กัน ไม่ใช่ความป่าเถื่อนเหมือนแต่ก่อน คือมันมีวิธีฝึกซ้อม มันมีวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้าเกี่ยวข้อง เด็กๆ รุ่นใหม่ก็จะเปิดใจรับมากขึ้น เพราะว่ามีวิธีการฝึกซ้อมที่ถูกต้องมากขึ้น

• แล้วคิดว่าการที่ผู้หญิงมาเล่นน้อย เป็นเพราะว่ากลัวเจ็บด้วยไหม

มีส่วนค่ะ ผู้หญิงก็จะมีสไตล์หลายสไตล์ คนที่ลุยหน่อยก็จะกล้าเล่น คนที่ออกหวานๆ ก็ต้องชักชวนนานหน่อย ใช้เวลาเปลี่ยนความคิดเขานานหน่อยกว่าเขาจะมาเล่น บางคนก็ไม่ยาก เห็นตัวอย่างจากการฝึกซ้อมของคนที่เคยซ้อม มันก็ดูไม่เจ็บ มันไม่ได้ทำอะไรที่เจ็บตัว มันไม่ได้ขึ้นไปชก เขาก็จะเข้าใจว่าเรามาฝึกเพื่อออกกำลังกาย ไม่ได้มาฝึกเพื่อขึ้นไปชกเป็นอาชีพ

• แล้วกับการที่น้องซ่าต้องฝึกไปชกเป็นอาชีพล่ะ กลัวเจ็บบ้างไหม

ถ้าเป็นตอนเด็กๆ ไม่กลัว แต่ตอนนี้เริ่มกลัวแล้ว เพราะว่าน้ำหนักมากขึ้น แรงปะทะมากขึ้น จะเจ็บมากขึ้น เด็กๆ ร่างกายจะยืดหยุ่น น้ำหนัก 40- 50 กว่ากิโลกรัม มันจะยังไม่เจ็บมาก อาวุธออกไปก็แค่แสบๆ คันๆ ไม่ได้เจ็บเหมือนตอนนี้ ตอนนี้เราโตขึ้น ตัวใหญ่ขึ้น เทคนิคในการฝึกซ้อม การต่อย ความหนักหน่วงของอาวุธมันจะมีมากขึ้น มันจะกระทบกระเทือนมากขึ้น ก็กลัวเหมือนกัน

• เคยเจอศึกเจ็บหนักบ้างไหม

ยังค่ะ ที่แบบว่าต้องลากต้องหามลงจากเวทียังไม่เคย และไม่อยากโดนด้วย ก็จะพยายามไม่เป็นอย่างนั้น

• การพยายามที่ให้เราไม่ให้ตัวเองเจ็บหนัก คือเราต้องซ้อมเยอะถูกไหม

ถูกค่ะ ต้องซ้อมเยอะ ต้องไม่ประมาทคู่ต่อสู้ แล้วก็ต้องมีใจที่นิ่ง มีสติ มีสมาธิ ต้องฝึกบ่อยๆ ต้องฝึกไหวพริบตัวเองอยู่ตลอดเวลา

• แสดงว่าการขึ้นชกมวย ไม่ใช่แค่เพียงความแข็งแรงของร่างกาย

ต้องมั่นใจด้วยในการขึ้นไป ถ้าขึ้นไปแล้วไม่มั่นใจในตัวเองก็แย่ ซึ่งมันมีบางไฟล์ที่ขึ้นไปแล้วไม่มั่นใจ คือประหม่า แต่มันก็ควบคุมยากเหมือนกัน ทั้งสถานที่ คนรอบข้างที่เราอยู่ตรงนั้น มันมีผลต่อทุกครั้งที่เราขึ้นชก

• น้องซ่าชอบอะไรในกีฬามวย

หนูชอบตรงที่ว่า เราได้อะไรจากตรงนี้ มันอาจจะไม่ใช่แค่มวยอย่างเดียว ทุกๆ กีฬา มันมีเสน่ห์ในตัวมัน ในการฝึกซ้อม ความยากของมัน การที่เราต้องอดทนกับมัน หรือว่ามี Process อะไรต่างๆ ที่เราต้องฝึก มันเป็นเสน่ห์ของมัน เป็นอะไรที่ Challenge เป็นสิ่งที่ท้าทายกับตัวเราเอง เป็นเหมือนเส้นให้เราข้ามไป เป็นสิ่งที่ซ่าชอบ แล้วก็เรื่องของความสวยงามของมวย มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ซ่าชอบเหมือนกัน

• ตอนนี้เป็นมวยไทย แล้วเราได้เริ่มฝึกกีฬาต่อสู้ประเภทอื่นบ้างไหม

ก็จะมี Kickboxing ซึ่งจะเป็นมวยที่ไม่ได้ใช้ศอก ไม่ได้ใช้เข่ามาก คือมันจะเป็นการแตะต่อยที่ใช้ Movement ของ Boxing คือ Kickboxing จะไม่เหมือนมวยไทย

มวยไทยจังหวะจะไม่ได้เร็ว ซึ่งเราก็ต้องฝึกต้องปรับกันใหม่ อีกอย่างมวยไทยไม่ได้เน้นที่มือ ไม่ได้เน้นที่สเต็ป เราก็ต้องไปฝึกกันใหม่ เพราะว่าเราต้องขึ้นชกในศึกกลอรี่ แล้วกลอรี่เป็น Kickboxing ใช่ไหมคะ เราก็พยายามฝึกและปรับปรุงสไตล์ของตัวเอง เพื่อให้เข้ากับการชก Kickboxing ให้มากขึ้น

• แต่การที่เรามีพื้นฐานมวยไทย เราจะได้เปรียบกว่าไหม

คือมันต้องเอาอะไรหลายๆ อย่างมารวมกัน เพราะว่านักกีฬา Kickboxing ก็ไม่ได้เรียนมวยไทยมา เขาจะเรียนเป็น Kickboxing จริงๆ เป็นวิชา Kickboxing เลย ไม่ได้เรียนพื้นฐานมวยไทย ถ้าถามว่าการที่เป็นมวยไทยจะได้เปรียบไหม มันจะได้เปรียบแค่เรื่องของลูกรัดฟัดเหวี่ยง ลูกแตะ แต่เรื่องการสู้ด้วยมือ เราจะยังสู้เขาไม่ได้ เรื่องหมัด เรื่อง Movement จะสู้ Kickboxing ไม่ได้เลย

เพราะว่ามวยไทยจะติดอยู่กับที่ เป็นจังหวะๆ แต่ Kickboxing คือเขาจะมาเป็น Combo เป็นชุด จะค่อนข้างไวกว่ามวยไทย อย่างลูกชกลูกแตะบางลูกของ Kickboxing เราไม่เคยเจอ เราก็จะแก้ไม่ได้ ทีนี้เราก็ต้องฝึก เราก็ต้องรู้ว่าคู่ต่อสู้มีอะไรบ้างใน Kickboxing

• น้องซ่าเข้าไปชกใน Kickboxing ในลีกกลอรี่ได้ยังไง

เราก็มีผลงานมาหลายอย่างพอสมควร ผู้ใหญ่ก็เห็นถึงศักยภาพของเรา เขาก็เชิญชวนให้เราเข้าไปร่วมในรายการแข่งขัน ซึ่งซ่าคิดว่ามันเป็นอะไรที่สมควรแก่เวลาแล้วเหมือนกันที่เราจะไปลองอะไรอีกขั้นหนึ่ง อีกสเต็ปหนึ่ง เพราะว่าลีกกลอรี่ มันก็เป็นอะไรที่ International เป็นระดับโลก แล้วก็เป็นโอกาสอย่างหนึ่ง เราก็เลยโอเคที่จะเข้าไปร่วม

• เป้าหมายที่เราวางไว้ในสังเวียนมวยคืออะไร

ก็คิดว่าตัวเองน่าจะชกแล้วก็เป็นกระบอกเสียงกระบอกหนึ่ง เพื่อให้คนทั่วไปได้เห็นมวยมากขึ้น ให้ความสำคัญกับมวยมากขึ้น และเปิดใจกับมวยมากขึ้น สนับสนุนนักมวยหญิงมากขึ้น ถามว่าฝันไปถึงเป็นแชมป์ไหม ฝันค่ะ ยังอยากทำอะไรที่ไปถึงจุดนั้นอีกครั้งหนึ่งก่อนเลิก แต่ถ้าไม่ได้ก็ถือว่าเราเต็มที่ แต่ถ้าเป็นไปได้ก็จะพยายามทำให้ดีที่สุด

• แล้วคิดว่าตอนนี้เราประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง

ยังค่ะ เพราะว่าตั้งแต่กลับมาชกก็ยังไม่ได้ทำผลงานที่เฉิดฉายเลยจริงๆ ตอนนี้ก็พยายามฝึก เด็กรุ่นใหม่อาจจะได้เปรียบในเรื่องการฝึกซ้อม ในเรื่องเทคนิค เขาจะเก่งมากกว่าเรา มีไหวพริบมากกว่า มีตัวอย่างให้ดูมากขึ้น ตอนนั้นที่เราหยุดไป มันก็ทำให้เราดรอปไปเหมือนกัน ส่วนตอนนี้ยังไม่มีผลงานที่โดดเด่น ก็อยากจะทำอะไรสักหนึ่งอย่างที่มันโดดเด่น และคิดว่านั่นคือสิ่งที่ทำให้เราประสบความสำเร็จแล้ว

• มีคนบอกว่า น้องซ่าอยากผลักดันกีฬามวยให้เป็นกีฬาที่ผู้หญิงสนุกได้ อะไรทำให้เรามีความตั้งใจนี้

ก็อยากให้ทุกคนมองว่าการฝึกมวย ไม่ได้เป็นการฝึกเพื่อไปชก แต่เป็นการฟิตตัวเอง เป็นการทำให้ร่างกายเฮลตี้ด้วยการใช้ศิลปะแม่ไม้มวยไทย อยากให้เขาเปิดใจมากขึ้น มองว่ามวยไม่ใช่กีฬาที่ใช้แต่กำลัง บ้าๆ เถื่อนๆ อยากให้เขาเข้าใจใหม่เกี่ยวกับเรื่องมวย เพราะบางคนถ้าไม่ได้อธิบาย ไม่ได้มาเรียนรู้จริงๆ ก็จะคิดว่า เถื่อน ใช้แต่กำลัง ต่อยกันเหมือนไม่มีสมอง ทำไมใช้แต่กำลัง เป็นกีฬาที่ไม่มีประโยชน์เลย ก็จะมีคนคิดอย่างนั้นอยู่

สำหรับบางคนที่เขาไม่เข้าใจ ใจก็ยังจะปิดอยู่ เราก็อยากให้เขาเห็นว่า เราซ้อมมันก็ไม่ได้หนักขนาดนั้น ก็ดูเราซ้อมสิ หุ่นเราเป็นอย่างนี้ ฟิตอย่างนี้นะ ทำง่ายๆ ไม่ยาก แค่อยากจะให้เขาเห็นว่ามวยมันไม่ได้ยากอย่างที่คิด ซ่าเลยพยายามจะเป็นกระบอกเสียง ให้เขาหันมาสนใจมวยไทยมากขึ้น

• คำถามสุดท้ายให้น้องซาซ่าแนะนำน้องๆ ที่อยากลองเข้ามาในจุดนี้หน่อย

ก็เข้ามาลองก่อน อันดับแรกเลยคือให้มาลองก่อนว่าเราไหวไหม แล้วลองคิดดูว่า ถ้าเราเล่นกีฬานี้เราได้อะไรจากมัน เราจะทำอะไรกับมัน เราจะสานต่อตัวเองไปทางไหน ลองคิดเล่นๆ ก่อนว่าแบบ ถ้าฉันต่อย ฉันจะไปถึงระดับนี้ได้ไหม เราจะสู่ไหวไหม สุดท้ายแล้วก็ให้มาลองฝึก ต้องมาที่สถานที่จริงๆ ด้วยนะ มาลองอยู่ในบรรยกาศการฝึกซ้อมจริงๆ แล้วดูว่าตัวเองชอบไหม รักไหม

เพราะจริงๆ แล้วกีฬานี้ อันดับแรกต้องมาจากใจของเราที่ต้องชอบก่อน ถ้ามาซ้อมเพราะคิดว่าทำเป็นอาชีพอย่างเดียว ไม่ได้รักมัน ซ่าคิดว่าไม่น่าจะเวิร์ค ต้องชอบก่อน ต้องหาจุดๆ หนึ่งในมวยนี้แหละ อะไรก็ได้ที่เราชอบ แล้วก็ลองมัน แล้วต้องมีความอดทน มีวินัยต่อการฝึกซ้อม ให้มั่นฝึกซ้อมบ่อยๆ

นักมวยอาชีพยังมีเลยค่ะ เหมือนอาการหมดไฟ เราก็ต้องมองดูรอบข้างว่า มันมีอะไรมาปลุกเร้าเราได้ เช่นความสนุก เพื่อน เทนเนอร์ ช่วยเราไหม อะไรยังไง เราก็ต้องคิดถึงตรงนั้นเยอะๆ เพื่อผลักตัวเองให้ทำต่อไปเรื่อยๆ หาจุดหนึ่งในสิ่งที่เราชอบ จนกว่าเราจะเจอ แล้วเราก็จะทำมันได้

“จริงๆ แล้วการต่อยเยอะหรือต่อยน้อย มันไม่ได้ชี้วัดว่าคุณเก่งมากเก่งน้อย มันขึ้นอยู่กับการชกของเรามากกว่า”

ขอบคุณสถานที่: Pinto Fight Studio
• Address: RCA พระราม 9
• Time: เวลา 10.30 – 21.00 น. (ปิดวันอาทิตย์)
• FB: www.facebook.com/pintofightstudio/
• Tel: 02 933 2779

Story: Taliw
Photo: Sroisuwan.T

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.