คำแสดงความรู้สึกของประชาชนต่อในหลวงรัชกาลที่ 9

คำแสดงความรู้สึกของประชาชนต่อในหลวงรัชกาลที่ 9

หลากถ้อยคำไว้อาลัยที่ประชาชนต่างใช้กัน ผิดบ้างถูกบ้าง แต่ถ้าลองเรียนรู้ภาษาไทยวันละคำกันเป็นการเฉพาะกิจ…ใช้ถ้อยคำให้ถูกตามระเบียบแบบแผน และเหมาะสมยิ่งถือเป็นเรื่องที่ดี

คำแสดงความรู้สึกของประชาชนทั่วไปมักใช้ว่า “ถวายความอาลัย” มีการชี้แนะควรใช้ว่า “ไว้อาลัย” รวมถึงคำว่า “ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” มีการชี้แนะคำที่ถูกต้องโดยใช้ “เสด็จสู่สวรรคาลัย” พอแล้วไม่ต้องมีคำว่าส่งนำหน้า เนื่องจากการใช้คำที่ผิดๆ ถูกๆ นั้น เป็นการแสดงถึงความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน

ยิ่งในช่วงนี้เป็นภาวะที่ประชาชนกำลังทุกข์โศกและจงรักภักดี ใจคิดอย่างไรให้พูดออกมา ต้องการใช้คำอะไรก็ใช้แต่ต้องระวังไม่ให้เป็นการลดทอนพระบรมเดชานุภาพ แต่ถ้าทำได้ถูกตามระเบียบแบบแผนก็ยิ่งจะถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และถือเป็นความรู้สืบต่อไปในอนาคต ยกตัวอย่างเช่นคำว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ” เนื่องจากธรรมเนียมสมัยก่อนไม่นิยมออกชื่อคน คำว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ” จึงมีอยู่ในกฎหมาย และเขียนอยู่ในกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ แต่ใครสะดวกใช้แบบใดก็ได้ไม่ถือว่าผิด

สำหรับคำว่า “อาลัย” ไม่ควรพูดคำว่า “ให้อาลัย” แต่จะใช้คำว่า “ไว้อาลัย” เนื่องจากความอาลัยไม่ได้มีไว้ให้ผู้ตายแต่เป็นสิ่งที่จะต้องเก็บไว้ในใจของเราเอง จึงใช้คำว่า “ถวายอาลัย” ไม่ได้ โดยให้ใช้คำว่า “ไว้อาลัย” หรือ “แสดงความไว้อาลัย” แทน ส่วนอีกหนึ่งคำว่า “ไหว้ศพ” กรณีพระบรมศพควรใช้คำว่า “ถวายสักการะพระบรมศพ” หรือ “ถวายบังคมพระบรมศพ” ขอเพียงนำไปปรับใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสมก็เพียงพอ ส่วนในเรื่องของการแต่งกายดำหรือขาว บางคนหาเสื้อผ้าสีเหล่านี้ไม่ทันนำโบสีดำมาติด ขอแค่เพียงเรามีใจที่คิดร่วมกันว่า “เราโศก เขาก็เศร้า ของอย่างนี้ไม่มีการตำหนิกัน”

ทั้งนี้การที่ประชาชนทุกคนยอมที่จะเข้าแถวตากแดด ตากฝนเป็นเวลานาน แม้ว่ายังไม่มีโอกาสเข้าไปภายใน แต่ยังมีความต้องการที่จะอยู่ใกล้ชิดเท่าที่จะใกล้ได้ ทุกคนต่างก็ยินยอมพร้อมใจกันด้วยความเต็มใจเพียงแค่นี้ก็ถือเป็นความชื่นใจที่สุดแล้ว

ที่มา: www.kingrama9.th

ภาพจาก: guardian.ng, ibtimes.co.uk

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.