น่าจะเป็นคำที่คุ้นชินกับคนไทยในเวลานี้ไปเรียบร้อยแล้วสำหรับเจ้า อูเบอร์ (Uber) แอพลิเคชั่นเรียกรถโดยสารสัญชาติอเมริกันที่เข้ามาให้บริการในบ้านเราตามหัวเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น ซึ่งกำลังได้รับความนิยมจากคนไทยอยู่ในเวลานี้
อย่างไรก็ตามเมื่อมีสิ่งหนึ่งเติบโตขึ้นมา ย่อมส่งผลกระทบกับอีกสิ่งหนึ่งอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
อูเบอร์ก็เช่นกัน เมื่อจุดมุ่งหมายของพวกเขาคือการรับ-ส่ง ผู้โดยสาร การเผชิญหน้ากับผู้มาก่อนอย่าง “แท็กซี่” ย่อมเกิดขึ้น อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ดังที่เราได้เห็นกันผ่านพื้นที่ข่าวหลายแห่ง ซึ่งไฮไลท์ของเรื่องนี้น่าจะเป็นการล่อซื้อผู้ขับอูเบอร์ของหน่วยงานภาครัฐ และการรวมตัวของคนขับรถ (สองแถว) แดงที่จ.เชียงใหม่ ออกไล่ล่าผู้ขับอูเบอร์ ตลอดจนการออกมาแสดงพลังของผู้ขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ที่เรียกร้องให้ “ภาครัฐ” จัดการกับอูเบอร์ด้วยการชูประเด็น “ชาตินิยม” และ “กฎหมาย” จนกลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์” ไปในที่สุด
อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น อูเบอร์ แอพลิเคชั่นเรียกรถโดยสารผ่านสมาร์ทโฟนถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกที่เมืองซาน ฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ก่อนได้รับความนิยมแพร่ขยายไปยังเมืองใหญ่กว่า 120 ประเทศทั่วโลก เข้ามาเปิดให้บริการในเมืองไทยครั้งแรกที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา โดยมีบริการดังนี้ (ข้อมูลจาก thaiuber.com)
UberX รถยนต์ทั่วไปที่ผู้โดยสารสามารถเรียกใช้งานผ่านแอพลิเคชั่น Uber บนสมาร์ทโฟนได้ทันที โดยสามารถเลือกจ่ายค่าโดยสารได้ทั้งเงินสด และหักผ่านบัตรเครดิต ตามความต้องการของผู้ใช้งาน
UberBlack รถยนต์ระดับหรูที่ชูความสบายระดับพรีเมี่ยมให้บริการกับผู้โดยสารได้เปิดประสบการณ์การเดินทางที่แสนสะดวกสบายในระดับลีมูซีน
ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ที่อูเบอร์เปิดให้บริการในเมืองไทย แต่เกิดข้อถกเถียงขึ้นอย่างกว้างขวางจากผู้โดยสารที่มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นเราลองไปดูกันว่า เอาเข้าเข้าจริงๆ แล้วคนไทยคิดยังไงกับอูเบอร์กันแน่ งานนี้เราลองไปค้นข้อมูลจาก กรุงเทพฯ โพลล์ หัวข้อ “หัวอกผู้โดยสารกับการสร้างทางเลือก : แท็กซี่ หรือ อูเบอร์คาร์” เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 ผลปรากฏดังนี้
1.เรียกแล้วไม่ไป รีบไปส่งรถ, แก๊สหมด, ไกล เป็นต้น โดยผลสำรวจพบมากถึงร้อยละ 85.5%
2.ขับรถวน, พาอ้อม หรือออกนอกเส้นทางของแท็กซี่ ร้อยละ 42.4%
3.มารยาทของผู้ขับแท็กซี่ ทั้งการพูดจาไม่สุภาพ, ไม่เพราะ ร้อยละ 35.2%
ร้อยละ 75.1 ให้การสนับสนุน โดยแบ่งเป็นร้อยละ 57.6 ให้เหตุผลว่าผู้โดยสารจะได้มีทางเลือก และร้อยละ 37.3 ให้เหตุผลว่าจะได้มีการแข่งขันและพัฒนาคุณภาพการให้บริการของแท็กซี่
ร้อยละ 24.9 ไม่ให้การสนับสนุน โดยแบ่งเป็นร้อยละ 47.5 ให้เหตุผลว่าเป็นการแย่งอาชีพคนหาเช้ากินค่ำ และร้อยละ19.2 ให้เหตุผลว่าเป็นการบริการที่ไม่ได้รับอนุญาต
จากผลสำรวจดังกล่าวเมื่อมองถึงความเป็นจริงแล้วพบว่า อูเบอร์สามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานด้วยคุณภาพ ไม่มีการปฏิเสธผู้โดยสาร เพิ่มทางเลือกในการจ่ายค่าโดยสารได้หลายช่องทาง อุดช่องโหว่ด้านการบริการต่างๆ ข้างต้นจนเกิดเป็นความไว้วางใจของลูกค้าต่อแบรนด์ (Brand loyalty) ได้ในที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม…
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า เมื่อมีสิ่งหนึ่งเติบขึ้นมา ย่อมต้องเกิดผลกระทบต่ออีกสิ่งตามไปด้วย แน่นอน เมื่ออูเบอร์เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด กลุ่มผู้ให้บริการแท็กซี่ ผู้มาก่อนและเหนียวแน่นในสังคมไทยมาเนิ่นนาน ย่อมได้รับผลกระทบตามไปอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง โดยมีประเด็นหลักๆ ดังนี้
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้แสดงความคิดเห็นผ่านทาง http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/746216 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2550 โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเด็นหลักๆ ดังนี้
1.การนำแอพพลิเคชั่นไปใช้เรียกรถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) เพื่อใช้รับจ้างขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งเป็นความผิดตามพ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522
2.ไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ทางราชการกำหนด
3.ผู้ขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ไม่เคยผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และไม่เข้าสู่ระบบทะเบียนของศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ประชาชนจะไม่ได้รับ การคุ้มครองจากกฎหมาย
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ขับแท็กซี่ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐเข้าจัดการกับคนขับอูเบอร์ ด้วยประเด็นหลักๆ ดังนี้ (ข้อมูลจาก www.khaosod.co.th/economics/news_263160)
1.ส่งผลกระทบต่อรายของแท็กซี่ถูกกฎหมายที่มีอยู่กว่า 50,000 คัน ทั่วทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 30%
2.ขอให้กระทรวงคมนาคม ทบทวนโครงสร้างค่าโดยสารในปัจจุบันให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เนื่องจากสาเหตุหลักของการปฏิเสธผู้โดยสาร เป็นเพราะหากวิ่งให้บริการจะไม่คุ้มค่ากับต้นทุน
อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ขับแท็กซี่ยืนยันว่าไม่ได้ต่อต้านการนำแอปพลิเคชันมาใช้ แต่ต้องการให้การบริการเป็นไปอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งให้ความร่วมมือกับแอปพลิเคชัน Smart Taxi ที่พัฒนาโดยคนไทยแล้ว แต่จะต้องรอให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น กล้องวงจรปิด และมิเตอร์รูปแบบใหม่ ที่ใช้บัตรประจำตัวคนขับสแกนเพื่อยืนยันตัวตนก่อนออกให้บริการเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร เป็นต้น
นอกจากในเมืองไทยเราแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่เกิดข้อขัดแย้งขึ้นเป็นวงกว้าง เช่นที่จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา (www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1458636200) เกิดการรวมกันของคนขับแท็กซี่ และสามล้อที่นำรถของตัวเองออกรวมตัวกันทั่วเมืองเรียกร้องให้ภาครัฐจัดการกับกลุ่มอูเบอร์ ที่พวกเขาใช้คำว่า “แท็กซี่เถื่อน” ที่ทำให้พวกเขาสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงที่ยุโรป ไม่ว่าจะเป็น ลอนดอน , ปารีส , มิลาน , เบอร์ลิน และ มาดริด ที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะใกล้เคียงกันอีกด้วย (www.beartai.com/news/23053)
แม้อูเบอร์จะเป็นที่ถูกใจของ “คนไทย” จำนวนมาก แต่อย่างไรก็ดีบางที “ความถูกใจ” อาจไม่ได้มาพร้อมความ “ถูกต้อง” เสมอไป ฉะนั้น การค้นหาหนทางแก้ปัญหาเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยดีน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องเริ่มออกมาให้ความสำคัญกันมากขึ้น นับเป็นสัญญาณดีที่แม้จะไม่รวดเร็วได้อย่างที่หวังไว้ก็ตาม
โดยนายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ได้ออกมาเผยถึงการประชุมแก้ปัญหารถอูเบอร์เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติให้ศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการใช้ระบบบริการร่วมเดินทาง (Ridesharing) ของแอพพลิเคชันอูเบอร์ในประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับระบบดังกล่าว เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาทำศึกษาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี จึงสามารถสรุปผลได้
ส่วนนางเอมี่ กุลโรจน์ปัญญา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายรัฐสัมพันธ์สื่อสารองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อูเบอร์ เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ภาครัฐและอูเบอร์พูดคุยไปในทิศทางเดียวกัน คือมีข้อตกลงที่จะทำการศึกษาเพื่อพิจารณาประโยชน์จากบริการ Ridesharing (www.bangkokbiznews.com/news/detail/746228)
ไม่ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะดำเนินไปในทิศทางใดก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าสุดท้ายแล้วผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างแท้จริงนอกจากอูเบอร์ และ แท็กซี่แล้ว ก็คือประชาชนคนทั่วไปอย่างเราๆ นั่นเอง ฉะนั้น นอกจากคู่ขัดแย้งโดยตรงแล้วควรต้องทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมราคาที่จะต้องยุติธรรมกับทุกฝ่าย การควบคุมคุณภาพของการให้บริการที่เท่าเทียมกัน เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ให้ย้อนกลับมา และแก้ไขข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งถือเป็นการเดินหน้าร่วมกันไปได้อย่างยั่งยืน