ชาครีย์นรทิพย์ || ลูกไม้หล่นใต้ต้น นักการทูต – นัก(อยาก)เขียน รอยเท้าที่ก้าวตาม ประภัสสร เสวิกุล

WHO # FAV talk with ชาครีย์นรทิพย์ : คุยกันกับ ลูก(ชาย)ไม้ใต้ต้น ของ คุณประภัสสร เสวิกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2554 ผู้ซึ่งเป็นทั้งครูคนแรกและแบบอย่างที่ดีของลูก เขาได้เดินตามรอยของผู้เป็นพ่อ ในฐานะ นักการทูต นักอ่าน และนักเขียน

วันนี้เราพาทุกคนไปคุยกับ คุณกอล์ฟ – ชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล ชื่อของเขาอาจฟังดูแปลก ทว่าไพเราะ นั้นมีความหมายว่า ผู้วิเศษ ผู้มีสติ เป็นชื่อที่คุณพ่อเป็นผู้ตั้งให้ นั่นคือ คุณประภัสสร เสวิกุล นักเขียนวรรณกรรมชั้นครู ผู้ฝากผลงานวรรณกรรมชั้นเยี่ยมอย่าง “ลอดลายมังกร” และ “เวลาในขวดแก้ว” รวมถึงผลงาน นวนิยาย เรื่องสั้น บทกวี และสารคดีอื่นๆ อีกมากมาย เราถือโอกาสนี้ได้ถามไถ่ถึงชีวิตหลักปกวรรณกรรมอันทรงคุณค่าของคุณพ่อ ผ่านการเล่าเรื่องราวในชีวิตวัยเด็กจนเติบโตของคุณกอล์ฟ ที่ได้รับการปลูกฝังให้รักการอ่าน ฝึกคิดแบบไร้กรอบและกฎเกณฑ์ใดใดในการใช้ชีวิต และความเป็นสุภาพบุรุษที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

ปัจจุบัน คุณกอล์ฟ รับราชการอยู่กระทรวงการต่างประเทศ ตำแหน่ง นักการทูตชำนาญการพิเศษ กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ นอกเวลาราชการ เขารับบทบาทเป็นสามีที่ดีของภรรยา เป็นคุณพ่อที่อบอุ่นและใจดีของลูกชายและลูกสาว และยังคงเป็นลูกชายที่น่ารักของคุณแม่ชุติมา เสวิกุล อีกทั้งเขายังเป็นนักอ่าน และนัก(อยาก)เขียน ตามแบบอย่างของคุณพ่อ ซึ่งเขาเองก็ยินดีที่จะเดินตามทางของ คุณประภัสสร เสวิกุล ด้วยความภูมิใจอย่างที่สุด

ทว่าเป็นเหตุบังเอิญที่วันนี้เราได้มานั่งคุยสบายๆ ในเขตพระราชวังพญาไท แต่เดิมเคยเป็นที่ประทับและทรงพระอักษรของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ผู้ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” มหาราชปราญ์แห่งวรรณกรรม การพูดคุยในวันนี้จึงเต็มไปด้วยอรรถรสแห่งวรรณกรรมเป็นอย่างยิ่ง

ในฐานะทายาทของนักเขียน (คุณประภัสสร เสวิกุล) ชีวิตในวัยเด็ก คุณพ่อปลูกฝังเรื่องการอ่าน อย่างไรบ้างครับ

สิ่งแรกที่จะพูดถึงในวัยเด็ก คือ บ้านจะเต็มไปด้วยหนังสือ ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของบ้าน ก็จะมีหนังสือวางอยู่ทุกๆ ที่ ที่สำคัญคือห้องทำงานของคุณพ่อ คล้ายๆ จะเป็นห้องสมุด จะมีหนังสือทุกรูปแบบอยู่บนชั้นอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

สำหรับผมกับน้องชาย อยากซื้อหนังสือเล่มไหน คุณพ่อจะไม่เคยห้าม แต่ก่อนที่จะรู้จักการอ่านนั้น วิธีที่คุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังให้เราชอบหนังสือ ท่านก็เลือกว่า หนังสือเล่มไหนที่เราน่าจะสนใจ ก็จะเอามาวางๆ ไว้ ไม่บังคับว่าต้องอ่าน หรือไม่ได้บอกตรงๆ ว่า ทำไมไม่อ่านเล่มนั้นเล่มนี้ แต่พอเดินไปเดินมามันต้องผ่านตาบ้าง บางเล่มเราอาจไม่ได้หยิบจากการเห็นในครั้งแรก แต่พอเห็นวางอยู่เรื่อยๆ ก็จะหยิบขึ้นมาอ่าน…สักวันหนึ่ง

จำได้มั้ยครับว่า หนังสือเล่มแรกที่หยิบขึ้นมาอ่านคือหนังสือเล่มไหน

หนังสือเล่มแรกจำไม่ได้แล้วครับ แต่ที่จำได้คือ หนังสือเล่มแรกๆ ที่ไปหยิบจากห้องหนังสือของคุณพ่อ จะเป็นหนังสือเรื่อง MYTHOLOGY ของ เอดิท แฮมิลตัน (Edith Hamilton) ตอนนั้นอยู่ที่ตุรกี อายุประมาณสิบขวบ ช่วงนั้นผมสนใจเรื่องเทพเจ้ากรีกโรมันและตำนานปรัมปรา คุณพ่อได้หนังสือเล่มนี้มาจากตลาดหนังสือเก่า เป็นเล่มที่คุณพ่อรักมาก แต่พอเราขอหยิบมาอ่าน คุณพ่อก็ไม่ได้ห้าม ไม่ได้หวงอะไร แล้วก็ส่งเสริมหาหนังสือจำพวกเทพกรีก-โรมัน มาให้เราอ่านเพิ่ม

ชีวิตที่ต้องเดินทางติดตามคุณพ่อไปในหลายๆ ประเทศ มันมีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไรครับ

ในส่วนของเป็นลูกนักการทูตนั้น ในสิ่งที่ทุกครอบครัวต้องเจอเหมือนกันนั่นคือ การโยกย้าย ส่วนใหญ่นักการทูตจะอยู่ในประเทศนั้นๆ ประมาณสี่ปีก่อนที่จะย้ายไปประเทศอื่น หรือย้ายกลับมาประเทศไทย ตัวผมเองเกิดที่ประเทศลาว สองขวบย้ายตามคุณพ่อไปอยู่ที่เยอรมนี แล้วก็ย้ายกลับมาเมืองไทยตอนห้าขวบครับ สิบขวบก็ย้ายไปที่ตุรกี อยู่ที่นั่นจนถึงสิบสี่ขวบ ในช่วงต้นนี่แหละ แทบจะไม่ได้อยู่เมืองไทยเลย งั้นพอกลับจากตุรกีตอนอายุสิบสี่ขวบ ก็มาเริ่มเรียน ก ไก่ ข ไข่ ใหม่หมด

ระหว่างที่อยู่ต่างประเทศนั้น คุณกอล์ฟ สื่อสารด้วยภาษาอะไรครับ

ผมสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ด้วยภาษาไทยครับ คือพูดคุยกันด้วยภาษาไทย แต่การเขียน การอ่าน ก็ห่างเหินไป คุณพ่อคุณแม่จะให้คัดไทยตลอด แต่การประสมคำ พยางค์ พยัญชนะอะไรต่างๆ เนี่ย ไม่ได้ลงลึกขนาดนั้น ส่วนการสื่อสารกับคนอื่นจะใช้ภาษาอังกฤษ ตอนนั้นผมจะคุ้นกับภาษาอังกฤษมากกว่า กับน้องชายเราจะพูดคุยเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาตุรกีเสียมากกว่า

ตอนกลับมาอยู่เมืองไทยก็เหมือนต้องมาเริ่มต้นใหม่ มันยากในแง่ของอายุ เด็กอายุสิบสี่เนี่ย เรียกว่าเป็นวัยรุ่นแล้ว พอกลับมาเจอเพื่อนที่พุดคุยกันคนละภาษากับเรา คือภาษาไทย เราสื่อสารได้ไม่เท่าเค้า เราก็คุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง เค้าก็มองเราเป็นตัวประหลาด อยู่ดีดีก็โผล่มาจากไหนไม่รู้ อ่านภาษาไทยก็ไม่ค่อยออก

ช่วงที่กลับมาใหม่ๆ เขียนได้แค่ชื่อตัวเอง แต่ชื่อมันยาว (ชาครีย์นรทิพย์) ก็ขี้เกียจ เลยเขียนตัวย่อว่า “ช น” มันจะอ่านว่า “ชน” ก็แปลกๆ ก็เลยเติมสระ อะ ไป คนก็คิดว่าเราชื่อ “ชนะ” (หัวเราะ)

เราจะเห็นว่า คุณกอล์ฟ เป็นนักอ่านตั้งแต่เด็ก ส่วนใหญ่จะอ่านวรรณกรรมประเภทไหนครับ

ผมอ่านวรรณกรรมภาษาอังกฤษเป็นหลัก ส่วนภาษาไทยจะอ่านเฉพาะวรรณกรรมของคุณพ่อครับ

ตอนนั้นคุณกอล์ฟทราบอยู่ก่อนแล้วหรือไม่ว่า คุณพ่อเป็นนักเขียนชื่อดัง

ตอนนั้นเราทราบแค่ว่า คุณพ่อเป็นนักเขียนครับ แต่ไม่ได้ตระหนัก จนกลับมาเมืองไทย เราได้เห็นนักอ่านเข้ามาพูดคุยกับคุณพ่อ มาขอลายเซ็น เราเห็นคุณพ่อได้ไปพุดคุยกับนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เห็นคนที่เค้าให้ความสนใจ ตอนนั้นเรื่องที่ดังมากคือ “เวลาในขวดแก้ว” และ “ชี้ค” ครับ

สมัยก่อน งานสัปดาห์หนังสือฯ เราจะเห็นนักอ่านยืนรอเข้าแถวเยอะมาก อย่างเวลาคุณพ่อไปเปิดตัวหนังสือที่ร้านหนังสือดอกหญ้า ร้านหนังสือชื่อดังในตำนาน เราก็เห็นนักอ่านยืนรอพบปะ ก็ทำให้เราเห็นว่า ภาพลักษณ์ของคุณพ่อที่บ้านเนี่ย จะเป็นคนรักการเขียนหนังสือ คือเขียนด้วยความรัก แต่เราไม่เห็น impact ของคนอ่านที่มีต่อวรรณกรรมของคุณพ่อเป็นอย่างไร จนเราได้มาเห็นเองข้างนอกบ้าน

จริงๆ มีคนรักงานเขียนของคุณพ่อเยอะ แต่คุณพ่อไม่เคยมองว่า ตัวเองเป็นนักเขียนดังหรือมีชื่อเสียง ไม่ว่าจะอยู่ต่อหน้านักอ่าน หรืออยู่กับที่บ้าน คุณพ่อยังคงเป็นคนเดียวกันกับ ประภัสสร เสวิกุล ที่ทุกคนรู้จัก

หลังจากกลับมาอยู่เมืองไทยตอนอายุสิบสี่ คุณกอล์ฟต้องเดินทางไปอยู่ต่างประเทศอีกหรือเปล่าครับ

ยังมีเดินทางไปครับ หลังจากกลับมาอยู่เมืองไทยได้ปีกว่า คุณพ่อก็มองว่า กลัวเราจะสูญเสียภาษาอังกฤษที่เราได้เรียนรู้มาครับ บวกกับเรื่องเรียนด้วย ตอนที่กลับมาผมมาเข้าเรียน ม.3 เทอมสอง ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ธนบุรี จำได้ว่าสอบเทอมแรกก็ตกเกือบทุกวิชาเลย ผ่านอยู่วิชาเดียวคือ ภาษาอังกฤษ ได้คะแนนสูงมาก วิชาอื่นสอบตก คะแนนเป็น 0 เลย (หัวเราะ) คุณพ่อก็เห็นใจ ก็ให้ย้ายมาเรียนต่อ ม.4 ที่อัสสัมชัญ บางรัก แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เราเรียนที่บางรัก แต่บ้านเราอยู่บางแค สมัยก่อนถนนหนทางก็ยังไม่ทันสมัย ไม่สะดวกสบายเท่าทุกวันนี้ ไปถึงโรงเรียนก็สายทุกวัน (หัวเราะ) เราเรียนห้องศิลป์-ภาษา ก็เรียกได้ว่า เป็นเด็กที่จะเกเรนิดหน่อย ครั้งหนึ่งมีเหตุการณ์ที่ทำให้ถูกลงโทษยกห้อง คุณพ่อก็สงสารว่าเราจะเครียด ก็เลยส่งไปเรียนที่นิวซีแลนด์ 7 ปี

ปกติจะเดินทางติดตามคุณพ่อไปประเทศต่างๆ แต่ครั้งนี้ต้องไปอยู่เองคนเดียว มีเรื่องสนุกอะไรบ้าง เล่าให้เราฟังหน่อยครับ

ตอนนั้นผมไปเรียนต่อที่เนลสัน คอลเลจ (Nelson College) เป็นโรงเรียนประจำ อยู่ทางเกาะใต้ของประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งผมเป็นเด็กไทยคนแรกๆ ในยุคนั้นนะครับ ก่อนหน้านั้นมีเด็กไทยแค่สองคน แต่ไปห่างกันหลายสิบปีมาแล้ว ผมก็ถือเป็นรุ่นบุกเบิกอีกครั้ง เรื่องสนุกสนานส่วนใหญ่จะเป็นการทำกิจกรรมนอกห้องเรียน เล่นกีฬาซะเยอะครับ จนเราเรียนพอผ่านได้ คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ได้เคร่งเรื่องเรียนเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะปล่อยให้คิดเอง เรียนรู้เองซะมากกว่า

เพราะฉะนั้นตอนที่อยู่ที่นิวซีแลนด์ก็ทำกิจกรรมทุกอย่าง เรียนรู้วัฒนธรรม มีชวนกันไปรำ ก็ไป เป็นรุ่นพี่พารุ่นน้องไปสถานที่ต่างๆ ก็ไป ตอนนั้นมีนักเรียนมาจากจีน ไต้หวัน เราก็เป็นเหมือนผู้นำพาพวกเขาไปทำกิจกรรมต่างๆ เรียกว่าเป็นหัวหน้าของกลุ่มนักเรียนต่างประเทศเลยก็ว่าได้ แล้วก็เป็นคนเอเชียคนแรกที่เป็นหัวหน้าบ้าน (หอพักประจำ) ช่วงเวลาเหล่านั้นก็เป็นเรื่องที่ยังผูกพันและสนุกสมัยอยู่ที่นิวซีแลนด์ครับ

ช่วงที่อยู่ที่นิวซีแลนด์มีออกนอกลู่นอกทางบ้างหรือไม่ครับ

แทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ เราโตมากับคุณพ่อคุณแม่ที่ให้อิสรภาพเรามาโดยตลอด ไม่เคยมีข้อบังคับหรือกฎเกณฑ์อะไร เราเลยไม่รู้สึกว่ามีกรอบ เรื่องสูบบุหรี่ นี่ไม่เคยเลย เพราะคุณพ่อไม่ได้เป็นคนสูบบุหรี่ เราเลยไม่เห็นความจำเป็นหรือความเท่อะไรที่จะต้องสูบ ส่วนเหล้า เพิ่งมาเริ่มดื่มตอนทำงานนี่เอง สมัยเรียนที่นิวซีแลนด์ ศุกร์-เสาร์ เด็กๆ ก็ไปดื่มเบียร์ตามผับตามบาร์ เราก็ไปกับเค้า แต่ดื่มน้ำอัดลมแทนครับ

ปัญหาหลักๆ ตอนแรกที่ไป จะอยู่ที่ภาษามากกว่า ถึงแม้ว่าเราจะได้เรียนภาษาอังกฤษที่ตุรกีแล้ว แต่ที่นิวซีแลนด์เรื่องสำเนียงก็ดี แล้วเค้าใช้ภาษาอังกฤษตลอดเวลา ช่วงแรกเราต้องใช้เวลาในการปรับตัวอยู่นานพอสมควร เทอมแรกทั้งเทอม เราแทบไม่ได้คุยกับใคร คือฟังอย่างเดียวเลย เราใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องสมุด คือ เสาร์-อาทิตย์ ถ้าไม่ได้อยู่ในสนามบอล ก็อยู่ที่ห้องสมุด เราได้หนังสือจากสมุดของโรงเรียนเป็นเพื่อน คือตะลุยอ่านไปเรื่อย พอเราอ่านหนังสือจากห้องสมุดของโรงเรียนเต็มที่แล้ว เราก็ขยับไปห้องสมุดของเมือง ซึ่งใหญ่กว่าแล้วก็มีหนังสือหลากหลายกว่า เราก็ยืมมาสามสี่เล่มกลับมาอ่านที่หอพัก

ดูเหมือนคุณกอล์ฟจะเป็นนักอ่านตัวยง ช่วงนั้นคุณกอล์ฟสนใจอ่านหนังสือแนวไหนครับ

เรื่องที่ทำให้ผมค้นพบว่า ชอบอ่านมากกว่าปกติ จะเป็นหนังสือของนักเขียนชาวอังกฤษชื่อ เดวิด เจ็มเมลล์ (David Gemmell) เขียนแนวแฟนตาซี เรื่องแรกที่อ่านชื่อ Lion of Macedon เกี่ยวกับ อเล็กซานเดอร์มหาราช ในมุมมองของเขา ผมชอบการเล่าเรื่อง การใช้ภาษาที่อ่านแล้วเข้าถึงได้ ตอนนั้นก็ไปตะลุยอ่านทุกเล่มของ เดวิด เจ็มเมลล์ พออ่านจบทุกเล่มของเขาที่พอหาได้ในตอนนั้น ก็เริ่มหาหนังสือของคนอื่น ก็จะมีนักเขียนอังกฤษคนหนึ่งเขียนเกี่ยวกับ คดีฆาตกรรม สืบสวนสอบสวนในญี่ปุ่น มันมีความน่าสนใจที่ว่า ทำไมคนอังกฤษถึงมีมุมมองแบบนี้ แล้วก็อ่าน สามก๊ก ฉบับภาษาอังกฤษ เพื่อดูว่าฉบับภาษาอังกฤษ กับฉบับภาษาไทยที่แปลออกมานั้น มันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

พอจบไฮสคูลแล้ว คุณกอล์ฟเรียนต่อปริญญาตรีสาขาอะไรครับ

ผมเรียนรัฐศาสตร์การทูต แล้วก็เรียนภาษาญี่ปุ่นครับ สำหรับภาษาญี่ปุ่นที่นิวซีแลนด์เค้าเปิดกว้าง ให้ลงเรียนได้ตามความชอบ ที่ผมเรียน ไม่ได้เน้นทางด้านภาษา แต่เน้นทางด้านวรรณกรรม ก็อ่านมาเรื่อยๆ เพื่อศึกษานักเขียนชาวเอเชียว่า ต้องเขียนอย่างไรถึงจะสามารถยืนหยัดอยู่ในวงการวรรณกรรมของโลกได้

คุณกอล์ฟช่วยเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่เปลี่ยนจาก นักอ่าน เป็น นักเขียน ให้ฟังหน่อยครับ

คงจะเป็นช่วงที่ไปนิวซีแลนด์ครับ เป็นครั้งแรกที่เราต้องอยู่ห่างจากครอบครัวในวัยสิบสี่ขวบ ซึ่งค่อนข้างเด็กพอสมควร คุณพ่อจะให้หนังสือ “เวลาในขวดแก้ว” ไว้หนึ่งเล่ม ถ้ามีเวลาว่างก็ให้แปลเป็นภาษาอังกฤษ จะได้เป็นการฝึกภาษาอังกฤษของเราไปในตัวด้วย คือไปที่นั่นจะได้ทั้งฝึกพูดและฝึกเขียน เราจึงมีหนังสือเวลาในขวดแก้วอยู่ติดตัวตลอดเวลา ว่างๆ ก็จะนั่งแปลวันละบรรทัด สองบรรทัด ตอนนั้นเราก็แปลได้กระท่อนกระแท่นไปตามประสาเด็ก กลับมาอ่านวันนี้ก็ค่อนข้างเขินนะ (หัวเราะ)

ได้ส่งกลับมาให้คุณพ่อคุณแม่อ่านหรือเปล่าครับ

ส่งกลับมาครับ คุณพ่อคุณแม่คงเก็บใส่ตู้เซฟไว้เป็นอย่างดี (หัวเราะอารมณ์ดี)

“คุณพ่อบอกกับผมเสมอว่า
อยากให้ผมเป็น ชาครีย์นรทิพย์ คนที่หนึ่ง
ไม่ใช่ ประภัสสร เสวิกุล คนที่สอง

แล้วคุณพ่อคุณแม่ได้วิจารณ์งานแปลของเราให้ฟังหรือเปล่าครับ

ไม่นะ ที่บ้านค่อนข้างจะให้การสนับสนุน ถึงแม้แต่งานเขียนของผมก็ตาม คุณพ่อจะไม่วิจารณ์หรือให้คำแนะนำอะไร จะไม่บอกว่า ทำไมไม่เขียนอย่างนี้ ทำไมไม่ใช้คำนี้ เพราะฉะนั้นคุณพ่อจะเปิดกว้างให้เราได้แสดงความคิดเห็นผ่านวิธีการของเรา สิ่งที่คุณพ่อทำให้เราคือ ช่วยดูตัวสะกดว่าถูกหรือผิด สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราเขียนตามความรู้สึก เรารู้สึกอย่างไร ก็เขียนออกมาอย่างนั้น ตอนเด็กๆ คุณพ่อคุณแม่จะให้เรามีดินสอด้ามหนึ่งกับกระดาษแผ่นหนึ่ง เวลาโกรธหรือรู้สึกอย่างไร ก็ให้บรรยายหรือระบายลงไปบนกระดาษแผ่นนั้น ตอนเด็กๆ เวลาโกรธก็ระบายออกมา รอยดินสอกดหนักจนกระดาษแทบขาด ต่อจากนั้นก็เริ่มพัฒนาเป็นคำ เป็นประโยค แล้วก็เป็นเรื่องราว เป็นการปลูกฝังการเขียนตั้งแต่เด็กๆ ตอนนั้นเราเขียนโดยไม่รู้สึกว่า มันจะถูก หรือมันจะผิด จะถูกไวยกรณ์หรือสะกดผิดหรือเปล่า แต่มันเป็นอารมณ์ในช่วงนั้น ทุกคำมันเลยออกมาตามที่เรารู้สึกจริงๆ

“เวลาในขวดแก้ว” ถือว่าเป็นงานแปลภาษาอังกฤษชิ้นแรกของคุณกอล์ฟหรือเปล่าครับ

ใช่ครับ ถือเป็นงานแปลชิ้นแรกที่เป็นจริงเป็นจัง (หัวเราะ) มาถึงตอนนี้ พอได้ย้อนกลับไปอ่านดูแล้ว มันก็ยังไม่เต็มร้อย ถ้าจะกลับไปเอามาทำอะไรต่อ คงต้องไปแต่งเติมอีก ไปเรียบเรียงใหม่อีกเยอะเลยครับ (หัวเราะ)

นอกจากงานแปล “เวลาในขวดแก้ว” แล้ว งานเขียนชิ้นแรกของคุณกอล์ฟ คืองานชิ้นไหนครับ

ขอเกริ่นให้ฟังอย่างนี้ก่อนครับ หลังจากที่ผมอยู่นิวซีแลนด์ได้สามปี คุณพ่อก็ได้ย้ายไปประจำการที่กรุงเวลลิงตัน (นิวซีแลนด์) ซึ่งผมอยู่หอพักมานานสามปี ก็ได้เวลาย้ายมาอยู่กับที่บ้าน มาเรียนมหาวิทยาลัยวิกตอเรียแห่งเวลลิงตัน จากที่เคยเป็นอิสระ เป็นหัวหน้าบ้าน รุ่นน้องฟังเรา แล้วมองมาที่เราด้วยความเคารพ ต้องมาอยู่ในสภาพที่ว่า น้องชายพูดอะไร ทำอะไรก็ขัดหูขัดตาไปหมด พูดแล้วไม่ฟัง คุยกันไม่รู้เรื่อง มันก็เลยเป็นความอัดอั้นตันใจ ทะเลาะกันบ่อย แต่รักกัน เล่นกีฬาด้วยกันนะครับ (หัวเราะ) คือความคิดของผมกับน้องชายมันคนละแนวกัน มันเลยขัดแย้งกันบ่อยๆ

จนวันหนึ่งที่ผมรู้สึกไม่ไหวแล้วจริงๆ ผมจึงเขียนเรื่องสั้นออกมา ชื่อ “ความรักที่ยากยิ่ง” เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของพี่น้องนี่แหละ พอเขียนเสร็จเราก็ไม่คิดอะไร ก็ยื่นให้คุณพ่อคุณแม่ ท่านก็ส่งไปให้ทางสตรีสาร ซึ่งคุณย่า บก. (คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง) ก็กรุณาลงให้ นั่นถือเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ เราก็รู้สึกว่า มันมีกำลังใจนะ จากกำลังใจตรงนั้นทำให้เรา พอคิดอะไรก็เขียนออกมาหมดเลย คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ว่าอะไร อยากเขียน ก็เขียนมา แต่ก็ไม่ได้ส่งให้สำนักพิมพ์ จนมันถึงจุดหนึ่งที่เราคิดแล้วถามท่านว่า ทำไมไม่ส่งไปให้สำนักพิมพ์เหมือนกับเรื่องสั้นเรื่องแรก คุณพ่อก็บอกว่า

“การที่เป็นนักเขียนนั้น ไม่ใช่ว่า แค่เขียนได้ ถึงเรียกว่าเป็นนักเขียน
แต่ต้องคิดว่า การเขียนแต่ละครั้งนั้น เราเขียนเพื่ออะไร และให้อะไรกับคนอ่านบ้าง”

นี่ถือว่าเป็นคำสอนแรกๆ จากคุณพ่อเกี่ยวกับงานเขียน จริงๆ คุณพ่อไม่ได้บอกว่า เรื่องมันแย่ หรือว่าใช้ไม่ได้ แต่ให้คิดว่า เราเขียนเพื่ออะไร และสื่ออะไรให้คนอ่านมากกว่า

นั่นเป็นเพราะคุณพ่อเป็นนักการทูตด้วยหรือเปล่า ท่านจึงให้ความสำคัญกับเรื่องการสื่อสาร

ใช่ครับ ท่านให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากๆ

ดูเหมือนคุณพ่อจะมีอิทธิพลต่อทุกอย่างในชีวิตของคุณกอล์ฟ เป็นอย่างนั้นหรือเปล่าครับ

ใช่ครับ ผมไม่เคยที่จะดิ้นรนออกมาจากเงาของคุณพ่อ เพราะเป็นเงาใหญ่มากจนผมไม่สามารถก้าวออกมาได้ อย่างการเขียนงานในแต่ละครั้ง ก็เขียนด้วยความกดดัน ถึงแม้ว่าเราใช้ “ชาครีย์นรทิพย์” เป็นนามปากกา แต่ทุกคนก็รู้ว่า “ชาครีย์นรทิพย์” เป็นลูกของใคร ทุกคนก็จะเปรียบเทียบกับ “ประภัสสร เสวิกุล” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราก็จะกดดันตัวเอง

แต่ท้ายที่สุดแล้ว คำถามเดิมที่ผมถามตัวเองทุกครั้งที่ผมเขียนงานคือ “เราเขียนไปเพื่ออะไร เราเขียนเพื่อจะสื่ออะไร เราต้องการให้อะไรกับคนอ่าน” เมื่อเราได้คำตอบว่า “เรารักที่จะเขียน เขียนเพราะมีเรื่องที่เราอยากจะบอกเล่า” ผมเลยยังเขียนต่อไป จนถึงวันที่เราไม่มีเรื่องอะไรที่อยากจะเล่าแล้ว เมื่อถึงวันนั้นผมก็คงจะหยุดเขียน

จากเรื่องสั้นเรื่องแรก ผมก็เขียนเรื่องสั้นอยู่ประมาณแปดปี ผมก็เขียนส่งมาลงตามนิตยสารต่างๆ เรื่อยๆ จากช่วงแรกๆ ที่เราเขียนอย่างบ้าพลัง ต้องใช้คำว่า “บ้าพลัง” เลยนะครับ (หัวเราะ) คือเขียนทุกอย่างเลย แล้วก็เริ่มกลับมากลั่นกรอง มาขัดเกลา มาพิจารณาตัวเองว่า งานเขียนแต่ละชิ้นเราเขียนเพื่ออะไร ก็เริ่มมีผลงานเป็นแนวทางของตัวเอง ชัดเจนมากยิ่งขึ้นครับ

งานเขียนของคุณพ่อส่วนใหญ่จะเป็นวรรณกรรมที่ใช้วรรณศิลป์ที่สละสลวย สอดแทรกคำสอนเอาไว้ ถ้าอย่างงานเขียนของคุณกอล์ฟ จะเป็นแนวทางไหนครับ

ถ้าเป็นเรื่องสั้นก็เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ผมเป็นคนที่ชอบเขียนอะไรที่สัมผัสได้ ผมโตมากับเรื่องสั้น ถือว่าเป็นรักแรกและยังอยู่ในใจเสมอ ผมเป็นคนที่เขียนโดยไม่มีกรอบ หรือมีแนวทางการทำงานที่เหมือนคุณพ่อ ท่านมีการทำงานที่เป็นระเบียบมาก คุณพ่อจะตื่นเช้ามาก ตี่สี่ครึ่ง ตีห้า ท่านก็จะตื่นมาเขียนงาน ก่อนที่จะออกไปทำงาน (กระทรวงการต่างประเทศ) พอเลิกจากงานมา ก็มาเขียนงานต่อ ประมาณสามทุ่มจนถึงเที่ยงคืน เป็นอย่างนี้เสมอ

ส่วนการทำงานของผม จะเขียนงานจากความรู้สึก อย่างบางทีผมก็ไม่เขียนอะไรเลยสามสี่เดือน จนมีเหตุการณ์บางอย่างที่มากระทบจิตใจ ถึงมานั่งเขียน บางครั้งก็สามารถกลั่นกรองออกมาได้ภายในวันเดียว หรือบางเรื่องที่มันกระทบจิตใจเรามากๆ ภายในไม่กี่ชั่วโมง ก็เป็นเรื่องสั้นออกมาได้แล้ว แต่ว่าหลังจากนั้นก็อาจจะไม่ได้เขียนต่อ ทิ้งระยะเวลานานๆ

แต่พอเราเขียนเรื่องสั้นไปสักระยะหนึ่ง คุณพ่อคุณแม่ก็เดินมาบอกว่า ถ้าเรารักอาชีพนี้ ถ้ายังอยากจะเขียน ก็ถึงเวลาที่เราต้องเดินด้วยตัวเองแล้ว จากที่ท่านเคยส่งเรื่องสั้นไปตามนิตยสารในช่วงแรกๆ ให้ ผมก็เริ่มมาพิจารณางานเขียนของตัวเองว่า มันดีพอแล้วหรือยังที่จะออกไปในชื่อ “ชาครีย์นรทิพย์” ถ้ามันดีพอแล้ว เราถึงส่งไปเอง รอฟังผลเอง

สิ่งหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอน และเรายังจำได้จนถึงทุกวันนี้ คือ การเคารพ บก. พอเราส่งงานไป เราจะไม่กดดันด้วยการถามว่า จะลงเมื่อไหร่ เราก็รอไปๆ จนถึงระยะเวลาหนึ่ง ถ้าเราพิจารณาว่า ไม่ได้ลงตีพิมพ์แน่แล้ว จึงส่งจดหมายไปขออนุญาต นำต้นฉบับเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่เคยส่งไปกลับ เพื่อมาปรับปรุงหรือแก้ไข นั่นคือกระบวนการทำงานที่ท่านเคยสอนไว้ครับ

คุณพ่อเคยบอกไว้ว่า การมี บก. นั้น เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าไม่มี คนเขียนจะเขียนอะไรก็เขียนไป โดยไม่มีคนคอยช่วยดูว่า บางสิ่งบางอย่างมันเกินจากสิ่งที่ควรเขียนหรือเปล่า บางทีเราเขียนไปโดยไม่รู้ตัว เขียนลงไปด้วยความมัน หรือด้วยความสะใจ บางครั้งถ้าไม่มีคนคอยท้วง คอยค้าน หรือคอยแนะนำ เมื่อมันออกสู่สายตาของสาธารณชนแล้ว บางครั้งอาจสร้างผลเสียต่อเราในฐานะเจ้าของผลงานเขียนชิ้นนั้น และมีผลต่อคนอ่านด้วย

ดังนั้น เราจึงต้องเขียนด้วยความระมัดระวังในสองส่วน ส่วนหนึ่งคือ แน่นอน กดดันในฐานะที่เราเป็นลูกของคุณพ่อ เราเขียนชิ้นไหนมันก็หนีไม่พ้นที่จะถูกจับตามอง ผมจึงไม่หนี ผมจึงต้องเรียนรู้ที่จะดำรงตนอยู่ภายใต้ร่มเงาของคุณพ่อ แต่ผมจะไม่เปรียบเทียบงานเขียนของเรากับงานเขียนของคุณพ่อนะ เพราะเรารู้ว่า มันเปรียบเทียบไม่ได้ แต่เราก็มีความสุขกับจุดที่เรายืนอยู่

พูดถึงวรรณกรรมของคุณพ่อสักหน่อย นอกจาก “เวลาในขวดแก้ว” แล้ว ยังมีวรรณกรรมเรื่องไหนที่คุณกอล์ฟประทับใจอีกบ้าง

ที่โดนใจมากที่สุดจะเป็นเรื่อง “ขอให้รักเรานั้นนิรันดร” เป็นเรื่องของนักเรียนคนไทยที่เดินทางไปเรียนที่ประเทศออสเตรเลีย ตอนที่อ่าน เราเรียนอยู่ที่นิวซีแลนด์พอดี มันจึงมีความใกล้เคียงกับชีวิตของเราในช่วงนั้น เราจึงรักเรื่องนี้มาก และยังอยู่ในใจเราเสมอมา

วรรณกรรมหลายๆ เรื่องของคุณพ่อได้รับรางวัลมากมาย ในฐานะที่คุณกอล์ฟเป็นลูกชาย รู้สึกอย่างไรบ้าง

แน่นอน ผมภูมิใจในตัวคุณพ่อ แต่มันมีความรู้สึกลึกๆ ว่า เราจะมีวันที่เราจะได้รับรางวัลแบบนั้นบ้างมั้ย มันเหมือนเป็นแรงผลักดันให้เราอยากไปถึงจุดนั้นบ้าง โชคดีที่ผมเห็นเส้นทางของนักเขียนรุ่นครูหลายๆ ท่าน กว่าจะมาเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงจนถึงทุกวันนี้ ต้องผ่านอะไรมาบ้าง อย่างคุณลุงรงค์ วงษ์สวรรค์ คุณพ่อ คุณป้ากฤษณา อโศกสิน หรืออย่างคุณอาชมัยภร แสงกระจ่าง กว่าที่จะยืนหยัดอยู่ในวงการนักเขียนได้อย่างเต็มภาคภูมิ ต้องผ่านกระบวนการเขียนต่างๆ มากมาย กว่าจะได้รับการยอมรับจากผู้อ่านทั้งในทางคุณค่าของวรรณกรรม คุณค่าของภาษา ต้องใช้เวลา

เพราะฉะนั้นเราเพิ่งเริ่มเขียน มิหนำซ้ำเรายังไม่ได้เขียนเป็นอาชีพ ผมเลยไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็น “นักเขียน” แต่เป็น “นักชอบเขียน” หรือ “นักอยากเขียน” เพราะมันพูดได้ไม่เต็มปากว่าเราเป็น “นักเขียน” ในอีกแง่หนึ่ง ภรรยาหรือคนรอบข้างมองผมว่า ผมค่อนข้างจะดูถูกตัวเองเล็กน้อย หรือกดตัวเองอยู่เสมอ แต่ผมยอมรับในจุดนี้ แล้วเราก็มีความสุข ไม่ได้รู้สึกว่า ต้องมีเล่มไหนขายดีเป็น best seller มีคนอ่านคลั่งไคล้มาก หรือมีเล่มไหนต้องได้รางวัล แค่มันออกมาเป็นเล่มหรือถูกตีพิมพ์ลงนิตยสาร วันแรกรู้สึกอย่างไร จนถึงทุกวันนี้ก็ยังรู้สึกอย่างนั้น เราพอใจกับการที่เราเป็นคนที่เขียนด้วยความรักและความรู้สึก นั่นคือความสุขของเราแล้วครับ

คุณกอล์ฟได้อ่านวรรณกรรมของคุณพ่อทุกเรื่องเลยหรือเปล่าครับ

เกือบทุกเรื่องครับ ผมอ่านวรรณกรรมของคุณพ่อมาเรื่อยๆ จนถึงจุดหนึ่งที่เราเริ่มเขียนงานของตัวเอง เราก็หยุดไป ผมคิดว่า ด้วยลักษณะพิเศษของผม คือ การที่เรามาเรียนภาษาไทยตอนโตแล้ว มันทำให้ดูดซับภาษาของนักเขียนท่านอื่นๆ ได้ง่าย พอได้อ่านงานเขียนของใครมากๆ ก็จะซึมซับภาษาของนักเขียนท่านนั้นมา มันจึงมีผลต่อการทำงานของเรา ภาษามันคนละยุค คนละรูปแบบกันครับ

งานเขียนในยุคก่อน กับงานเขียนในปัจจุบัน แตกต่างกันอย่างไรครับ

ผมรู้สึกว่า ภาพรวมของคนอ่านในปัจจุบัน มีความอดทนในการอ่านหนังสือน้อยลง ในเรื่องของการใช้ภาษาก็เหมือนกัน บก.ของผม จะบอกว่า ภาษาของผมติดอยู่ตรงกลาง คือเราโตมาในยุควรรณกรรมของคนรุ่นคุณพ่อ แต่เราเขียนสำหรับคนอ่านในยุคปัจจุบัน

จุดสูงสุดสำหรับการเป็นนักเขียนของเรา คือการใช้ภาษาให้งดงามได้เท่ากับนักเขียนรุ่นครู แต่มาติดตรงกลางที่ว่า คนอ่านในยุคปัจจุบัน ไม่ได้ให้ความสำคัญ หรือไม่ได้ชื่นชมกับสำนวน ความสละสลวย เท่ากับสมัยก่อนแล้ว เราจึงต้องหาวิธีที่จะทำอย่างไรให้ตัวเองสามารถดำรงจุดยืนต่อไปได้ทั้งสองด้าน นั่นคือการปรับงานเขียนของตัวเองให้สามารถเข้าถึงคนได้ทั้งสองกลุ่ม แต่ผมคิดว่า ในอนาคตผมก็ต้องเปลี่ยนอีก ในเมื่อระยะเวลาในการเล่าเรื่องมันมีน้อยลง บทหนึ่ง จากที่เคยเขียนสามสี่หน้า อาจจะเหลือแค่ย่อหน้าเดียว ก็เป็นไปได้ครับ

คุณกอล์ฟมีความคิดเห็นอย่างไร สำหรับงานเขียนบนกระดาษกำลังถูกเปลี่ยนไปสู่รูปแบบดิจิทัล

ผมเป็นคนที่โตมากับหนังสือ ไม่ว่าอย่างไรก็ยังรักหนังสืออยู่ ผมชอบกลิ่น ชอบการสัมผัสของเนื้อกระดาษ ผมคิดว่าการอ่านหนังสือในรูปเล่มนั้นได้อรรถรสมากกว่า ลองจินตนาการว่า เราหยิบหนังสือเล่มหนึ่งไปนั่งอ่านในสวนสาธารณะท่ามกลางเสียงร้องของนก สัมผัสไออุ่นของแดดและสายลม มันเป็นความสุขที่ไม่ต้องไปหาซื้อที่ไหนเลย มันอยู่ข้างหน้าเรานี่เอง ถ้าเราต้องอ่านในเครื่องมือสื่อสาร ผมคิดว่า มันจะมีสิ่งอื่นที่ดึงความสนใจของเราไปจากสิ่งที่เราอ่านอยู่ เดี๋ยวไลน์เข้ามา หรืออย่างอื่นเข้ามา ทำให้เราไม่มีโอกาสได้ใช้เวลาอยู่กับสิ่งที่เราอ่านได้อย่างเต็มที่

อยากให้พูดถึงวรรณกรรมของคุณพ่ออย่าง “ลอดลายมังกร” ที่ถูกสร้างเป็นละครเวที และถูกนำกลับมาแสดงอีกครั้งในช่วงนี้ สักหน่อย

ผมรู้สึกขอบคุณผู้สร้างนะครับที่ได้เลือกวรรณกรรมของคุณพ่อมาทำเป็นละครเวที ผมเองก็ได้ไปดูมาแล้ว ต้องบอกตามตรงว่า ระหว่างดูไป น้ำตาก็คลอไป เพราะว่า คิดถึงคุณพ่อ เสียดายที่คุณพ่อไม่มีโอกาสได้มาดู แต่อีกใจหนึ่งก็ดีใจที่วรรณกรรมของคุณพ่อยังมีคุณค่า ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนสภาพจากหนังสือมาเป็นละครเวที แต่ยังมีแก่นอะไรบางอย่างที่ยังให้อะไรกับคนดูได้ คือมันมีปรัชญาที่เป็นแกนของเรื่องที่ผู้สร้างยังคงสื่อสารออกมาให้คนได้รับรู้ คือถ้าไม่มีแก่นตรงนี้แล้ว มันก็ไม่ใช่ “ลอดลายมังกร”

สำหรับนักอ่านที่เคยอ่านวรรณกรรมเรื่องนี้มาแล้ว ทุกคนคงนึกถึงคำที่ว่า “ตอบแทนคุณแผ่นดิน” นอกจากคำคำนี้แล้ว ในฐานะที่คุณกอล์ฟอยู่ใกล้ชิดกับคุณพ่อ ยังมีข้อคิดอะไรสอดแทรกอยู่ในวรรณกรรมของคุณพ่ออีกบ้างครับ

ในวรรณกรรมของคุณพ่อ ท่านไม่ได้บอกให้เรารักในหลวง ไม่ได้บอกวิธีตอบแทนคุณแผ่นดินอย่างไร แต่คุณพ่อทำให้เราดูเป็นแบบอย่าง ท่านทุ่มเท สนับสนุน ส่งเสริม นักเขียนรุ่นใหม่ ท่านเดินทางไปจัดเวิร์คช้อปให้นักเขียนรุ่นใหม่ๆ ร่วมกับศิลปินแห่งชาติท่านอื่นๆ คุณพ่อบอกกับผมว่า สิ่งที่สำคัญก็คือ เมื่อนักเขียนมีคุณภาพ คนจะได้อ่านผลงานที่มีคุณภาพ และนักอ่านจะเรียกร้องผลงานที่มีคุณภาพ และเมื่อนั้นสังคมก็จะมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น นั่นคือสิ่งที่คุณพ่อทำให้เห็นถึงวิธีการตอบแทนคุณแผ่นดินในฐานะของนักเขียนคนหนึ่ง

และในบทบาทของคุณพ่อ คุณกอล์ฟได้ส่งต่อการเป็นนักอ่าน นักเขียน ให้ลูกๆ ด้วยหรือเปล่าครับ

ผมใช้แนวทางเดียวกันกับคุณพ่อคุณแม่เลยครับ นั่นคือ หนังสือจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องต้องห้าม แล้วก็สนับสนุนให้เค้าซื้อหนังสือที่เค้าสนใจครับ แล้วเราก็คัดหนังสือมาวางไว้เหมือนที่คุณพ่อคุณแม่เคยทำ ตอนแรกเค้าก็ไม่สนใจ เหมือนผมตอนเด็กๆ เลยครับ (หัวเราะ) จนวันหนึ่งเค้าก็หยิบขึ้นมาอ่าน นั่งอ่าน นอนอ่าน สองสามวัน ไม่ทำอะไรอย่างอื่นเลย อ่านจนจบ แล้วเราก็คุยกันเกี่ยวกับเรื่องราวในหนังสือเล่มนั้น มันเป็นภาพสะท้อนของเราตอนเด็กๆ เลยครับ ในด้านนี้เราทำได้อย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ของคุณพ่อ เราก็พอใจแล้วครับ

นอกจากวรรณกรรมที่คุณพ่อได้ฝากไว้แล้ว ความคิดหรือแนวคิดอะไรที่คุณพ่อได้ฝากไว้ให้เราอีกบ้างครับ

เป็นเรื่องความรับผิดชอบต่อตนเอง และต่อสังคมครับ อีกเรื่องคือ การให้เกียรติ ไม่ว่าเราอยู่ในฐานะอะไรก็ตาม เป็นเรื่องที่คุณพ่อให้ความสำคัญมาก ในฐานะของข้าราชการ เราต้องให้เกียรติต่อหน้าที่การงาน เพราะเราเป็นข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฉะนั้นเราต้องทำงานอย่างเต็มที่ เวลาอยู่ต่างประเทศ เราก็ดูแลคนไทย และส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ

ในฐานะนักเขียน คุณต้องให้เกียรติตัวเองที่เป็นผู้เขียน ให้เกียรติเรื่องราวที่เราเขียนอยู่ คือก่อนที่จะเขียน คุณจะต้องเตรียมตัวมาอย่างดี ไม่ใช่ว่าสักแต่เขียน คุณต้องค้นคว้าข้อมูล และวางแผนมาอย่างดี ให้เกียรติตัวละคร เมื่อเราสร้างตัวละครที่มีปูมหลัง มีความคิดความอ่านที่ชัดเจน ตัวละครจะสามารถเดินไปเองได้ เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง เค้าสามารถตัดสินใจในแบบของเค้าได้ มันเหมือนเค้ามีชีวิตจริง นั่นคือการให้เกียรติตัวละคร และแน่นอนเราต้องให้เกียรติคนอ่าน คือ ทำผลงานออกมาด้วยความเอาใจใส่ที่สุด

คุณกอล์ฟได้นำปรัชญาจากวรรณกรรมที่เคยอ่านมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้างครับ

ผมคิดว่า วรรณกรรมมันสะท้อนชีวิต ไม่ว่าจะจินตนาการเลิศล้ำอย่างไร แต่ถ้าขาดความเป็นมนุษย์ มันก็ไม่สามารถทำให้คนอ่านเข้าถึงวรรณกรรมชิ้นนั้นได้ เพราะฉะนั้นมันจะต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่เชื่อมโยงระหว่างคนอ่านกับเรื่องราว หรือเหตุการณ์ในวรรณกรรมนั้นๆ

สำหรับผมเอง ขอยกตัวอย่างจากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่9 เรื่อง พระมหาชนก คือ ความไม่ย่อท้อต่อสิ่งใด พระองค์สื่อสารให้เราเห็นว่า ถ้าไม่ท้อ ไม่ว่าจะเหนื่อย จะลำบากขนาดไหน ยังไงก็สำเร็จครับ

ฝากอะไรถึงนักอ่านคนรุ่นใหม่ที่อยากจะเป็นนักเขียนสักหน่อยครับ

ทุกคนบอกว่า อยากเป็นนักเขียน ก็ต้องเขียน แต่สิ่งสำคัญคือ ไม่ใช่ว่า ทุกคนพอได้เขียนแล้ว จะเป็นนักเขียนได้ คือ การเป็นนักอ่านนั้นเป็นพื้นฐานของการเป็นนักเขียน ทำให้เราได้เปิดโลกทัศน์ ได้มีคลังศัพท์ที่เราสามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมหรือตามความต้องการของเรา เพื่อที่จะถ่ายทอดหรือบรรยายความรู้สึก ความคิดเห็นของเราได้

แต่การเป็นนักเขียนที่ดีได้นั้น ผมคิดว่า คุณต้องรู้จักการให้เกียรติ อย่างที่บอกไปแล้วว่า คุณต้องให้เกียรติตัวเอง ให้เกียรติตัวละคร และให้เกียรติคนอ่าน และที่สำคัญมากคือการรับฟังความคิดเห็นของคนรอบข้าง เพราะบางครั้งเราจะมองไม่เห็นจุดด้อยต่างๆ ในงานเขียนของเราเอง เราจะอินกับตัวหนังสือของเรา เราจะมองว่า นี่คือผลงานที่ดีที่สุดของเรา เพราะฉะนั้นการมีใครสักคนหนึ่งที่เราพร้อมจะรับฟัง และคนๆ นั้นที่พร้อมจะให้คำแนะนำแก่เราได้อย่างตรงไปตรงมา จะเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะคนที่เริ่มเขียน

สำหรับผม ภรรยาจะเป็นคนแรกที่อ่าน บางทียังมีจุดที่เราเห็นว่ามีข้อโต้แย้ง แต่พอเป็นงานเขียนของเรา เราก็จะเกิดความไม่แน่ใจ แต่พอมีคนมาย้ำในจุดเดียวกันนั้น มันก็ทำให้เรามั่นใจว่าควรจะแก้ไขหรือไม่ และภรรยาก็เป็นคนที่ผมรับฟัง บางครั้งพอกลับมาแก้แล้วมันดีกว่าเดิม นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผมบอกไปว่า เป็นสิ่งที่ดีที่จะมีใครสักคนที่อยู่ข้างๆ ที่คอยให้คำแนะนำ ไม่จำเป็นว่า คนๆ นั้นจะต้องเป็นนักเขียนหรือนักอ่าน เพราะภรรยาผมเองก็ไม่ได้เป็นนักอ่าน เธอจะอ่านเฉพาะหนังสือของผม (หัวเราร่วน) คนๆ นี้จะมาช่วยเติมเต็มในสิ่งที่เรายังขาดในงานเขียนของเราได้

สำหรับคนที่อยากจะเป็นนักเขียน สรุปง่ายๆ ก็คือ หนึ่ง อ่าน สอง เขียน เขียนโดยไม่ต้องกังวลถึงเรื่องวรรณยุกต์หรือตัวสะกด เขียนตามที่ใจอยากจะเขียน เขียนตามความรู้สึก หลังจากนั้นเรายังมีเวลาเกลาคำหรือตรวจคำ หนังสือหนึ่งเล่ม เราอาจใช้เวลาเกลาคำไม่รู้กี่รอบ แนวโน้มที่เราจะพัฒนางานเขียนชิ้นแรกให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุดนั้น มันแทบจะเป็นไปได้ยากมาก เพราะฉะนั้นบางอย่าง บางเรื่องราว กลับไปดูอีกครั้งเราจะพบว่า ตรงนี้ยังขาดไป ตรงนี้ปรับอีกหน่อย ตรงนี้เสริมได้อีกนิด มันจะทำให้ภาพที่เราจะฉายออกมานั้น ชัดเจนยิ่งขึ้น

สุดท้ายแล้ว ถ้าคุณพ่อได้ฟังอยู่ คุณกอล์ฟอยากจะพุดอะไรถึงคุณพ่อครับ

คุณพ่อเป็นสุภาพบุรุษที่สมบูรณ์แบบคนหนึ่งเท่าที่คนๆ หนึ่งจะเป็นได้ พูดในฐานะลูก คุณพ่อเป็นคนที่รักครอบครัว เป็นคนที่ให้เกียรติคุณแม่ ให้โอกาสลูกๆ ได้เติบโตและค้นพบตัวเอง โดยไม่เคยตีกรอบ ไม่เคยบังคับ หรือตั้งกฎเกณฑ์ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จะคอยเฝ้ามองอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ ตามคำที่คนชอบพูดกัน แต่มันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะบางครั้งเราประสบปัญหา หรือมีความว้าวุ่นใจ พ่อจะเข้ามาให้คำปรึกษาเราได้

ในฐานะของข้าราชการ คุณพ่อทำงานด้วยความรักและทุ่มเทในหน้าที่การงาน คุณพ่อไม่เคยคาดหวังว่าต้องได้ไปประจำการในประเทศดีดี หรือได้ทำงานในองค์กรที่โดดเด่น คุณพ่อสอนให้เราเห็นคุณค่าในงานทุกชิ้นไม่ว่าจะเล็กมากแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นการชงกาแฟ หรือเดินไปถ่ายเอกสาร งานทุกๆ ชิ้น มันมีคุณค่าในตัวของมันเอง ถ้าเรามีความสุขและรับได้ ทุกๆ สิ่งมันเป็นส่วนประกอบของภาพใหญ่

สมมติว่า เราไปอยู่ต่างประเทศ แล้วมีแขกมาพบท่านทูต ไม่มีใครว่างมาชงกาแฟให้แขก แต่ถ้าเราถือตนว่าเราเป็นนักการทูต เราจะมาชงกาแฟได้อย่างไร มันก็จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของงานแล้ว คือ แขกของท่านทูตไม่ได้รับการต้อนรับที่ดีจากเรา นั่นหมายความว่า ไม่ว่างานชิ้นนั้นจะเล็กหรือใหญ่ขนาดไหน มันมีความสำคัญต่อเราทั้งหมด บางทีคนเราอาจจะมองไม่เห็น เพราะเรามองแค่จุดๆ นั้น แต่ถ้าเราทำด้วยความเต็มใจ นอกจากเราจะมีความสุขกับงานชิ้นนั้นแล้ว แต่งานที่เราทำนั้น มันจะออกมาดี และเมื่อมันออกมาดีแล้ว จากจุดเล็กๆ มันจะโดดเด่นออกมา มันมีความหมายในตัวของมันเอง โดยที่เราไม่รู้เลย จนถึงวันหนึ่งที่มีคนมาบอก เราเองก็จะภูมิใจในสิ่งที่เราทำลงไป

คุณพ่อเคยบอกไว้ว่า ท่านเขียนงานโดยไม่หวังรางวัล ไม่ได้หวังคำชื่นชม ท่านเขียนเพราะว่าท่านอยากที่จะเขียน และก็เขียนด้วยความรัก คนอ่านจึงได้สัมผัสถึงความรักและผูกพันกับวรรณกรรมนั้นๆ นั่นคือสิ่งที่คุณพ่อสอนและแสดงออกมาให้เราได้ซึมซับสิ่งเหล่านี้ ผมจึงมีความสุขกับทุกอย่างที่ผมทำ ไม่ต้องไปเครียด ไม่ต้องไปกดดันตัวเอง เราแค่ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด

หลายคนถามว่า ไม่คิดจะทำอย่างอื่นบ้างเลยเหรอ เขียนก็เขียนตามคุณพ่อ รับราชการเหมือนคุณพ่อ ผมแค่รู้สึกว่า เมื่อคุณพ่อทำไว้ดีแล้ว มันก็ไม่มีอะไรทำให้เรารู้สึกท้าทายไปทำอย่างอื่นให้เด่นกว่าคุณพ่อ แน่นอนว่า ผมอาจไม่มีวันที่จะเขียนหนังสือได้รางวัลเหมือนอย่างคุณพ่อ อาจไม่มีวันได้เป็นศิลปินแห่งชาติ แต่อย่างที่บอก ผมเขียนหนังสือด้วยความรักและมีความสุขกับการเขียน นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด และผมมั่นใจว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผมแล้วครับ

เมื่อคุณพ่อทำให้เราเห็นว่า ทางเดินที่คุณพ่อเดินให้ดูนั้น ท่านเดินด้วยความสง่างาม นั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมภาคภูมิใจ มันงดงามด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว

“สำหรับ พ่อ ผู้เป็นครูคนแรก และเป็นแบบอย่างที่ดีของลูก
สามีที่ดี พ่อที่ดี เพื่อนที่ดี นักเขียนที่ดี และคนดี
พ่อจะอยู่ในใจของผมทุกวัน หลับให้สบายนะครับ…พ่อ”

คำระลึกถึงจาก คุณชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล ถึง คุณประภัสสร เสวิกุล
-จากหนังสือ “เม็ดทรายใต้ตะวัน” –


Interview : ธนกฤต ชัยสุวรรณถาวร

Photo : วาระ สุทธิวรรณ

Location : พระราชวังพญาไท

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.