ปฤณ ลมรส || ฟังคำจากปาก นักปรุงกลิ่น ศาสตร์และศิลป์ที่ต้องมาคู่กัน

WHO # FAV talk with ปฤณ ลมรส : วันนี้ FAVFORWARD ชวน ปฤณ ลมรส หนุ่มนักปรุงน้ำหอม มานั่งคุยกันสบายๆ ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งใน สยามดิสคัฟเวอรี่ นอกตัวอาคารสายฝนกำลังโปรยปราย ส่วนพื้นที่รอบตัวนั้น มีกลิ่นหอมอ่อนๆ จากน้ำหอมในขวดใสที่เขานำมาให้ทดลองกลิ่น ทำให้บรรยากาศการสนทนาในวันนี้ดูสดชื่น รื่นรมย์ กำลังดี

 

ถ้าพูดถึงศาสตร์การปรุงกลิ่นนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณพัฒนาจนมาเป็นน้ำหอมแบรนด์ต่างๆ ที่เราเห็นกันในปัจจุบัน ศาสตร์การปรุงกลิ่นหรือศาสตร์เครื่องหอมที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า โคโด นั้น ถือเป็นหนึ่งในสามศาสตร์โบราณตั้งแต่ยุคมุโรมาจิ ที่ผู้หญิงญี่ปุ่นทุกคนต้องเรียนรู้ไว้ อีกสองศาสตร์คือ อิเคบานะ (การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น) และ ซาโด (พิธีชงชา) ส่วนศาสตร์และศิลป์เครื่องหอมในไทย เท่าที่ค้นประวัติมานั้น เครื่องหอมอยู่คู่สังคมไทยมาช้านานตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงรัตนโกสินทร์ เริ่มต้นจากราชสำนักสู่สามัญชน สอดแทรกอยู่ในทุกประเพณีต่างๆ รวมถึงการดำเนินชีวิตของคนไทยสมัยโบราณ ทั้ง น้ำอบ น้ำปรุง แป้งร่ำ ดินสอพอง สีผึ้ง และอีกมากมาย แต่ที่นิยมใช้มากที่สุดก็จะเป็น น้ำอบและน้ำปรุง นั่นเอง

ก่อนจะมานั่งคุยกัน เราได้ทราบข้อมูลบางส่วนของคุณปฤณว่า ปัจจุบันนอกจากทำแบรนด์น้ำหอมของตัวเองแล้ว เขายังเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาภาพยนตร์อีกด้วย และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เราอยากทำความรู้จักเขาให้มากขึ้น ตามมาฟังเรื่องราวของเขาพร้อมๆ กันว่า เหตุใดนักทำหนังจึงผันตัวเองมาปรุงน้ำหอม และการทำหนังกับศิลปะการปรุงกลิ่นนั้นมาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร

PASSION

แรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้เด็กชายปฤณหลงใหลในศาสตร์การปรุงกลิ่น

ย้อนกลับไปช่วงอายุประมาณ 7-8 ขวบ แอบใช้น้ำหอมของแม่ชื่อ 4711 เป็นโคโลญจน์ยอดฮิตของเยอรมัน แล้วเกิดสงสัยว่า เขาปรุงน้ำหอมกันยังไง อยากปรุงเองได้บ้าง ผมชอบพิสูจน์ว่าดอกไม้หรือต้นไม้แต่ละชนิดมีกลิ่นยังไง จับอะไรได้ก็ดม เลยเกิดแรงบันดาลใจในศาสตร์ด้านกลิ่นครับ

…แต่นั่นยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ศาสตร์การปรุงน้ำหอมของเขา เพราะว่าสมัยนั้นยังไม่มีสถาบันการศึกษาใดเปิดสอนวิชาการปรุงน้ำหอมอย่างจริงจัง เขาจึงเบนเข็มไปเรียนในสิ่งที่เขาชอบอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ “การทำหนัง”

เขาตัดสินใจหนีเรียนหมออย่างที่ครอบครัวอยากให้เป็น มาเข้านิเทศฯ เพราะความชอบในการ “เล่าเรื่อง”

พื้นเพที่บ้านเป็นคนจีน เขาอยากให้ลูกเป็นหมอ ผมก็เอนท์ฯ เข้าหมอตามที่พ่อแม่อยากให้เรียน แต่ก็บอกกับที่บ้านว่า ผมชอบดูหนัง ชอบการเล่าเรื่อง อยากเรียนทำหนัง ถ้าไม่ติดหมอก็ขอเรียนทำหนังนะ พอตอนสอบเอนท์ฯ พวกวิชาเคมี ชีวะ แทบไม่อ่านเลย คือทำยังไงก็ได้ไม่ให้ติดหมอ (หัวเราะ) สุดท้ายก็ได้เรียนคณะนิเทศฯ สาขาภาพยนตร์ จนจบปริญญาตรีและโท ช่วงนั้นก็หันมาสะสมน้ำหอมแทน ซื้อเก็บมาเรื่อยๆ ทั้งแบรนด์ที่ชอบ และแบรนด์ที่หายากๆ อย่างน้ำหอมกลิ่นวินเทจ ทั้งแบบ designer brand และ niche brand ไปจนถึงน้ำหอมกลิ่นแบบตะวันออกกลาง

ไปเที่ยวเมืองกราซ ได้เจอแรงบันดาลใจใหม่ จึงหันกลับมาทำน้ำหอม

ประมาณสองปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้เอางานหนังไปโชว์ที่เมืองคานส์ แล้วเมืองกราซ เมืองแห่งน้ำหอม ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน นั่งรถไฟไปใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมง เลยแวะไปเที่ยวต่อ ปรากฏว่า ได้เจอแรงบันดาลใจใหม่ครับ เห็นบรรยากาศ ทุกซอกมุมมีแต่คนทำน้ำหอม มีร้านน้ำหอมโบราณตั้งอยู่เต็มไปหมด ให้ลองนึกถึงหนังเรื่อง Perfume : The Story of a Murderer ดูนะครับ บรรยากาศคล้ายๆ แบบนั้นเลย สภาพในตัวเมืองกราซ จะเป็นตึกเก่าๆ นอกเมืองจะมีไร่ปลูกดอกไม้เยอะแยะ พอไปถึงที่นั่น สิ่งแรกคือ ช้อปปิ้งครับ (หัวเราะ) เดินเลือกซื้อน้ำหอมกลับมาเยอะมาก แล้วก็ไปเรียนเบสิกการทำน้ำหอม ได้ฝึกดมกลิ่น แยกแยะกลิ่น และเลือกวัตถุดิบ เป็นคอร์สสั้นๆ สำหรับนักท่องเที่ยว ใช้เวลาเรียนแค่สามวันครับ กลับมาเมืองไทยก็มาฝึกต่อเองครับ

ทำงานในบริษัทผลิตน้ำหอม เหมือนเป็นการเริ่มต้นใหม่ เขาสั่งสมประสบการณ์การปรุงกลิ่นจนต่อยอดมาทำน้ำหอมแบรนด์ของตัวเอง

หลังจากนั้นผมมีโอกาสได้เข้ามาทำงานที่บริษัทผลิตน้ำหอมแห่งหนึ่งในไทย ที่นี่เหมือนผมต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด คือ เบสิกการทำน้ำหอมจะเหมือนกัน ใช้วัตถุดิบเดียวกัน แต่วิธีการทำไม่เหมือนกันเลย เหมือนเป็นเคล็ดลับของแต่ละคนที่แตกต่างกัน ถ้ามองในแง่ของอุตสาหกรรม จะมีเรื่อง budget เข้ามาเกี่ยวข้อง สมมติ กลิ่นนี้มีต้นทุนเท่านี้ ลูกค้ารับได้เท่านี้ ห้ามใส่วัตถุดิบอะไรมากไปกว่านี้ แต่สำหรับ niche brand เราจะใส่อะไร เท่าไหร่ก็ได้ เราจะได้คุณภาพและเรื่องราวที่อยากจะบอกเล่าจริงๆ ทำให้ต้นทุนสูง และราคาขายก็สูงตามไปด้วย

“ผมทำงานให้กับแบรนด์ใหญ่มาประมาณปีกว่าๆ ก็ถามตัวเองอีกครั้งว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะทำอะไรเป็นของตัวเอง จังหวะนั้นหันไปมองเห็นขวดน้ำหอมที่เก็บสะสมไว้ในตู้ ก็คิดว่า อยากมีชื่อเราติดอยู่ที่ข้างขวดน้ำหอมบ้างแล้วล่ะ อยากมีน้ำหอมเป็นกลิ่นของตัวเอง”

…และนั่นคือ จุดเริ่มต้นของแบรนด์น้ำหอม Pryn Parfum

SCENT

แนวกลิ่นธูป คือ กลิ่นที่เขาชอบที่สุด และความแปลกไม่เหมือนใครคือตัวตนของเขา

ผมชอบกลิ่นแนว exotic กลิ่นแปลกๆ ไม่เหมือนใคร อย่างกลิ่นไม้ กลิ่นธูป จะชอบมาก ผมไม่ชอบเหมือนใคร ถ้าเห็นใช้ใครกลิ่นไหน ผมจะไม่ใช้ตาม คือ อยากให้คนได้กลิ่นแล้วเดินเข้ามาถามว่า ใช้กลิ่นอะไรอ่ะ มากกว่าให้คนเดินเข้ามาถามว่า วันนี้ฉีดกลิ่นนี้ กลิ่นนั้นมาเหรอ

ความถนัดในการเล่าเรื่องจากการทำหนัง กลายมาเป็นลายเซ็นของ Pryn Parfum

Pryn Parfum จะมีคำนิยามว่า The Journey of Scent เป็นการเล่าเรื่องราวความประทับใจจากสถานที่ต่างๆ ที่ได้พบเจอระหว่างการเดินทาง ด้านภาพยนตร์จะถือว่า story เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ภายใน story จะมี context แฝงอยู่ เพราะฉะนั้นเวลาผมดีไซน์น้ำหอมแต่ละกลิ่น จะเริ่มต้นที่ คิดคำจำกัดความสั้นๆ หนึ่งคำก่อน แล้วค่อยแตกย่อยมาว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง ภาษาภาพยนตร์จะเรียกว่า Mise en Scene (มีล์ ซอง เซน) เปรียบเหมือนน้ำหอมที่มีส่วนผสมต่างๆ มาเรียงกัน ตัวไหนจะเป็นสีสันเพิ่มรสชาติของกลิ่น ตัวไหนจะเพิ่มการเล่าเรื่องราวในน้ำหอมขวดนั้น ส่วนซิกเนเจอร์ของ Pryn Parfum จะเป็นกลิ่นแนว incense (ธูป) โดยเฉพาะกลิ่นของผู้ชาย มีความแปลก มีมิตินุ่มลึก ไม่เหมือนใคร

“น้ำหอมของผมจะเน้นความเข้มข้นของวัตถุดิบและคุณภาพ เราจะคำนึงถึงมาตรฐานของ IFRA ที่ตรวจสอบว่าวัตถุดิบไหนที่มีโอกาสแพ้ได้บ้าง คือสารทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นสารธรรมชาติหรือสารเคมีก็มีโอกาสแพ้ได้ ทำให้วงการน้ำหอมมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ อย่าง น้ำหอมวินเทจอย่าง CHANEL NO.5 ที่มีอายุกว่าร้อยปีต้องปรับสูตร(reformulate) เป็นร้อยรอบเพื่อให้ตรงกับมาตรฐานที่ IFRA ตั้งไว้”

ตอนนี้ Pryn Parfum มีทั้งหมด 13 กลิ่น วางจำหน่ายแล้วที่ร้าน O.D.S. (Object of Desire Store) และมีกลิ่นเฉพาะแนวกลิ่นเหล้าคอนยัค ที่ร้าน PUR SUIT สยามดิสคัฟเวอรี่ และกำลังจะมีกลิ่นใหม่วางไว้ที่ร้าน Onion เอกมัย เร็วๆ นี้ครับ

DESIGN

ความสนุกในการดีไซน์กลิ่น คือ หาวิธีทดลองผสมแล้วกลิ่นไม่เพี้ยน

การดีไซน์กลิ่นเริ่มจาก คิดคอนเซ็ปต์ แล้วหาวัตถุดิบหลักที่เราจะเล่าเรื่อง ถ้าเป็นไปได้ก็หาจากแหล่งที่เป็นต้นกำเนิดเรื่องราวนั้น เพื่อจะเล่าเรื่องราวที่ตรงกัน พอได้วัตถุดิบหลักแล้วก็ใช้ตัวอื่นมาผสมเข้าไป และบ่อยครั้งมากครับที่ผสมกันแล้วเพี้ยน (หัวเราะ) มันเป็นเรื่องของปฏิกิริยาทางเคมี เราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่า วัตถุดิบตัวนี้รวมกับตัวนี้แล้ว เมื่อรวมพันธะกันแล้วจะเกิด accident อะไรขึ้นมา แต่ไม่ถึงกับเกิดฟองฟู่หรือขวดระเบิดแบบในหนังนะครับ (หัวเราะ) มันไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น แค่ผสมแล้วกลิ่นมันเพี้ยน

การทำงานดีไซน์กลิ่นเฉพาะตัว เขาต้องกลายเป็นคนสอดรู้สอดเห็นเรื่องของคนอื่น

เคยมีเหมือนกันที่มีคนติดต่อเข้ามาให้ดีไซน์กลิ่นเฉพาะตัว เราเริ่มจากดูคาแรคเตอร์ของคนๆ นั้นก่อน มันเป็นข้อดีของการเรียนทำหนังที่ทำให้เราต้องเป็นคนสอดรู้สอดเห็นเรื่องของคนอื่นตลอดเวลา ต้องสังเกตพฤติกรรม การใช้ชีวิตของคนๆ นั้น แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นคาแรคเตอร์หรือเรื่องราวของคนๆ นั้นให้ได้

CHARACTERS

TAIGA คือ มาสเตอร์พีซ บอกตัวตนของเขาได้ดีที่สุด

ผมชอบกลิ่น TAIGA มากที่สุดครับ กลิ่นนี้เรียกได้ว่าเป็นมาสเตอร์พีซของผมเลยก็ว่าได้ ไทก้า เป็นป่าสน เขตขั้วโลกที่มีสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายมาก มีฤดูร้อนสั้นๆ แต่มีฤดูหนาวที่ยาวนาน เป็นป่าที่มีหิมะปกคลุมเกือบตลอดทั้งปี มีต้นสนเท่านั้นที่เจริญเติบโตได้ ผมเลยถ่ายทอดกลิ่นสัมผัสให้มีความเขียวของต้นสนและรู้สึกเย็นนิดๆ

ไทก้า มีความมินิมัล และมีความลุ่มลึกไม่เหมือนใคร วัตถุดิบที่ใช้มีไม่มากเหมือนกลิ่นอื่นๆ แต่เป็นกลิ่นที่ขายดีที่สุด เคยมีลูกค้าคนหนึ่งเคยใช้ชีวิตวัยเด็กในรัสเซีย เขาเล่าให้ฟังว่า พอได้กลิ่นนี้ก็ทำให้เขาคิดถึงวัยเด็กที่เคยวิ่งเล่นในป่าไทก้า อย่างนั้นเลย

AYOTHAYA กลิ่นนี้มีเรื่องราว พาทุกคนย้อนกลับไปยุคที่อยุธยายังรุ่งเรือง

กลิ่นนี้ผมได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวในช่วงกรุงศรีอยุธยาเจริญรุ่งเรือง มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ มีทั้งอาหรับ จีน ฮอลันดา แล้วเป็นเหมือนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม มีอะไรใหม่ๆ เข้ามาสู่อยุธยาเยอะ เราเลยนำวัตถุดิบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชาตินั้นๆ เข้ามาเป็นส่วนผสม เบสหลักจะนึกถึงความเป็นวัดที่มีมากมายในสมัยนั้น มีกลิ่นวัด กลิ่นธูป และกลิ่นดินปืนที่เป็นเคล็ดลับของผมครับ

กลิ่นแน่นๆ คือกลิ่นที่คนไทยควรใช้ในช่วงหน้าฝน

คนไทยส่วนใหญ่ชอบกลิ่นที่ติดทนๆ แต่ไม่แรง เป็นโจทย์ที่ยากมาก ที่จริงแล้ว เรื่องน้ำหอมติดทนไม่ทน ขึ้นอยู่กับผิวของแต่ละคน คนผิวมันหรือร่างกายมีความร้อน กลิ่นจะติดดี กระจายกลิ่นได้ดี ส่วนช่วงนี้ ฝนตกบ่อย จะมีความชื้นสูง ถ้าใช้กลิ่นที่เข้มๆ หวานๆ แน่นๆ จะน่าค้นหา น่าซบมากขึ้น

ART

มุมมองทางด้านงานศิลปะ การทำน้ำหอม กับ การทำหนัง เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

เหมือนกันทุกอย่างครับ แต่น้ำหอมเป็นศิลปะเชิงนามธรรม ไม่สามารถใช้สายตาสัมผัสได้ แต่ใช้กลิ่นและความรู้สึกสัมผัส แต่ภาพยนตร์มีสิ่งที่สำคัญคือ ความรู้สึกที่แฝงไว้เหมือนกับน้ำหอม

ผมชอบทำหนังทดลองที่ไม่เล่าเรื่อง หนังที่คนเข้าถึงยาก แค่มีคนดูสองคนแล้วมีความสุข ก็พอใจแล้ว เหมือนเป็นการสร้างโลกของเราเอาไว้ บางครั้งเราก็อยากแบ่งปันให้นอกโลกของเราได้สัมผัสบ้าง บางอย่างก็มีความสุขแค่คนเดียว อย่างน้ำหอมกลิ่น TAIGA เป็นกลิ่นที่รักมาก ตอนแรกตั้งใจจะทำไว้ใช้คนเดียว เป็นเหมือนลูกที่เรารักมาก เราหวง ไม่อยากจะแชร์ให้ใคร แต่คิดไปคิดมาก็อยากให้คนอื่นได้สัมผัสเหมือนที่เราสัมผัสบ้าง

เรานั่งคุยกันนานพอสมควร หันไปมองนอกอาคารอีกที สายฝนที่โปรยปรายลงมาตั้งแต่ช่วงเย็น เริ่มหยุดตกแล้ว ท้องฟ้าก็เริ่มเปลี่ยนสีเป็นน้ำเงินเข้มบ่งบอกเวลาที่เราควรจบการสนทนาในวันนี้แล้วล่ะ แต่ก่อนจะจากกันคุณปฤณได้กล่าวทิ้งท้ายให้เราฟังว่า

“คนเราไม่จำเป็นต้องเลือกทำงานอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราสามารถทำงานที่เรารักทั้งสองอย่างไปพร้อมๆ กันได้ งานสอนทำหนัง เราทำเพื่อสังคม เราอยากถ่ายทอดความรู้ที่เราได้เรียนมา ส่วนงานทำน้ำหอม เป็นสิ่งที่เรารัก ผมเข้าใจศาสตร์ของกลิ่นเป็นอย่างดี สิ่งนี้เรียกว่า พรสวรรค์ หรือเปล่า ก็ไม่แน่ใจ มันคือความชอบ พอทำสิ่งไหนที่เราชอบ มันมีความสุข”


Interview : ธนกฤต ชัยสุวรรณถาวร

Photo : วาระ สุทธิวรรณ

Location : O.D.S. (Object of Desire Store) สยามดิสคัฟเวอรี่

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.