“TCDC COMMONS UX Design – W District” แหล่งเรียนรู้ด้านการออกแบบแห่งแรกในไทย

 

ทีซีดีซี จับมือ ดับเบิ้ลยูดิสทริค เนรมิต “ทีซีดีซี คอมมอนส์ ยูเอ็กซ์ดีไซน์ – ดับเบิ้ลยูดิสทริค” แหล่งการเรียนรู้ด้านการออกแบบประสบการณ์แห่งแรกของประเทศ

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกับ บริษัท วรลักษณ์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโครงการ ดับเบิ้ลยูดิสทริค (W District) เปิดตัว ทีซีดีซี คอมมอนส์ ยูสเซอร์เอ็กซ์ ดีไซน์ สาขาดับเบิ้ลยูดิสทริค (TCDC COMMONS UX Design – W District) แหล่งการเรียนรู้ด้านการออกแบบประสบการณ์แห่งแรกของประเทศไทย รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจดิจิทัล

โดยทีซีดีซี คอมมอนส์ ยูเอ็กซ์ดีไซน์ สาขาดับเบิ้ลยูดิสทริค มีพื้นที่กว่า 480 ตารางเมตร ประกอบด้วย พื้นที่ห้องสมุดที่รวบรวมหนังสือ วารสารเฉพาะทางกว่า 2,500 เล่ม พื้นที่ทำงานโคเวิร์คกิ้งสเปซ ห้องประชุม พื้นที่จัดเวิร์กช็อปและนิทรรศการ รวมไปถึงไฮไลท์ห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง 2 ห้อง ได้แก่ ห้องดีไวซ์แล็บ (Device Lab) ห้องปฏิบัติการที่รวบรวมสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตหลากรุ่น สำหรับทดสอบการแสดงผลของผลิตภัณฑ์บนอุปกรณ์โมเดลต่างๆ และห้องยูสอะบิลิตี้แล็บ (Usability Lab) ห้องปฏิบัติการสำหรับทดสอบประสิทธิภาพและความพึงพอใจของผู้ใช้ต่อผลิตภัณฑ์ ที่มาพร้อมนวัตกรรมอุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของตา (Eye Tracking) เพื่อค้นหาจุดสนใจบนหน้าจอและอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นสมอง (Brainwave Tracking) เพื่อค้นหาการตอบสนองของสมองในขณะเล่นเกมหรือใช้ผลิตภัณฑ์

นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) กล่าวว่า ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และ บริษัท วรลักษณ์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารโครงการ ดับเบิ้ลยูดิสทริค (W District) ร่วมมือกันสร้าง ทีซีดีซี คอมมอนส์ ยูสเซอร์เอ็กซ์พีเรียนส์ ดีไซน์ สาขาดับเบิ้ลยูดิสทริค (TCDC COMMONS UX Design – W District) แหล่งการเรียนรู้ด้านการออกแบบประสบการณ์ (User Experience Design) แห่งแรกของประเทศไทย แหล่งการเรียนรู้เฉพาะด้านการออกแบบประสบการณ์การใช้งานสินค้าและบริการที่มุ่งสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับผู้ใช้ หรือยูเอ็กซ์ (UX : User Experience) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ โดยทีซีดีซี คอมมอนส์ ยูเอ็กซ์ดีไซน์ สาขา ดับเบิ้ลยูดิสทริค ได้ถูกออกแบบให้เป็น แหล่งพบปะหรือจุดนัดพบ ของบุคลากรและผู้ที่สนใจด้านการออกแบบประสบการณ์ และตั้งเป้าให้เป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่เติมเต็มระบบนิเวศน์ทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศให้ครอบคลุมหลากมิติเพิ่มมากขึ้น

นายกิตติรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีซีดีซี คอมมอนส์ ยูเอ็กซ์ดีไซน์ สาขาดับเบิ้ลยูดิสทริค ตั้งอยู่ที่อาคารเลอลัก คอนโดมิเนียม บนพื้นที่กว่า 480 ตารางเมตร แบ่งเป็นพื้นที่ห้องสมุดที่มีหนังสือกว่า 2,500 เล่ม พื้นที่ทำงานร่วมกัน (Co-working Space) ห้องประชุม พื้นที่จัดเวิร์กช็อปและนิทรรศการ และห้องปฏิบัติการสำหรับผู้ทำงานในแวดวงยูเอ็กซ์ หรือการออกแบบประสบการณ์โดยเฉพาะ ได้แก่

01. ห้องดีไวซ์แล็บ (Device Lab) ห้องปฏิบัติการที่สามารถทดสอบผลงานการออกแบบเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่นด้านการแสดงผลบนหน้าจอของอุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์แบบต่างๆ ที่มีอยู่ในตลาดพร้อมกัน เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลความแตกต่าง หรือข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น ไปพัฒนาต่อจนเป็นผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์

02. ห้องยูสอะบิลิตี้แล็บ (Usability Lab) ห้องปฏิบัติการสำหรับนักออกแบบยูเอ็กซ์ เพื่อทดลองต้นแบบผลิตภัณฑ์และเก็บข้อมูลอย่างละเอียด สำหรับหาจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไขก่อนนำไปพัฒนาและผลิตจริง ซึ่งภายในห้องปฏิบัติการจะประกอบด้วยอุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของตา (Eye Tracking) เพื่อค้นหาจุดสนใจบนหน้าจอ และอุปกรณ์ตรวจจับคลื่นสมอง (Brainwave Tracking) เพื่อค้นหาการตอบสนองของสมองในขณะเล่นเกมหรือใช้ผลิตภัณฑ์

นายวิชัย พูลวรลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วรลักษณ์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และ บริษัท วรลักษณ์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับค้นคว้าหาความรู้ และ สร้างชุมชนของกลุ่มคนทีทำงานในสายอาชีพออกแบบและพัฒนาโปรแกรม แอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ รวมไปถึงกลุ่มคนที่มีแนวความคิดที่อยากเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร จึงอยากให้พื้นที่ทีซีดีซี คอมมอนส์ ยูเอ็กซ์ดีไซน์ สาขาดับเบิ้ลยูดิสทริค เป็นสถานที่ที่จะมาหาคำตอบนั้น ๆ หรือ เป็นพื้นที่กลางเพื่อมาพบปะและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อพัฒนางานที่เกี่ยวเนื่องต่อไป นอกจากนี้พื้นที่ดับเบิ้ลยูดิสทริค เป็นโครงการที่ให้ความสำคัญเรื่องการสร้างสรรค์ มีพื้นที่ ยู691 ซึ่งเป็นบริการให้เช่าพื้นที่สำหรับสำนักงานเพื่อรองรับการเริ่มต้นธุรกิจและพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรม จัดสัมมนา และจัดเลี้ยงอีกด้วย

ทั้งนี้ ศูนย์งานสร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกับ บริษัท วรลักษณ์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) จัดพิธีเปิด ทีซีดีซี คอมมอนส์ ยูเอ็กซ์ดีไซน์ สาขาดับเบิ้ลยูดิสทริค (TCDC COMMONS W District) โดยได้รับเกียรติจาก นายปราโมทย์ วิทยาสุข ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เป็นประธานในพิธี โดยมี นายกิตติรัตน์ ปิติพานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) นายวิชัย พูลวรลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท วรลักษณ์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ม.ธรรมศาสตร์ นายธนา โพธิกำจร ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงค์กิ้ง ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ผู้แทนจากภาคธุรกิจและบุคลากรในแวดวงยูเอ็กซ์ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เมื่อเร็วๆ นี้

ผู้สนใจสามารถเข้าใช้บริการ ทีซีดีซี คอมมอนส์ ยูเอ็กซ์ดีไซน์ สาขาดับเบิ้ลยูดิสทริค โดยการสมัครสมาชิกทีซีดีซี ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติม https://web.tcdc.or.th/th/member หรือติดต่อ ทีซีดีซี คอมมอนส์ ยูเอ็กซ์ดีไซน์ สาขาดับเบิ้ลยูดิสทริค (TCDC COMMONS W District) ณ อาคารเลอลักคอนโดมิเนียม โครงการดับเบิ้ลยูดิสทริค สถานีรถไฟฟ้าพระโขนง ทางออก 3 โทรศัพท์ 02-178-0096 หรือ info@tcdc.or.th และ www.facebook.com/Commonswdistrict

NOTE:

User Experience Design หรือ UXD คือ การออกแบบที่ให้ความสำคัญกับ ประสบการณ์ อารมณ์ และความรู้สึก ของผู้ใช้ นักออกแบบ UX มีหน้าที่ทำการศึกษา ทำความเข้าใจความต้องการผู้ใช้ และกำหนดประสบการณ์การใช้งาน เพื่อตอบสนองความต้องการต่างๆ ของผู้ใช้ ดังเช่น amazon.com ที่ทำการทดสอบ usability test และพบว่า ลูกค้าไม่ซื้อสินค้าเมื่อต้องกรอกข้อมูลและสมัครสมาชิกก่อนชำระเงิน และภายหลังการปรับหน้าจอให้กรอกแค่ที่อยู่และอีเมล์ amazon.com ก็สามารถเพิ่มรายได้ได้ถึง 45% ในเดือนแรก และมีรายได้เพิ่มขึ้นราวหมื่นล้านบาทในปีแรก ด้วยตัวอย่างความสำเร็จเช่นนี้ ทำให้ระยะหลังบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทย เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย True, AIS, Dtac, IBM, LAZADA, Central ฯลฯ ตื่นตัวหันมาให้ความสำคัญกับ UXD มากขึ้นเรื่อยๆ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.