“เจ้าแม่หม่าโจ้ว” (คลองสาน) หรือ MAZU ที่ประดิษฐานอยู่คู่ “ฮวย จุ่ง ล้ง” มีมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ.2393 (ค.ศ.1850) สมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเจ้าแม่หม่าโจ้วทั้ง 3 ปางนี้ เป็นองค์ที่ชาวจีนนำขึ้นเรือเดินทางมาจากเมืองจีน เมื่อมาถึงเมืองไทยจึงอัญเชิญประดิษฐาน ณ ที่แห่งนี้ อายุเก่าแก่มากกว่า 167 ปี เวลาคนจีนเดินทางจากโพ้นทะเลมาถึงฝั่งประเทศไทย ก็จะมากราบสักการะท่านเพื่อเป็นการขอบคุณที่ช่วยทำให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ และเมื่อจะเดินทางกลับไปประเทศจีนก็จะมากราบลาเจ้าแม่ที่นี่เช่นกัน “เจ้าแม่หม่าโจ้ว” (คลองสาน) จึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนจีนในแผ่นดินไทย ซึ่งคนจีนที่ทำการค้าในไทยจนเจริญร่ำรวยเป็นเศรษฐีก็ล้วนก่อร่างสร้างตัวมาจากที่นี่
ซึ่งถือว่า องค์เจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) ที่ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) องค์นี้ คือองค์เจ้าแม่หม่าโจ้วที่มีพลังและความศักดิ์สิทธิ์มาก เพราะได้ประดิษฐานอยู่คู่มาตั้งแต่ต้นตระกูลของผู้ดูแลรักษา และผู้ที่ได้อัญเชิญองค์เจ้าแม่หม่าโจ้วตั้งแต่เริ่มนั้น ต่อมาได้ประสบความสำเร็จความเจริญรุ่งเรืองมั่งคั่ง เรียกว่า “มั่งมีพลัง มั่งคั่งความสำเร็จ”สืบเนื่องยาวนานมาจนลูกหลานในปัจจุบันตลอด 6 ชั่วอายุคน นับได้ถึง 7 แผ่นดินตั้งแต่ แผ่นดินรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 10
เมื่อตระกูล “หวั่งหลี” ผู้ดูแลองค์เจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) มีความตั้งใจที่จะบูรณะเชิงอนุรักษ์ และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงวัฒนธรรม ที่นอกจากจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองแล้ว ยังถือเป็นการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้สำหรับคนรุ่นหลัง ระหว่างการบูรณะจึงจำเป็นต้องอัญเชิญเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) ไปประดิษฐานชั่วคราวยังบ้านหวั่งหลีที่ตั้งอยู่ด้านข้างโครงการฯ 1 ปีผ่านไปการบูรณะเสร็จสิ้นก็ได้เวลาเหมาะสมที่จะอัญเชิญเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) กลับไปประดิษฐานยังศาลเจ้าทีเดิม โดยมีพิธีเบิกเนตรตามประเพณีจีน ขบวนแห่เจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) จึงต้องยิ่งใหญ่ สมเกียรติกับการพิธีศักดิ์สิทธิ์ และเป็นการประกาศความศรัทธาที่มีต่อองค์เจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) จากผู้นับถือ
โดยขุนพลแห่งพลังมงคลที่เหล่าลูกหลานตั้งใจจัดขึ้นเพื่อสรรเสริญแก่ความศรัทธา มีลำดับต่อไปนี้
1. ขบวนมังกรทองยาว 35 เมตร เพื่อถวายแด่เจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) มังกร สัญลักษณ์แห่งพลัง อำนาจ ความยิ่งใหญ่ สัตว์มงคลสูงสุดตามความเชื่อตามประเพณีจีน เพราะเป็นการรวมของสัตว์มงคลทั้ง 9 ชนิด ได้แก่
– กงเล็บของนกอินทรีย์หมายถึง การแม่นยำในการล่าเหยื่อ และหลบลี้หนีภัยได้ทันท่วงที
– ตาของวัวหมายถึง ดวงตาสุกใสของวัว ที่เปรียบเสมือนกับความซื่อสัตย์
– แผงคอและเสียงคำรามของสิงโต หมายถึง อำนาจและบารมี
– เขาของกวาง หมายถึง ความอ่อนโยน การระแวดระวังภัย
– ลำตัวของงูหมายถึง ความลื่นไหล ราบรื่น
– เกล็ดของปลา หมายถึง เหลือกินเหลือใช้
– หนวดของเสือหมายถึง ความน่าเกรงขาม
– หัวของอูฐหมายถึง ความอดทน
– หางของม้า หมายถึง การมีพลัง และ การเดินทางปลอดภัย
ส่วนจำนวน 35 เมตร มีความหมายดังนี้ เลข 3 หมายถึง “ซำปอหกโจ้ว” คือ พระพุทธรูป 3 องค์ เลข 5 หมายถึง ธาตุทั้ง 5 ของโลก ได้แก่ ไม้ น้ำ ไฟ ดิน และ ทอง เลข 3 และเลข 5 รวมกันเป็น 8 หมายถึง ความร่ำรวย มั่งมีไม่มีที่สิ้นสุด
2. ขบวนสิงโต 9 ตัว 9 สีเพื่อถวายแด่เจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) เป็นดังตัวแทนดาวนพเคราะห์ทั้ง 9 เปรียบเหมือนเป็นการอัญเชิญ “กิ่วฮ้วงหกโจ้ว” คือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 7 พระองค์ และ พระโพธิสัตว์ 2 พระองค์ เสด็จลงมาจากสวรรค์ เพื่อประทานพร สิงโตมาพร้อมบริวาร คือ เอ็งกอ 30 คน เป็นการแสดงตำนานนักสู้แห่งเขาเหลียงซาน ซึ่งก็คือพระอรหันต์โดยผู้แสดงแต่งหน้าอำพรางคน แสดงความเข้มแข็งตามดนตรี ต่างมีความสามารถในการต่อสู้ด้วยมือเปล่า ไม้พลอง มีด การดำน้ำ การเดินป่าทางไฟ การรักษาโรค ฯลฯ จำนวน30 หมายถึงการปกป้องคุ้มครองโดยเหล่าเทพผู้กล้าที่จะคุ้มครองตลอดเดือน ตลอด 30 วัน
3. ขบวนหลอโกว้ ดนตรีโบราณของจีน 30 คน ป้ายมงคลขนาบซ้ายขวา ด้านละ 4 ป้าย รวม 8 ป้าย
4. ประธาน 3 ท่าน ได้แก่ คุณสุจินต์ คุณวุฒิชัย และ คุณธรรมนูญ หวั่งหลี
5. เจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) 3 องค์ 3 ปาง ประทับเกี้ยว 3 หลัง ร่มฉัตร 3 คัน โคมไฟ 2 อัน
6. ขบวนพระชัยมงคล พร้อมเครื่องสักการะ และกระถางธูป
7. ขบวนเจ้าแม่กวนอิม พร้อมกระถางธูป
8. สมาชิกตระกูลหวั่งหลี
9. ธงมงคล 8 ธง
โครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งอยู่สุดถนนเชียงใหม่ เขตคลองสาน ร่วมสักการะเจ้าแม่หม่าโจ้ว (คลองสาน) เปิดบริการทุกวัน โซนศาลเจ้าแม่ + Art & Craft Shop (อาร์ต แอนด์ คราฟท์ ช็อป) เปิดเวลา 8.00-20.00 น. Eatery Zone (อีทเธอรี่ โซน) เปิดเวลา 10.00-22.00 น. ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ LHONG 1919 หรือ สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 091-187-1919