ปลุกความตื่นเต้นกับกีฬาเอ็กซ์ตรีม ‘ปีนผา’ กันที่ ROCK DOMAIN

ปลุกความตื่นเต้นกับกีฬาเอ็กซ์ตรีม ‘ปีนผา’ กันที่ ROCK DOMAIN

WHERE: เปิดประสบการณ์ใหม่ของคนแอคทีฟกับกีฬาเอ็กซ์ตรีม “ปีนผา” กันที่ Rock Domain Climbing Gym พร้อม 8 คำถาม-ตอบไขข้อสงสัยและคำแนะนำ ก่อนไปท้าความสูง ปลุกความตื่นเต้นกัน!

“วันหนึ่งผมมีโอกาสได้ไปเล่นกีฬาปีนหน้าผา พอไปเล่นแล้วก็ใช่เลย เพราะกีฬานี้ตอบโจทย์ มันเป็นกีฬาที่ได้ออกกำลัง ได้แก้ปัญหา และได้เพื่อน”

คำบอกเล่าจากคุณแพ็ค-สุขกิจ ศิริรัตน์อัสดร เจ้าของยิม “Rock Domain Climbing Gym” ถึงความหลงใหลใน ‘กีฬาปีนผา’ หนึ่งในกีฬาเอ็กซ์ตรีมที่ช่วยเติมความตื่นเต้นให้ชีวิต พร้อมท้าทายความสูงและขีดจำกัดของตัวผ่านเส้นทางบนผาสูง โดยมีสุขภาพที่แข็งแรงเป็นชัยชนะ แต่ก่อนที่เราจะเดินทางไปท้าความสูงและวัดพลังกายกับกีฬาปีนผาที่ Rock Domain เราไปรู้จักกีฬาชนิดนี้ พร้อมคำแนะนำ รวมทั้งการเตรียมตัวให้พร้อมจากปากผู้เชียวชาญกันก่อน …รับรองกีฬานี้ไม่ยากเกินความสามารถแน่นอน!!

• ปีนผาแล้วได้อะไร

“มันเป็นกีฬาที่เหมือนได้ออกกำลัง ได้แก้ปัญหา และได้เพื่อน ที่ผมบอกว่าได้ออกกำลัง ซึ่งก็เห็นๆ กันอยู่แล้วว่าเวลาปีนเราต้องใช้แรง ใช้กล้ามเนื้อ ส่วนได้แก้ปัญหาก็คือการได้ใช้ความคิด เวลาปีนเราต้องคิดต้องวางแผนการปีนด้วย เพราะถ้าเราเอาแต่ปีนๆๆ ไม่อ่านเส้นทาง ไม่วางแผนการปีน เราจะหมดแรงก่อนที่จะปีนจบ เพราะฉะนั้นเส้นทางที่ยากๆ เราต้องมีการวางแผนระหว่างปีน ส่วนได้เพื่อน การปีนผามันเป็นกีฬาก็จริง แต่ถ้ามองในมุมมองคนปีน ต่อให้มีการแข่งขัน เราก็จะคอยเชียร์กันและกันเสมอ มันเป็นกีฬาที่ไม่มีการปะทะ ไม่มีการแข่งขันจนทำให้เกิดอารมณ์ แต่เราจะคอยมาเชียร์คู่แข่งกันมากกว่า”

• ออกกำลังกายในฟิตเนส VS ปีนผาจำลอง

“กีฬาทั้งสองได้กล้ามเนื้อเหมือนกัน คือถ้าเล่นฟิตเนสก็จะได้กล้ามเนื้อทีละส่วน ตามแต่เราจะเล่น ซึ่งแตกต่างจากกีฬาปีนผา เราปีนสิ่งเดียวแต่เราได้ทุกส่วน ตั้งแต่เท้า ท้อง ช่วงหน้าอก ช่วงไหล่ ช่วงแขน แล้วก็นิ้ว และยังได้ใช้สมอง อีกอย่างการเล่นฟิตเนส เราจำต้องเล่นท่าเดิมๆ ซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ซึ่งสำหรับตัวผมเอง ผมไม่ค่อยชอบ เพราะมันน่าเบื่อ แต่กีฬาปีนผา เส้นทางแต่ละเส้นจะไม่เหมือนกัน ซึ่งทาง Rock Domain จะมีการเปลี่ยนเส้นทางทุกสัปดาห์

ดังนั้นพอปีนเส้นทางนี้เสร็จ สัปดาห์หน้าเส้นทางนั้นก็เปลี่ยนไปแล้ว ทำให้เราได้ปีนเส้นทางใหม่ๆ มันไม่จำเจ และมันเป็นการพัฒนาความสามารถผ่านเส้นทางที่ยากๆ ด้วย พอเราปีนเลเวลนี้เก่งแล้ว ก็ไปปีนเลเวลที่ยากขึ้นไป ซึ่งมันเป็นอะไรที่ท้าทาย ทำให้เราสนุกไปกับความท้าทายนั้น”

• ปีนผาจำลอง VS ปีนผาจริง

“โดยเทคนิคแล้วจะคล้ายๆ กัน ทั้งเทคนิคการปีน ลักษณะการจับ หรือเทคนิคที่ทำให้เราพาตัวขึ้นไปข้างบนจะเหมือนกัน แต่การปีนผาจำลองจะมีความปลอดภัยกว่า เพราะว่าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เราควบคุมได้ แต่ถ้าปีนผาจริงจะท้าทายกว่า คือเราจะอ่านเส้นทางไม่ค่อยได้ เหมือนเราจะมองไม่ค่อยเห็นว่าก้อนหินก้อนนั้นมันจับได้หรือไม่ได้ แล้วเส้นทางการปีนมันค่อนข้างจะสูงกว่าด้วย เพราะฉะนั้นการปีนผาจริงมันจะมีความท้าทาย ความตื่นเต้น ซึ่งคนส่วนใหญ่จะชอบปีนผาจริงมากกว่า อีกอย่างการปีนผาจริงเราจะได้มองวิวในมุมสูง ได้ไปเที่ยวด้วย”

“…ความยากที่ท้าทายขึ้น มันเป็นเสน่ห์ของกีฬาปีนผา”

• ความยากง่ายของเส้นทาง

“เส้นทางความยากจะแบ่งเป็นเกรด ซึ่งเกรดมันก็จะมีการแบ่งแตกต่างกันในแต่ละประเทศ แต่ที่ใช้กันมากที่สุด ซึ่งเหมือนเป็นมาตรฐาน เป็นเกรดของฝรั่งเศส โดยจะเรียงตั้งแต่เลข 5 แล้วไล่ไปเป็น 5A 5B 5C คือ 5A ก็จะง่ายที่สุด โดยเราจะมีป้ายติดบอกไว้ ต่อมาก็จะเป็น 6A 6B 6C และไล่ไป 7A 7B 7C

อย่าง 5A ตัวจับจะเป็นตัวใหญ่จับดีๆ เส้นทางก็จะดูไม่ซับซ้อน แต่ถ้าเป็นเส้นทางที่ยากขึ้นมา ตัวจับก็จะเป็นตัวเล็กๆ มุมองศาก็จะเอียงด้วย เพราะฉะนั้นคนเริ่มเล่นก็จะเริ่มจาก 5A แล้วถ้าอยากท้าทายก็ขยับความยากเป็น 5B ซึ่งความยากที่ท้าทายขึ้น มันเป็นเสน่ห์ของกีฬาปีนผา”

• เทคนิคการปีนให้ถึงเส้นชัย

“กีฬาปีนหน้าผาไม่ใช่กีฬาใช้แรง การปีนหลักๆ ก็คือใช้ขาดันตัวขึ้นไป คนเริ่มเล่นส่วนใหญ่จะจับ แล้วใช้แขนดึง ซึ่งไม่มีใครดึงตัวเองขึ้นไป 11 เมตรได้หรอก เพราะฉะนั้นเทคนิคของการปีนก็คือ เราจับ วางขาแล้วดันตัวขึ้นไป และที่ต้องอ่านเส้นทางเพื่อให้รู้ว่าเราจับตัวนี้ ต้องใช้ขาเหยียบตรงนี้ แล้วจึงส่งตัวขึ้นไปได้”

• มือใหม่หัดปีน เตรียมตัวอย่างไร

“Rock Domain ของเราจะเน้นคนที่เริ่มเล่น ดังนั้นคนที่อยากเล่นก็สามารถเข้ามาเล่นได้เลย คือถ้าอยากเล่นกีฬาปีนผาของที่นี่ ก็ไม่ต้องคิดมากว่ามันเป็นกีฬาที่ต้องใช้แรงเยอะ อยากเล่นก็เข้ามาเล่นได้เลย แนะนำว่ามาอย่างน้อย 2 ท่าน เพราะเวลาปีนจะได้มีพาร์ทเนอร์คอยดึงเชือก safety ซึ่งกันและกัน

และที่ Rock Domain เราก็จะมี Instructor คอยสอนใช้อุปกรณ์ safety จนกว่าจะมั่นใจว่าคุณทำเป็น เราถึงจะปล่อยให้ปีน ซึ่งบริการสอนการใช้อุปกรณ์ safety เราไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ แล้วเรายังจะแนะนำเทคนิคเบื้องต้นให้ด้วย เพราะเราใส่ใจเรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นต่อให้ลูกค้าที่เคยมาแล้ว แต่ลืมวิธีการใช้อุปกรณ์ safety เราก็พร้อมจะสอนให้ใหม่เรื่อยๆ”

• อุปกรณ์ที่ใช้ในการปีนผา มีอะไรบ้าง?

“อุปกรณ์หลักๆ เลยมี 5 อย่างคือ

  1. อย่างแรกเลยคือ รองเท้าปีนหน้าผา เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นที่สุด ซึ่งรองเท้านี้จะต่างจากรองเท้าทั่วไป คือลักษณะรองเท้าจะเป็นยางรอบด้าน ซึ่งหุ้มขึ้นมาถึงปลายเท้าด้านหน้า ทำให้เราเหยียบจิกก้อนเล็กๆ ได้
  2. อย่างที่สองที่สำคัญรองลงมาเลยก็คือ Harness หรือเข็มขัด safety มีความจำเป็นที่เวลาเราปีนสูง เราต้องใช้เชือกผูกเข้ากับตัวเอง เวลาเราพลาดหรือตก Harness จะรับน้ำหนักตัวเรา
  3. ชิ้นที่สามเป็นอุปกรณ์จับคู่กับ Harness คือ Belay Device หรืออุปกรณ์ดึงเชือก เวลาคนปีนจะต้องใส่ Harness ขึ้นไป คนที่อยู่ข้างล่างก็ต้องใส่ Harness เหมือนกัน แล้วเราต้องใช้ Belay Device ในการดึงเชือกและจับเชือก ในกรณีที่คนปีนจะพักหรือร่วง เราก็จะใช้อุปกรณ์ตัวนี้ล็อกเชือกเอาไว้ เพื่อไม่ให้คนปีนร่วงตกลงมา
  4. อย่างที่สี่ก็คือชอล์ก จะเป็นผงแมกนีเซียม เวลาปีนก็จะเอื้อมมือไปทาผงขาวๆ เพื่อกันลื่น ซึ่งผงแมกนีเซียมจะเป็นผงเดียวกันกับที่ใช้กีฬายกน้ำหนัก
  5. สุดท้าย เชือกปีนหน้าผา ถ้าเป็นเชือกมาตรฐานจะเป็นเชือกไดนามิค ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นและรับน้ำหนักได้มาตรฐาน คือ 2,000 กก. ที่ต้องรับน้ำหนักได้เยอะ เพราะเขาทำเผื่อในกรณีที่มีแรงกระชาก”

• ข้อควรระวังและคำแนะนำ เมื่อคิดจะปีนผา

“อย่างแรกเลยเราควรยืดกล้ามเนื้อก่อน เพราะหากไม่วอร์มกล้ามเนื้อเลยก็มีโอกาสบาดเจ็บจากการเคล็ดขัดยอกหรือเส้นตึงเส้นยึดได้ อย่างที่สองกีฬาปีนหน้าผา หลายคนมองเป็นกีฬาเอ็กตรีม พวกกฎกติกาต่างๆ เราต้องทำตามกฎอย่างเคร่งครัดว่า อุปกรณ์แต่ละอย่างมันใช้ยังไง เราอย่าไปใช้พลิกแพลง อย่าไปใช้ผิดประเภท เพราะมันเป็นกีฬาความสูง แต่ถ้าเราทำถูกทุกอย่าง ใช้อุปกรณ์ถูกต้อง โอกาสบาดเจ็บแทบไม่มีเลย”

Rock Domain Climbing Gym
• Address: ถนนบางนา-ตราด ระหว่างซอยบางนา – ตราด 50 กับซอยบางนา – ตราด 52 (ติดกับอาคารเตียวฮง)
• Map: goo.gl/maps/aNAEkkD4CVx
• Time: เปิดทุกวัน จันทร์ – ศุกร์ 11.00 – 22.00 น. เสาร์ 10.00 – 22.00 น. และอาทิตย์ 10.00 – 21.00 น.
• Tel: 02 399 4648
• Facebook: www.facebook.com/RockDomainClimbingGym/

Story : Taliw
Photo : Wara Suttiwan
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.