GOOD SPACE | co-working space สีขาวโปร่งที่แฝงแรงบันดาลใจให้เราได้รังสรรค์งาน

เมื่อครั้งที่เราไปเยือน Seven Café เราก็ได้รู้จักกับ “Good Space” Co-Working Space สีขาวโปร่งที่ชวนให้นั่งทำงาน ผนวกกับคำเชื้อเชิญและความใจดีของคุณพุท – พุทโธ สุขศรีวัน ที่ให้เราเดินชมอาณาจักรสีขาวชวนนั่งทำงานแห่งนี้ ในที่สุดเราก็อดใจไม่ไหวต้องเก็บภาพและเรื่องราวของพื้นที่ดีๆ แห่งนี้มาแชร์กับคุณผู้อ่าน

“เริ่มแรกเลย เราแค่ไม่อยากกั้นพื้นที่เป็นห้องๆ แต่เราอยากเปิดกว้าง ซึ่งตอนที่ยังไม่ทำอะไรกับพื้นที่ตรงนี้ วิวมันดี บรรยากาศดี เวลาเราลงมายืนมานั่งเราก็คิดอะไรๆ ออก คือเราก็รู้สึกว่าถ้าเกิดเราเอาตรงนี้มาทำธุรกิจ แล้วเราก็สามารถแชร์กับคนอื่นได้ด้วยมันน่าจะดี พูดง่ายๆ เหมือนเราแชร์สิ่งที่เราชอบให้กับคนอื่น”

คุณพุทเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของความคิดในการเปลี่ยนบ้านเก่าที่มีอายุกว่า 30 ปีในย่านพหลโยธินแห่งนี้ให้กลายเป็น Co-Working Space ที่พร้อมจะเปิดให้ทุกคนเข้าไปนั่งรังสรรค์ผลงานใหม่ๆ โดยแต่เดิมนั้นพื้นที่นี้เคยเป็นร้านขายของชำของครอบครัว แต่เมื่อปิดกิจการ จากร้านขอยของชำที่อัดแน่นด้วยข้าวของมากมายก็กลายเป็นพื้นที่ว่างโล่ง คุณพุทที่ไม่อยากปล่อยให้บ้านที่เติบโตมาว่างเปล่าจึงเกิดไอเดียเนรมิตพื้นที่โล่งตั้งแต่ชั้นหนึ่งถึงชั้นสามให้กลายเป็น Co-Working Space สำหรับทุกคน

แน่นอนว่าคุณพุทไม่เพียงแต่อยากแบ่งปันพื้นที่ให้ทุกคนเท่านั้น แต่คุณพุทยังอยากให้ Co-Working แห่งนี้เป็นสถานที่สร้างแรงบันดาลอีกด้วย “อยากให้คนมาที่นี่รู้สึก Inspire ไม่ใช่มาแล้วแบบว่านั่งเฉยๆ แต่อยากให้เขาได้เจออะไรใหม่ๆ ที่ช่วยเปิดประตูความคิด เป็นอะไรที่ Inspire ให้เขาทำสิ่งใหม่ๆ ซึ่งผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี อีกอย่างมันก็ตอบโจทย์ที่ว่าไม่ใช่แค่ Co-Working Space แต่เป็น Creative Space มากกว่า เพราะผมอยากให้คนเข้ามาแล้วได้ไอเดียใหม่ๆ กลับไป”

“การตกแต่งผมคิดว่าเอาของใหม่กับของเก่ามาผสมกันถึงจะสวย บางส่วนที่สวยอยู่แล้วเราก็ไม่ไปแตะมันมาก”

แม้จะรู้ว่าแน่ชัดแล้วว่าอยากเปลี่ยนบ้านเก่าให้กลายเป็น Co-Working Space แต่คุณพุทกลับไม่แน่ใจว่าอยากให้ Co-Working Space แห่งนี้มีหน้าตาอย่างไร เขาจึงค่อยๆ คิดและค่อยๆ ปรับโดยมีอินทีเรียเป็นผู้ช่วย ผนวกกับความแน่วแน่ที่จะเก็บความทรงจำของสถานที่เอาไว้ คุณพุทจึงเลือกที่จะรีโนเวทบ้านโดยยังคงความดั้งเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด

“การตกแต่งมีอินทีเรียช่วย แต่ว่าหลักๆ นั้น Input มาจากตัวเราเอง ตอนที่ได้สถานที่มา ภาพเรายังไม่ชัดขนาดนั้นว่าเราจะทำอะไรแบบไหน เรามีแค่สถานที่ พอปรับแต่งไปเรื่อยๆ มันก็เริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ เราก็เปลี่ยนแบบหลายครั้งนะครับจนอินทีเรียน่าจะรำคาญพอสมควร (หัวเราะ) เราก็เห็นใจเขานะครับ แต่คือว่าด้วยความที่ที่แห่งนี้มันใกล้กับหัวใจเรามาก คือมันเป็นที่ที่เราอยู่ตั้งแต่เด็ก ตึกมันก็ 30 กว่าปี เราก็อยากทำให้ออกมาดีที่สุด ในงบประมาณที่เรามี

การรีโนเวทจะเน้นคงเดิมเยอะ แต่จะซ่อมอะไรที่เราเห็นว่าเป็น Health & Safety มากกว่า คือเคยไปอยู่ที่อังกฤษมาก่อน แล้วอังกฤษเป็นสุดยอดของการอนุรักษ์อยู่แล้ว สมมติดูภาพของสถานที่ที่หนึ่งเมื่อร้อยปีที่แล้วกับปัจจุบัน ภายนอกมันจะเหมือนกันเป๊ะเลย แต่พอเข้าไปข้างในก็จะปรับปรุงให้มันร่วมสมัย อะไรที่มันยังสวยอยู่เขาก็จะเก็บเอาไว้ ผมเลยได้อิทธิพลนี้มา ก็เลยจะรีโนเวทในแนวทางนั้นมากกว่าที่จะลบทิ้งทั้งหมด อะไรที่เป็นของเก่าที่ปู่ย่าสร้างไว้ จะให้เททับหมดเลยมันก็ไม่ใช่ เพราะเราเข้ามาเราก็เคารพสถานที่ระดับหนึ่งและมันก็เป็นสถานที่ที่ใกล้กับตัวเรามาก เป็นบ้านเราเอง เราก็เลยรีโนเวทแบบเน้นของเดิม คืออะไรที่พังเราก็ทำใหม่ แต่อะไรที่เราดูแล้วว่ามันยังโอเค มันยัง keep look ของมันอยู่ได้เราก็คงไว้”

นอกจากการรีโนเวทโดยพยายามคงของเดิมไว้มากที่สุดแล้ว คุณพุทยังชื่นชอบให้พื้นที่โล่งและโปร่งมากกว่าการปิดทึบ Co-Working แห่งนี้จึงเปิดโล่งตั้งแต่ชั้นหนึ่งด้วยการเชื่อมพื้นที่เข้ากับพื้นชั้นสองทำให้ Co-Working โปร่งโล่งยิ่งขึ้น โดยเลือกใช้สีขาวเพิ่มความสบายตาและเติมบรรยากาศอบอุ่นด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้ที่คุณพุทเลือกและ DIY ด้วยตัวเอง ส่วนชั้นสองซึ่งเปิดเป็นออฟฟิศให้เช่านั้น แม้จะต้องกั้นพื้นที่เพื่อความเป็นส่วนตัว แต่คุณพุทก็เลือกที่จะกั้นด้วยกระจกใส แต่ให้อิสระกับลูกค้าสามารถแต่งห้องได้เองตามใจชอบ โดยชั้นสองนี้คุณพุทเลือกที่จะรีโนเวทในสไตล์ลอฟต์ ไม่ว่าจะเป็นบันไดเหล็กสีดำกับผนังปูนเปลือยซึ่งเป็นของเดิมที่คงเอาไว้

“ไม่ใช่แค่ Co-Working Space แต่เป็น Creative Space มากกว่า เพราะผมอยากให้คนเข้ามาแล้วได้ไอเดียใหม่ๆ กลับไป”

จากคอนเซ็ปต์ Creative Space คุณพุทจึงเนรมิตให้ Co-Working แห่งนี้แตกต่างและโดดเด่นกว่าที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่วางอยู่ทั่วพื้นที่ให้เราได้หยิบไปอ่านฟรีๆ และมุมหนังสือ Z-Book ที่วางจำหน่ายและอัพเดตหนังสือใหม่ให้เราได้ช็อปเล่มที่ถูกใจ นอกจากนี้ยังมี Record Shop พื้นที่ของเสียงดนตรีให้เราได้หยิบมาฟัง โดยพื้นที่โซนนี้คุณพุทเล่าให้ฟังว่ามาจากความชื่นชอบแผ่นเสียงผนวกกับเมื่อ 3 ปีก่อนเคยเปิดร้านจำหน่ายแผ่นเสียง และเมื่อเปิด Co-Working แห่งนี้จึงนำแผ่นเสียงที่สะสมไว้มาวางจำหน่ายนั่นเอง

ภายใน Good Space แห่งนี้แบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน โดยแต่ละชั้นจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป “ตอนที่คุยกับอินทีเรียเรื่องคอนเซ็ปต์ ซึ่งก็คุยกันว่าชั้นหนึ่งอยากให้เป็นมูดเหมือนตอนเช้า ชั้นสองอยากเป็นมูดแบบ Afternoon แล้วก็ชั้นสามตอนแรกอยากทำห้อง Meeting ใหญ่ๆ ที่มีฟังก์ชั่นมีบาร์อยู่ข้างในก็จะเป็นกลางคืนหรือเย็นๆ ก็คือเป็น Evening ก็เลยพูดเล่นๆ ว่า ชั้นหนึ่งน่าจะเป็น Good Morning ชั้นสองเป็น Good Afternoon ชั้นสามเป็น Good Evening ก็เลยใช้ชื่อสถานที่ว่า Good Space”

เริ่มจากชั้นหนึ่ง Good Morning ซึ่งเป็นพื้นที่ Hot Desk สำหรับให้เราได้แชร์ไอเดียกับเพื่อนๆ หรือจะนั่งทำงานเงียบๆ คนเดียวก็ไม่ว่ากัน โดยราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 3 ชั่วโมง 200 บาทเท่านั้น แน่นอนว่ามี Wi-Fi ให้ใช้ฟรี โดยนอกจากเป็นพื้นที่นั่งทำงานบรรยากาศดีแล้ว พื้นที่ส่วนนี้ยังสามรถเนรมิตเป็นสถานที่เวิร์คช็อป สัมมนา หรือจัดมินิคอนเสิร์ตสไตล์ Sofa Sound ได้อีกด้วย

ส่วนชั้นสองที่เรียกว่า Good Afternoon นั้นเป็นออฟฟิศให้เช่า ซึ่งมีตั้งแต่ออฟฟิศขนาดเล็ก 2-3 คนไปจนถึงออฟฟิศขนาดกลาง 4-6 คน นอกจากนี้ยังมีห้อง Meeting Room ขนาด 8-10 ไว้บริการอีกด้วย และพื้นที่ Good Evening หรือชั้นสาม เป็น Function Room หรือห้องเปล่าที่มีห้องอาบน้ำในตัวเพื่อให้เราได้ทำกิจกรรมฟรีสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นห้องซ้อมเต้น เล่นโยคะ เซ็ตฉากเป็นสตูดิโอถ่ายภาพทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เป็นต้น

“เหมือนคนที่เข้ามาทำงานที่นี่เราก็เข้าใจว่าเป็นคนทำงานฟรีแลนด์ เราก็อยากให้เขาได้เปลี่ยนอิริยาบถบ้าง เดินไปเดินมาบ้าง ดูวิวบ้าง ออกมาทานกาแฟที่คาเฟ่แทนที่จะนั่งหลังตรงตลอดเวลา คืออยากให้คนที่มาใช้รู้สึกสบายๆ เหมือนทำงานในบรรยากาศที่ทำให้เราคิดออก ไม่ตัน ไม่ปิดตัวเอง เพราะจุดเด่นของที่นี่คือการได้มาแชร์กันจริงๆ เป็น Creative Space จริงๆ”

Address : พหลโยธิน 18/1 แยก 2 (ตรงข้ามช่อง 7)
GPS : 13.803714, 100.556299
Time : เวลา 9.00 – 20.00 น. หยุดวันอังคาร
Tel. : 095 804 4610
Facebook : www.facebook.com/goodspacebkk
E-Mail : goodspacebkk2016@gmail.com

Story : Taliw
Photo : Wara Suttiwan
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.