จากวัสดุมือสองสู่ Sharing Space ในชื่อ “Talent Co-working”

‘ขยะ’ ในสายตาคุณ แต่เป็นวัสดุมีค่าในสายตาเรา โดยเฉพาะเมื่อนำขยะเหล่านั้นมาใส่ไอเดียและความสร้างสรรค์จนกลายเป็นอาคารหนึ่งหลังที่มาพร้อมความโดดเด่นเรื่องดีไซน์ “TALENT CO-WORKING” พื้นที่ที่สามของคนทำงาน

หากมองเพียงผิวเผิน Co-working แห่งนี้ ก็ไม่แตกต่างจาก co-working แห่งอื่นๆ ที่มีมากมายในเมืองกรุง แต่หากมองให้ลึกถึงไอเดียและคอนเซ็ปต์ที่แฝงอยู่ ต้องบอกเลยว่า Talent Co-working แห่งนี้ มีความพิเศษกว่าใคร จนเราอดใจไม่ไหว ต้องชวนคุณผู้อ่านไปชม พร้อมทำความรู้จักกับพื้นที่ที่สามแห่งนี้กัน!

เริ่มจากคอนเซ็ปต์ของ Talent Co-working ที่ไม่ใช่เพียงสถานที่ให้เช่าทำงานเท่านั้น แต่ที่นี่ยังเป็นสถานที่แห่งการแบ่งปันโดยแท้จริง โดยมีคีย์คอนเซ็ปต์ว่า “Sharing Space” สถานที่ทำงานที่ทุกคนมาแชร์กัน ความโดดเด่นของที่นี่คือ สถาปัตยกรรมที่แตะตาทั้งภายในและภายนอก เริ่มจากตัวอาคารที่มีรูปลักษณ์ดึงดูดสายตาด้วยการดีไซน์สถาปัตยกรรมจากโครงสร้างเหล็กให้มีมิติ เมื่อขับรถผ่าน อาคารหลังนี้จะเสมือนลอยอยู่ นอกจากนี้ยังเพิ่มความโดดเด่นและความสนุกด้วยสไลเดอร์สีแดงสด ซึ่งสไลเดอร์นี้นอกจากจะกลายเป็นแลนด์มาร์กของที่นี่แล้ว ยังเป็นทางขึ้นลงจากชั้นสองสู่ชั้นล่างที่ใช้ได้จริงอีกด้วย

ส่วนภายในตกแต่งด้วยสไตล์อินดัสเทรียลลอฟต์สุดเท่ เพิ่มความคูลด้วยการเลือกใช้วัสดุมือสองหรือขยะเหลือใช้จากการจัดงานออแกไนเซอร์มาใช้ตกแต่งอาคารทั้งหลัง ตั้งแต่เหล็กที่นำมาเชื่อมต่อและใช้สร้างเป็นโครงสร้างอาคาร ไม้ที่นำมาต่อเป็นเฟอร์นิเจอร์อย่างโต๊ะทำงานตัวใหญ่ หรือจะเป็นเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ อย่างเก้าอี้ ชั้นวางของ และของตกแต่งล้วนแล้วแต่เป็นของเหลือใช้ทั้งสิ้น

อาคารของที่นี่เป็นอาคารที่สร้างให้มีมิติ โดยออกแบบเสมือนนำกล่องมาวางซ้อนกล่อง เมื่อขับรถผ่านไปมาจะเห็นอาคารเสมือนลอยอยู่

“ต้องบอกก่อนว่า วัสดุที่เราใช้เป็นวัสดุมือสองแทบทั้งหมด เราพยายามจะให้เห็นว่าข้อจำกัดที่เรามี อย่างเรื่องงบประมาณหรือของเหลือใช้ มันสามารถสร้างเป็นอาคารที่มีรูปลักษณ์โดดเด่นได้ คือบางคนคิดว่า ของเก่าเอามาทำอะไรมันก็ไม่สวย แต่ลองสังเกตว่าเราเอาดีไซน์มาใช้ในการออกแบบ ในการจัดพื้นที่ ก็สามารถสร้างอาคารหนึ่งหลังที่มีความโดดเด่นและใช้งานได้

ส่วนเฟอร์นิเจอร์ เราพยายามไม่ไปหาเฟอร์นิเจอร์ตามท้องตลาดที่มีรูปแบบเหมือนๆ กัน แต่พยายามออกแบบเอง โดยให้เฟอร์นิเจอร์มีเส้นสายที่ดูผ่อนคลาย มีอารมณ์ขัน เช่นโต๊ะที่เอาเหล็กมาขึ้นโครงเป็นโครงสร้างบ้าน มีคอนเซ็ปต์ให้ทุกคนเข้ามาทำงานในบ้านที่มีสเปซของตัวเอง และเฟอร์นิเจอร์เราทำเองเกือบหมด คือเราต้องการให้เห็นศักยภาพของออฟฟิศว่า เราเป็นออฟฟิศครีเอทีฟ เราสามารถทำอะไรได้เองเกือบหมด หัวหน้าเป็นวิศวกรก็คุมการก่อสร้างเอง อย่างเรื่องเฟอร์นิเจอร์ก็ช่วยดูกันเอง แล้วก็ให้ช่างของเราเองขึ้นโครงให้ ทั้งหมด 70-80% เป็นฝีมือของบริษัทเรา อาจจะมีพร็อพนิดหน่อยที่เราทำไม่ได้ เช่น โคมไฟ เราก็จะไปซื้อมา” – คำบอกเล่าจากคุณรุด – ณัฐศรุต มะแส สถาปนิกและดีไซเนอร์ ผู้ออกแบบอาคารแห่งนี้

พื้นที่นั่งเล่นชั้นล่างของ Talent Co-working โดดเด่นด้วยผนังสามมิติที่ใช้ของมือสองมาพ่นสี แล้วนำมาจัดวางอย่างลงตัว จนกลายเป็นวอลเปเปอร์สามมิติแสนเก๋

Talent Co-working เป็นเพียงพื้นที่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แท้จริงแล้วพื้นที่แห่งนี้คือ บริษัท Talent ซึ่งรับจัดออแกไนเซอร์ โดยภายในประกอบไปด้วยออฟฟิศ, โรงงาน และพื้นที่ co-working นั่นเอง พื้นที่ทั้งหมดหลอมหลวมเป็นพื้นที่ภายใต้รั้วเดียวกัน มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การแยกห้องทุกห้องออกจากกัน โดยสร้างพื้นที่ส่วนกลางขึ้น เมื่อคุณออกจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่งก็จะเจอพื้นที่นี้ก่อน ซึ่งพื้นที่ส่วนกลางนี้เปรียบเสมือน Sharing Space เป็นพื้นที่ที่ให้คุณมาแชร์ไอเดีย มาทักทาย หรือส่งรอยยิ้มให้กันตามคอนเซ็ปต์ของที่นี่นั่นเอง

“เราจะมีพื้นที่หลากหลายรูปแบบ คือเขาเข้ามาใช้งานครั้งหนึ่ง เขาไม่ต้องมานั่งที่โต๊ะของเขาเอง หรือมาประชุมในห้องเท่านั้น เราพยายามให้มีที่นั่งตรงโน้นตรงนี้ เป็นพื้นที่หลายระดับหลายแบบ เมื่อเขาเข้ามาที่นี่ เขาอยู่ได้ทั้งวันจริงๆ ไม่ได้แบบคิดงานไม่ได้ก็ต้องออกไปที่อื่น เราสามารถมานั่งข้างนอกได้ มาอยู่ใต้ต้นไม้ เราพยายามตอบโจทย์ working space และเหมือนเป็น Third Place เป็นพื้นที่ที่สามของเขาจริงๆ”

ห้องประชุมของที่นี่ มีด้วยกัน 3 ห้อง โดยมีห้องขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ครบครันด้วยอุปกรณ์ โดยเฉพาะห้องประชุมใหญ่ที่จุคนได้มากถึง 20 คน

เริ่มจากชั้นหนึ่งของอาคารเป็นพื้นที่ห้องประชุม มีพื้นที่นั่งเล่นทั้งแบบ indoor ที่โดดเด่นด้วยผนังที่ตกแต่งด้วยของมือสองจนกลายเป็นวอลเปเปอร์สามมิติเก๋ไก๋ไม่ซ้ำใคร ส่วนพื้นที่นั่งเล่น outdoor เป็นโต๊ะไม้ตัวใหญ่ที่ใช้เศษไม้มาประกอบจนได้ท็อปโต๊ะแสนเก๋ ที่แห่งนี้ยังตอบรับวิถีชีวิตของคนมุสลิมด้วยการเพิ่ม Prayer Room หรือที่เรารู้จักกันว่าห้องละหมาดอีกด้วย

ส่วนพื้นที่ชั้นสองนั้น แบ่งออกเป็นสองส่วน ฝั่งซ้ายเป็นพื้นที่ Co-working ที่ให้คุณได้เข้าไปใช้งาน โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบครัน ส่วนฝั่งขวานั้นเป็นออฟฟิศของบริษัท Talent โดยแบ่งพื้นที่ด้วยพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งเปรียบเสมือนพื้นที่นั่งเล่นและพักผ่อนที่ให้เหล่าคนทำงานได้มาพบปะ พูดคุยกัน นอกจากนี้ที่นี่ยังดึงธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตด้วยต้นไม้ต้นใหญ่ที่ปลูกอยู่กลางอาคาร และเมื่อมองไปทางด้านหลังจะเห็นโรงงานที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์และพร็อพต่างๆ ของบริษัท เป็นการเปิดเปลือยให้เห็นการทำงานของที่นี่ เพื่อให้คุณเกิดไอเดียหรือแรงบันดาลใจใหม่ๆ พร้อมเปิดกว้างให้คุณเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดการทำงานกับทางบริษัทอีกด้วย

พื้นที่ส่วนกลางบนชั้นสอง แบ่งพื้นที่ออฟฟิศและ co-working ได้อย่างชัดเจน พร้อมจัดวางเก้าอี้นั่งสบายให้คุณได้ผ่อนคลายจากงานหนักๆ และยังเป็นพื้นที่พบปะ และเปลี่ยนไอเดียกันอีกด้วย

ส่วนการแชร์พื้นที่ทำงานที่หลายคนอาจสงสัยว่า ออฟฟิศที่ให้คนนอกเข้ามาพลุกพล่านได้นั้น จะไม่เป็นการรบกวนสมาธิของพนักงานกันหรือ? แต่สำหรับที่นี่แล้ว การมีคนมากมายเข้าออกกลับเป็นข้อดี เพราะทำให้พนักงานได้พบปะผู้คนหลากหลายและกลายเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน

“ตอนแรกก็เป็นประเด็นเหมือนกันว่า ถ้าเรามาเปิดเป็น co-working มีคนเข้ามาใช้งานจะเป็นยังไง จะรบกวนสมาธิกันไหม แต่ไปๆ มาๆ ก็คือว่า เราค่อนข้างเด็ดขาดในการแยกพื้นที่อย่างชัดเจน การรบกวนหรือการเจอกันจะเป็นแค่ช่วงระหว่างทางเท่านั้น อย่างเช่นการเดินทางมาถึง การเข้าออกห้องน้ำ แต่เวลาทำงานจริงเราไม่ได้มาเจอกัน คนที่มาใช้งาน co-working ไม่ได้เข้ามาทำงานในห้องที่เราทำอยู่ แล้วพอช่วงไหนที่เราไม่ได้ทำงาน อย่างช่วงเวลาพักผ่อน เรายังได้เจอคนใหม่ๆ ทุกวันด้วย”

สโลแกนของบริษัท Talent ที่ให้ความใส่ใจกับการ “ให้” ทั้งการคืนกำไรสู่สังคมและการแบ่งปันพื้นที่

อีกหนึ่งความคูลที่ต้องบอกต่อของที่นี่ คือสโลแกนของบริษัทที่ว่า “ให้ คือ การรับที่ไม่สิ้นสุด” โดยเฉพาะเมื่อบริษัทได้กำไรจากการทำงาน จะปันผลกำไร 50% คืนสู่สังคมในรูปของการบริจาค นอกจากนี้ที่นี่ยังเปิดพื้นที่ให้จัดกิจกรรมเพื่อสังคมกันแบบฟรีๆ อีกด้วย

“เราอยากจะแชร์พื้นที่ที่เรามีให้เป็นสาธารณะประโยชน์ อย่างองค์กรที่มาจัดงานเพื่อสาธารณะประโยชน์หรือเขาจัดงานกิจกรรมเพื่อบริจาค เข้ามาคุยกันว่างานตรงกับคอนเซ็ปต์ของเราไหม แล้วเราก็จะให้เขาใช้พื้นที่ของเราจัดงานแบบฟรีๆ คือเราพร้อมสนับสนุนพื้นที่ ซึ่งก็ตรงตามคอนเซ็ปต์ของเราคือ sharing space”

ส่วนค่าบริการสำหรับการเข้าใช้งาน co-working นั้น มีค่าบริการทั้งรายชั่วโมง รายวัน สัปดาห์ หรือจะสมัครสมาชิกเป็นรายเดือนก็ได้ โดยค่าบริการเริ่มต้นที่ชั่วโมงละ 70 บาท แต่หากคุณผู้อ่านจะนั่งทำงานทั้งวัน ที่นี่ก็คิดค่าบริการวันละ 150 บาทหรือจะใช้งานหนึ่งสัปดาห์ ค่าบริการจะอยู่ที่ 950 บาท ส่วนสมัครสมาชิกมีตั้งแต่รายเดือน เดือนละ 3,000 บาท หรือจะเป็นรายปี คิดค่าบริการ 30,660 บาทนั่นเอง

 

Address : 183 ซอยกรุงเทพกรีฑา7 ถนนกรุงเทพกรีฑา แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240
GPS : 13.753654, 100.653931
Time : เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 09.00 – 22.00 น.
Phone : 02-101-2232 และ 063-2698259
Web : www.talentspacebkk.com
Facebook : www.facebook.com/talentcoworking
E-mail : connect@talentco-working.com

 

ภาพรวมของสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นด้วยรูปทรงกล่องที่วางซ้อนกันจนมีมิติ โดยมีสไลเดอร์สีแดงตัดกับความเข้มครึมของโครงสร้างเหล็ก ช่วยเพิ่มสีสันและความสนุกให้ที่นี่ จนกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของ Talent Co-working ชั้นสองมีรูปลักษณ์ทรงกล่องที่ยื่นออกมา เมื่อขับรถผ่านไปมา จะเห็นเป็นอาคารลอยได้อาคารแห่งนี้ยังดึงธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตด้วยการปลูกต้นไม้ไว้กลางอาคาร บรรยากาศในพื้นที่ co-working มีโต๊ะไม้มีโครงเหล็กรูปบ้านสีขาวสร้างความโดดเด่นให้กับที่นี่อีกหนึ่งมุมในพื้นที่ co-working โดยเมื่อมองไปทางด้านหลังจะเห็นโรงงานของบริษัทตัวอาคารออกแบบในสไตล์อินดัสเทรียลลอฟต์ ตัวอาคารจะใช้เหล็กเป็นวัสดุหลักในการสร้าง บรรยากาศภายในพื้นที่ co-working เน้นบรรยากาศโปร่งโล่งและผ่อนคลายด้วยแสงธรราติ ทำให้ห้องดูสว่างไสวน่านั่งพื้นที่ส่วนกลางของชั้นสองที่แยกพื้นที่ co-working กับออฟฟิศออกจากกัน เหล็ก เป็นอีกหนึ่งวัสดุมือสองที่ทีมงานนำมาใช้ในการออกแบบและก่อสร้าง ห้องทำงานของเหล่าดีไซเนอร์ที่ใช้ของมือสองมาตกแต่ง นอกจากนี้ในวันหยุด ห้องนี้ยังเปิดบริการให้คนภายนอกเข้ามาใช้ได้อีกด้วยอาคารของที่นี่ เน้นความโปร่งและใช้แสงธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ดังนั้นจึงเลือกใช้กระจกและเหล็กมาใช้แทนผนังทึบสไลเดอร์สีแดงที่ทอดตัวจากชั้นสองสู่ชั้นล่าง ปลูกต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่นไว้เคียงข้าง และยังเป็นทางลงที่ใช้ได้จริง คุณรุด – ณัฐศรุต มะแส สถาปนิกและดีไซเนอร์ ผู้ออกแบบอาคารแห่งนี้
Story : Taliw
Photographer : Wara
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.