เตรียมตัวไว้ให้ดี Panda 1600 ตัว กำลังจะมาบุกไทย

“1600 Pandas+ World Tour in Thailand” เป็นการจับมือร่วมกันระหว่าง กองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและกรุงเทพมหานคร ในการนำเสนอปรากฏการณ์งานศิลปะเชิงอนุรักษ์ระดับโลกสุดยิ่งใหญ่ครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “For the world we live in and the ones we love”

โดยจุดเริ่มต้นของ “1600 Pandas+ World Tour” นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2551 โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และศิลปินชาวฝรั่งเศส เปาโล กรองจีออง ผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะแพนด้าน้อยที่ประดิษฐ์ขึ้นจากงานศิลปะแบบเปเปอร์มาเช่ ด้วยกระดาษรีไซเคิล โดยเริ่มแรกเขาได้ผลิต Panda ขึ้นมาทั้งหมด 1600 ตัว ซึ่งเทียบเท่ากับจำนวนของ Panda ที่ยังหลงเหลืออยู่ทั่วโลกในขณะนั้น และได้นำแพนด้าเหล่านี้ เดินทางไปจัดแสดงในประเทศต่างๆ เช่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ไต้หวัน และอื่นๆอีกกว่า 100 แห่ง เพื่อเป็นการตอกย้ำความสำคัญของการอนุรักษ์สัตว์ป่าและสิ่งวอดล้อมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

Credit to Amherst Inc

ไม่เพียงเฉพาะแต่ Panda เท่านั้น “1600 Pandas+ World Tour in Thailand” ยังเป็นกระบอกเสียงในการอนุรักษ์สัตว์ป่าที่อยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เช่น ช้างป่าไทยและเสือโคร่ง โดยเป็นกระบอกเสียงที่ดีที่ช่วยสร้างความรับรู้และเข้าใจรวมไปถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับกิจกรรมที่ WWF ได้ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น โครงการรณรงค์การค้างาช้าง โครงการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง โครงการอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี เป็นต้น

Credit to Amherst Inc

สำหรับ “1600 Pandas+ World Tour in Thailand” จะเริ่มจัดแสดงผลงานตามจุดสำคัญต่างๆของกรุงเทพมหานคร โดยเริ่มจาก ท้องสนามหลวงในวันที่ 4 มีนาคมเป็นต้นไป จากนั้นก็จะตระเวนไปยังสถานที่ต่างๆ ได้แก่ ลานกิจกรรม BTS ช่องนนทรี , หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร , ป้อมพระสุเมรุ , เสาชิงช้า และสวนลุมพินี เป็นต้น อีกทั้งยังมีนิทรรศการ “1600 Pandas+ World Tour in Thailand : For the world we live in and the ones we love” ที่จะนำมาจัดแสดงให้ชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค. จนถึง 10 เม.ย. บริเวณชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี

ชาว Favforward ที่สนใจเข้าไปดูรายละเอียดกันได้ที่ www.facebook.com/1600pandasplusth เลยครับ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.