แม้ไม่ใช่วันหยุดยาวและมีเงินในกระเป๋าตำกัดก็สามารถออกไปท่องโลกกว้างได้ กับ Travel on budget ทริปเที่ยวใกล้ตัวที่ใช้เวลาเพียง 1 วันกับเงินไม่ถึง 500 บาท โดยวันนี้เราปักหมุดกันที่ “กุฎีจีน” หรือ “กะดีจีน” ชุมชนเก่าริมน้ำเจ้าพระยาที่ยังคงวิถีคลาสสิกรอให้เราไปเสพย์ ที่สำคัญชุมชนแห่งนี้มีเส้นทางไม่ซับซ้อน จึงเดินทางง่าย ไม่ต้องกลัวหลง!!
ปล. สำหรับชุมชมกุฎีจีนยังเป็นหนึ่งเส้นทางท่องเที่ยวของนักเดินทาง โดยมีเส้นทางปั่นจักรยานริมแม่น้ำเจ้าพระยา หากเบื่อที่จะเดิน สามารถชวนแก๊งเพื่อนไปปั่นจักรยานรับลมยามเย็นได้เช่นกัน
Did you know: ชุมชนกุฎีจีน เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติมายาวนาน ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี โดยชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนของชาวไทยเชื่อสายโปรตุเกสที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310
นอกจากนี้ย่านนี้ได้ชื่อว่า เป็นย่านที่ประกอบด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยมีวาทะกรรมว่า “สามศาสนา สี่ความเชื่อ” คำว่า กุฎี / กุฏิ / กะดี มีรากศัพท์และความหมายว่า ‘กระท่อมที่อยู่ของนักบวช’ หรือที่ถูกนำไปใช้ในบริบทของชาวมุสลิม ‘กะดี’ ยังแปลว่าโรงพิธีในศาสนาอิสลาม
– อ้างอิงจาก http://uddc.net/th/knowledge/ทำความรู้จัก-‘ย่านกะดีจีน’-6-ชุมชนฝั่งกรุงธน-ก่อนกรุงเทพฯ#.W2PcZFUzbIU
สำหรับทริปนี้ เราเริ่มออกสตาร์ทกันที่ท่าเรือวัดกัลยาณมิตร ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นจุดรวมพลที่สะดวกทั้งกับเพื่อนที่ต้องเดินทางมาจากย่านอื่น โดยสามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ลงสถานีตากสิน และต่อรถด่วนเจ้าพระยามาลงท่าเตียน ก่อนจะนั่งเรือข้ามฟากมายังท่าเรือกัลยาณมิตร สำหรับเส้นทางนี้จะค่อนข้างประหยัด หรือจะนั่งแท็กซี่ก็ได้เช่นกัน
จากท่าเรือกัลยาณมิตรให้เดินเลาะริมน้ำเจ้าพระยาไปตามทาง จะพบกับ “ศาลเจ้าเกียนอันเกง” ศาลเจ้าจีนฮกเกี้ยนที่มีอายุมากกว่าร้อยปี เป็นศาลเจ้าที่เรียกได้ว่าเก่าแก่ที่สุดของย่านฝั่งธนบุรีก็ว่าได้
ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมจีนโบราณที่มีความล้ำค่าและศรัทธาของชาวชุมชน ทำให้ศาลเจ้าเกียนอันเกงยังคงเป็นสถานที่พักพิงของชุมชน ขณะเดียวกันก็กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่ให้เราและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้แวะไปสักการะและเยี่ยมชมความงดงามที่ยังคงอยู่
ศาลเจ้าเกียนอันเกงสร้างขึ้นโดยชาวจีนที่ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในช่วงที่ตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี แต่เดิมศาลเจ้าแห่งนี้มีด้วยกัน 2 หลัง ซึ่งประดิษฐานเจ้าพ่อโจวซือกงและเจ้าพ่อกวนอู แต่ด้วยระยะเวลาที่ผ่านทำให้ศาลเจ้าทรุดโทรมลง จนในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์มีการรื้อศาลเดิมและสร้างขึ้นใหม่ กลายเป็นศาลเดียวอย่างในปัจจุบัน
เมื่อเดินเลาะเลียบจากศาลเจ้าเกียนอันเกงมาเรื่อยๆ ระหว่างทางจะพบกับบ้านไม้โบราณที่แม้จะทรุดโทรม แต่ยังคงเคล้าความงดงามในอดีต บ้านโบราณหลังนี้เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความคลาสสิกและความเก่าแก่ของชุมชนแห่งนี้ ดังนั้นเมื่อไปเยือนและพบเจอบ้านหลังนี้ เราจึงอดไม่ได้ที่จะเก็บภาพมาให้ชม
ไม่ไกลจากบ้านโบราณเราจะพบกับสถานที่ที่เปรียบเสมือนศูนย์กลางของชุมชน “โบสถ์ซางตาครู้ส” หรือ “วัดกุฎีจีน” เป็นโบสถ์คริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิกและเรเนอซองซ์ ซึ่งมีจุดเด่นที่โดมแบบอิตาลี ชวนให้คิดถึงมหาวิหารฟลอเรนซ์ ขณะที่ภายในโบสถ์ก็คงความงดงามและศักดิ์สิทธิ์ สำหรับโบสถ์ซางตาครู้ส แต่เดิมเป็นวัดหลังแรกที่สร้างด้วยไม้ ก่อนจะเกิดเหตุเพลิงไหม้ และจึงก่อสร้างใหม่
ที่โบสถ์ซางตาครู้สเปิดให้เข้าในวันอาทิตย์เหมือนโบสถ์ทั่วไป ดังนั้นการไปเยือนในวันธรรมดาจึงได้เพียงเก็บภาพความงดงามจากภายนอกมาฝากเท่านั้น ขณะที่ข้างๆ โบสถ์ยังมีร้านนั่งเล่นเล็กๆ ที่จำหน่ายขนมหวานและเครื่องดื่มเล็กๆ น้อยๆ ให้เราได้นั่งพักและชื่นชมความงดงามของโบสถ์ เพียงแต่ในวันที่เราไปเยือน ร้านปิดทำการ 1 วัน
อีกหนึ่งความสนุกของการไปเยือนชุมชนกุฎีจีน คือการได้เดินลัดเลาะตามตรอกซอกซอยของชุมชน ซึ่งระหว่างทางเราจะได้สัมผัสโมเม้นน่ารักต่างๆ จากคนในชุมชน รวมทั้ง Street Art ภายในซอยกุฎีจีน 9 ที่บอกเล่าวิถีดั้งเดิมของชาวชุมชนกุฎีจีนในรูปแบบวินเทจ โดยเฉพาะประโยคที่เขียนไว้ว่า “เศรษฐกิจดี วิถีอย่าเปลี่ยน” ที่บ่งบอกอะไรเราได้หลายๆ อย่าง
ก่อนที่จะเดินทางไปถึงเราจะพบกับ “ร้านขนมฝรั่งป้าเล็ก” ร้านเล็กๆ ที่ใช้หน้าบ้านเป็นหน้าร้าน แม้จะตั้งชื่อว่าร้านขนมฝรั่ง แต่ที่นี่กลับเด่นด้วย “ก๋วยตัสสับปะรด” หรือพายสับปะรดที่ทอดสดใหม่ โดยร้านนี้เป็นอีกหนึ่งบ้านที่สืบทอดขนมฝรั่งและขนมโบราณสัญชาติโปรตุเกสมายาวนานกว่า 3 รุ่น
หมุดหมายต่อไปของเราคือ “พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน” พื้นที่บอกเล่าเรื่องราวของกุฎีจีนนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ใครที่อยากทำความรู้จักกับชุมชนเก่าแก่แห่งนี้อย่างลึกซึ้ง แนะนำให้แวะมาที่นี่ หรือจะเพียงแค่แวะมาดื่มน้ำทานขนมก็ไม่ว่ากัน เพราะด้านล่างพิพิธภัณฑ์เปิดพื้นที่เป็นร้านกาแฟเล็กๆ บรรยากาศในสวน ส่วนตัวพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงของใช้นั้นอยู่บนชั้น 2 ของบ้าน
สำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เปลี่ยนบ้านโบราณหลังใหญ่ในซอยกุฎีจีน 3 พร้อมนำของสะสมตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ย่ามาจัดแสดง ตั้งแต่เมนูอาหารดั้งเดิมของชาวโปรตุเกสที่ทางพิพิธภัณฑ์ยังคงเสิร์ฟให้ลองทาน อย่าง “Sappayak Bun” 50 บาท/คู่) เมนูหมูสับที่ปรุงรสด้วยเครื่องเทศ เดิมเมนูนี้เป็นเมนูที่ทานคู่กับข้าว แต่ทางพิพิธภัณฑ์นำมาประยุกต์ให้ทานง่ายๆ ด้วยขนมปังแทน
นอกจากนี้ยังมี “Stick Waffle” (30 บาท) วาฟเฟิลอบใหม่ๆ ราดด้วยซอสช็อกโกแลตเป็นของว่างรอท้องให้ได้ลิ้มลอง ส่วนเครื่องดื่มนั้นเป็นเมนูคลาสสิกที่เราคุ้นเคย อย่าง “Lemon Tea” (55 บาท) ชามะนาวที่ให้รสหวานซ่อนเปรี้ยวช่วยดับร้อน หรือจะสั่งเมนูง่ายๆ ที่คุ้นเคยอย่าง “Ice Americano” (50 บาท) ก็ไม่ว่ากัน
เรียกได้ว่าหากไม่ได้กินคือมาไม่ถึงชุมชนกุฎีจีน สำหรับ “ขนมฝรั่งกุฎีจีน” ซึ่งเป็นขนมโบราณขนานแท้ โดยได้รับอิทธิพลมาจากขนมโปรตุเกสเช่นเดียวกันกับขนมไทยอื่นๆ
เมื่อเดินเลยจากพิพิธภัณฑ์ไปตามซอยจะพบกับร้านขนมฝรั่งธนูสิงห์ ซึ่งเป็นบ้านเป็นร้านกาแฟเล็กๆ ที่เสิร์ฟขนมฝรั่งกุฎีจีนให้เราได้ลิ้มลอง พร้อมเครื่องดื่มง่ายๆ มาทานคู่กัน โดยจัดโต๊ะเล็กๆ ภายในบ้าน ให้บรรยากาศเสมือนแวะทานขนมบ้านเพื่อน โดยขนมฝรั่งกุฎีจีนของที่นี่ขายชิ้นละ 15 บาทเท่านั้น
ในอดีตทุกบ้านล้วนทำขนมฝรั่งกุฎีจีนมารับประทานเป็นของว่างและจำหน่ายอย่างแพร่หลาย แต่ปัจจุบันการทำขนมชนิดนี้ลดน้อยลง จนเหลือเพียงไม่กี่บ้านที่ยังทำ แถมยังเป็นทำเพื่อจำหน่ายเป็นครั้งคราว ไม่ได้ทำทุกวันเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว ดังนั้นการจะได้เห็นการอบขนมแบบดั้งเดิมจึงค่อนข้างเป็นเรื่องยาก
เพราะเราอยากชมการทำขนมฝรั่งกุฎีจีนมาก คนในชุมชนจึงแนะนำให้เราแวะมาที่ “ร้านขนมฝรั่งหลานแม่เป้า” ซึ่งตั้งอยู่ข้างโบสถ์ซางตาครู้ส โดยบ้านหลังนี้ยังคงทำขนมฝรั่งกุฎีจีนแบบดั้งเดิมและทุกวันอยู่ เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่าการทำขนมฝรั่งกุฎีจีนเริ่มลดลงและไม่ได้ทำทุกวันเหมือนอดีต ดังนั้นจึงไม่ง่ายที่จะได้ชมการอบขนมโบราณด้วยวิธีดั้งเดิม
สำหรับขนมฝรั่งกุฎีจีนใช้วัตถุดิบ 3 อย่าง คือแป้งสาลี, ไข่เป็ด และน้ำตาลทราย นำมาตีให้ส่วนผสมเข้ากันจนขึ้นฟูและเทลงแม่พิมพ์ จากนั้นโรยด้วยลูกเกด, ลูกพลับอบแห้ง, ฟักเชื่อม และน้ำตาลทราย ซึ่งการใส่ท็อปปิ้งเหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากขนมของจีน
ส่วนวิธีการอบจะใส่แม่พิมพ์ที่เต็มไปด้วยส่วนผสมลงในเตารูปทรงกระบอกขนาดใหญ่ ซึ่งพื้นเตารองด้วยหินร้อน (โดยเปิดไฟอยู่ด้านล่าง) เมื่อทำการอบจะนำกระบะเหล็กมารองปิดไว้ด้านบน พร้อมโรยถ่านร้อนๆ ลงไป เพื่อให้ความร้อนอบหน้าขนมให้สุกและมีสีน้ำตาลสวยงาม การบขนมในแต่ละครั้งจะใช้เวลาไม่นาน แต่ความยากของขนมนี้อยู่ที่การควบคุมอุณหภูมิให้พอเหมาะ จึงจะได้ขนมที่สุกกำลังดี ไม่ดิบและไม่ไหม้นั่นเอง
จบทริปกันด้วยการไปเยือน “บ้านหมูกระดาษ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภูมิปัญญาที่สืบต่อมายาวนาน โดยหมูกระดาษที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือกระปุกออมสินรูปหมูสีแดง แต่รู้หรือไม่ว่าของเล่นจากกระดาษนี้ได้สืบทอดมานานกว่า 100 ปีเลยทีเดียว
สำหรับบ้านหมูกระดาษป้าน้อยแห่งนี้ เริ่มต้นมาจากคุณพ่อที่เติบโตมาในชุมชนวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร และเป็นผู้ริเริ่มประดิษฐ์หมูกระดาษตัวแรก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของหมูวัดประยูรฯ ที่เคยอยู่ในพื้นที่นี้ ส่วนป้าน้อยก็เป็นผู้สืบสานภูมิปัญญานี้ต่อมา
แต่เดิมหมูกระดาษจะมีหน้าตาเหมือนหมูจริงๆ คือจมูกยาว ตัวผอม และตาเล็กเรียว ต่อมาป้าน้อยก็นำมาดัดแปลงให้น่ารักดูทันสมัยขึ้น พร้อมแต่งแต้มสีสันให้สดใสขึ้น โดยหมูกระดาษทุกตัวที่ออกสู่ตลาดล้วนต้องผ่านมือป้าน้อย ตั้งแต่ขั้นตอนการปั้นไปจนถึงการจับพู่กันตกแต่ง
หมูกระดาษไม่เพียงแต่เป็นภูมิปัญญาที่ป้าน้อยอยากสืบทอดต่อไปเท่านั้น แต่หมูกระดาษยังเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการประหยัดอดออม ทั้งในรูปแบบกระปุกออมสินและการนำของเหลือทิ้งมารีไซเคิลให้เกิดประโยชน์ และเพราะบ้านหมูกระดาษแห่งนี้อยู่ในชุมชนวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ดังนั้นการเดินทางจึงต้องผ่านวัดประยูรฯ หากใครจะแวะสักการะไหว้พระขอพรก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการจบทริปเที่ยว 1 วันแบบสวยๆ
Photographer: Wara Wuttiwan
Videographer: Sroisuwan.T
Writer & Creator: Taliw