Travel on Budget : ตะลุยชมสถาปัตยกรรมคลาสสิกจาก ‘วัดพระแก้ว’ จรด ‘เสาชิงช้า’

Travel on Budget
ตะลุยชมสถาปัตยกรรมคลาสสิก
จาก ‘วัดพระแก้ว’ จรด ‘เสาชิงช้า’

กลับมาอีกครั้งกับทริป Travel on Budget ที่แม้จะมีเงินในกระเป๋าไม่มาก แต่มากด้วยประสบการณ์จากการเดินทาง ซึ่งคราวนี้เรายังคงอยู่ในย่านพระนคร เพียงแต่เลือกปักหมุดกันที่ “วัดพระแก้ว” จรด “เสาชิงช้า” โดยจะเลาะเลียบถนนกัลยาณไมตรี ผ่านถนนบำรุง และจบที่ถนนดินสอ …ตามไปดูกันเลยว่าเส้นทางนี้เราจะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์กันบ้าง


เริ่มต้นเส้นทางกันที่ “วัดพระแก้ว”

ถ้าถามถึงเหตุผลที่เราเลือกจุดสตาร์ทเป็น “วัดพระแก้ว” คำตอบเดียวที่เรามีให้คงเป็นเพราะความงามที่ทรงคุณค่าทั้งทางด้านสถาปัตยกรรมและทางจิตใจ หากนับเป็นตัวเลขคงต้องย้อนกลับไปยังปี พ.ศ. 2325 เมื่อบวกลบแล้ว วัดพระแก้วมีอายุ 236 ปี แน่นอนว่าวัดพระแก้วยังเป็นสถานที่ที่มีคุณค่าทางจิตใจของชาวไทย อีกทั้งวัดพระแก้วยังเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ ดังนั้นเราในฐานะชาวไทยจึงอยากลองเข้าไปสัมผัสและซึมซับคุณค่าของวัดพระแก้วสักครั้ง

เพียงแค่กำแพงชั้นนอกสีขาวสะอาดตาของวัดพระแก้ว ที่หากเงยหน้ามองจะเห็นยอดพระอุโบสถโดดเด่น ขณะเดียวกันกำแพงสีขาวยังทำหน้าที่เป็นฉากหลังที่เสริมให้วิถีไทยๆ อย่างรถตุ๊กๆ เด่นสะดุดตา กลายเป็นภาพถ่ายสตรีทที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร

กระซิบอีกนิดว่า จุดสตาร์ทที่เรานัดพบแก๊งเพื่อนคือวัดพระแก้วฝั่งศาลหลักเมือง ซึ่งหากนัดกันทิศนี้จะสามารถเดินตามเส้นทางที่เราวางไว้ได้เลย


สถาปัตยกรรมโอคลาสิคแบบนีโอปัลลาเดียนสีเหลืองละมุน ณ “กระทรวงกลาโหม”

อีกหนึ่งแลนด์มาร์คที่สายช่างภาพต้องแวะมาเก็บความทรงจำผ่านเลนส์กล้องคือ อาคารสีเหลืองละมุนกับสถาปัตยกรรมโอคลาสิคแบบนีโอปัลลาเดียน ซึ่งอาคารหลังนี้คือที่ตั้งของกระทรวงกลาโหม ด้านหน้าจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ปืนใหญ่โบราณ ซึ่งเป็นผลงานสุดคลาสสิกของมนุษย์ชาติ

แต่จุดที่ได้รับความนิยมคือกำแพงข้างๆ ที่อยู่ติดกับถนนกัลยาณไมตรี ยิ่งวันใดที่ถนนโล่งปราศจากรถรา แลนด์มาร์คจุดนี้จะกลายเป็นอีกหนึ่งมุมบังคับที่ต้องถ่ายภาพสตรีทสุดชิคให้ได้ โดยตลอดสองข้างทางของถนนกัลยาณไมตรีสายนี้ ยังอุดมด้วยสถาปัตยกรรมคลาสสิกอีกมากมาย อาทิ ฝั่งตรงข้ามกระทรวงกลาโหมคือสถานที่ตั้งของกรมแผนที่ที่สะดุดตาด้วยสถาปัตยกรรมคลาสสิกในโทนสีส้มอิฐ เป็นต้น


สุดปลายถนนคือ “สะพานช้างโรงสี” กับมุมมองสตรีทที่เก๋จนไม่น่าเชื่อ

เมื่อเราเดินมาเรื่อยๆ จะพบกับแยกสะพานช้างโรงสีที่ทำหน้าที่พาผู้คนข้ามคลองคูเมืองเดิม และยังเป็นจุดเริ่มต้นของถนนบำรุงเมืองอีกด้วย

สะพานแห่งนี้ก่อสร้างมาหลายศตวรรษ เสน่ห์ของความคลาสสิกจึงยังมุดหมายให้เราแวะมา ผนวกกับคลองรอบเมืองที่สองข้างทางร่มรื่นด้วยต้นไม้สีเขียว ยิ่งขับให้ภาพที่ผู้คนเดินผ่านไปมามีเสน่ห์ จนกลายเป็นอีกมุมที่เราปักหมุดไว้ว่าต้องเก็บภาพมาฝากให้ได้

สะพานช้างโรงสีถูกสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้กองทัพช้างศึกที่กลับมาจากการทำสงครามเดินข้าม เพื่อเข้าเขตราชธานี และในอดีตบริเวณนี้ยังเป็นที่ตั้งของโรงสีข้าวของฉางหลวงแห่งพระนคร ทำให้ผู้คนในสมัยนั้นเรียกสะพานแห่งนี้ด้วยชื่อที่ติดปากว่าสะพานช้างโรงสีนั้นเอง แถมสะพานแห่งนี้ยังเป็นสถานที่แห่งเดียวที่ยังใช้ชื่อเดิมมาจนถึงปัจจุบัน


เลาะเลียบถนนบำรุงเมือง บังเอิญพบย่าน “แพร่งภูธร”

เมื่อถ่ายรูปหนำใจกันแล้ว เราก็ออกเดินทางกันต่อ โดยข้ามถนนมุ่งสู่ถนนบำรุงเมือง แน่นอนว่าระหว่างทางของย่านนี้ยังคงเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมคลาสสิกอีกมากมายที่ชวนให้เราตื่นตาและชื่นชม

เมื่อเดินไปเรื่อยๆ จะพบกับซอยเล็กๆ ที่เราบังเอิญเดินเข้าไปสำรวจ จึงพบว่าพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยโซนอาคารคลาสสิกสีเขียวสะดุดตา โดยย่านนี้มีชื่อเรียกว่า “แพร่งภูธร”

เมื่อเราค้นลึกไปถึงเรื่องราวของแพร่งภูธรจึงได้รู้ว่า เดิมพื้นที่โซนนี้เป็นที่ประทับของต้นราชสกุลไพฑูรย์ จึงไม่แปลกใจหากพื้นที่ย่านนี้จะเต็มไปด้วยบ้านเรือนทรงโบราณที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทยเข้ากับยุโรป ซึ่งให้ความรู้สึกแตกต่างจากสถาปัตยกรรมคลาสสิกหลังใหญ่อย่างกระทรวงกลาโหมอยู่สักหน่อย นอกจากนี้ย่านนี้ยังเป็นหนึ่งใน 3 แพร่งที่เรียกได้เป็นย่านการค้าที่เคยเจริญรุ่งเรืองในสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 อีกด้วย

ที่สำคัญนอกจากความงามที่ถูกซ่อนเอาไว้ แพร่งภูธรในปัจจุบันยังเป็นย่านที่อุดมด้วย ‘ร้านอาหารอร่อย’ หลากหลายประเภท แถมหลายร้านยังเป็นเจ้าเก่าที่เปิดมายาวนานจนมีชื่อเสียงที่ใครแวะมาทำธุระแถวนี้ต้องมากิน แน่นอนว่าเราก็แวะชิมทุกร้านเช่นกัน


ชิมเมนูคลาสสิกที่ “อุดมโภชนา แพร่งภูธร”

• Open: เวลา 7.00 – 15.30 น. เปิดทุกวัน
• FB: www.facebook.com/อุดมโภชนา-แพร่งภูธร

เริ่มร้านแรกกันที่ “อุดมโภชนา แพร่งภูธร” ร้านอาหารที่เราสะดุดตากับเปาะเปี๊ยะสดปูชวนน้ำลายสอ สำหรับร้านนี้เรียกได้ว่าเป็นร้านเก่าแก่ประจำแพร่งภูธรเลยก็ว่าได้ ซึ่งเปิดให้บริการมานานกว่า 80 ปีแล้ว โดยจุดเด่นที่ทำให้ร้านอาหารร้านนี้เปิดต่อเนื่องมายาวนานคือ การสืบต่อรสชาติดั้งเดิมของข้าวหมูแดง ข้าวสตูว์เนื้อ และอื่นๆ แบบรุ่นสู่รุ่น โดยทุกรุ่นพยายามรักษาคุณภาพและรสชาติดั้งเดิมเอาไว้

เมนูของร้านจะเป็นอาหารคลาสสิกที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง ข้าวหมูแดง – หมูกรอบ (50 บาท) ที่โดดเด่นด้วยรสชาติน้ำซอสและความเด็ดของหมูแดงและหมูกรอบ แต่เมนูเด่นของร้านต้องสั่ง ข้าวสตูเอ็น – เนื้อ (50 บาท) ที่ทุกคนต่างยกมือให้ความอร่อยกับเอ็นแก้ว น่องเนื้อลาย และลิ้นวัว ในรสชาติเข้มข้นจากการตุ๋นจนเปื่อย ปรุงรสด้วยเครื่องยาจีน

ส่วนใครอยากได้เมนูทานเล่น แนะนำให้สั่ง เปาะเปี๊ยะสดปู (40 บาท) เมนูชวนรับประทานที่ทำให้เราตัดสินใจแวะชิมร้านนี้และไม่ผิดหวัง กับเปาะเปี๊ยะสดที่ห่อใหม่ๆ โรยด้วยเนื้อปูพูนจาน เพิ่มรสด้วยน้ำจิ้มที่ราดมาให้แบบไม่มีหวง ส่วนเครื่องดื่มทางร้านแนะนำให้ลอง ชาดำเย็น (12 บาท) ที่ให้รสหวานไม่มาก แต่หอมชา เพราะทางร้านชงสดใหม่ทุกวัน


เมนูห้ามพลาดกับไอศกรีมกะทิโฮมเมดที่ “นัฐพร ไอศกรีมกะทิสด”

• Open: เวลา 7.00 – 17.00 น. ปิดวันอาทิตย์
• FB: www.facebook.com/นัฐพรไอศครีมกะทิสด

เพราะกลัวจะถูกหากว่า ‘กินคาว ไม่กินหวาน สันดานไพร่’ เราเลยแวะกินไอศกรีมกะทิกันที่ “นัฐพร ไอศกรีมกะทิสด” ซึ่งร้านจะอยู่ไม่ไกลจากร้านอุดมโภชนา แพร่งภูธร สำหรับร้านนัฐพร ไอศกรีมกะทิสด เป็นอีกหนึ่งร้านที่เรียกได้เป็นตำนานของย่านนี้ ด้วยการสืบทอดไอศกรีมไทยโฮมเมดสูตรโบราณจากรุ่นสู่รุ่น จนปัจจุบันร้านนี้มีอายุกว่า 80 ปี

ความอร่อยของไอศกรีมโฮมเมดของร้านนี้คงเป็นรสชาติไทยๆ ที่ให้รสหอมมัน เน้นรสชาติธรรมชาติ และใช้วัตถุดิบคุณภาพ แน่นอนว่าเมนูซิกเนเจอร์ที่ต้องสั่งคือ ไอศกรีมกะทิสด (30 บาท) ที่หอมกลิ่นกะทิแท้ๆ กับรสชาติหอมมันอย่างเป็นธรรมชาติ สามารถเลือกเครื่องเคียงหรือท็อปปิ้งได้

อีกหนึ่งเมนูที่ทางร้านแนะนำคือ ไอศกรีมมะพร้าวอ่อน (30 บาท) ที่ไม่ได้เสิร์ฟมาเป็นลูกๆ เหมือนไอศกรีมกะทิสด แต่มีลักษณะเหมือนน้ำแข็งใส และเมื่อได้ลิ้มลองต้องบอกว่าเสมือนได้กินน้ำมะพร้าวอ่อนในรูปแบบน้ำแข็งนั่นเอง ดังนั้นหากบอกว่าไอศกรีมมะพร้าวอ่อนเป็นไอศกรีมซอร์เบทก็ไม่ผิดนัก

ปิดท้ายกันด้วยเมนูใหม่กับ ไอศกรีมมะม่วงมหาชนก (40 บาท) กับรสชาติเสมือนทานมะม่วงมหาชนกแท้ๆ ทั้งรสหวานกำลังดี ซ่อนเปรี้ยวเล็กน้อย เป็นรสที่ลงตัวกลมกล่อม นอกจากนี้ทางร้านยังมีไอศกรีมอีกหลายรสชาติให้เลือกชิม อาทิ ช็อกโกแลต ชาเขียว ชาโคล เป็นต้น


ถูกใจบรรยากาศ เลยแวะชิมอาหารไทยฟิวชั่นที่ “เนช์เบอร์ ภูธร”

• Open: เวลา 9.00 – 16.00 น. ปิดวันอาทิตย์
• FB: www.facebook.com/neighbourphuthon/

ร้านอาหารที่มาพร้อมบรรยากาศดีๆ ด้วยการคงความคลาสสิกของสถาปัตยกรรมเอาไว้ ดังนั้นเพียงบรรยากาศของร้านก็สามารถเรียกนักท่องเที่ยวให้แวะไปนั่งพักได้ไม่ยาก และเราก็เป็นหนึ่งในนักท่องเที่ยวที่ถูกดึงดูดด้วยเสน่ห์ของร้าน

เริ่มจากด้านหน้าที่เปิดหน้าต่างกว้างจนเห็นบรรยากาศสบายๆ ภายในร้านอย่างถนัดตา รอบล้อมด้วยต้นไม้สีเขียวชวนให้คิดถึงบรรยากาศบ้านมากกว่าร้านอาหาร เมื่อเดินเข้าไปด้านในจะพบกับความเย็นสบาย โดยมีโต๊ะเก้าอี้จำนวนไม่มาก เพราะเดิมร้านแห่งนี้เป็นบูติกให้บริการนักท่องเที่ยว เราจึงคาดว่าพื้นที่โซนอาหารคงเปิดเพื่อบริการแขกที่เข้าพัก ขณะเดียวกันก็เปิดกว้างให้ลูกค้าอื่นๆ ได้แวะไปนั่งพัก

เมนูอาหารของที่นี่มีความหลากหลาย แต่มีเอกลักษณ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเมนูอาหารไทยพื้นถิ่นที่นำมาฟิวชั่นให้มีรูปลักษณ์โมเดิร์นขึ้น แต่คงรสชาติดั้งเดิมเอาไว้มากที่สุด ยกเว้นบางเมนูที่จำต้องปรับเปลี่ยนให้ถูกปากคนกรุงเทพ อย่าง ลาบหมูคั่ว – โยนก (60 บาท) เมนูที่หยิบความอร่อยมาจากภาคเหนือ ซึ่งหลายคนรู้จักในชื่อ ‘โยนก’ ซึ่งหากเป็นรสชาติเดิมแท้ๆ ต้องใส่เลือดด้วย แต่สำหรับเมนูนี้ทางร้านเลือกไม่ใช่เลือดเพื่อให้ได้รสคนกรุง

ต่อกันด้วยเมนู หลวงพระบางสเต็ก (80 บาท) เมนูที่นำหมูไปหมักกับเครื่องเทศสไตล์อีสานที่มีความจัดจาน เพียงแต่เสิร์ฟในรูปแบบสเต็กชิ้นโตเพื่อให้ทานง่าย เสิร์ฟพร้อมข้าวเหนียวร้อนๆ และผักสด ปิดท้ายกันด้วยเมนู เทป์ปันสะเต๊ะหมู (60 บาท) เมนูซิกเนเจอร์ของร้านที่นำหมูสะเต๊ะไปปิ้งแบบเทป์ปัน ไม่ได้เสียบไม้อย่างที่เราคุ้นเคย พร้อมกับเปลี่ยนเครื่องเคียงอย่างอาจาดให้เป็นกิมจิแทน


เดินไปเรื่อยๆ เจอร้านกาแฟโบราณ “ชิกัจฉา กาแฟสด”

• Open: เวลา 9.00 – 16.00 น. ปิดวันเสาร์ – อาทิตย์

เมื่ออิ่มหนำกันแล้ว เราก็เดินถ่ายรูปไปเรื่อยๆ จนพบกับ “ชิกัจฉา กาแฟสด” ร้านกาแฟที่โดดเด่นด้วยบรรยากาศสถาปัตยกรรมเก่าของแพร่งภูธร เดิมเป็นร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าก่อนจะปรับปรุงให้เป็นร้านกาแฟ เพียงแต่ร้านกาแฟแห่งนี้ไม่ได้หรูหราเหมือนกับร้านกาแฟในเมือง แต่ร้านนี้กลับเต็มไปด้วยเสน่ห์คลาสสิกที่ให้อารมณ์เสมือนแวะกินน้ำกินขนมที่บ้านเพื่อน

เมนูเครื่องดื่มก็เหมือนกับร้านกาแฟที่เราคุ้นเคย ทั้งเมนูกาแฟอย่างอเมริกาโนเย็น (45 บาท), ชาไทยที่เลือกใช้ชาซีลอน (45 บาท) , น้ำผึ้งมะนาว (30 บาท) เป็นต้น ส่วนเมนูขนมที่สั่งมาทานคู่กันคือ โรตีกรอบ (25 บาท) โรตีร้อนๆ แผ่นบางกรอบ ราดด้วยนมข้นหวานชวนฟิน


แวะ “บ้านหมอหวาน” ร้านยาแผนไทยสมัย ร.6

• Open: เวลา 09.00 – 17.00 น. เปิดทุกวัน
• FB: www.facebook.com/mowaan.bumrungchat.sassana.yathai/

บ้านหมอหวานมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “บำรุงชาติสาสนายาไทย” ซึ่งเป็นทั้งพิพิธภัณฑ์, บ้านพักอาศัย และสถานปรุงยาแผนโบราณ เป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์คที่ปักหมุดว่าต้องเข้ามาเยือน เพราะบ้านหลังนี้มีสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลชิโนโปรตุกีสที่ทำให้สถานที่แห่งนี้โดดเด่นตั้งแต่หน้าประตูแล้ว โดยถูกสร้างขึ้นตั้งปี พ.ศ. 2467 ซึ่งในอีก 6 ปีข้างหน้าอาคารหลังนี้จะมีอายุครบ 100 ปี

บ้านหมอหวานยังเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ เพราะที่นี่ยังเป็นร้านยาแผนไทยสมัยรัชกาลที่ 6 ที่หมอหวาน รอดม่วง พยายามปรับปรุงให้เป็นร้านยาที่ทันสมัยด้วยการนำวิทยาการของยุโรปมาประยุกต์ใช้กับยาแผนไทย ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ยังจำหน่ายยาสมุนไพรไทยสูตรดั้งเดิม อาทิ ยาหอม 4 ตำรับที่สืบถอดมากว่า 100 ปี ฯลฯ

การเยือนบ้านหอมหวานช นอกจากจะได้ทราบเรื่องราวของวงการร้านยาแผนไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบันแล้ว เรายังสามารถหาซื้อยาสมุนไพรแผนโบราณได้ที่นี่อีกด้วย


ทำใจให้สงบ ชมสถาปัตยกรรมไทยที่ “วัดสุทัศน์”

ออกจากบ้านหมอหวาน ก็เดินเลาะเลียบถนนบำรุงเมืองไปเรื่อยๆ จนบรรจบกับที่วัดสุทัศน์ พระอารามหลวงชั้นนอก ซึ่งด้านหน้าโดดเด่นด้วยเสาชิงชาเด่นเป็นสง่า

นอกจากความสงบของอารามหลวงแห่งนี้กับสถาปัตยกรรมไทยเก่าแก่แล้ว วัดสุทัศน์แห่งนี้ยังมีพระอุโบสถที่ถูกจัดว่ายาวที่สุดในประเทศอีกด้วย

วัดสุทัศน์ยังมีตำนานโบราณที่เล่าขานต่อกันมาถึง ‘เปรตวัดสุทัศน์’ ว่าเคยมีเปรตปรากฏที่นี่ ซึ่งเรื่องเล่าขานนี้บ้างก็บอกว่าอาจมีที่มาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหาร บ้างก็บอกว่าเป็นความเข้าใจผิดที่มองเห็นเสาชิงช้าหน้าวัดผิดไป


ถึงจุดหมาย “เสาชิงช้า” กับเหตุผลว่าทำให้หลายคนจึงแวะมา

“เสาชิงช้า” จุดหมายของเราในทริปนี้ โบราณสถานที่สะดุดตาซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมอะเมซิ่งไทยแลนด์และมุดหมายของนักท่องเที่ยว เหตุผลที่เสาชิงช้าถูกจัดให้เป็นโบราณสถาน เพราะเสาชิงช้าถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการประกอบพิธีโล้ชิงช้าของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แม้พิธีโล้ชิงช้าจะถูกยกเลิกไปสมัยรัชกาลที่ 7 แต่ชิงช้าสีแดงสูงใหญ่แห่งนี้ก็ยังคงเด่นเป็นสง่าอยู่หน้าวัดสุทัศน์ ที่สำคัญบริเวณเสาชิงช้ายังเป็นย่านเก่าแก่อีกแห่งของกรุงเทพ จึงทำให้ทิวทัศน์รอบๆ เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมคลาสสิก

ย่านเสาชิงช้านอกจากจะเป็นแลนด์มาร์คที่ทำให้นักเดินทางได้เก็บความทรงจำแล้ว ย่านนี้ยังได้ชื่อว่าอุดมด้วยอาหารอร่อยหลากหลาย ทั้งอาหารคาวและของหวาน จึงไม่แปลกหากคนไทยจะนิยมเดินทางมาย่านนี้เพื่อฝากท้องกับความอร่อยนั่นเอง


ยังไม่จบ!! ขอแถมท้ายด้วย “มนต์นมสด” คาเฟ่ยุคแรกๆ ของไทย

• Open: เวลา 14.00 – 23.00 น. เปิดทุกวัน และหยุดตามวันที่ประกาศ
• FB: www.facebook.com/MontNomsod.Issaraphap/

เมื่อมาเสาชิงช้าทั้งทีจะไม่แวะร้าน “มนต์นมสด” ก็เหมือนมาไม่ถึง เพราะร้านนมแห่งนี้เปรียบเสมือนอีกหนึ่งร้านประจำย่านเสาชิงช้าที่เนื่องแน่นด้วยลูกค้าตลอดทั้งวัน กับความอร่อยของเครื่องดื่มและขนมปังปิ้งที่การันตีด้วยระยะเวลากว่า 50 ปีของการดำเนินกิจการ

เมนูขึ้นชื่อของมนต์นมสด คงหนีไม่พ้นขนมปังปิ้งที่มาพร้อมหน้าตาต่างๆ ให้เราสั่งมาทานคู่กับเครื่องดื่มอย่างนมสด แน่นอนว่าจากอดีตจนถึงปัจจุบันทางร้านได้ครีเอทสูตรมากมาย จนทำให้เมนูหลากหลายขึ้น แถมยังตอบโจทย์ลูกค้าทุกวัย ไม่ว่าจะเป็น นมสดร้อน (30 บาท), นมจืดเย็น (ขวดเล็ก 35 บาท), น้ำมะนาว (35 บาท), น้ำอัญชัน (45 บาท) ฯลฯ ส่วนขนมปังปิ้งก็มีทั้ง ขนมปังปิ้งเนยนมข้น (20 บาท), ขนมปังปิ้งแยมสตรอเบอร์รี่ (25 บาท), ขนมปังปิ้งช็อกโกแลต (25 บาท) เป็นต้น


กำแพงของสถาปัตยกรรมโอคลาสิคแบบนีโอปัลลาเดียนของกระทรวงกลาโหมระหว่างทางจะพบกับสถาปัตยกรรมคลาสสิกมากมายชายคาอาคารพักอาศัยในย่านแพร่งภูธรที่เป็นแหล่งพักพิงให้เหล่านักน้อยภาพผู้คนเดินขวักไขว่ โดยมีฉากหลังเป็นอาคารเก่าร้านเนช์เบอร์ ภูธรที่เราถูกใจบรรยากาศร้านจนต้องแวะ!ร้านซาลาเปาเล็กๆ ในซอกระหว่างตึกพาณิชย์กับลูกค้าแน่นร้านเสน่ห์ของแพร่งภูธรที่ไม่มีที่ไหนมาซ้ำได้หน้าร้านชิกัจฉา กาแฟสดกับความน่ารักชวนยิ้มระหว่างทางจะพบกับสถาปัตยกรรมดีไซน์คลาสสิกสะดุดตาบรรยากาศภายในบ้านหมอหวานมุมภายนอกบ้านหมอหวานวัดสุทัศน์ด้านหน้าวัดสุทัศน์ ฝั่งเสาชิงช้ามุมบังเอิญที่เผอิญถ่ายไว้ได้จากวัดสุทัศน์จะเห็นเสาชิงชาโดดเด่นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่อยู่รอบๆ เสาชิงชา เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของย่านนี้

Photographer: Wara Wuttiwan
Videographer: Sroisuwan.T
Writer & Creator: Taliw

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.