1 วันว่างกับการค้นหาตัวตน ผ่านนิทรรศการ “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ”

1 วันว่างกับการค้นหาตัวตน
ผ่านนิทรรศการ “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ”

‘อย่าให้คำว่าชาย – หญิงมาจำกัดตัวตนของเรา’ นิยามที่เราขอให้ไว้กับนิทรรศการ “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination” นิทรรศการสุดว้าวที่รวบรวมสิ่งของจัดแสดงและเรื่องราวกว่า 100 ชิ้น ครอบคลุมหลากมิติเรื่องเพศ ที่ให้เราเรียนรู้และเข้าใจคนรอบตัวลึกซึ้งกว่าที่เคย

เราขอพาคุณไปทัวร์รอบนิทรรศการ พร้อมเรียนรู้ความหลากหลายเรื่องเพศแบบถึงแก่น โดยเฉพาะ “ฉากชีวิต” ที่ได้รวบรวมวัตถุจัดแสดงกว่า 100 ชิ้นที่ยิ่งสัมผัสยิ่งเข้าใจและเข้าถึง ‘ตัวตนของเรา’ ที่ไม่ถูกจำกัดด้วยคำว่า ‘ชาย – หญิง’ ดั่งคำกล่าวของนักเขียนชื่อดัง ‘โตมร ศุขปรีชา’ ว่า “คนแต่ละคนในโลกอาจมีเพศของตัวเองก็ได้ โดยไม่จำกัดแค่ชายหญิง”

“การจัดทำนิทรรศการ ‘ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination’ ทีมพัฒนาใช้เวลากว่า 1 ปี 7 เดือน ในการรวบรวมข้อมูลทั้งด้านเนื้อหา ทัศนคติ สัมภาษณ์ ตลอดจนรวบรวมวัตถุจัดแสดงจากทั่วประเทศ เพื่อให้นิทรรศการสามารถสะท้อนเรื่องราว มุมมอง ทัศนคติที่หลากหลายในสังคม” ชนน์ชนก พลสิงห์ ภัณฑารักษ์ผู้จัดนิทรรศการกล่าว โดยนิทรรศการประกอบด้วยโซนที่น่าสนใจ 8 โซนดังนี้..

นิทรรศการ “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination” มีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องความหลากหลายทางเพศ ทั้งค่านิยมทางสังคม การมีอยู่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ความเข้าใจและมุมมองความหลากหลายทางเพศในสังคมปัจจุบัน ฯลฯ

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เราได้เรียนรู้ เข้าใจ ยอมรับตัวตน เปิดกว้างทัศนคติต่ออัตลักษณ์ทางเพศของทั้งตนเอง บุคคลรอบข้าง กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และบุคคลในครอบครัว ตลอดจนช่วยให้สังคมเข้าใจในความแตกต่างและยอมรับในความหลากหลายทางเพศมากยิ่งขึ้น

• เขาวงกตแห่งเพศ

โซนกระตุกต่อมคิดมายาคติทางเพศ ในรูปแบบของทางวงกต ที่มีคำต่างๆ ซึ่งถูกใช้ในสังคมไทยเพื่อกรอบความคิดเรื่องเพศ ว่าคำใดสะท้อนความเป็นเพศชาย หรือเพศหญิง อาทิ เพศแม่ รักนวลสงวนตัว กุลเกย์ ชายชาตรี เป็นต้น

• มนุษย์ขนมปังขิง

ทำความเข้าใจว่า “เพศ” ผ่านโมเดลมนุษย์ขนมขิง ที่นำเสนอความเชื่อมโยงระหว่าง สำนึกทางเพศ การแสดงออก เพศกำเนิด และความรู้สึกทางเพศ ที่สามารถเปลี่ยนแปลง ลื่นไหล และไม่ต้องเป็นไปตามแบบแผนของสังคม พร้อมการนำเสนอผ่านเทคโนโลยีบอดี้ สแกนเนอร์ สะท้อนเรื่องของเพศสภาพ ที่เป็นเพียงปัจจัยภายนอก

• ห้องน้ำไร้เพศ

นำเสนอการแบ่งกล่องแห่งเพศซึ่งจำกัดแค่ความเป็นชายและหญิงในที่สาธารณะจากการใช้ห้องน้ำ พร้อมกระตุ้นความคิด จะดีกว่าหรือไม่ หากมีห้องน้ำไร้เพศ ในที่สาธารณะ

• บันทึก-เพศ-สยาม

นำเสนอประวัติศาสตร์การเริ่มขึ้นของความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงปัจจุบัน ผ่านแผนผังไทม์ไลน์เหตุการณ์ที่สำคัญ พร้อมเรียนรู้เรื่องราวของสื่อต่างๆ อาทิ สื่อสิ่งพิมพ์ โปรแกรมแชท โซเชียลมีเดีย เป็นต้น

• ฉากชีวิต

จัดแสดงที่รวบรวมวัตถุจัดแสดงกว่า 100 ชิ้น ซึ่งมีเรื่องราวเบื้องหลังของการค้นพบตัวตน ภาพถ่าย ของสะสม สิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนสิ่งของที่เป็นแรงบันดาลใจ และสะท้อนการใช้ชีวิตการดำเนินชีวิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ อาทิ ใบปริญญาที่นำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ จดหมายจากบุพการีต่อลูกอันเป็นที่รัก พวงหรีดจากภรรยาที่ครอบครัวไม่เคยรู้มาก่อน ตลับแป้งพับที่ปิดตาย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังนำเสนอภาพยนตร์สั้นเพื่อความเข้าใจผู้มีความหลากหลายทางเพศ ภาพศิลปะจากเยาวชนที่มีต่อประเด็นความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนความเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

• ชั้นลอย

ผลงานจากการประกวดวาดภาพ ภายใต้หัวข้อ “ความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศในความเข้าใจของฉัน” จากเด็กและเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 10-18 ปี ทั่วประเทศ โดย กลุ่มโรงน้ำชา หรือ TEA group (Togetherness for Equality and Action) ก่อตั้งเมื่อปี 2013 เป็นการรวมตัวของนักกิจกรรมที่ทำงานเพื่อสนับสนุนประเด็นความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ ด้วยอยากเห็นการทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยรวมเอาประเด็นเรื่องเพศ (gender and sexuality) เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน เพราะเชื่อเรื่องความหลากหลายว่าต้องนับรวมทุกกลุ่มคน และเปิดพื้นที่ให้ทุกอัตลักษณ์ได้รับการเคารพ

• ตบแต่งตัวตน

สัมผัสประสบการณ์หลังม่านละครชีวิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในรูปแบบของแบ็กสเตจโรงละคร ที่ให้ทุกคนสามารถทดลองแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าไร้เพศ วิก เมคอัพ ฯลฯ อิสระตามที่ใจต้องการ

• คาเฟ่โรงละคร

โซนรวบรวมความคิดเห็นเพื่อสำรวจการขับเคลื่อนด้านสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยปัจจุบัน ผ่านการโหวต Yes/No ในประเด็นต่างๆ อาทิ ห้องน้ำไร้เพศควรมีในประเทศหรือไม่ คำนำหน้าชื่อควรเอกด้วยตัวเองหรือไม่ เป็นต้น พร้อมกำแพงที่ให้คุณได้ทลายกำแพงเพศสภาพผ่านงานศิลปะตุ๊กตากระดาษ

ความแตกต่างของนิทรรศการนี้อยู่ที่โซนจัดแสดงที่รวบรวมวัตถุจัดแสดงกว่า 100 ชิ้น ซึ่งมีเรื่องราวเบื้องหลังของการค้นพบตัวตน ภาพถ่าย ของสะสม สิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนสิ่งของที่เป็นแรงบันดาลใจ และสะท้อนการใช้ชีวิตการดำเนินชีวิตของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้นิทรรศการสามารถสะท้อนเรื่องราว มุมมอง ทัศนคติที่หลากหลาย และเกิดขึ้นจริงในสังคม จากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

นิทรรศการ “ชายหญิงสิ่งสมมุติ : Gender Illumination” เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 กันยายน 2561 วันอังคาร – วันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) เวลา 10.00 – 18.00 น. ณ มิวเซียมสยาม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 หรือ www.museumsiam.org

***คลิกที่ภาพ เพื่อชมรูปแบบเต็มตา***

Photo: Taliw & ข่าวประชาสัมพันธ์

keyboard_arrow_up