ทำให้ได้ก่อนวัย 30! ยึดหลัก นาฬิกาชีวิต แค่คิดไม่พอ ต้องทำด้วย

WHAT : นาฬิกาชีวิต หลายคนคงเคยได้ยินกันมานานแล้ว ว่าแต่มันสัมพันธ์อย่างไรกับอวัยวะในร่างกายของคนเรา และเราควรปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อให้ชีวิตดีขึ้นได้บ้าง เรามีคำตอบ ตามมาฟังพร้อมๆ กันครับ

 

ร่างกายคนเราก็เหมือนเครื่องจักร ที่มีอวัยวะต่างๆ เหมือนฟันเฟืองให้ร่างกายขับเคลื่อนไปได้ แต่ต่างกันตรงที่อวัยวะเมื่อเสื่อมแล้วจะหาอะไหล่มาเปลี่ยนนั้นยากยิ่งกว่าหาฟันเฟืองตัวใหม่มาทดแทนในเครื่องจักรหลายเท่าตัวนัก ในเคสที่แย่สุด คือ หาทดแทนไม่ได้ แย่นะครับ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว จะรออะไรอยู่ล่ะ หันมาดูแลฟันเฟืองในเรื่องกายของเรากันดีกว่า

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า นาฬิกาชีวิต กันมาบ้างแล้ว แต่บางคนก็อาจจะไม่รู้ว่า นาฬิกาชีวิต หรือ นาฬิกาชีวภาพ (biological clock) ตามหลักการแพทย์นั้นสัมพันธ์อย่างไรกับอวัยวะในร่างกายของเรา วันนี้ FAVFORWARD ขอหยิบหลักนาฬิกาชีวิตมาบอกต่อกันอีกที หลักง่ายๆ คือ การไหลเวียนพลังชีวิต ผ่านระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยแต่ละช่วงนั้นจะแบ่งออกเป็นช่วงละสองชั่วโมง เวลาไหน เราควรทำกิจกรรมใด ตามมาฟังพร้อมๆ กันครับ

01:00 – 03:00 : LIVER

เป็นช่วงเวลาที่ตับจะหลั่งสารเมลาโทนิน ทำหน้าที่ฟื้นฟูผิว ดังนั้นถ้าใครอยากดูเด็กกว่าวัย ก็ควรจะนอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ในช่วงเวลานี้

03:00 – 05:00 : LUNG

เป็นช่วงเวลาของปอด ที่ทุกคนควรตื่นขึ้นมาสูดอากาศบริสุทธิ์ในยามเช้า เพื่อให้ปอดได้ตื่นตัวและทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในแต่ละวัน

05:00 – 07:00 : LARGE INTESTINE

เป็นช่วงเวลาของการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายด้วยการนั่งปลดทุกข์ในห้องน้ำ เพราะเป็นช่วงเวลาของลำไส้ใหญ่ทำงานได้ดีที่สุด ถ้าพ้นจากช่วงเวลานี้ไปการขับถ่ายของเราจะไม่เต็มประสิทธิภาพ เป็นสาเหตุที่ทำให้ของเสียถูกกำจัดออกไม่หมด

07:00 – 09:00 : STOMACH

เป็นช่วงเวลาของกระเพาะอาหารจะทำหน้าที่ เราจึงควรรับประทานอาหารเช้าในช่วงเวลานี้

09:00 – 11:00 : SPLEEN

ในช่วงเวลานี้ไม่ควรนอนหลับ ถ้าใครยังไม่อยากม้ามโต เพราะเป็นช่วงเวลาที่ม้ามจะทำหน้าที่ควบคุมเม็ดเลือด สร้างน้ำเหลือง และควบคุมไขมัน การนอนหลับในช่วงเวลานี้จะทำให้ม้ามทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพและอ่อนแอลงได้

11:00 – 13:00 : HEART

ช่วงนี้เป็นเวลาของหัวใจที่ต้องทำงานหนัก เราจึงควรหลีกเลี่ยงการคิดเรื่องงาน หรือสิ่งใดก็ตามที่ก่อให้เกิดความเครียดหรือความกดดัน

13:00 – 15:00 : SMALL INTESTINE

เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนควรงดกิจกรรมการกินทุกสิ่งอย่าง เพราะเป็นช่วงเวลาที่ลำไส้เล็กดูดซึมอาหาร

15:00 – 17:00 : BLADDER

เป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะหันมาออกกำลังกายให้เหงื่อออก เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

17:00 – 19:00 : KIDNEY

สังเกตตัวเองดูว่า ใครที่มักจะง่วงนอนในช่วงเวลานี้ แสดงว่า ไตทำงานหนักหรือเริ่มเสื่อมแล้ว ควรหมั่นตรวจเช็คสุขภาพไตอย่างใกล้ชิด

19:00 – 21:00 : PERICARDIUM

เป็นช่วงเวลาที่ควรผ่อนคลาย และทำจิตใจให้สงบ เพราะเป็นช่วงเวลาที่เยื่อหุ้มหัวใจทำงานหนัก อาจดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือนั่งสมาธิปรับโหมดต่างๆ ในร่างกายให้ผ่อนคลายความตึงเครียด ก่อนเข้านอน

21:00 – 23:00 : HEATING SYSTEM

ใครอาบน้ำเย็นในช่วงเวลานี้ ควรเลิกซะเถอะ เพราะช่วงเวลานี้ควรทำร่างกายให้อบอุ่นที่สุด ไม่เช่นนั้นจะทำให้ร่างกายอ่อนแอและป่วยได้ง่าย

23:00 – 01:00 : GALLBLADDER

ใครที่มีอาการเหงือกบวม อารมณ์ฉุนเฉียว สายตาเสื่อม ปวดฟัน นอนไม่หลับ ปวดศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจเป็นเพราะร่างกายขาดน้ำ ซึ่งหากอวัยวะส่วนใดๆ ก็ตามขาดน้ำ ระบบในร่างกายจะปรับตัวด้วยการดึงน้ำจากถุงน้ำดี ทำให้ถุงน้ำดีมีลักษณะข้น เหนียว ส่งผลให้เกิดอาการข้างต้น

สรุปง่ายๆ สั้นๆ (อีกที)

01.00 – 03.00 น. (ตับ) นอนหลับพักผ่อน
03.00 – 05.00 น. (ปอด) ตื่นนอน สูดอากาศบริสุทธ์
05.00 – 07.00 น. (ลำไส้ใหญ่) ขับถ่ายให้เป็นกิจวัตร
07.00 – 09.00 น. (กระเพาะอาหาร) ทานอาหารเช้า
09.00 – 11.00 น. (ม้าม) ทานให้น้อย ไม่งีบหลับ พูดก็ให้น้อย
11.00 – 13.00 น. (หัวใจ) เลี่ยงเรื่องชวนเครียด
13.00 – 15.00 น. (ลำไส้เล็ก) งดทานอาหาร
15.00 – 17.00 น. (กระเพาะปัสสาวะ) ออกกำลังกายให้เหงื่อออก
17.00 – 19.00 น. (ไต) อาบน้ำให้ร่างกายสดชื่น ไม่ง่วง ไม่หาว ไม่นอน
19.00 – 21.00 น. (เยื่อหุ้มหัวใจ) นั่งสวดมนต์ ทำสมาธิ
21.00 – 23.00 น. (ระบบความร้อน) ทำร่างกายให้อบอุ่น ไม่อาบน้ำช่วงนี้
23.00 – 01.00 น. (ถุงน้ำดี) ดื่มน้ำสักแก้วก่อนเข้านอน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่หลักการเบื้องต้นเท่านั้น เมื่อทุกคนได้ลองปรับ นาฬิกาชีวิต แล้ว ก็ควรปรับความคิด ทัศนคติการใช้ชีวิต และลองมองโลกในมุมใหม่ควบคู่กันไปด้วย แค่นี้ก็ทำให้ร่างกายแข็งแรง และมีสุขภาพจิตที่ดี แล้วล่ะครับ


Story : Tanakrit C.

Photo : pixabay

Source : http://www.vcharkarn.comhttps://publications.nigms.nih.gov

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.