สัมผัสแรกของการมาเยือน “เมืองมัลลิกา ร.ศ.124” เหมือนกาลเวลาได้หยุดนิ่ง นาฬิกาได้หมุนทวนเข็มกลับไปยังสมัยแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เหมือนกับเรื่องราวของ มณีจันทร์ สาวนักเรียนนอก ที่ย้อนเวลากลับไปพบรักกับ คุณหลวงอัครเทพวรากร ข้าหลวงประจำกรมเจ้าท่า ใน “ทวิภพ” บทประพันธ์อันทรงคุณค่าของ “ทมยันตี”
เมืองมัลลิกา ร.ศ.124 เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและวิถีชนแห่งแรกในประเทศไทย ให้คนรุ่นใหม่ ลูกหลานคนไทย ตลอดจนนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกได้สัมผัสประเพณีเก่าแก่อันงดงาม ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งถือว่าไม่ไกลกรุงเทพฯ มากนัก และเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา และเพียงไม่นานกระแสในโลกโซเชียลก็ชวนหวนพัดให้ทุกคนอยากไปเที่ยวชมสถานที่แห่งนี้ วันนี้เราจึงขออาสาเปิดเมืองเก็บภาพมาฝากทุกคนขอรับ
สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของเจ้าของโครงการที่อยากจะสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ให้เหมือนมีชีวิตจริง เพื่อถ่ายทอดวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชาวไทยสมัยโบราณ ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่อยากท่องเที่ยวแบบถึงแก่น ไม่ต้องการมาชื่นชมเพียงร่องรอยทางวัฒนธรรมที่หลงเหลือจากอดีต แต่ไม่รู้ซึ้งถึงเรื่องราวที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง รวมทั้งส่งต่อความทรงจำอันงดงามในอดีตที่เกือบจะเลือนหายสู่คนรุ่นหลัง
หลายคนคงเคยตั้งคำถามว่า เบื้องหลังสถาปัตยกรรมเหล่านี้ มีวิถีชีวิตและภูมิปัญญาอะไรซ่อนอยู่ และคงจะดีไม่น้อยหากใครได้นำเรื่องราวเหล่านี้มาส่งต่อให้กับคนรุ่นหลัง ได้เรียนรู้และทำความเข้าใจถึงที่มาแห่งรากเหง้าของบรรพบุรุษไทย ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งจำลองบรรยากาศบ้านเมืองในอดีต ควบคู่ไปกับการสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่
จะว่าไปแล้ว “เมืองมัลลิกา ร.ศ.124” ถือเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมและวิถีชนที่ฉีกกรอบการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แบบเดิมๆ ด้วยการพาทุกคนย้อนเวลากลับไปนับร้อยปี เพื่อสัมผัสรากเหง้าความเป็นไทยอย่างแท้จริง ผ่านงานสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตของชาวสยามในอดีตอันงดงามของปีรัตนโกสินทร์ศกที่ 124 เป็นช่วงปลายรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ซึ่งมีการประกาศเลิกทาสแล้ว
เหตุผลที่เจ้าของโครงการเลือกหยิบเอายุคสมัย ร.ศ.124 ที่ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงประกาศเลิกทาสได้สำเร็จ ขึ้นมาเป็นรูปแบบในการจัดสร้างเมืองนั้น เพราะยุคนี้เป็นช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายในแผ่นดินสยาม ซึ่งส่งผลต่อการดำรงชีวิตของคนในยุคนั้นอย่างมีนัย ตั้งแต่การประกาศเลิกทาส การแผ่ขยายอิทธิพลจากโลกตะวันตกเข้ามาในแผ่นดินสยาม และนำไปสู่การผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างรากเหง้าของวิถีชีวิตคนไทยดั้งเดิมกับวัฒนธรรมตะวันตก จนได้รับการนิยามว่าเป็น “ยุคทองแห่งความศิวิไลซ์”
และเมืองแห่งนี้ก็ได้ถ่ายทอดวิถีชีวิตของผู้คนในยุคหลังเลิกทาสไว้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดในคอนเซ็ปต์ “Living Heritage” หรือ “มรดกทางวัฒนธรรมที่ยังมีลมหายใจ”
ความน่าสนใจในการสร้าง “เมืองมัลลิกา ร.ศ.124” ให้กลายเป็นเมืองโบราณที่ราวกับมีชีวิตจริงนั้น ได้สะท้อนผ่านหลากหลายแง่มุม เริ่มต้นตั้งแต่การตั้งชื่อโดย อ.สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ เลือกใช้ชื่อ “มัลลิกา” ซึ่งเป็นชื่อแม่น้ำที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำอิระวดีในพม่า ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งรวมอารยธรรมโบราณในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้ด้วยกัน พร้อมกันนี้ชื่อ“มัลลิกา” ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “มะลิ” ยังบังเอิญไปพ้องกับชื่อตัวละครสมมติที่ อ.ชาตรี ปกิตนนทกานต์ หัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมาช่วยควบคุมการออกแบบเรือนไทยตามหลักการสร้างเรือนประเภทต่างๆ ที่ถูกต้อง หยิบยกใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบทั้งหมดอีกด้วย
สำหรับใครที่ได้มาเที่ยวชมสถานที่แห่งนี้ เมื่อก้าวผ่านประตูเมืองจำลองเข้ามา จะรู้สึกเหมือนราวกับได้เดินทางข้ามมิติมาสู่อีกช่วงเวลาหนึ่ง บนพื้นที่ 60 ไร่ของ “เมืองมัลลิกา ร.ศ.124” ซึ่งประกอบด้วยเรือนไทย 4 ประเภท แต่ละเรือนจะสะท้อนภาพสถานะของผู้อยู่อย่างชัดเจนเริ่มจาก
เป็นเรือนชาวบ้าน เป็นที่อยู่ของชนชั้นกรรมมาชีพ ชาวนา มีหน้าที่ผลิตปัจจัยพื้นฐานในการยังชีพ ด้วยการทำไร่ ทำนา ทำสวน ปลูกผัก ณ เรือนนี้ ทุกคนจะได้สัมผัสกับ ภูมิปัญญาชาวบ้าน อย่างแท้จริง ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อส่งต่อไปใช้ในเรือนครัว กระบวนการสีและตำข้าวแบบโบราณเพื่อให้ได้ข้าวสาร
ถัดมาจะเป็นที่อยู่ของชนชั้นปกครอง กิจกรรมบนเรือนแห่งนี้จะเน้นงานไปที่ งานฝีมือ อย่างงานใบตอง งานดอกไม้ งานเครื่องแขวน งานแกะสลักผลไม้ ซึ่งเป็นผลงานศิลปะแสนประณีตที่หาชมได้ยาก อีกหนึ่งในความพิเศษของเรือนนี้คือ พื้นที่เรือนครัว ที่จะสะท้อนวิถีชีวิตการทำอาหารอย่างวิจิตรงดงามของคนสมัยก่อน ช่วยคืนชีพหลากหลายภูมิปัญญาที่แทบจะสูญหายไปแล้ว เช่น การหุงข้าวเตากระทะ การประกอบอาหารคาวหวานตามแบบฉบับโบราณแท้ๆ โดยผลงานจากเรือนครัวทั้งหมดนี้ จะถูกส่งต่อไปใช้ประโยชน์จริง ไม่ว่าจะเป็น พวงมาลัยจะนำไปใช้สำหรับต้อนรับแขก เช่นเดียวกับอาหารคาว-หวานจะนำไปใช้เลี้ยงพนักงานทุกคนในเมืองจำลอง
ในส่วนของเรือนนี้ เป็นเรือนสำหรับรับแขกบ้านแขกเมืองของคหบดี โดยปกติเรือนเหล่านี้มักมีคณะนาฏศิลป์ของตัวเองสำหรับรับแขก ดังนั้นเรือนนี้จึงสะท้อนวิถีชีวิตของ นาฏศิลป์ไทย รวมทั้งความวิจิตรบรรจงของสำรับกับข้าวไทยที่ขึ้นชื่อทั้งรสชาติและหน้าตาอาหาร ที่นี่ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญ เพราะเป็นเรือนหมู่ที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเลยก็ว่าได้
ปิดท้ายด้วยเรือนแพซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านค้าต่างๆ จำลองบรรยากาศย่านการค้าในอดีต ซึ่งเส้นทางหลักในการสัญจรไปมา คือทางน้ำ ดังนั้นเรือนแพเหล่านี้จึงปลูกไว้ริมน้ำ รายล้อมไปด้วยร้านค้ามากมาย ร้านที่มาแล้วพลาดไม่ได้ คือ ร้านกาแฟตงฮู ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นร้านกาแฟที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น เพราะมีการนำเข้าเมล็ดกาแฟสดจากต่างประเทศเข้ามาใช้ ถัดมาคือร้านข้าวแกงที่สร้างจุดขายได้อย่างน่าสนใจด้วยการนำเมนูข้างแกงที่ รัชกาลที่5 ทรงโปรด มานำเสนอเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับรสชาติของอาหารแบบไทยแท้แบบดั้งเดิม นอกจากนี้ยังมีร้านจำหน่ายของชำร่วย เพื่อเป็นตัวแทนความทรงจำให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้ออีกด้วย
ลองลิ้มชิมของอร่อยกับ สูตรขนมไทยต้นตำรับ
ทุกคนที่มาที่นี่ นอกจากจะได้ชม สถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตของคนในยุคนั้นแล้ว สูตรอาหารไทยต้นตำรับ ก็มีให้ทุกคนได้ลิ้มลองด้วย ซึ่งขนมบางชนิดหาทานได้ยากมากแล้วในปัจจุบัน ทั้ง ขนมเสน่ห์จันทร์ ขนมจ่ามงกุฎ ขนมทองเอก ขนมหยกมณี ขนมบุหลันดั้นเมฆ ขนมชั้น ขนมถ้วยฟู ขนมจีบไทย ขนมน้ำดอกไม้ ขนมเรไร ขนมเปียกปูน ขนมไข่ปลา ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง เป็นต้น ทุกคนจะได้ชมทุกขั้นตอนกรรมวิธีการผลิตอย่างละเอียด ผ่านการใช้เตาถ่านแบบดั้งเดิมที่ยากต่อการควบคุมอุณหภูมิไฟให้คงที่ สะท้อนถึงความพิถีพิถันของคนในยุคสมัยก่อนที่จะประกอบอาหารคาวหวานในแต่ละครั้ง
คลิกชมภาพ “ของอร่อย” เพิ่มเติมจากแกลอรี่ได้นะขอรับ >>
เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม
สำหรับใครที่มาเยือน “เมืองมัลลิกา ร.ศ.124” แล้วอยากอินกับบรรยากาศย้อนยุคจริงๆ ทางเมืองมัลลิกา ร.ศ. 124 มีเสื้อผ้าและเครื่องประดับเข้าชุดไว้คอยให้บริการ เสียค่าบริการเช่า-ยืม ผู้หญิง 200 บาท/ ผู้ชาย 100 บาท/ เด็ก 50 บาท สำหรับผู้หญิงจะรวมชุดสไบหรือผ้าแถบกับโจงกระเบน (เลีอกสีได้) และเครื่องประดับ (มีจำกัด) ของผู้ชายมีเสื้อ โจง และผ้าคาดเอว หรือจะเตรียมชุดมาจากบ้านก็ได้นะขอรับ
สำหรับ “เมืองมัลลิกา ร.ศ.124” นั้น มีค่าเข้าชม สำหรับผู้ใหญ่ ราคา 250 บาท/ท่าน และเด็ก ราคา 120 บาท/ท่าน
นอกจากนี้หากนักท่องเที่ยวประสงค์จะเข้าชม พร้อมรับประทานอาหารโบราณหาชิมได้ยากและชมการแสดงโชว์สุดอลังการ จำหน่ายบัตรเข้าชมพร้อมอาหารเย็นและโชว์สำหรับผู้ใหญ่ในราคา 550 บาท/ท่าน และสำหรับเด็ก 350 บาท/ท่าน พร้อมรับของที่ระลึกจากเมืองมัลลิกา ใครที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์ 034-540884-86
หมายเหตุ : ราคาบัตรเด็ก-ผู้ใหญ่ จะจัดแบ่งตามส่วนสูง โดยเด็กสูง ต่ำกว่า 80 ซม. เข้าฟรี / สูงระหว่าง 80-120 ซม.ราคาเด็ก / สูงเกิน 120 ซม. ราคาผู้ใหญ่ ตามนี้นะขอรับ
“เมืองมัลลิกา ร.ศ.124” ตั้งอยู่ตรงทางเข้าปราสาทเมืองสิงห์ ติดปั๊มน้ำมันบางจาก บนถนนแสงชูโต เขตตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ห่างจากตัวเมืองกาญจน์ 32 กิโลเมตร และเป็นทางผ่านขึ้นสู่อุทยานแห่งชาติไทรโยค เส้นทางรถวิ่งสะดวกสบายดีขอรับ
สำหรับใครที่ตามกูเกิลไป กดจากลิงค์นี้ได้เลยขอรับ https://goo.gl/f2hNPZ
ส่วนใครจะเดินทางไปเมืองมัลลิกาโดยรถสาธารณะ สามารถนั่งรถตู้หริอรถบัส กาญจนบุรี-กรุงเทพ มาลงที่ท่ารถ บขส เมืองกาญจน์ แล้วต่อรถประจำทางสาย ไทรโยค ทองผาภูมิ สังขละ มาลงที่เมืองมัลลิกา (32 กม.) ติดปั๊มน้ำมันบางจาก ปากทางเข้าปราสาทเมืองสิงห์ หรือนั่งรถตู้กาญจน์-สังขละก็ได้ขอรับ
หากมาโดยรถไฟ ให้ลงสถานีกิเลนหรือถ้ำกระแซก็ได้ (หากต้องการผ่านจุดโค้งมรณะ ให้ลงถ้ำกระแซ) แล้วต่อรถจ้างท้องถิ่นมาที่เมืองนะขอรับ
นอกจากนี้สามารถอ่านข้อมูลการเดินทางเพิ่มเติมได้ที่ลิ้งค์นี้ขอรับ http://www.kanchanaburi.co/th/transportation-to-kanchanaburi.php
เมื่อเราได้มาสัมผัส เมืองมัลลิกา ร.ศ.124 จะพบว่า ทุกพื้นที่ดูราวกับมีชีวิต ที่นี่ไม่ได้เลือกนำเสนอผ่านเรือนไทย หรือ จัดการแสดงโชว์เป็นรอบๆ แต่ที่นี่ได้นำวิถีชีวิตของคนจริงๆ มาใส่ไว้ในเมืองนี้ โดยจำลองให้เมืองนี้ให้มีประชากรราว 400 คน ประกอบด้วยกลุ่มคนสามช่วงวัย ตั้งแต่ผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ และ วัยรุ่น เพื่อให้เป็นไปตามสภาพครอบครัวไทยในอดีต ทุกคนจะแต่งกายแบบโบราณ และดำรงชีวิตในแต่ละวันเสมือนจริงในยุคสมัยนั้น ดังนั้นไม่ว่าใครจะมาเยือนเมื่อไหร่ ก็จะอิ่มเอมและเพลิดเพลินไปกับวิถีชีวิตที่ย้อนไปในยุคโบราณ เห็นภาพวัฒนธรรมอย่างชัดเจน โดยไม่ต้องเก็บไปจินตนาการเอาเอง
คลิกชมภาพ “เมืองมัลลิกา ร.ศ.124″เพิ่มเติมจากแกลอรี่ได้นะขอรับ >>
นอกจากจะเดินทางมาเที่ยมชม “เมืองมัลลิกา ร.ศ.124” แล้ว บริเวณใกล้เคียงยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจให้ทุกคนลองไปสัมผัสธรรมชาติของอำเภอไทรโยคกันด้วยนะขอรับ
ถ้ำกระแซ
ถ้ำกระแซ ถือเป็นจุดชมวิวที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะถือว่าเป็นจุดที่สวยที่สุด และอันตรายที่สุดของเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ – น้ำตก หรือที่เรียกกันว่า “เส้นทางรถไฟสายมรณะ” (The Death Railway)
ถ้ำแห่งนี้ เป็นถ้ำเล็กๆ ตั้งอยู่ริมหน้าผาใกล้กับทางรถไฟ เคยเป็นที่พักของเชลยศึก ในช่วงที่มีการสร้างทางรถไฟสายมรณะ ไทย-พม่า ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากในการก่อสร้าง การเผชิญกับโรคภัยต่างๆ และการขาดแคลนอาหาร ทำให้กายเป็นโศกนาฏกรรมทางสงคราม ที่มีแรงงานและเชลยศึกต้องจบชีวิตลง นับหมื่นนับพันคนในช่วงการสร้างทางรถไฟผ่านช่วงถ้ำกระแซนี้
การที่จะสัมผัสถึงเส้นทางรถไฟสายมรณะจริงๆ จะต้องเดินทางด้วยรถไฟ เพราะเมื่อรถไฟผ่านเส้นทางก่อนถึงสถานีถ้ำกระแซ รถไฟจะชะลอความเร็วลง เพื่อความปลอดภัย เพราะโครงสร้างสะพานยังคงเป็นโครงไม้ดั้งเดิม และทำให้ได้ชมวิวที่สวยงาม จากทางฝั่งแม่น้ำแควใหญ่ที่ไหลอยู่ด้านล่าง
อ่านเพิ่มเติมได้ตามลิ้งค์นี้ http://www.kanchanaburi.co/th/specific-place/ถ้ำกระแซ/
อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์
อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ เป็นหนึ่งในอุทยานประวัติศาสตร์ของประเทศไทยตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแควน้อยทางทิศเหนือใน เขตตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี แวดล้อมด้วยทิวเขาเป็นแนวยาวอยู่โดยรอบ
สันนิษฐานว่า ปราสาทเมืองสิงห์ เป็น พุทธศาสนสถาน ในนิกายมหายาน กล่าวว่าสถาปัตยกรรมและปฏิมากรรม คล้ายคลึงกับสมัย พระเจ้าชัยวรมันที่ 7(พ.ศ. 1720 – 1780) กษัตริย์นักสร้างปราสาทแห่งขอม จากการขุดแต่งของกรมศิลปากร พบศิลปกรรมที่สำคัญยิ่งคือ พระพุทธรูปนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และนางปรัชญาปารมิตาอีกทั้งยังพบ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี อีกองค์หนึ่งด้วย ปัจจุบันกรมศิลปากรได้นำไปเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครแล้ว คงเหลือแต่องค์จำลองไว้
จากศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์เมืองพระนครประเทศกัมพูชา ซึ่งจารึกโดย พระวีรกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จารึกชื่อเมือง 23 เมือง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงสร้างไว้ มีเมืองชื่อ ศรีชัยสิงห์บุรี ซึ่งสันนิษฐานกันว่า คือ ปราสาทเมืองสิงห์นี่เอง ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมืองสิงห์เป็นเมือง หน้าด่าน ต่อมารัชกาลที่ 4 โปรดให้เจ้าเมืองสิงห์เป็น พระสมิงสิงห์บุรินทร์ แต่สมัยรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นมณฑล เทศาภิบาลจึงยุบเมือง สิงห์เหลือแค่ตำบล
อ่านเพิ่มเติมได้ตามลิ้งค์นี้ http://paiduaykan.com/province/central/kanjanaburi/prasatmuangsing.html
Photo : เมืองมัลลิกา ร.ศ.124 , The Fool
VDO : Yak Yai Paradise