เมื่อหลายวันก่อน บังเอิญได้อ่านหนังสือ “จัดสรรเวลาดี มีรายได้เพิ่ม 10 เท่า” หนังสือที่ว่าด้วยการบริหารเวลา ซึ่ง ‘เวลา’ เป็นต้นทุนที่แพงที่สุด ดังนั้นยิ่งเราบริหารเวลาได้ดีก็ยิ่งมีเวลาเหลือไปทำงานอย่างอื่น ซึ่งเท่ากับมีเวลาหารายได้นอกเหนือจากรายได้หลัก เราจึงไม่พลาดที่จะนำ 5 ขั้นตอนการบริหารเวลาจากหนังสือเล่มนี้มาฝากคุณกัน
…คะซึโยะ นักเขียนหนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอ “กฎเวลาเป็นเงินเป็นทอง 5 ข้อ” ไว้ว่า
กฎข้อที่ 1 อย่าเสียดายการลงทุนทุกด้านเพื่อสร้างเวลา
กฎข้อที่ 2 ยึดผลสำเร็จต่อหนึ่งหน่วยเวลาเป็นหลัก
กฎข้อที่ 3 ไม่เป็น ‘คนดี’ เกินความจำเป็น
กฎข้อที่ 4 ให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยากทำ สิ่งที่ถนัด และสิ่งที่ทำเงินได้ก่อน
กฎข้อที่ 5 กำหนดตารางเวลาหลวมๆ ตามใจตัวเอง
เพราะ “เวลา” คือทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ถ้าเพียงแต่มีเวลา ไม่ว่าเราจะเผชิญปัญหาอะไรเราก็จะสามารถแก้ไขได้โดยง่าย คะซึโยะบอกไว้ว่า “ถ้ามองในแง่การลงทุน เราจะไม่เสียดายการลงทุนเพื่อเพิ่มเวลา เพราะถ้าเพิ่มเวลาได้ กานำทรัพยากรที่ลงทุนไปกลับคืนมาก็ไม่ใช่เรื่องยาก” โดยการลงทุนที่คะซึโยะกล่าวถึงคือการลงทุน 5 ด้านด้วยกัน ได้แก่เครื่องมือ สมรรถภาพทางกาย การเปลี่ยนแปลง ความรู้ และเทคนิค
กฎข้อนี้คือการตระหนักถึงรายได้และรายจ่ายของเรา โดยคะซึโยะแนะนำให้เราคิดเป็นต่อหน่วยชั่วโมง โดยเฉพาะการฝึกนิสัยหารทุกอย่างทั้งราคาและค่าใช้จ่ายด้วยจำนวนต่อชั่วโมง ทั้งรายได้ต่อชั่วโมงที่เราหาได้และรายจ่ายต่อชั่วโมงที่เราต้องเสียไป เช่น หากรายได้ต่อชั่วโมงของเรา ‘มากกว่า’ รายจ่ายด้านบริการต่อชั่วโมง แสดงว่าเราสามารถใช้บริการนั้นได้ การเปรียบเทียบรายได้สุทธิและรายจ่ายของบริการนั้นๆ ในหน่วยต่อชั่วโมงจะทำให้เราประเมินตัวเองได้ว่า “จะสามารถลงทุนซื้อบริการแบบไหนได้”
นอกจากนี้เราควรคำนวณ “ผลสำเร็จต่อชั่วโมง” เพื่อรักษาสมดุลของรายได้และสิ่งที่จะได้รับในอนาคต คะซึโยะยกตัวอย่างงานเลี้ยงสังสรรค์ หากเราไม่รู้ว่าไปร่วมงานแล้วจะเกิดผลดีอะไรบ้าง การไปร่วมงานก็จะกลายเป็นแค่โจรขโมยเวลา แต่หากคุณคิดคำนวณแล้วว่าการไปร่วมงานเป็นความจำเป็น แต่เราก็ต้องมีการกำหนดกรอบที่แน่นอนว่าจะแบ่งเวลาเพื่องานเลี้ยงนี้ไว้เท่านานแค่ไหน เพราะการใช้เวลาอย่างสิ้นเปลืองโดยไม่กำหนดขอบเขตก็ทำให้เราเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์เช่นกัน
คะซึโยะกล่าวว่า “การเป็นคนดีมากเกินไปก็กลายเป็นค่าใช้จ่าย” เพราะการเป็นคนใจกว้างกับคนอื่นจะค่อยๆ ขโมยเวลาของเราไปเรื่อยๆ ทีละนิด โดยเฉพาะคนที่ปฏิเสธคนอื่นไม่เป็นจึงมักถูกคนอื่นใช้ ซึ่งนั่นก็คือการถูกเบียดเบียนเวลาไปโดยที่ไม่ได้อะไรตอบแทน แต่ใช่เวลาเราต้องเป็นคนเลวจึงจะจัดสรรเวลาได้ดี เพียงแต่เราต้องรู้จักปฏิเสธเป็น โดยเฉพาะเรื่องที่เราประเมินแล้วว่าเราไม่ได้ผลตอบแทนที่ชัดเจนกับเวลาที่เสียไป
กฎข้อนี้คะซึโยะแนะนำว่า เราควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรา ‘อยากทำ’ และ ‘มีความถนัดก่อน’ เพราะหากเป็นสิ่งที่เราอยากทำ จะทำให้เราลงมือทำโดยไม่ลังเล ส่งผลให้เราได้ค่าตอบแทนที่ราบรื่น แต่ในทางตรงข้ามงานที่เราทำไม่ค่อยได้ ส่วนใหญ่มีเหตุผลมาจากการไม่อยากทำ
อีกหนึ่งประเด็นที่คะซึโยะแนะนำคือ ‘การไม่ฝืนทำสิ่งที่ไม่ถนัด’ เพราะทำให้เราเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ แม้จะมีหลายเสียงบอกว่า ควรพยายามทำสิ่งที่ไม่ถนัดให้ถนัดขึ้นสิ แต่ถ้าเราเอาเวลานั้นไปพัฒนาสิ่งที่ถนัดให้เชี่ยวชาญยิ่งขึ้น จะเป็นการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
ความผิดพลาดของคนที่บริหารเวลาไม่เป็นคือ ‘การใส่ตารางเวลาจนแน่นไปหมด’ โดยไม่เผื่อเวลาว่างระหว่างงานแต่ละงาน ซึ่งตารางเวลาที่จัดไว้แน่นๆ จะดีเฉพาะช่วงเวลาสั้นๆ แต่ในระยะยาวจะนำไปสู่ความล้มเหลว สิ่งสำคัญของการจัดตารางเวลาคือ “ต้องเผื่อเวลาว่างระหว่างแต่ละแผนการไว้ให้พอ” โดยใน 1 วันควรใส่สิ่งที่ต้องทำไว้สัก 3-4 รายการก็เพียงพอแล้ว ซึ่งการจัดตารางเวลาหลวมๆ จะทำให้เราดึงประสิทธิภาพออกมาได้มากที่สุด
ปิดท้ายกันด้วยแนวคิดจัดสรรเวลาของคะซึโยะที่กล่าวไว้ว่า “วิธีจัดสรรเวลาเป็นตัวกำหนดค่าแรงต่อชั่วโมงและรายได้ต่อปีของพวกเรา ยิ่งใช้เวลาให้เกิดประโยชน์และสร้างผลผลิตออกมาได้มากเท่าไหร่ ยิ่งมีรายได้ต่อปีสูง โดยใช้เวลาทำงานน้อย”
หนังสือ: จัดสรรเวลาดี มีรายได้เพิ่ม 10 เท่า
นักเขียน: คะซึโยะ คัตสึมะ
แปล: ณิชากร อุปพงษ์
สำนักพิมพ์: Amarin How To