ไม่มีใครอยากขับรถคันโปรดไปลุยน้ำกันหรอก แต่ด้วยฟ้าฝนที่ตกหนักอยู่ทุกวันทำให้เกิดสภาพวะน้ำท่วมขังบนถนนเส้นหลัก ดังนั้นบางครั้งเราก็จำใจต้องพารถคันโปรดไปลุยน้ำเพื่อไปให้ถึงที่หมาย แต่หลังจากพารถไปลุยน้ำกันแล้วก็อย่าลืมกลับมาดูแลรถคันโปรดให้ดีๆ แต่จะดูแลอย่างไร วันนี้เรามีคำตอบ!!
แน่นอนว่าปัญหาใหญ่ของการพารถคันโปรดไปลุยน้ำคงมีแต่คำว่ารถเสียกับเสีย เพราะน้ำส่งผลต่อการทำงานของเครื่องยนต์ โดยเฉพาะเมื่อน้ำที่เราไปลุยมามีปริมาณสูงกว่าครึ่งล้อรถด้วยแล้ว ยิ่งทำให้รถน่าเป็นห่วง ดังนั้นทันทีที่เราพาพ้นจากวิกฤต ในเบื้องต้นเราควรจะ…
• ล้างรถให้สะอาดด้วยการฉีดน้ำเข้าท้องรถและล้อรถ เพื่อกำจัดเศษหินดิน เศษหญ้าใบไม้ หรือเศษขยะที่อาจติดมาด้วย หากกลัวว่าเราจะฉีดน้ำไม่ดี แทนที่จะช่วยขจัดเศษขยะกลับเป็นการทำลายรถมากกว่า แนะนำให้พาไปทำความสะอาดกับผู้เชี่ยวชาญ
• รื้อพื้นพรมในรถออกมาผึ่งแดด เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา ซึ่งเป็นต้นเหตุของกลิ่นอับและทำให้รถกลายเป็นที่แพร่เชื้อโรค
• เปลี่ยนของเหลวทั้งหมดในรถ ทั้งน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ น้ำมันเบรก ฯลฯ เพราะเมื่อน้ำซึมเข้าไปผสมกับของเหลวเหล่านี้ จะส่งผลเสียต่อรถอย่างคาดไม่ถึง ดังนั้นเราควรเปลี่ยนของเหลวเหล่านี้ตั้งแต่เนิ่นๆ หลังพารถไปลุยน้ำมาเลยจะเป็นผลดีกับรถมากกว่า
• ตรวจสภาพของเครื่องยนต์ ข้อนี้เป็นหัวใจหลักของการดูแลรถหลังจากลุยน้ำเลย โดยหากเราไม่รู้เรื่องเครื่องยนต์กลไก แนะนำให้พาไปเช็คที่ศูนย์หรืออู่จะดีกว่า โดยการตรวจสภาพเครื่องยนต์ เราต้องใส่ใจดูแลเรื่อง
– ระบบเบรก เป็นระบบแรกๆ ที่เราต้องตรวจสอบ เพราะระบบเบรกคือระบบความปลอดภัยของเรา โดยระบบเบรกเมื่อลุยน้ำมักจะปนเปื้อน ส่งผลให้ระบบเบรกติดขัด อีกทั้งน้ำยังทำให้ระบบเบรกเกิดความชื้น ทำให้ประสิทธิภาพของระบบเบรกลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเบรกที่เสื่อมสภาพได้เมื่อโดนน้ำ ดังนั้นเราควรตรวจเช็คระบบเบรกทั้งหมด แม้ว่ารถจะลุยน้ำสูงหรือไม่ก็ไม่ควรมองข้าม
– ลูกปืนล้อ ชุดล้อรถยนต์ในปัจจุบันประกอบด้วยลูกปืนที่มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ล้อสามารถหมุนได้อิสระ โดยมีจาระบีทำหน้าที่หล่อลื่น แต่เมื่อใดที่เราพารถไปลุยน้ำ จาระบีอาจจะถูกซะล้างด้วยน้ำ ซึ่งส่งผลให้ลูกปืนมีอาการดังและนำไปสู่ลูกปืนล้อแตก
– เพลาขับและเฟืองท้าย ใครที่พารถไปลุยน้ำแบบมิดใต้ท้องต้องใส่ใจส่วนนี้เป็นสำคัญ เพราะน้ำอาจจะเข้าไปซะล้างจาระบีที่อยู่ภายใน เป็นผลให้รถยนต์เกิดปัญหาที่คาดไม่ถึง แม้กระทั้งรถกระบะที่มีชุดเพลาเป็นคานแข็ง ก็ต้องใส่ใจดูแลเรื่องนี้เช่นกัน
– ระบบปรับอากาศ สิ่งที่ตามมาเมื่อพารถไปลุยน้ำคือกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่ติดมากับน้ำ หลายคนไม่ได้นึกใส่ใจถึงเรื่องนี้ แม้ว่ารถจะไม่ได้จมน้ำก็ไม่ควรละเลยเรื่องการกำจัดกลิ่นในระบบแอร์ด้วย
ในกรณีที่จำเป็นต้องลุยน้ำจริงๆ ก็มีเทคนิคการขับรถลุยน้ำซึ่งช่วยลดความเสียหายของรถยนต์ได้บ้าง ดังนี้
01. ก่อนถึงจุดน้ำท่วม ต้องลดความเร็วรถลง ไม่ควรขับรถเร็วผ่านบริเวณน้ำขัง เพราะรถยนต์มีน้ำหนักเบา จึงอาจเสียการทรงตัวและคุมรถไม่อยู่ได้ ความเร็วที่พอเหมาะคือไม่ควรเกิน 60-80 กม./ชม.
02. ระดับน้ำที่เราสามารถขับผ่านไปได้นั้น ถ้าเป็นรถเก๋งระดับน้ำที่พอจะขับผ่านไปได้คือไม่เกิน 30 ซม. หรือประมาณครึ่งล้อรถ แต่หากระดับน้ำสูงกว่านี้ไม่แนะนำให้ขับผ่าน เพราะเครื่องยนต์อาจจะดับกลางทางได้
03. แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องลุยน้ำจริงๆ ก่อนจะขับลุยน้ำแนะนำให้ปิดแอร์ในรถยนต์ และเปิดกระจกระบายอากาศแทน เพื่อป้องกันใบพัดของระบบแอร์ที่อาจพัดน้ำเข้าเครื่องและไปทำลายระบบไฟฟ้าในรถ
04. ขณะขับรถลุยน้ำให้ใช้เกียร์ต่ำอยู่เสมอ และรักษาอัตราเร่งให้อยู่ประมาณ 1500 – 2000 รอบ แต่ไม่ควรต่ำกว่านี้เพราะจะทำให้เครื่องดับ หรือหากสูงกว่านี้อาจจะเป็นการดูดน้ำเข้าเครื่องได้เช่นกัน
05. เวลาลุยน้ำระบบเบรกจะต้องแช่น้ำส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานต่ำ ดังนั้นขณะขับรถลุยน้ำ เราต้องเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มาก และเมื่อขับพ้นน้ำแล้วก็ไม่ควรเร่งเครื่องทันที แต่ให้ขับช้าๆ พร้อมกับทดสอบเบรกเป็นระยะๆ เพื่อให้ผ้าเบรกที่เปียกแห้งน้ำ
06. กรณีที่รถดับท่ามกลางน้ำท่วม อย่าพยายามสตาร์ทเครื่องใหม่ เพราะจะทำให้น้ำเข้าสู่เครื่องยนต์มากยิ่งขึ้น แต่ควรหาคนช่วยย้ายรถไปในพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วม แล้วเรียกรถยกมาขนรถคันโปรดเข้าศูนย์หรืออู่ทันที
แต่ไม่ว่าคุณจะตั้งใจพารถไปลุยน้ำหรือไม่ เราก็ขอแนะนำให้คุณตรวจเช็คสภาพรถอยู่เสมอ โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนที่ถนนมักจะลื่น จึงไม่ควรละเลยเรื่องเบรกและสภาพของยางรถยนต์ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน