MOVIE SHADE: T2 Trainspotting เลือกที่จะใช้ชีวิต

ชีวิตคนเราเมื่อได้เกิดมาแล้ว ได้ใช้ชีวิตมากแค่ไหน ถึงจะเรียกได้ว่าได้ใช้ชีวิตได้คุ้ม?

ได้ลองผิด ได้ลองถูก ได้ทำสิ่งที่มีความสุข และได้ทำสิ่งที่ต้องห้ามและไม่ควรทำ?

ได้ทดลองติดยา ได้ริลองที่จะขโมย กระทำความผิด ติดคุก หรือ มีความรัก มีมิตรภาพ และได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิต?

คงไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด สำหรับการใช้ชีวิตที่สามารถประยุกต์ใช้กับคนทุกคนได้ เพราะว่าคนเราทุกคนล้วนเกิดมาเพื่อค้นหาตัวตนและความหมายของชีวิตที่แตกต่างกันไป และไม่ได้หมายความว่าชีวิตที่ไม่เคยเดินทางผิด จะเป็นเป็นชีวิตที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้ไม่คุ้มค่า แต่ก็จะไม่ได้หมายความว่าชีวิตที่เคยเดินเส้นทางที่มืดหม่น จะเป็นการท้าทายที่ถูกต้องด้วยเช่นกัน ไม่ต่างอะไรกับเรื่องราวของกลุ่มวัยรุ่นขี้ยาที่เสพย์ติดเฮโรอีนจากเอดินเบอระ ที่ได้เดินทางบนเส้นทางดำมืดของชีวิตเป็นเวลา 20 ปี

เมื่อปี 1996 ผู้กำกับ Danny Boyle ในวัย 40 ปี หลังจากที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ในโทรทัศน์ช่อง BBC ของไอร์แลนด์เหนือ เขาได้ประสบความสำเร็จจากภาพยนตร์เรื่อง Shallow Grave (1994) ที่ทำให้เขาได้ก้าวสู่ผลงานชิ้นที่ 2 ที่ชื่อว่า Trainspotting (1996) ด้วยวัย 40 ปี กับ Ewan McGregor ที่มีอายุเพียง 25 ปีในเวลานั้น ภาพยนตร์ Trainspotting กลายเป็นภาพยนตร์ที่มีความแหวกแนวและแปลกใหม่ ที่บอกเล่าถึงชีวิตของกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตอย่างสูญเปล่าเพราะยาเสพย์ติด โดยสร้างมาจากนิยายของ Irvine Welsh ที่มีชื่อเดียวกัน

20 ปีต่อมา เหล่าบรรดากลุ่มวัยรุ่นติดยาจากเอดินเบอระ ได้กลับมาพบกันใหม่อีกครั้ง โดย Mark Renton ที่คราวนี้รับบทโดย Ewan McGregor ด้วยวัย 46 ปี และเพื่อนพ้องตัวละครสำคัญที่ยังคงอยู่กันครบหน้า ไม่ว่าจะเป็น Spud (Ewen Bremner) , Sickboy (Jonny Lee Miller) หรือแม้แต่ Bigbie (Robert Carlyle) ซึ่งทั้งหมดนี้ได้กลับมาพบกันใหม่อีกครั้ง ภายใต้การกำกับของ Danny Boyle คนเดิม ที่คราวนี้เขาไม่ได้เป็นเพียงแค่ชายที่อายุ 60 ปี แต่เป็นถึงผู้กำกับที่เคยได้รับรางวัลออสการ์ และลูกโลกทองคำจากภาพยนตร์เรื่อง Slumdog Millionaire (2008) อีกด้วย โดย T2 Trainspotting นั้นเป็นการดัดแปลงมาจากนิยายเรื่อง Porno ที่เป็นนิยายภาคต่อของ Trainspotting ที่ถูกเขียนออกมาในปี 2002 ซึ่งในหนังสือเป็นเรื่องราว 10 ต่อมาจากเรื่องราวในภาคแรก แต่ในฉบับภาพยนตร์นั้น จะเป็นเรื่องราวของ 20 ปีต่อมา โดยเริ่มจากตัวละคร Renton ที่หวนกลับมาที่เอดินเบอระอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ได้หักหลังเพื่อนพ้องของเขาไปถึง 20 ปี และตัวละคร Bigbie ที่เพิ่งออกมาจากคุก และนี่เป็นเพียงชนวนเหตุแค่ไม่กี่อย่างที่ทำให้เรื่องราวต่างๆของภาคนี้ได้เกิดขึ้น แต่นั่นก็ไม่ใช่เสน่ห์ทั้งหมดของ T2 Trainspotting

วิกฤติวัยกลางคนของตัวละคร คือประเด็นการเล่าเรื่องที่แตกต่างออกไปจาก Trainspotting ในภาคแรก ที่เคยเน้นไปที่การเสพย์ยา และการใช้ชีวิตโดยไม่คิดถึงอนาคตของการเป็นวัยรุ่น แม้ว่าเมื่อมาถึงภาค T2 Trainspotting นี้ จะยังคงมีเรื่องราวของยาเสพย์ติดมาเกี่ยวข้อง แต่ตัวภาพยนตร์ก็ได้หยิบยกเอาประเด็นมุมมองความคิดของคนวัยกลางคน ที่ถูกทอดทิ้งไปกับกาลเวลา และรู้สึกไม่สามารถปรับตัวเข้ากันได้กับโลกยุคใหม่ในปัจจุบัน ซึ่งสามารถสร้างอารมณ์ร่วมของความรู้สึกเคว้งคว้างกับคนที่โตมาในยุค 90 ได้ดี แต่ในทางกลับกัน ก็สามารถทำให้เราเห็นได้ว่า มิตรภาพของคนกลุ่มนี้ แม้ว่าจะไม่ใช่มิตรภาพที่สวยหรู แต่พวกเขา ก็เคยสัมผัสถึงจุดที่ต่ำสุดของชีวิต และความรู้สึกไร้ค่าในการมีตัวตนอยู่ในสังคม จนสามารถสัมผัสได้ถึงความขม ที่พวกคนเหล่านี้ได้เติบโตขึ้นมา จนทำให้บางที เราต่างรู้สึกได้ว่า ความขม คงเป็นเรื่องที่ธรรมดาของชีวิต แต่ยังดีที่ชีวิต มีเพื่อนที่เข้าใจถึงความขมและเติบโตผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาด้วยกัน

การใช้ชีวิตให้คุ้มค่า คือประโยคที่ Renton มักพูดถึง แต่ก็คงไม่มีใครตอบได้ ว่าอะไรคือการใช้ชีวิตให้คุ้มค่าที่สุด ไม่ต่างอะไรกับคำว่า Trainspotting ที่ความหมายตรงตัวนั้นแปลว่าการนั่งมองดูรถไฟที่เข้ามาในสถานีไปเรื่อยเปื่อย ไม่มีจุดหมายของชีวิตอะไร จนบางที การที่เราใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ไม่ให้เกิดความผิดพลาด หรือว่าความด่างพร้อย ก็อาจเป็นการใช้ชีวิตที่น่าเบื่อหน่ายและเสียชาติเกิดก็เป็นได้ แต่ใครเล่าจะมาตัดสินคำตอบของชีวิตได้ ถ้าเราไม่สามารถเข้าถึงคำตอบของคำถามนี้ได้ ด้วยได้ได้ลองใช้เวลาในการค้นหา ด้วยชีวิตของเรา

keyboard_arrow_up