Miss Sloane

MOVIE SHADES : Miss Sloane ชัยชนะของการบิดเบือน

Miss Sloane
Miss Sloane

WHY : Miss Sloane ว่าด้วยการใช้วิธีการบิดเบือนสารพัดรูปแบบเพื่อหาผลประโยชน์นั้นชวนให้ติดตามว่า ทำไม การแสดงอันทรงพลังของ Jessica Chastain นั้น เธอสามารถสื่อสารตัวละครสีดำได้ดีเสียจน … เกลียดไม่ลง

มนุษย์เราเริ่มเรียนรู้ที่จะใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ก็ตั้งแต่ในสมัยยุคโบราณ เมื่อครั้งที่ชาวกรีกทำการแสดงในโรงละครกลางแจ้งอยู่ ก่อนที่จะมีการพิมพ์หนังสือเล่มแรกของโลกขึ้นในเมื่อ 868 ปีหลังคริสตกาล แล้วก็มีการใช้แท่นพิมพ์ที่ทำมาจากดินเหนียวเกินขึ้น ก่อให้เกิดเป็น “สื่อสิ่งพิมพ์” และการสื่อสารมวลชนขึ้นมา

ตั้งแต่อดีต มีการนำสื่อมาใช้เป็นกลยุทธ์ทางการสงครามโดยตลอด และใช้กันอย่างจริงจังในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีการใช้สื่อวิทยุกระจายเสียงเป็นหนึ่งในเครื่องมือของการทำสงคราม จนถึงขั้นมีประโยคของ Winston Churchill นายกรัฐมนตรีของอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่  2 ได้กล่าวไว้ว่า

ในสภาวะสงคราม ความจริงเป็นสิ่งที่ล้ำค่า จนต้องโอบล้อมไปด้วยผู้พิทักษ์ที่เป็นคำลวง”

หมายความว่า ความจริง และ การบิดเบือนความจริง คือกลยุทธ์อย่างหนึ่งที่ใช้ในการทำสงครามเพื่อเอาชนะฝ่ายตรงกันข้าม โดยผู้ที่ครอบครองสื่อ มักมีภาพลักษณ์ของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า และอาจทำให้เกิดชัยชนะ ในสงครามครั้งนั้น เช่นเดียวกันกับ Elizabeth Sloane ล็อบบี้ยิสต์ชื่อดัง ที่มีความมั่นใจว่า หากเธอเป็นผู้ที่สามารถเอาชนะฝ่ายตรงกันข้ามด้วยสื่อได้ ฝ่ายของเธอก็จะได้รับชัยชนะด้วยเช่นกัน

Miss Sloane

คำว่า ล็อบบี้ยิสต์ (Lobbyist) เป็นศัพท์เก่าโบราณที่มีการเริ่มใช้ตั้งแต่สมัยปี ค.ศ.1830 โดยมีการรวมตัวกันของสมาชิกรัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา มานั่งรวมกันอยู่ในห้องนั่งเล่น หรือ Lobby เพื่อลงความเห็นหรือลงมติในเรื่องสำคัญๆ ดังนั้นคำว่า ล็อบบี้ยิสต์ จึงหมายถึงบุคคลที่เป็นคนกลางที่จะเชื่อมต่อ หรือทำหน้าที่สื่อสารกับผู้คนในแต่ละฝ่ายให้เข้าหากัน เพื่อให้การตกลงหรือการเจรจานั้นสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะเกี่ยวกับการวางกลยุทธ์ทางการเมือง และในการรวบรวมคะแนนเสียง ซึ่งแน่นอนว่าในยุคปัจจุบันที่สื่อได้กลายมาเป็นช่องทางการหาเสียงที่สำคัญที่สุด ย่อมกลายเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่ทุกคนต้องการครอบครองเพื่อให้ได้รับชัยชนะ

Miss Sloane

Elizabeth Sloane รับบทโดย Jessica Chastain (The Martian , Zero Dark Thirty) คือล็อบบี้ยิสต์เบอร์หนึ่งที่บุคคลระดับสูงในแวดวงการเมืองของสหรัฐอเมริกาให้ความไว้วางใจ เธอได้รับมอบหมายให้คิดกลยุทธ์ในการเรียกคะแนนเสียงจากกฎหมายการควบคุมอาวุธปืน ที่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น โดยเธอเชื่อมันว่า การล็อบบี้คือการมองการณ์ไว้ล่วงหน้า และด้วยบทบาทนี้ของเธอ ที่ทำให้เธอได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงในปีนี้ ผ่านการกำกับโดย John Madden ที่เคยได้รับการเข้าชิงสาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง Shakespeare in Love (1998) มาแล้ว แม้ว่าในตอนนั้นเขาอาจจะพลาดรางวัลนี้ไป แต่ก็ได้ชนะรางวัลออสการ์ในปีนั้นถึง 7 รางวัล รวมไปถึงทำให้ Gwyneth Paltrow ได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาครอบครอง กลับมามอง Miss Sloan กันต่อ แม้ว่าแนวทางของภาพยนตร์จะแตกต่างจากผลงานส่วนใหญ่ที่เขาเคยกำกับมาก่อน แต่ Miss Sloan คือภาพยนตร์แนว Drama – Thriller ที่ทำให้คนดูลุ้นระทึกไปกับการแสดงและบทบาทภาพยนตร์

Miss Sloane

Miss Sloane เป็นภาพยนตร์ที่ใช้การพูดตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งไม่น่าเชื่อเลยว่า นี่คือผลงานการเขียนบทชิ้นแรกของ Jonathan Perera ที่สามารถเขียนบทได้สนุกเร้าใจมากถึงขนาดนี้ บวกกับการแสดงของ Jessica Chastain ที่สามารถแสดงออกมาเป็นตัวละครสีดำที่จะเกลียดก็เกลียดไม่ลง ยิ่งทำให้ตัวภาพยนตร์นั้นมีเสน่ห์และน่าติดตามมากขึ้น แม้ว่าในบางครั้ง ตัวภาพยนตร์จะมีการแสดงที่เกินจริง หรือความ cliché (การใช้สำนวนจำเจ) อยู่ในพล็อตเรื่องอยู่บ้าง แต่ Miss Sloane คือภาพยนตร์ที่เรียกได้ว่า สนุก และ ลุ้นระทึก อย่างน่าพอใจ

Miss Sloane

ทุกวันนี้โลกของเราเต็มไปด้วยสื่อในรูปแบบต่างๆ จนล้นมือ ซึ่งแน่นอนว่า ได้มีการใช้วิธีการบิดเบือนสารพัดรูปแบบเพื่อหาผลประโยชน์จากมันด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นทำให้ทุกวันนี้การค้นหาความจริง ได้กลายเป็นเรื่องที่ยากลำบากไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแยกแยะให้ออกว่า เรื่องไหนคือความจริง และเรื่องไหนคือความเท็จ เพราะโลกของเราได้กลายเป็นดาวเคราะห์ที่หมุนเร็ว และสื่อต่างๆ ก็ต้องรีบแข่งขันเพื่อเอาชนะเป็นสื่อแรกที่ได้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเหล่านั้น ทำให้บางครั้ง สื่อใหญ่ที่สมควรได้รับความน่าเชื่อถือ ก็กลายเป็นสื่อที่บิดเบือน และในบางครั้งสื่อเล็กๆ ก็สามารถกลายเป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อผู้เสพข่าวสารได้ด้วยเช่นกัน

Miss Sloane

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าโลกนี้จะเต็มไปด้วยความจริงอันบิดเบือนมากมายสักแค่ไหน แต่ชัยชนะที่ได้จากการครอบครองสื่อ ก็ไม่ใช่ชัยชนะอันยิ่งใหญ่หรือถาวรไปเสียแล้ว เนื่องจากว่าโลกนั้นหมุนเร็ว สิ่งต่างๆ จึงเปลี่ยนแปลงไปเร็วด้วยเช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่พวกเราพอทำได้ นั่นคือ การเสพสื่ออย่างมีสติ แต่ถ้าหากข้อมูลที่เรานั้นถูกบิดเบือนไป เราก็ได้แค่รอให้ข้อมูลนั้นเลือนหายไปภายใน 1 สัปดาห์ก็แค่นั้น ไม่มีอะไรที่ต้องกังวล…จริงหรือ?

keyboard_arrow_up