พระนาม ๙ รัชกาล

เปิดความหมาย เรียนรู้ที่มา พระนาม ๙ รัชกาล

พระนาม ๙ รัชกาล
พระนาม ๙ รัชกาล

The Stories เพราะโลกนี้ยังมีเรื่องเล่า :
พระปรมาภิไธย พระบรมนามาภิไธย และ พระนาม

สมัยเรียน เราทุกคนคงเคยได้ยิน พระนาม ของพระมหากษัตริย์ไทยจากอาจารย์วิชาสังคมศึกษาในคาบวิชาประวัติศาสตร์ หรือเราอาจจะเคยเขียนและท่องจำพระนามของในหลวงแต่ละรัชกาลได้อย่างแม่นยำไว้เพื่อเตรียมสอบวิชาภาษาไทยกันมาแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราเรียนจบ วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไป ด้วยสังคมการทำงานที่รีบเร่งบวกกับได้ใช้กันน้อยลง หรือบางสายอาชีพแทบจะไม่ได้ใช้เลย ความจำที่แม่นยำเกี่ยวกับพระนามก็อาจไม่เต็มร้อย

ในโอกาสนี้ เราจึงขอจัดทำรายพระนามของ สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ๙ รัชกาล โดยรวบรวมประวัติที่มาของพระนามเดิม พระนามเต็ม และพระราชสมัญญานาม เพื่อเป็นการถวายสดุดีพระเกียรติ และให้ลูกหลานไทยได้จดจำสืบต่อไป

ความหมายแห่ง พระนาม

ก่อนที่เราจะไปทราบพระนามของแต่ละพระองค์นั้น เรามาทบทวนคำศัพท์เบื้องต้นที่เกี่ยวกับ พระนาม กันก่อน

พระบรมนามาภิไธย หมายถึง พระนามเดิมของพระมหากษัตริย์ ก่อนเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ

พระปรมาภิไธย เป็นคำสมาสมาจากคำว่า พระ+ปรม+อภิไธย แปลว่า ชื่ออันประเสริฐยิ่ง หมายถึง พระนามของพระมหากษัตริย์ ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ หลังจากที่ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๔

พระปรมาภิไธยย่อ หมายถึง การย่อพระปรมาภิไธยให้เหลือเพียง ๓ ตัวอักษร โดยส่วนมาก มักใช้เป็น ตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ ในงานพระราชพิธี งานเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสสำคัญต่าง ๆ

พระสุพรรณบัฏ หมายถึง แผ่นทองคํารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่จารึก พระนามพระมหากษัตริย์ พระบรมราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์ เจ้าขึ้นไป เจ้าประเทศราช และสมเด็จพระสังฆราช

พระราชสมัญญานาม หมายถึง พระนามตามที่มีผู้ถวายพระเกียรติ


พระนาม ๙ รัชกาล

พระบรมนามาภิไธย

รัชกาลที่ ๑ : ทองด้วง

รัชกาลที่ ๒ : ฉิม (สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล)
คำว่า “ฉิม” นั้นถ้าตามความหมายของวรรณคดีไทย คือ พญาครุฑ เทพในเทวกำเนิด อยู่ที่วิมานฉิมพลี

รัชกาลที่ ๓ : ทับ (พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์)
คำว่า “ทับ” นั้นหมายถึง ที่อยู่ หรือเรือน

รัชกาลที่ ๔ : มงกุฎ (สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามกุฎสมมติวงศ์ พระวชิรญาณมหาเถร)
คำว่า “มงกุฎ” นั้นหมายถึง ศิราภรณ์สำคัญของพระมหากษัตริย์ อยู่ในเครื่องเบญจราชกุธภัณฑ์

รัชกาลที่ ๕ : จุฬาลงกรณ์ (สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ)
มีพระนามลำลองว่า “ทูลกระหม่อมจุฬาลงกรณ์” และคำว่า “จุฬาลงกรณ์” นั้นหมายถึง พระจุลมงกุฎ ศิราภรณ์ชนิดหนึ่งอย่างมงกุฎ เรียกว่า พระเกี้ยว

รัชกาลที่ ๖ : มหาวชิราวุธ (สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ)
มีพระนามลำลองว่า “ทูลกระหม่อมโต” ส่วนคำว่า “วชิราวุธ” นั้นหมายถึง สายฟ้าอันเป็นเทพศาสตราของพระอินทร์

รัชกาลที่ ๗ : ประชาธิปกศักดิเดชน์ (สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา)
มีพระนามลำลองว่า “ทูลกระหม่อมเอียดน้อย” ส่วนคำว่า “เดชน์” นั้นหมายถึง ลูกศร

รัชกาลที่ ๘ : อานันทมหิดล (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล)
มีพระนามลำลองว่า “พระองค์ชาย” ส่วนคำว่า “นันท” เป็นคำที่พระมารดาทรงเรียกพระองค์ นั้นหมายถึง ความสนุก ความยินดี ความรื่นเริง

รัชกาลที่ ๙ : ภูมิพลอดุลยเดช (สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช)
มีพระนามลำลองว่า “พระองค์เล็ก” ส่วนคำว่า “ภูมิพล” นั้นหมายถึง พลังแห่งแผ่นดิน


พระนาม ๙ รัชกาล

พระปรมาภิไธย ที่ใช้ในปัจจุบัน

รัชกาลที่ ๑ : พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
(พระนามเต็ม “พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก”)

รัชกาลที่ ๒ : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
(พระนามเต็ม “พระบาทสมเด็จพระบรมราชพงษเชษฐมเหศวรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย”)

รัชกาลที่ ๓ : พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
(พระนามเต็ม “พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐมหาเจษฎาบดินทร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว”)

รัชกาลที่ ๔ : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(พระนามเต็ม “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”)

รัชกาลที่ ๕ : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(พระนามเต็ม “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”)

รัชกาลที่ ๖ : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
(พระนามเต็ม “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”)

รัชกาลที่ ๗ : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
(พระนามเต็ม “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”)

รัชกาลที่ ๘ : พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
(พระนามเต็ม “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สกลไพศาล มหารัษฎธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร”)

รัชกาลที่ ๙ : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
(พระนามเต็ม “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”)


พระนาม ๙ รัชกาล

พระปรมาภิไธยโดยสังเขป
ตามแบบพระราชนิยมรัชกาลที่ ๖

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชนิยมให้ใช้พระปรมาภิไธยโดยสังเขปโดยมีคำนำหน้าว่า “รามาธิบดีศรีสินทร” ทุกรัชกาล โดยพระองค์ได้ถวายพระปรมาภิไธยแก่สมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และเฉลิมพระปรมาภิไธยของพระองค์เอง ดังนี้

รัชกาลที่ ๑ : พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑

รัชกาลที่ ๒ : พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาอิศรสุนทร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย
หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒

รัชกาลที่ ๓ : พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรเจษฏาธิบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓

รัชกาลที่ ๔ : พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฏ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๔

รัชกาลที่ ๕ : พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๕

รัชกาลที่ ๖ : พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
หรือ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๖

ส่วนพระปรมาภิไธยในภาษาอังกฤษนั้น โปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำว่า Rama” แล้วตามด้วยหมายเลขลำดับรัชกาลแบบเลขโรมันตามธรรมเนียมยุโรป

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีใช้พระปรมาภิไธยโดยสังเขปตามแบบข้างต้นสืบไปทุกรัชกาล แต่เมื่อรัชกาลที่ ๗ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ การใช้พระปรมาภิไธยก็กลับไปใช้ตามแบบพระราชนิยมของรัชกาลที่ ๔ เช่นเดิม


พระนาม ๙ รัชกาล

พระปรมาภิไธย ในภาษาอังกฤษ

ดังที่กล่าวข้างต้นถึงคำว่า Rama แล้วตามด้วยตัวเลขโรมันในภาษาอังกฤษนั้น มีที่มาจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยทรงศึกษาอยู่ต่างประเทศมานานจึงยึดเอาธรรมเนียมการตั้งพระปรมาภิไธยของราชวงศ์ทางยุโรปมาใช้ในรัชสมัยของพระองค์

โดย คำว่า Rama” อ่านว่า “รามา” ในภาษาอังกฤษมีที่มาจากคำว่า “พระราม” (King Rama) ที่ย่อมาจากคำเต็มว่า “สมเด็จพระรามาธิบดี” ซึ่งก็จะมีคติความเชื่อเรื่อง สมมติเทพ ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ที่เชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็นเทวราชจุติลงมาปกครองมนุษย์ ซึ่งมีเกี่ยวพันกันกับ “พระราม” องค์อวตารของ “พระนารายณ์” ในมหากาพย์ “รามายาณะ” เรียกว่า “รามาวตาร”” ดังนั้น พระปรมาภิไธย ในภาษาอังกฤษ จะมีคำว่า “Rama” แล้วตามด้วยหมายเลขลำดับรัชกาล เพื่อสื่อถึงพระมหากษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และยังคงใช้สืบมาจนถึงปัจจุบัน

รัชกาลที่ ๑ : King Phra Phutthayotfa Chulalok (Rama I)

รัชกาลที่ ๒ : King Phra Phutthaloetla Naphalai (Rama II)

รัชกาลที่ ๓ : King Nangklao (Rama III)

รัชกาลที่ ๔ : King Mongkut (Rama IV)

รัชกาลที่ ๕ : King Chulalongkorn (Rama V)

รัชกาลที่ ๖ : King Vachiravudh (Rama VI)

รัชกาลที่ ๗ : King Prajadhipok (Rama VII)

รัชกาลที่ ๘ : King Ananda Mahidol (Rama VIII)

รัชกาลที่ ๙ : King Bhumibol Adulyadej (Rama IX)


พระนาม ๙ รัชกาล

พระปรมาภิไธยย่อ

รัชกาลที่ ๑ : จปร
(พระนามเต็ม “มหาจักรีบรมนาถ ปรมราชาธิราช”)

รัชกาลที่ ๒ : อปร
(พระนามเต็ม “มหาอิศรสุนทร ปรมราชาธิราช”)

รัชกาลที่ ๓ : จปร
(พระนามเต็ม “มหาเจษฎาบดินทร ปรมราชาธิราช”)

รัชกาลที่ ๔ : มปร
(พระนามเต็ม “มหามงกุฎ ปรมราชาธิราช”)

รัชกาลที่ ๕ : จปร
(พระนามเต็ม “มหาจุฬาลงกรณ์ ปรมราชาธิราช”)

รัชกาลที่ ๖ : วปร
(พระนามเต็ม “มหาวชิราวุธ ปรมราชาธิราช”)

รัชกาลที่ ๗ : ปปร
(พระนามเต็ม “มหาประชาธิปก ปรมราชาธิราช”)

รัชกาลที่ ๘ : อปร
(พระนามเต็ม “มหาอานันทมหิดล ปรมราชาธิราช”)

รัชกาลที่ ๙ : ภปร
(พระนามเต็ม “มหาภูมิพลอดุลยเดช ปรมราชาธิราช”)


พระปรมาภิไธยในเอกสารราชการ

การทรงลงพระปรมาภิไธยในเอกสารสำคัญต่างๆ ของทางราชการ เริ่มใช้ครั้งแรกในรัชกาลที่ ๔ โดยมีรูปแบบของแต่ละรัชกาล ดังนี้

รัชกาลที่ ๔ : สมเด็จพระปรเมนทรมหามกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม

รัชกาลที่ ๕ : จุฬาลงกรณ์ ป.ร. หรือ สยามมินทร์

รัชกาลที่ ๖ : วชิราวุธ ป.ร. หรือ ราม วชิราวุธ หรือ ราม ร

รัชกาลที่ ๗ : ประชาธิปก ป.ร.

รัชกาลที่ ๘ : อานันทมหิดล

รัชกาลที่ ๙ : ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ในเอกสารกลุ่มสัญญาบัตร หิรัญบัตร สุพรรณบัฏตั้งสมณศํกดิ์ จะลงว่า สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ปร.


พระนาม ๙ รัชกาล

พระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏ

รัชกาลที่ ๑ – ๓  พระปรมาภิไธยที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ ของรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ จะเหมือนกันทุกตัวอักษร เนื่องจากในเวลานั้น ยังไม่มีธรรมเนียม ที่จะต้องมีพระปรมาภิไธยแตกต่างกัน ในแต่ละพระองค์ จนในรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บัญญัติไว้ว่า ในแต่ละรัชกาลจะต้องมีพระปรมาภิไธยแตกต่างกัน เว้นแต่สร้อยพระปรมาภิไธยเท่านั้นที่อณุโลมให้ซ้ำกันได้บ้าง โดย พระปรมาภิไธยของรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ จะจารึกในพระสุพรรณบัฏ เหมือนกันดังนี้

“พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาษกรวงษ์ องค์บรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวไศรย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีวิบูลยคุณอักนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชยพรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร ภูมินทรบรมาธิเบศโลกเชฐวิสุทธิ รัตนมกุฏประเทศคตา มหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว”

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ออกพระนาม รัชกาลที่ ๑ ว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” ตามนามของพระพุทธรูปที่โปรดให้สร้างอุทิศถวาย และรัชกาลที่ ๒ ว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าสุลาลัย” ตามนามของพระพุทธรูปที่โปรดให้สร้างอุทิศถวาย

จนมาถึงในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดให้เฉลิมพระปรมาภิไธยใหม่โดยสังเขปจารึกลงในพระสุพรรณบัฏ รัชกาลที่ ๑ ว่า “พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ นเรศวราชวิวัฒนวงศ์ ปฐมพงศาธิราชรามาธิบดินทร์ สยามพิชิตินทรวโรดม บรมนารถบพิตร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” รัชกาลที่ ๒ ว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมราชพงษเชษฐ มเหศวรสุนทร ไตรเสวตรคชาดิศรมหาสวามินทร์ สยารัษฎินทรวโรดม บรมจักรพรรดิราช พิลาศธาดาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระพุทธเลิศหล้านภาไลย” และรัชกาลที่ ๓ ว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐ มหาเจษฎาบดินทร์ สยามินทรวิโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” ออกพระนามโดยย่อว่า “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว”

รัชกาลที่ ๔   “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎสุทธิ สมมุติเทพยพงศวงศาดิศรกษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธิเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิตอุกฤษฐวิบูลย บุรพาดูลยกฤษฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษณ วิจิตรโสภาคสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคคล ประสิทธิสรรพสุภผลอุดม บรมสุขุมาลยมหาบุรุษยรัตน ศึกษาพิพัฒนสรรพโกศล สุวิสุทธิวิมลศุภศีลสมาจารย์ เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฏิสาธุ คุณวิบุลยสันดาน ทิพยเทพวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์เอกอัครมหาบุรุษ สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฎกาทิโกศล วิมลปรีชามหาอุดมบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฏิภาณ บริบูรณ์คุณสาร สัสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพพิเศษ สิรินธรมหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิษิต สรรพทศทิศวิชิตวิไชย สกลมไหศวรินมหาสยามินทร มเหศวรมหินทร มหาราชาวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิอัครนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร ปรเมนทรธรรมมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

รัชกาลที่ ๕   “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ มหามงกุฎราชวรางกูร สุจริตมูลสุสาธิต อรรคอุกฤษฏไพบูลย์ บุรพาดูลย์กฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญลักษณวิจิตร โสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณต บาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิ์สมญาพินิตประชานาถ เปรมกระมลขัติยราชประยูร มูลมุขมาตยาภิรมย์ อุดมเดชาธิการ บริบูรณ์คุณสารสยามาทินครวรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษสิรินธร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิ์วรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิลิต สรรพทศทิศวิชิตชัย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดินทร ปรมินทรธรรมิกหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”

รัชกาลที่ ๖  “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานารถมหาสมมตวงษ์ อดิศัยพงษวิมลรัตน์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฏนเรนทรสูรสันตติวงษวิสิฐ สุสาธิตบุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหารอดิเรกบุญฤทธิ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ บุริมศักดิสมญาเทพวาราวดี ศรีมหาบุรุษสุตสมบัติ เสนางคนิกรรัตน์อัศวโกศล ประพนธปรีชามัทวสมาจาร บริบูรณ์คุณสารสยามาทินครวรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธร บรมชนกาดิศรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเสวตฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศรามาธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤไทย อโนปไมยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดินทร์ ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว”

รัชกาลที่ ๗   “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดี เทพยปรียามหาราชรวิวงศ์ อสัมภินพงศพีระกษัตรบุรุษรัตนราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถจุฬาลงกรณราชวรางกูร มหมกุฏวงศวีรสูรชิษฐ ราชธรรมทศพิธ อุต์กฤษฎานิบุณย์อดุลยฤษฎาภินิหาร บูรพาธิการสุสาธิต ธันยลักษณ์วิจิตรเสาวภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคมานท สนธิมตสมันตสมาคม บรมราชสมภาร ทิพยเทพวตารไพศาลเกียรติคุณ อดุลยศักดิเดช สรรพเทเวศปริยานุรักษ์ มงคลลคนเนมาหวัยสุโขทัยธรรมราชา อภิเนาวศิลปศึกษาเดชาวุธ วิชัยยุทธศาสตร์โกศล วิมลนรรยพินิต สุจริตสมาจาร ภัทรภิชญาณประดิภานสุนทร ประวรศาสโนปสุดมภก มูลมุขมาตยวรนายกมหาเสนานี สราชนาวีพยูหโยธโพยมจร บรมเชษฏโสทรสมมต เอกราชยยศสธิคมบรมราชสมบัติ นพปฏลเศวตฉัตราดิฉัตร ศรีรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิศิกต์ สรรพทศทิศวิชิตเดโชไชย สกลมไหศวรยมหาสยามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัย พุทธาธิไตรรัตนวิศิษฎศักดิ์อัครนเรศวราธิบดี เมตตากรุณาศีตลหฤทัย อโนปไมยบุณยการ สกลไพศาลมหารัษฎราธิบดินทร์ ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”

รัชกาลที่ ๘  “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมลรามาธิบดี จุฬาลงกรณราชปรียวรนัดดา มหิตลานเรศวรางกูร ไอศูรยสันตติวงศวิสุทธ์ วรุตมขัตติยศักตอรรคอุดม จักรีบรมราชวงศนิวิฐ ทศพิธราชธรรมอุกฤษฎนิบุณ อดุลยกฤษฎาภินิหารรังสฤษฎ์ สุสาธิตบูรพาธิการ ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ ธัญอรรคลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมงคประณตบาทบงกชยุคล อเนกนิกรชนสโมสรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สรรพรัฐทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตน สรณารักษ์วิศิษฎศักตอัครนเรศรามาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร”

รัชกาลที่ ๙  “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร”


พระนาม ๙ รัชกาล

พระราชสมัญญานาม

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑)

โดยกำหนด “วันจักรี” ซึ่งตรงกับวันที่ ๖ เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็น พระปฐมบรมราชวงศ์จักรี ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ต้องทรงออกศึกใหญ่เพื่อกอบกู้อิสรภาพถึง ๑๑ ครั้ง โดยทรงเป็นแม่ทัพถึง ๑๐ ครั้ง และทรงออกศึกร่วมกับพระเจ้ากรุงธนบุรี ๑ ครั้ง และเมื่อทรงครองแผ่นดินแล้ว ยังต้องออกศึกเพื่อปกป้องอิสรภาพของสยามอีกถึง ๗ ครั้ง นับว่าพระองค์ทรงเป็นยอดพระมหากษัตริย์นักรบที่ยิ่งใหญ่

พระมหาเจษฎาราชเจ้า (รัชกาลที่ ๓)

พระมหาเจษฎาราชเจ้า แปลว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่ โดยกำหนด “วันพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า” หรือ “วันเจษฎาบดินทร์” ซึ่งตรงกับวันที่ ๓๑ มีนาคมของทุกปี เป็นวันระลึกถึงวันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ ๓ ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในการทำนุบำรุงบ้านเมืองทั้งในด้านการศาสนา การศึกษาและอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง ในสมัยของพระองค์ได้ทรงเก็บเงินบางส่วนใส่ “ถุงแดง” เอาไว้ ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงนำมาใช้เป็นค่าปรับในกรณีพิพาทกับประเทศฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ.๑๑๒ ช่วยให้ประเทศไทยรอดพ้นวิกฤตการณ์ทางการเมืองและสงครามระหว่างประเทศไปได้

สมเด็จพระปิยมหาราช (รัชกาลที่ ๕)

สมเด็จพระปิยมหาราช แปลว่า มหาราชผู้ทรงเป็นที่รัก โดยกำหนด “วันปิยมหาราช” ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๓ ตุลาคมของทุกปี เป็นวันระลึกถึงวันคล้ายวันสวรรคตของ รัชกาลที่ ๕ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย พระราชกรณียกิจของพระองค์ไม่ว่าจะเป็น การเลิกทาส การเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศ การปฏิรูปการปกครองเพื่อพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดิน การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสาธารณูปการ และอีกนานัปการ ล้วนเป็นพื้นฐานแห่งความมั่นคงและเจริญสืบต่อมาจนปัจจุบัน

สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (รัชกาลที่ ๖)

สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า แปลว่า พระมหากษัตริย์ผู้เป็นจอมปราชญ์ โดยกำหนด “วันวชิราวุธ” หรือ “วันมหาธีรราชเจ้า” ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๕ พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันระลึกถึงวันคล้ายวันสวรรคตของรัชกาลที่ ๖ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีพระปรีชาสามารถเป็นเลิศในด้านวรรณกรรม ตลอดรัชสมัยพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือไว้มากกว่า ๑,๐๐๐ เรื่อง โดยพระองค์ได้ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมในแนวทางของพระพุทธศาสนา รวมถึงสร้างจิตสำนึกความรักชาติและความเสียสละเพื่อส่วนรวม ผ่านทางบทพระราชนิพนธ์ นอกจากนั้นยังทรงบัญญัติศัพท์ และทรงพระราชทานนามสกุลมากกว่า ๖,๐๐๐ นามสกุล

สมเด็จพระภัทรมหาราช / พระภูมิพลมหาราช (รัชกาลที่ ๙)

สมเด็จพระภัทรมหาราช แปลว่า พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐยิ่ง และพระภูมิพลมหาราช (พระราชสมัญญานามอย่างอนุโลมตามธรรมเนียม) แปลว่า มหาราชผู้ทรงเป็นพลังของแผ่นดิน ตลอดรัชสมัย ๗๐ ปีแห่งการครองราชย์ พระองค์ทรงอุทิศพระวรกายและพระราชหฤทัยบำเพ็ญพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและพัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรให้อยู่ดีกินดี โดยไม่ทรงคำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยของพระองค์เองแม้แต่น้อย นอกจากนี้พระองค์ทรงมีพระราชจริยวัตรอันงดงาม มีพระปรีชาญาณและพระปรีชาสามารถในศาสตร์ทุกแขนง รวมถึงพระอุปนิสัยโปรดศึกษาหาความรู้ในศาสตร์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ถือเป็นแบบอย่างอันทรงคุณค่ายิ่ง

พระนาม ๙ รัชกาล

ดังที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้ เพียงจะบอกว่า เมื่อเราเกิดอยู่บนแผ่นดินไทยนั้น การที่เราสามารถจดจำ พระนาม และคุณความดีแห่งรัชสมัยได้ก็ถือเป็นมงคลที่สุดในชีวิตแล้วครับ


ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/ราชวงศ์จักรี, The National Gallery Bangkok, th.answers.yahoo.com, https://en.wikipedia.org/wiki/Chakri_Dynasty

keyboard_arrow_up