Point of View

คุยกับ “POINT OF VIEW” นักเล่าเรื่องที่ค้นพบความสนุกของวรรณคดีไทย

Point of View
Point of View

คุยกับ “POINT OF VIEW”
นักเล่าเรื่องที่ค้นพบความสนุกของ ‘วรรณคดีไทย’

“คุณวิว – ชนัญญา เตชจักรเสมา” ผู้หลงใหลในเสน่ห์ของวรรณคดีไทย จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอหันมาเป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ ที่ส่งต่อความสนุกด้วย ‘ปาก’ ของตัวเอง ผ่านยูทูปแชนแนลในชื่อ Point of View พ่วงด้วยผลงานเขียน ‘วรรณคดีไทยไดเจสต’ และจากคลิปเล่าเรื่องสนุกๆ ที่เธอฝากไว้ในฐานะ Youtuber ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะชวนนักเล่าเรื่องคนนี้มาเล่าเรื่องของตัวเธอเองให้เราฟัง

• ทำไมถึงมาเป็น Youtuber มาเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้

จริงๆ เป็นคนชอบเล่าเรื่อง เวลาไปได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่านเรื่องอะไรมาก็จะชอบกลับมาเล่าให้ใครก็ตามที่อยากฟัง จนในช่วงมัธยม ก็เริ่มรู้แหละว่าตัวเองเป็นคนชอบวรรณคดีมากกว่าเพื่อน เวลาที่เรียนจะเข้าใจมากกว่าเพื่อน เพื่อนบางคนก็จะรู้สึกว่าอ่านแล้วไม่เห็นรู้เรื่องเลย แต่เราอ่านแล้วจะเข้าใจ พอวิวอ่านเข้าใจ เพื่อนก็จะชอบให้ติว พอตอนติวมันก็สนุก ก็เลยรู้สึกว่าเป็นตัวเองชอบเล่า

แล้วด้วยความที่ชอบอ่านหนังสือก็เลยเป็นคนชอบเขียน จุดเริ่มต้นแรกสุดเลย ไม่ได้อยากเป็น Youtuber แต่อยากเป็นนักเขียน พออยากเป็นนักเขียน แล้วในคณะอักษรฯ เขาก็มีวิชาที่เรียกว่าวรรณคดีไทย เป็นวิชาพื้นฐาน บังคับทั้งคณะเรียน ทีนี้วิวอยู่เอกไทย เอกอื่นเขาโดนบังคับให้เรียน บางทีเขาก็ไม่เข้าใจ เราก็เขียนกึ่งๆ สรุป กึ่งๆ ติวเพื่อนไปด้วย สรุปลงในทวิตเตอร์ คนนอกมาอ่านก็สนุก ก็เลยมีคนติดตามาเรื่อยๆ

ตอนนั้นวิวทวิตเป็นเรื่องเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย 2 บรรทัด บางทีคนก็ไม่ได้เข้าใจ อย่างเรื่อง ‘กนกนคร’ คนก็ไม่เคยได้ยิน เราทวิตข้อเดียวคนก็บอกว่ามันสนุกนะ แต่เรื่องเต็มมันเป็นยังไงหรอ เราก็ทวิตทั้งเรื่อง ซึ่งพอมันเล่าทั้งเรื่อง ทวิตเตอร์มันไม่เหมาะ เพราะมันแค่ 140 ตัวอักษรในสมัยนั้น ก็เลยมีคนยุว่าไหนๆ ก็ไหนแล้ว ถ้าเป็นน้ำเสียงอาจจะสนุก ลองอัดเป็นคลิปไหม ก็เลยเริ่มมาจากตรงนั้น

 • แล้วคลิปแรกที่ทำเป็นยังไง

เพราะวิวเริ่มทำยูทูปไม่เหมือนชาวบ้าน คือคนอื่นเขาจะเริ่มจากว่าเขาจะเป็น Youtuber เขาจะทำคลิป ตั้งใจเลยว่าฉันจะมาดังในยูทูป ดังนั้นเขาจะมีปัญหาว่าตัดต่อครั้งแรกทำยังไง ขณะที่วิวเริ่มครั้งแรกด้วยเหตุว่า แค่อยากส่งข้อมูลที่พูดเหมือนในทวิตเตอร์ให้เพื่อน ดังนั้นคลิปแรกของวิวเลยไม่ตัดต่อเลย วิวแค่เอา iPhone มาตั้งแล้วก็อัดคลิปเล่าเรื่อง

ตอนนั้นวิวรู้สึกว่าเหมือนเราสไกป์กับเพื่อนอยู่ ด้วยความที่ไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคนดูเยอะ เหมือนคุยกับเพื่อนร้อยคนพันคนที่ตามเราอยู่ แล้วเป็นคนที่คุ้นกันอยู่แล้วก็เลยไม่ได้รู้สึกว่ามันยากขนาดนั้น แต่มันก็จะมีความเก๊กกล้องอยู่นิดนึง ซึ่งตอนนี้มันก็จะหายไป

Point of View

“ยูทูปไทยแลนด์มันอาจจะเพิ่งมาบูมช่วง 2-3 ปีหลัง แต่ว่ายูทูปแชนแนลของวิวอยู่มา 7 ปีแล้ว คือมันอยู่มาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีคำว่า Youtuber ด้วยซ้ำ ยังไม่มี Youtube Thailand เพราะว่าวิวไม่ได้คาดหวังว่าวิวจะเป็น Youtuber วิวคาดหวังว่า วิวอยากหาพื้นที่แชร์เรื่องวรรณคดี แค่อยากส่งเรื่องเล่าให้เพื่อน วิวจะไปฝากไว้ที่ไหนดี”

• คุณวิวใช้เวลาทำคลิปหนึ่งคลิปนานแค่ไหน

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะถ้าเป็นคนอื่น เขาก็จะแบบว่า วันนี้จะทำคลิปเรื่องนี้ เริ่มจากคิดก่อนว่าจะหาข้อมูลจากไหน แต่ว่าประเด็นเรื่องครีเอทีฟ มันเป็นเรื่องที่วิวเรียนวรรณคดีมา อ่านวรรณคดีมาทั้งชีวิต พอมานั่งนึกว่าจะเล่าเรื่องนี้ เราก็พอมีในหัวคร่าวๆ อยู่แล้วว่า เรื่องที่คนสนใจมันจะเป็นประมาณนี้ แล้วเราก็เคยอ่านมาแล้ว ดังนั้นกระบวนการหาข้อมูล มันก็จะเริ่มตั้งแต่ 10 ปี 20 ปีที่แล้ว เราก็แค่เลือกหยิบสิ่งที่อยู่ในตัวเราขึ้นมา แต่เพื่อความแม่นของข้อมูล เราไปอ่านข้อมูลซ้ำอีก แต่ก็แล้วแต่เรื่องด้วย เรื่องที่เราแม่นเราก็แค่พลิกผ่าน 5 นาที เรื่องที่ไม่แม่นก็อาจจะต้องอ่านเป็นวัน

แล้วด้วยความที่วิวตัดต่อไม่เก่ง วิวไม่ได้มาสายวิดีโออะไรเลย วิวก็เลยค่อนข้างจบหลังกล้อง คือถ้าเป็นคนอื่นเขาอาจคิดไว้เผื่อแล้วว่าอัดแบบนี้ เสร็จแล้วจะต้องไปตัดต่อแบบนี้ แล้วปล่อยแบบนี้ แต่คลิปของวิว วิวเล่าเป็นเรื่องจบแล้วที่หลังกล้อง กระบวนการหลังจากนั้นคือ คุณจะทำให้มันสนุกขึ้นด้วยเอฟเฟคไหมหรือด้วยการตัดต่อ แต่ถ้าจะปล่อยแบบไม่ตัดต่อมันก็ได้ คือขึ้นอยู่กับความขยันช่วงนั้น อันนี้เป็นความแย่นิดนึง (หัวเราะ) คือถ้าช่วงไหนขี้เกียจหน่อย มันก็ตัดๆ ก็ขึ้นไปเลย เพราะเราใส่เต็มไปแล้วตอนเล่า แต่ถ้าวันไหนขยันมันก็จะมีเอฟเฟคเยอะหน่อย (หัวเราะ)

• มีเทคนิคในการเล่าไหมว่าต้องเล่ายาวแค่ไหน หยิบตรงไหนมาเล่า เพราะเป็นเรื่องวรรณคดีไทย เนื้อเรื่องก็จะค่อนข้างยาว

เอาจริงๆ คือธรรมชาติของคนดูวิวค่อนข้างแปลกกว่า Youtuber คนอื่น ด้วยความที่มันเป็นเรื่องเล่า ยิ่งยาวเขายิ่งสะใจ คือเราจะเคยได้ยินคำพูดว่าคลิปยาวไปน่าเบื่อ หรือแบบว่าทำไมทำยาว คนสมัยนี้ทำสั้นจะตาย คลิปเกิน 10 นาทีก็ไม่ดูแล้ว แต่แชนแนลวิว วิวโพสต์คลิปยาว 20 นาที คนดูจะบอกว่ายาวสะใจดี ไม่ได้พูดยาวขนาดนี้มานานแล้วนะ

คือเหมือนช่องอื่นอาจจะเป็นไลฟ์สไตล์ด้วยมั้งคะ มันเลยจบที่ตรงนั้น ไม่ได้บอกว่าไลฟ์สไตล์ไม่ดีนะ แต่ว่าของวิวเป็นเรื่องเล่า มันเลยมีอะไรที่ Follow ไปเรื่อยๆ ดังนั้นมันก็เหมือนกับดูละครที่เราอยากให้ยาวไปเรื่อยๆ เพราะเราไม่อยากให้ละครจบ

ส่วนที่ถามว่าเลือกตรงไหนมาเล่า วิวไม่ใช่นักวิชาการค่ะ คนชอบคิดว่าชาแนลวิวเป็นช่องนักวิชาการ เป็นช่องติวหนังสือ วิวไม่ใช่ วิวไม่ได้อยากเอาตอนที่ออกสอบมาเล่า วิวไม่ได้แบบว่าสรุปประเด็นสำคัญของเรื่อง 10 คีย์เวิร์ดนี้ที่ครูจะมาออกสอบ วิวจะไม่เก็บเช็คลิสต์แบบนั้น

วิวจะเก็บแก่นเรื่องที่สำคัญ อันนี้คือเหตุการณ์สำคัญในเรื่องนะ ส่วนจะไปขยี้ไปขยายตรงไหน ก็คือตรงที่วิวรู้สึกว่าสนุก เพราะวิวจะเป็นคนที่จะมาแชร์ให้คนฟัง ให้คนรู้ว่าตรงนี้สนุก ดังนั้นบางจุดที่คนอื่นเน้น วิวอาจจะไม่เน้น ขณะที่บางจุดที่เป็นแค่เสี้ยวเล็กๆ ของเรื่อง วิวอาจจะขยี้ยาว 1 นาทีเลยก็ได้ เพราะว่ารู้สึกว่าสนุก

Point of View

• การทำคลิปแต่ละคลิป ให้ความสำคัญกับอะไร

ความถูกต้องของข้อมูลค่ะ คือในสายอักษรมันไม่ได้มีฟันธงว่าข้อมูลนั้นถูกหรือผิด แต่เราต้องนำเสนอให้เขาเห็นว่าอันนี้เราไม่ได้กำลังฟันธงอยู่นะ อันนี้เรากำลังบอกว่า มันมีทั้งถูกและผิดนะ คือต้องนำเสนอให้ค่อยข้าง Accurate เพราะว่าด้วยความที่คนติดตามค่อนข้างเยอะ และเขาค่อนข้างเชื่อว่าเราเป็นคนที่รู้ด้านนี้ ดังนั้นเขาจะเชื่อไปเลยทันทีที่เราพูด

หรือว่าถ้าเกิดเราเล่าผิด วิวก็ต้องแก้ทันที จะไม่มีแบบว่าแถเนียนๆ ไปว่าเราไม่ผิดนะ ถ้าเกิดผิดก็ยอมรับเลยว่าอันนี้ผิด ข้อมูลจริงๆ คืออย่างนี้ คือวิวให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือ

• แล้วเคยมีคนมาแย้งเรื่องที่เราเล่าบ้างไหม

มันก็มีอยู่แล้วค่ะ มันมีคนที่เข้ามาแย้งกรณีที่ Fact ผิด ถ้าวิวพลาดก็ยอมรับไป พยายามแก้ไขสิ่งที่ตัวเองพลาด กับมีทั้งความเข้าใจไม่ตรงกัน เพราะว่าสายวรรณกรรมสายภาษาไม่ใช่อะไรที่แบบว่า 1+1 ต้องเท่ากับ 2 มันเป็นเรื่องของการตีความ เป็นเรื่องคนละเวอร์ชั่นหรือเปล่า คือเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนไทยไม่ค่อยเข้าใจ

สมมติพอพูดถึงรามเกียรติ์ หลายคนคิดว่ารามเกียรติ์ต้องเป็นรามเกียรติ์ แต่จริงๆ แล้วรามเกียรติ์ของคุณกับรามเกียรติ์ของวิวอาจจะเป็นคนละฉบับก็ได้นะ คุณพูดถึงรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1 เราพูดถึงรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 2 อยู่นะ เราพูดถึงรามเกียรติกรุงธนอยู่นะ เราพูดถึงรามายณะอยู่นะ แต่ละเวอร์ชั่นเนื้อเรื่องไม่เหมือนกันเลย ได้ยินเวอร์ชั่นที่ 10 มา แต่เรากำลังพูดเวอร์ชั่นที่ 2 อยู่ มันก็ไม่แปลกถ้ามันจะไม่ตรงกัน คุณก็ไม่ผิด เราก็ไม่ผิด เราถูกทั้งคู่ แต่เรากำลังพูดคนละเรื่องกันอยู่เท่านั้นเอง

Point of View

• ความตั้งใจแรกกับเป้าหมายของ Point of View ในตอนนี้ยังเหมือนเดิมไหม

ยังคล้ายๆ เดิมค่ะ แต่มันอาจจะชัดเจนขึ้น เพราะว่าตอนแรกเราแค่รู้สึกว่าเราอยากเล่า แต่เราไม่รู้ว่าเราอยากเล่าไปเพราะอะไร

คือวิวรู้ว่าสิ่งที่เราชอบมันสนุก แต่วิวรู้สึกแปลกมาตลอดว่า ทำไมเราพูดกับใครว่าเราชอบวรรณคดี คนจะแบบ ห๊ะ!! ทำไมถึงอ่านวรรณคดี พอเราบอกว่าเราอ่านรามเกียรติ์จบเรื่องนะ คนอื่นก็แบบรามเกียรติ์เนี่ยนะ ไปอ่านอย่างอื่นไหม แต่ว่าเรารู้สึกว่ามันมีมุมที่สนุกนะ เธอแค่อ่านไม่เข้าใจ เธอข้ามกำแพงภาษาไปไม่ได้ เธอไม่รู้ว่ามันมีตรงนี้อยู่ สนุกจะตาย พอดึงขึ้นมาเล่า ได้ Feedback ดี มามันก็ยิ่งชัดว่าเราแค่อยากหาคนมาสนุกเป็นเพื่อนเรา

• แล้วคุณวิวข้ามกำแพงภาษามาได้ยังไง

วิวมองว่าภาษาอะไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ภาษาในวรรณคดี การเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอะไรก็ตาม ถ้าเราอยู่กับมันมากพอเราก็จะเข้าใจ เหมือนเราเรียนภาษาไทยมาตั้งแต่เกิด เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่ยาก เหมือนเราอยู่กับภาษาอังกฤษตั้งแต่เกิด ถ้าเราอ่านภาษาอังกฤษทุกวัน มันก็แค่เป็นอีกภาษาหนึ่งที่เราใช้สื่อสาร

อย่างเราอ่านภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก แม้มันจะมีคำศัพท์ที่ยาก แต่ด้วยความที่เราอยู่กับมันมาตั้งแต่เด็ก เราก็แค่รู้สึกว่ามันก็เป็นอีกภาษาหนึ่ง ซึ่งบางเล่มง่าย บางเล่มยาก บางเล่มเขียนซับซ้อน มันก็อาจจะยากนิดนึง แต่ว่าเราไม่กลัว คือถ้าสมมติว่าเราเกิดมาไม่เคยเห็นภาษาอังกฤษเลย มาถึงหยิบ Harry Potter มาให้อ่าน 7 เล่ม เราจะกลัวภาษาอังกฤษ เราจะรู้สึกว่าเราอ่านไม่รู้เรื่อง แต่เราเรียนภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เด็ก เปิดมาเราก็จะแบบมันยากแหละ แต่เราค่อยๆ แกะมันออกได้

Point of View

• สำหรับคุณวิว เสน่ห์ของวรรณคดีไทยอยู่ตรงไหน ถึงทำให้เราชอบ

วรรณคดี มันก็คือเรื่องเล่า มันคือเรื่องเล่าหนึ่งๆ ที่เราอยากรู้ตอนจบ มันก็เหมือนดูหนัง ดูละคร มันก็ทำให้เราเพลินไปกับเรื่องพวกนี้ เหมือนกับว่ามันพาเราออกไปจากโลกที่เราอยู่ทุกวันนี้ มันคือการหลีกหนีโลก

อันนี้เหมือนศัพท์ทางพวกอักษร เขาจะแบบวรรณกรรมอะไรพวกนี้ มันคือการหลีกหนี เราสามารถเข้าไปเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งได้ในช่วงเวลาหนึ่งๆ เราหลุดไปอยู่ในโลกวรรณคดี เราลืมความเครียดของชีวิต ณ ปัจจุบัน สมมุติตอนนี้ฝนตกรถติดอยู่ เรานั่งเครียดอยู่ในรถ แต่ถ้าเราหยิบหนังสือขึ้นมา เราจะหลุดไปอยู่ในโลกหนังสือเลยนะ ซึ่งวิวหลงเสน่ห์มันตรงนี้

• มีวรรณคดีไทยที่ชอบเป็นพิเศษไหม

ถ้ามองในมุมวรรณคดีที่ชอบเป็นพิเศษคือเรื่อง ‘มัทนะพาธา’ ค่ะ วิวรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ภาษาง่ายนะคะ เพราะมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสมัยใหม่ ถ้าไปเทียบกับวรรณคดีอยุธยา ภาษาเราจะเข้าไม่ค่อยถึงแล้ว เพราะมันเป็นภาษาโบราณ แต่มัทนะพาธาเกิดในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งภาษามันค่อนข้างใกล้กับปัจจุบันมาก

ด้วยยุคนั้นรัชกาลที่ 6 ท่านทรงไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ท่านเป็นนักเรียนวรรณกรรมวรรณคดีอังกฤษ ดังนั้นท่านก็เลยเอาความเป็นตะวันตกมาใส่ค่อนข้างเยอะ จะเห็นว่ามัทนะพาธามันมีความมิกซ์กันของวรรณกรรมอินเดีย มีความโรมิโอ จูเลียต ซึ่งมันเป็นเรื่องแรกๆ ที่วิวรู้สึกว่าวรรณคดีไทยมันมีพล็อต มันมีการตบสรุปจบ มันมีฟังก์ชั่นขึ้นมา มันสร้างขึ้นมาเพื่ออ่านได้ด้วย แล้วเอามาเล่นจริงได้ด้วย มันต้องจบภายในชั่วโมงหรือสองชั่วโมง มันเลยต้องมีการขมวดจบ

คือถ้าเป็นวรรณคดีสมัยโบราณ เขาสร้างมาเพื่อรำ ดังนั้นเขาจะใส่หลายส่วนเข้ามา ซึ่งจุดนี้ใส่เข้ามาเพื่อให้ท่ารำสวยอย่างเดียว ไม่ได้มีผลต่อเนื้อเรื่อง ดังนั้นถ้าเราได้ไปเสพโขน ฟังก์ชั่นนี้ก็จะหายไป ในขณะที่มัทนะพาธามันเขียนมาเพื่อให้ทั้งอ่านและเอามาเล่นละคร ดังนั้นทุกส่วนที่เขาใส่เข้ามามันมีผลต่อเนื้อเรื่อง มันมีการขมวดจบ มันมีความกลม มันมีเคิร์ฟที่เหมือนเราดูหนังเรื่องหนึ่งที่เขาเกริ่นมาแบบนี้ เพราะว่าตอนจบเขาจะเอามาใช้แบบนี้นะ ไม่ใช่พูดถึงเฉยๆ แล้วคอนเซ็ปต์ของเรื่องมันก็น่าสนใจ

มัทนะพาธาคือเรื่องความเจ็บปวดจากความรัก ดังนั้นวิวชอบความเจ๋งที่ถ้าเราอ่านเผินๆ มันก็จะเป็นเรื่องของตัวละครเอก 3 ตัว มันเป็นเรื่องของมัทนา เป็นเรื่องของชัยเสน เป็นเรื่องของสุเทษณ์ เป็นรักสามเศร้า เจ็บปวดจากความรัก แต่จริงๆ ถ้าเราไปดูดีๆ ตัวละครทุกตัวในเรื่อง ทุกคนเจ็บปวดจากความรักหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นตัวร้าย ตัวดี ตัวประกอบ เหมือนคิดมาเยอะ มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างเป็นครีมของวรรณคดีไทยเลยนะ รวมเอาจุดเจ๋งๆ ของแต่ละเรื่องมารวมกัน

Point of View

• แล้วกับวรรณกรรมสมัยใหม่ มีเล่นที่ชอบไหม

เรื่อง ‘ทางเทวดา’ ของนักเขียนนามปากกา ‘แก้วเก้า’ ค่ะ เล่มนี้เป็นเล่มที่ชอบและเป็นแรงบันดาลใจ เพราะว่าแรกๆ เราอ่านวรรณคดี เราก็เล่าแบบวรรณคดี แต่ว่าตอนที่มาเห็นเรื่องทางเทวดาครั้งแรก ตอนมอต้น มีคนเอามาให้อ่าน อ่านเสร็จประทับใจมาก แบบ เห้ย! เราเอาความเป็นไทยมาทำให้ทันสมัยได้นี่ เพราะว่าทางเทวดา พล็อตมันคือเราเลือกเกิดได้ คือมันมีแต้มบุญอยู่บนโลกใบนี้ คือแบบชาติที่แล้วคุณทำบุญมาเยอะ มีแต้ม 100 แต้ม ตอนที่จะไปเลือกเกิดใหม่ คุณจะใช้แต้มบุญยังไง จะเอาไปใส่หน้าตากี่แต้ม จะเอาไปใส่ความฉลาดกี่แต้ม จะเอาไปใส่สุขภาพกี่แต้ม เราเลือกได้เอง

แล้วตัวเอกของเรื่องนี้ก็ใช้วิธีเลือกที่แปลกประหลาด เขามองว่าหน้าตาไม่ต้องดีก็ได้ แต่ว่าสุขภาพต้องดี เขาจะได้ไม่ป่วย บ้านจนสุดก็ได้ ไม่ต้องมีกินเลย แค่ให้แบบไม่ต้องอดตายก็พอ แต่เขาจะฉลาดที่สุด เขาใส่แต้มความฉลาดเต็ม แล้วเขาบอกว่าความฉลาดจะหาทุกอย่างให้เขาได้เอง แต่ว่าด้วยความที่ชาติที่แล้ว เขาเป็นกวีในสมัยพระนารายณ์มหาราช เขายังชอบของสวยๆ งามๆ อยู่ เขาเลยเลือกคู่ครองของเขา คือหน้าตาเต็มหลอดเลยค่ะ ตัวเองเป็นคนไม่มีคะแนนหน้าตาเลย หน้าตาแย่สุดที่เป็นไปได้ ฉลาดมากระดับอัจฉริยะ สุขภาพร่างกายแข็งแรง บ้านจนมาก แต่นางเอกนี่แบบ บ้านรวยมาก หน้าสวยมาก ทุกอย่าเพอร์เฟค

เนื้อเรื่องราวก็จะเป็นว่า หลังจากที่เขาเลือกเกิดแล้ว เขาใช้ชีวิตยังไง แล้วเหล่าเทวดาที่เป็นคนอนุญาตให้เขาเลือกเกิดแบบนี้จะต้องทำยังไงเพื่อช่วยเขา มันก็มีแบบว่าสามารถใช้เทพนิมิตช่วยได้ไหม มาเข้าฝันได้ไหมว่าให้นางเอกชอบพระเอกไหม ซึ่งมันเป็นการประยุกต์ความเป็นไทยที่วิวรู้สึกว่าเจ๋ง หลังจากนั้นวิวก็ตามอ่านแก้วเก้า แล้วก็เห็นว่าเขาเอาวรรณคดีไทยมาเล่น ก็เลยรู้สึกว่า เขาเล่นได้ เราก็เล่นได้

• แสดงว่าแก้วเก้าเป็นไอดอล เป็นแรงบันดาลใจ

เป็นมากๆ เลยค่ะ คือวิวอ่านแก้วเก้าหลายสิบเล่นเลยนะ ถ้าใครถามว่าหนังสือโปรดมีเรื่องอะไรบ้าง ส่วนใหญ่แก้วเก้าจะติดตลอดเลย จะเป็นหนึ่งในหนังสือโปรด ส่วนหนังสืออื่นๆ ที่อ่านบ่อยๆ ก็จะมี Harry Potter มีหนังสือของแก้วเก้า มีหนังสือสี่แผ่นดินก็เป็นอีกเล่มที่อ่านบ่อย

Point of View

• คำถามสุดท้าย ‘คิดอย่างไรกับการที่มีผู้ใหญ่พูดว่าเด็กไทยอ่านหนังสือวันละ 8 บรรทัด’

นิยามคำว่าหนังสือของเขาคืออะไร อันนี้แหละคือปัญหา นิยามหนังสือของเขาคือหยิบหนังสือที่เป็นเล่มมาแล้วเปิดหรือเปล่า ถ้าใช่ เด็กไทยอาจจะอ่านไม่เกิน 8 บรรทัดจริง ถ้าถามว่าวิวเป็นคนอ่านหนังสือเยอะไหม ทุกคนต้องตอบว่าเยอะ แต่บางวันวิวก็ไม่ได้อ่านหนังสือสักบรรทัดเลยนะ ถ้าคุณนิยามว่าหยิบหนังสือเล่มขึ้นมา

สมัยนี้การเสพสื่อของคนมันเปลี่ยนไปแล้ว การที่คนอ่านโซเซียลมีเดียมันก็คืออ่านหนังสือหรือเปล่า ดังนั้นยังไงมันก็เกิน อาจจะเพราะว่านิยามเราไม่ตรงกันมากกว่า เด็กอ่าน 8 บรรทัด แต่ 8 บรรทัดคืออะไร อ่านที่ผู้ใหญ่สนใจ หรืออ่านที่เขาสนใจ ถ้ามันเป็นเรื่องที่เขาสนใจ วิวก็เห็นเขาอ่านนิยายกันเป็นตั้งๆ นะ

Story : Taliw
Photo : Wara Suttiwan
keyboard_arrow_up