Craft Beer 101 คัมภีร์คราฟต์เบียร์ฉบับมือใหม่หัดดื่ม

Craft Beer 101
คัมภีร์คราฟต์เบียร์ฉบับมือใหม่หัดดื่ม

นักดื่มมือฉมังหลายคนคงรู้จัก ‘คราฟต์เบียร์’ เป็นอย่างดี แต่สำหรับมือใหม่หัดดื่ม อาจจะเกิดอาการสงสัยเล็กน้อยว่า คราฟต์เบียร์คืออะไร แตกต่างจากเบียร์ปกติอย่างไร วันนี้เรามีคัมภีร์ Craft Beer 101 ฉบับรวบรัดมาฝาก

ความหมายตรงไปตรงมาของ ‘คราฟต์เบียร์’

Craft Beer – คราฟต์เบียร์ เป็นเบียร์ที่เกิดจากผู้ผลิตรายเล็ก ทำให้การผลิตเบียร์มีจำกัด แต่มีอิสระในการผลิตมากกว่า โดยเฉพาะการหมักเบียร์ที่ส่วนใหญ่จะใช้วิธีดั้งเดิม แถมยังลงมือผลิตด้วยตัวเอง ให้สมกับเป็นเบียร์ทำมือ ตั้งแต่หมัก บรรจุลงขวด และส่งขายเอง ฯลฯ

แต่อย่างเพิ่งเข้าใจผิดว่า เบียร์ที่ผลิตขึ้นเองตามบ้านจะเป็นคราฟต์เบียร์ทั้งหมด เพราะในวัฒนธรรมอเมริกาจะมีการต้มเบียร์ดื่มเองในบ้าน ทั้งสำหรับดื่มเองหรือชวนเพื่อนมาปาร์ตี้ ซึ่งจะเรียกเบียร์ประเภทนี้ว่า Homebrew แต่หากเป็นคราฟต์เบียร์อย่างน้อยจะผลิตมาจาก ‘โรงเบียร์ขนาดเล็ก’ ที่มีปริมาณเพียงพอในการวางจำหน่าย แต่ต้องไม่เกิน 7 ร้อยล้านลิตรต่อปี

ความสนุกของคราฟต์เบียร์ ไม่ใช่แค่รสชาติในการดื่ม

ความสนุกของคราฟต์เบียร์มันเริ่มต้นจากการผลิตที่นำไปสู่รสชาติที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์ เพราะการหมักคราฟต์เบียร์มีข้อดีสำคัญที่ผู้ผลิตสามารถนำวัตถุดิบที่หลากหลายมาผสมผสานกันจนได้เบียร์ที่มีรสชาติต่างๆ เช่น บางแบรนด์จะใส่ข้าวบาร์เลย์กับข้าวสาลีในการหมักพร้อมกัน ขณะที่บางแบรนด์ก็เพิ่มความร้อนแรงให้รสชาติด้วยขิง หรือบางแบรนด์อาจจะใส่ฮ็อป (Hop) ในปริมาณที่มากกว่าปกติ เพื่อเพิ่มรสชาติให้เข้มข้น ฯลฯ และแน่นอนว่าเมื่อคราฟต์เบียร์มีรสชาติที่หลากหลายก็เกิดเป็นความสนุกในการดื่มไปด้วย

รู้จักประเภทของคราฟต์เบียร์ที่คนไทยนิยมดื่มกัน

นอกจากวัตถุดิบที่ใส่ลงไปแล้ว การหมักเบียร์ต่างวิธีกัน ย่อมได้รสชาติที่แตกต่างกันด้วย ส่งผลให้ได้คราฟต์เบียร์ประเภทต่างๆ คร่าวๆ คือ…

  • Lager/Pilsner: เป็นเบียร์ที่หมักด้วยอุณหภูมิที่เย็นกว่าปกติ จนได้เบียร์สีเหลืองทอง ให้รสชาติขมแต่ละนุ่มลิ้น
  • Pale Ale: เป็นเบียร์หนึ่งในตระกูล Ale มีสีเหลืองทอง โดยมีรสชาติระหว่างความหอมหวานจากมอลต์กับความขมของฮ็อป หลายแบรนด์ได้เพิ่มเอกลักษณ์ด้วยวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ รวมทั้งสไตล์การหมัก
  • Indian Pale Ale: ที่หลายคนเรียกย่อๆ ว่า IPA เป็นเบียร์ในขั้นกว่าของ Pale Ale โดยมีจุดเด่นที่รสชาติซึ่งมีฮ็อปทำให้เบียร์ขมขึ้น เป็นคราฟต์เบียร์ยอดฮิต
  • Dunken: เบียร์ที่เกิดจากการนำมอลต์ไปคั่วจนเข้ม จนได้เบียร์สีน้ำตาลเข้มไปจนถึงสีดำ ขณะเดียวกันก็มีเอกลักษณ์ที่กลิ่นหอมของกาแฟหรือช็อกโกแลต ส่วนรสชาติหวานจะเจือความขมจางๆ
  • Weizen: เบียร์ที่ให้กลิ่นหอมคล้ายผลไม้ โดยผลิตจากมอลต์ที่มาจากข้าวสาลีและใช้ยีสต์ชนิดลอยตัวในการหมัก ทำให้ไวเซ่นเป็นเบียร์ที่มีฟองมาก มีรสขมเล็กน้อย และมีสีทองใส

ดื่มคราฟต์เบียร์ยังไงให้อร่อย

หากถามว่าคราฟต์เบียร์แบบไหนรสชาติอร่อย คงไม่มีคำตอบตายตัวให้ เพราะแล้วแต่รสนิยมและความชอบของแต่ละคน แต่การจะเลือกดื่มคราฟต์เบียร์ให้ถูกใจคือ ต้องหาคราฟต์เบียร์ที่ชอบให้เจอกัน เริ่มแรกอาจจะต้องตะลุยชิมก่อนว่าชื่นชอบรสชาติไหน

แต่ที่แน่ๆ การริมเบียร์ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เบียร์อร่อย จริงอยู่ว่าเราสามารถยกขวดดื่มได้ แต่ก็มีหลายคนเลือกที่จะรินเบียร์ใส่แก้ว ดังนั้นเทคนิคการรินก็มีส่วนในรสชาติ โดยควรรินเบียร์ให้เกิดฟองประมาณ 2 นิ้ว เพราะการเทเบียร์ให้กระทบแก้วจนเกิดฟองจะช่วยเพิ่มกลิ่นหอมให้เบียร์ แถมยังช่วยป้องกันไม่ให้ออกซิเจนลงไปทำปฏิกิริยาจนรสชาติเปลี่ยนอีกด้วย

คราฟต์เบียร์ไทย ลองแบรนด์ไหนดี

สำหรับคราฟต์เบียร์สัญชาติไทยมีหลากหลายแบรนด์ เพราะช่วงปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเป็นปีทองของคราฟต์เบียร์ไทย ดังนั้นเราจึงยกตัวอย่างคราฟต์เบียร์สัญชาติไทยมาทำความรู้จักสัก 5 แบรนด์ คือ…

  • Chalawan Pale Ale: คราฟต์เบียร์ที่มีแรงบันดาลใจจากตำนานพื้นบ้านไทย โดยนำบุคลิกของชาละวันมาดีไซน์เป็นรสชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จนได้เบียร์ Pale Ale ที่หลายคนยกให้เป็นเบียร์ที่มีความสมดุลในรายละเอียด ทั้งความเข้มข้นของรสชาติและความหอมละมุนกับกลิ่นที่มีเอกลักษณ์
  • Chiang Mai Beer: เบียร์จากเชียงใหม่ที่ไปผลิตในประเทศลาว ก่อนส่งกลับมาขายในไทยแบบถูกกฏหมาย โดยมีรสยืนพื้น 2 ตัวคือ Red Truck IPA และ Chiang Mai Weizen
  • Stone Head: ความความตั้งใจที่อยากให้คนไทยดื่มเบียร์ที่มีคุณภาพจากวัตถุดิบและส่วนผสมดีๆ ในราคาที่เท่ากับเบียร์นำเข้า และเป็นเบียร์อีกหนึ่งแบรนด์ที่มีโรงงานผลิตอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนส่งกลับมาขายแบบถูกกฎหมายในไทย
  • Golden Coins: เป็นคราฟต์เบียร์ตัวท็อปอีกหนึ่งแบรนด์ที่หลายคนรู้จักดี มีเบียร์ IPA เป็นซิกเนเจอร์ โดยเฉพาะรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์แบบขมลึก
  • Mahanakhon: เบียร์ที่ใช้วัตถุดิบไทยๆ จนทำให้มีความชัดเจนในรสชาติ โดยเฉพาะเมื่อคราฟต์เบียร์แบรนด์นี้เน้นความสดชื่น แต่บอดี้ไม่หนัก เพราะออกแบบให้มีรสชาติที่เหมาะกับอากาศในเมืองไทย

อ้างอิง:
http://cas.or.th/wp-content/uploads/2017/09/Craft-Beer-final-1.pdf
https://themomentum.co/happy-feature-drink-craft-beer-craze-5/
http://www.ellementhailand.com/hangout/นี่คือความรู้พื้นฐานเก/

keyboard_arrow_up