ใครว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” ดีกว่าบุหรี่จริง เพราะมันอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจเช่นกัน

ใครว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” ดีกว่าบุหรี่จริง เพราะมันอาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจเช่นกัน

คอดื่ม คอสูบทั้งหลายเพิ่งจะมีประเด็นให้หัวร้อนไปไม่นาน หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราภาษีสุรา ยาสูบ และไพ่ เป็นกฎหมายลูก ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 (ฉบับใหม่) ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กันยายน 2560 เป็นต้นไป ปรากฏมีกระแสข่าวว่าการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้จะทำให้ราคาบุหรี่ที่วางขายตามท้องตลาดต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นซองละ 30 บาท จนทำให้ตลาดตื่นตระหนก ตัวแทนจำหน่าย สั่งซื้อเหล้าและบุหรี่เข้ามาเก็บไว้ในสต็อกเป็นจำนวนมาก คำถามคือคนที่สูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าจะลดหรือชะลอการซื้อลงได้บ้างหรือไม่คงต้องดูกันต่อไป

แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา บุหรี่ไฟฟ้าก็กลับกลายเป็นที่นิยมอย่างมาก อาจเป็นเพราะมีกระแสว่าสามารถช่วยลดการเกิดโรคมะเร็ง หรือมีความเชื่อว่ามันอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไปถึง 90% แต่จะเป็นอย่างที่เขาว่าไว้หรือไม่ เรามาดูกัน

จากการวิจัยมีหลักฐานบ่งชี้ทางชีวภาพว่า “บุหรี่ไฟฟ้า” เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจในผู้ใช้ได้มาก งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Heart Association แสดงให้เห็นว่านิโคตินไม่ได้เป็นอันตรายในการก่อมะเรียงเพียงอย่างเดียว ที่หลายคนเชื่อ แต่อาจส่งผลต่อสุขภาพของผู้สูบบุหรี่ได้มากกว่าหนึ่งวิธีไม่ใช่เพียงแค่ทำให้เกิดการเสพติด

อย่างไรก็ตามการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับคนไทย ฉะนั้นอาจจะยังไม่สะท้อนผลกระทบในระยะยาวมากนัก จึงยังไม่อาจทราบถึงผลเสียได้ ล่าสุดมีกลุ่มแพทย์ที่มีชื่อเสียงในสหราชอาณาจักรแนะนำให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนไปใช้ บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกสูบบุหรี่ แต่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯกล่าวว่าไม่มีหลักฐานว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเครื่องมือเลิกสูบบุหรี่ได้ ในขณะที่การวิจัยเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อสุขภาพกับสัตว์ ในปี 2015 พบว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำลายระบบภูมิคุ้มกันของหนู และพบว่าสามารถผลิตสารเคมีอันตราย 31 ชนิดซึ่งรวมถึงบางส่วนที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง

บุหรี่ไฟฟ้า ตัวเลือกที่ดีของผู้ที่อยากเลิกสูบบุหรี่จริงหรือ?

ถ้าหากถามว่าเป็นตัวเลือกที่ดีหรือไม่ ก็จะตอบว่า “ดีกว่า” ยังสูบบุหรี่ปกติต่อไป แต่ถ้าหากถามว่าบุหรี่ไฟฟ้า เป็นตัวเลือกที่ “ดีที่สุด” ในการเลิกบุหรี่หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่ใช่” เพราะสารประกอบในบุหรี่ไฟฟ้า ถึงแม้ว่าจะมีสารที่ปลอดภัยต่อร่างกาย ถึงขั้นนำมาใช้เป็นสารประกอบในสินค้าอื่นๆ เช่น เครื่องสำอาง ได้ก็จริง แต่บุหรี่ไฟฟ้าหลายๆ ยี่ห้อ ยังคงมี “นิโคติน” ที่เป็นสารที่อันตรายต่อร่างกายผสมอยู่ ปริมาณนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าแต่ละยี่ห้อก็มากน้อยไม่เท่ากัน ดังนั้นความ “เสี่ยง” ในการเป็นโรคที่เกิดจากนิโคตินยังคงอยู่ เพียงแต่บุหรี่ไฟฟ้าที่คุณใช้อยู่อาจมีปริมาณมากน้อยกว่าบุหรี่จริงแตกต่างกัน ความเสี่ยงต่อโรคอันตรายก็มากน้อยแตกต่างกันไปด้วยนั่นเอง นอกจากนี้ปริมาณนิโคตินที่ปรากฏอยู่บนฉลากของบุหรี่ไฟฟ้า ยังพบว่ามีการคลาดเคลื่อนสูงมาก นั่นหมายถึงมีความเป็นไปได้มากว่า ปริมาณนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าอาจมากกว่าที่เขียนบนฉลากก็เป็นได้

บุหรี่ไฟฟ้า มีสารก่อมะเร็ง?

ไอระเหยจากบุหรี่ไฟฟ้า ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น จึงถูกนำมาใช้ในสถานที่ทั่วไป รวมถึงในตัวอาคาร ในห้องต่างๆ โดยไม่มีกลิ่นรบกวนคนรอบข้าง แต่ถึงกระนั้นไอระเหยนี้มีสารก่อมะเร็งที่ไม่ได้เป็นอันตรายแค่ตัวผู้สูบ แต่ยังรวมไปถึงคนที่อยู่รอบข้างของผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าด้วย

บุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจจริงหรือไม่?

ถ้าเทียบในแง่ของสารพิษที่เป็นอันตรายต่อปอด บุหรี่ไฟฟ้ามีน้อยกว่าบุหรี่จริงเยอะ แต่นอกจากสารพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ของบุหรี่แล้ว  สารตัวหนึ่งที่อยู่ในควันบุหรี่ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพคือ นิโคติน ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมอง นิโคตินนี้จะมีในบุหรี่ไฟฟ้าบางรุ่น บางรุ่นก็ใช้น้ำยาแบบไม่มีนิโคติน

ส่วนการใช้น้ำยาแบบผสมนิโคติน มันจะใช้หลักการประมาณว่า ค่อยๆลดปริมาณนิโคตินลงทีละนิดๆ จะสามารถหยุดบุหรี่ได้ในที่สุด คล้ายๆการใช้พวกหมากฝรั่งนิโคตินในการเลิกบุหรี่ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการปรับระดับนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าออกมาอย่างเป็นทางการ

แต่ขอเตือนว่า หากหยุดบุหรี่ มาใช้บุหรี่ไฟฟ้าแบบมีนิโคติน และไม่ใช้แบบค่อยๆลดปริมาณนิโคติน แต่ยังสูบกันเหมือนเดิม อันนั้นไม่มีประโยชน์ซักเท่าไหร่ครับ

แต่ถึงกระนั้น ในเมื่อบุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ถูกลักลอบเข้ามาขายในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย และแต่ละคนอาจมีวิธีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่แตกต่างกันออกไป จนอาจทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ต่างกันได้ เช่น บางคนใช้เพื่อเลิกสูบบุหรี่จริง ใช้ไป 3 เดือน เลิกบุหรี่ได้จริง จึงยืนยันได้ผล แต่บางคนอาจไม่รู้จักวิธีใช้ที่แท้จริง ผสมส่วนประกอบเองจนทำให้ติดบุหรี่ไฟฟ้าแทนการติดบุหรี่จริง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำได้ อาจเป็นการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการเลิกบุหรี่ เพื่อค้นหาวิธีในการเลิกบุหรี่ที่ปลอดภัย และเหมาะสมกับร่างกายของเราจริงๆ จะดีที่สุด

keyboard_arrow_up