โบ๊ต - เพ็ชร ประภากิตติกุล

โบ๊ต – เพ็ชร ประภากิตติกุล || คุยกันยาวๆ กับผู้ชายที่เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ได้หลายๆ ครั้ง

โบ๊ต - เพ็ชร ประภากิตติกุล
โบ๊ต - เพ็ชร ประภากิตติกุล

WHO # FAV talk with โบ๊ต – เพ็ชร ประภากิตติกุล : หลายคนอาจจะคุ้นหน้ากับผู้ชายคนนี้ ถ้าคุณได้เคยดูโฆษณาตัวหนึ่งที่มีผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งออกมายืนหน้าจอในโรงภาพยนตร์เพื่อบอกเรื่องราวและเหตุผลว่า เพราะอะไร…เขาถึงยืนเคารพเพลง สรรเสริญพระบารมีแห่งในหลวงรัชกาลที่ 9

เรากำลังพูดถึงผู้ชายที่ชื่อ โบ๊ต – เพ็ชร ประภากิตติกุล ครับ หลังจากที่เราเคยสัมภาษณ์ความรู้สึกเกี่ยวกับโฆษณาชิ้นสำคัญที่สุดในชีวิตของเขาแล้ว (คลิกอ่านบทสัมภาษณ์ ถอดความรู้สึกคนในคลิป เรายืนเคารพเพลง “สรรเสริญพระบารมี” เพราะอะไร? ) เรารู้สึกว่า ยังมีอีกหลายคำถามที่เราอยากพูดคุยกับเขาอีกมากมาย เราจึงติดต่อเพื่อขอสัมภาษณ์อีกครั้ง ถึงแม้ธุรกิจที่เขาทำอยู่จะค่อนข้างรัดตัวมาก แต่เขาเองก็ยินดีที่จะให้เราได้สัมภาษณ์ได้อย่างเต็มที่ ครั้งนี้เราบุกไปถึงที่ทำงานที่เขารับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงทางธุรกิจให้กับสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ตลอดการคุยในวันนั้น เราจึงได้เห็นและซึมซับบรรยากาศในระหว่างที่เขาทำงานจริงๆ

เรื่องราวที่เราคุยกัน ทำให้เราได้ทราบถึงชีวิตที่ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ที่เขาเคยผ่านวิกฤตมาแล้วหลายครั้ง แต่ด้วยความมุ่งมั่นและทัศนคติที่ดีของเขา ทำให้เขารู้เท่าทันและกลับมาเดินต่อไปได้อย่างสวยงาม

เขาได้แรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้เขากลับมายืนอยู่ในจุดที่เขาเองเรียกว่า “ความสุข เพื่อตนเองและผู้อื่น” เรามาติดตามอ่านชีวิตส่วนตัวและการทำงานของ เพ็ชร ประภากิตติกุล ไปพร้อมๆ กันครับ

โบ๊ต - เพ็ชร ประภากิตติกุล

  • แนะนำตัวเองหน่อยครับ

ผมชื่อ เพ็ชร ประภากิตติกุล หรือ โบ๊ต จริงๆ อาชีพโบ๊ตเป็น consult ทางธุรกิจ โบ๊ตเรียกตัวเองว่า นักบ่มเพาะและพัฒนาขีดความสามารถทางธุรกิจ ให้กับคนที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจ งานโบ๊ตจริงๆ แล้ว ไม่ได้ให้คำปรึกษาทางธุรกิจเลย แต่มุ่งไปที่การพัฒนาคนที่อยากจะมีธุรกิจมากกว่า

เริ่มต้น เราจะเช็คก่อนว่า สิ่งที่เรากำลังคุยกัน มันใช่ตัวตนของเค้ารึเปล่า สิ่งนี้เราเรียกว่า self-actualization พอเราแน่ใจแล้วว่า เราได้ตัวตนจริงๆ ของเค้ามา เราก็จะมาดูว่า เราจะพัฒนา product innovation หรือ service innovation ได้อย่างไรบ้าง แล้วเราก็มาดูต่อว่า innovation นั้น มันมีตลาดจริงหรือเปล่า ในมุมของ Micro SMEs ก็มีความยากอย่างหนึ่ง คือ เค้าต้องเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยเลย โบ๊ตจึงสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ คือการสร้างการบ่มเพาะ สร้างสังคมขึ้นมา ให้คนเหล่านี้เติบโตขึ้นมาได้ ระหว่างนั้นเค้าจะได้ทักษะใหม่ๆ อย่าง ทักษะการขาย การเจรจา การพัฒนาสินค้า เป็นองค์ประกอบโดยรวมที่ทำให้ธุรกิจมันโตได้ ภาพรวมงานของโบ๊ตคือ “ทำให้คนๆ หนึ่งคนยืนได้

แต่ว่า Micro SMEs นั้นน่าสงสารที่ว่า เค้าไม่ได้ยืนยากอย่างเดียวนะ เค้ายังมีปัญหาอื่นๆ อีก คือ เรื่องความไม่รู้ จัดการอะไรไม่เป็นเลย สิ่งที่โบ๊ตลงไปทำ เรียกง่ายๆ ว่าเป็น พี่เลี้ยงทางธุรกิจ ซึ่งโบ๊ตทำมาเป็นปีที่ 6 แล้ว จริงๆ ตอนที่เริ่มทำงานนี้ ไม่ได้ทำเพราะว่า อยากทำ เพราะว่ามันเป็นงานที่เหนื่อยมาก แต่ทำเพราะ มีคนที่กำลังลำบากจริงๆ เดือดร้อนจริงๆ

คนเหล่านี้ “ความคิดมีปัญหา” ต่อให้เค้าเจอหนทางที่ดี เจอเครื่องมือที่ดี เค้าก็ไปต่อไม่ได้ มันเป็นเพราะความคิดของเค้าเป็นอุปสรรคต่อการประสบความสำเร็จ โบ๊ตเลยทำงานชิ้นหนึ่งขึ้นมา เรียกว่า REthinking จากงานสัมมนาในวันนั้น โบ๊ตได้พัฒนาธุรกิจของตัวเองขึ้นมาชื่อว่า REconomy มาจาก REthinking บวกกับ Economy ซึ่งเป็น alternative economy รูปแบบหนึ่งที่ดูแล Micro SMEs เป็นหลัก บ่มเพาะความคิด โดยที่ให้โจทย์เค้าไปทำหน้างานจริง แน่นอนว่า คนที่เข้ามาจะไม่ได้รอดร้อยเปอร์เซ็นต์ มีธุรกิจที่ตายไปบ้าง ต้องอย่าลืมว่า ธุรกิจเป็นของเค้านะ โบ๊ตเองเป็นเพียงแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น โบ๊ตไม่สามารถบอกได้เลยว่า จะทำสำเร็จหรือล้มเหลว แต่เรามี platform มีการปูทางให้เค้ามีความรู้ มีทักษะ ไล่ไปถึงให้โอกาสเค้าไปทำในบทบาทนั้นจริงๆ สิ่งเหล่านี้คืองานที่โบ๊ตทำมาโดยตลอด

  • ถ้าประเมินเป็นเปอร์เซ็นต์ คุณโบ๊ตคิดว่า มีกี่เปอร์เซ็นต์ที่สำเร็จหรือล้มเหลว

โบ๊ตว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ล้มเหลว มีคนเคยถามว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ล้มเหลวเนี่ย แล้วตัวโบ๊ตเองจะเดินต่อไปยังไง โบ๊ตมองว่า ในความเป็นจริงแล้ว อัตราการล้มเหลว มันเยอะกว่านี้ มันอาจอยู่ 95 เปอร์เซ็นต์เลยนะครับ แต่อีก 5 เปอร์เซ็นต์ที่มันอยู่ได้ มันอาจมีสังคม มีเพื่อน กลับมา 20 เปอร์เซ็นต์ที่รอดเนี่ย มันก็มี 15 เปอร์เซ็นต์ที่โตได้ประมาณหนึ่ง ถามว่า ทำไมเค้าโตมากกว่านี้ไม่ได้ เพราะมันจะมีกับดักทางความคิดในเลเวลที่สูงขึ้น ทำให้เค้าติดอยู่ตรงนั้น การทำงานแบบโบ๊ต คือมีความปรารถนาที่อยากจะให้คนไปได้ไกล โบ๊ตก็ทำหน้าที่ของโบ๊ตพันเปอร์เซ็นต์

ความยากของมันก็คือ เราไม่สามารถบังคับให้คนขยันได้ บังคับให้คนพัฒนาตัวเองไม่ได้ บังคับให้คนรักการขายไม่ได้ สิ่งสำคัญเราต้องทำให้เค้าเห็นปลายทางก่อน และให้เค้ารู้ว่า เค้าต้องเดินเพื่อตัวเค้าเอง แต่ว่าเค้าจะเดินหรือไม่เดิน ก็ขึ้นอยู่กับตัวเค้าเองเช่นกัน

โบ๊ต - เพ็ชร ประภากิตติกุล

  • พูดได้เลยหรือเปล่าว่า คุณโบ๊ตลงไปทำให้เค้าดูเป็นแบบอย่าง

โบ๊ตทำเป็นแบบอย่างให้เค้าดูสองอย่าง คือ โบ๊ตทำให้เค้าดูแบบอย่างในการดำเนินธุรกิจของโบ๊ต เค้าจะเห็นโบ๊ตนอนดึก เค้าจะเห็นโบ๊ตลุยงานอยู่ เค้าจะเห็นโบ๊ตอยู่กับลูกค้า ลูกค้าโบ๊ตจะเห็นในสิ่งที่โบ๊ตทำ กับอีกอย่างคือ โบ๊ตทำให้เค้าดูเป็นแบบอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าโบ๊ตบอกให้เค้าไปทำการบ้าน A มา โบ๊ตจะทำการบ้าน A ให้เค้าดู แต่ปัญหาของคนส่วนใหญ่ คือไม่มีความคาดหวังในตนเอง พอไม่มีความคาดหวังในตนเอง จึงคิดจะพึ่งคนอื่นตลอดเวลา

เมื่อใดก็ตามที่ชีวิตคนมีปัญหา ธุรกิจก็จะมีปัญหา ต่อให้แก้ธุรกิจ ธุรกิจก็ไม่มีทางหาย เพราะ Micro SMEs ยังไม่ได้เป็น professional ในมุมของการเป็นพี่เลี้ยงนั้น โบ๊ตต้องเป็นนักจิตวิทยาด้วย เพราะโบ๊ตรู้ว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาของธุรกิจ แต่เป็นตัวเค้าเอง คือถ้าคุยในมุมของธุรกิจ เค้าประสบความสำเร็จไปนานแล้ว นี่คือปัญหาที่แท้จริงของธุรกิจ Micro SMEs

ถ้าวันนี้เราคุยแต่ธุรกิจ งานของโบ๊ตจะง่ายมาก แต่วันนี้โบ๊ตไม่ได้รับผิดชอบแค่สิ่งนั้น ถ้าวันนี้โบ๊ตพาพวกเค้าผ่านกระบวนการทางความคิดเหล่านี้ไปไม่ได้ ทำธุรกิจกี่ทีก็เจ๊ง งานของโบ๊ตคืองานที่ทำให้พวกเค้ามีสติ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ธุรกิจ ปัญหามันอยู่ที่คนไม่มีสติ โบ๊ตอยากคุยถึงเรื่องนี้ก่อนเป็นเรื่องแรก เพื่อทำให้เราเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงของคนไทยในปัจจุบัน

  • หลายคนอาจมองว่า คนไทยอาจไม่เก่งการทำธุรกิจเอง แต่ถนัดที่จะทำตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมาย พอสิ้นเดือนก็รับเงินค่าจ้าง

คนไทยทำธุรกิจไม่เก่งหรือเปล่า โบ๊ตมองว่าไม่ใช่ คนไทยค้าขายโคตรเก่งและฉลาด แต่ที่วันนี้มันไปไหนไม่ได้ เพราะคนมันดราม่ากับชีวิตมากจนเกินไป แล้วแยกแยะปัญหาไม่ออก เวลาที่เค้าจะแก้ปัญหา เค้าจะเอาปัญหาทุกอย่างมากองรวมกัน ซึ่งมันไม่มีทางจะแก้ได้ โบ๊ตมีหน้าที่ฟังว่า ปัญหาที่แท้จริงมันคืออะไร แล้วแยกปัญหาออกมาเป็นก้อนๆ

โบ๊ตมักบอกลูกค้าเสมอว่า วันนี้คุณต้องยืนด้วยตัวเองให้ได้ คุณต้องเป็นที่พึ่งให้ตัวเองให้ได้ เค้าก็ถามว่า แล้วเค้าจะมีโบ๊ตเอาไว้ทำไม โบ๊ตก็ตอบว่า มีโบ๊ต เพื่อให้คุณยืนด้วยตัวเองให้ได้นี่แหละ (หัวเราะ) เพราะถ้าวันหนึ่งที่คุณไม่มีโบ๊ต คุณจะทำยังไงในชีวิต นี่เป็นรูปแบบการดูแลลูกค้าของโบ๊ตที่ไม่เหมือนกับคนอื่น

คนยังจนอยู่ มันไม่ได้จนเพราะหาเงินไม่ได้ แต่เพราะไม่มีความคิด”

คนบางคนคิดว่า ทำยอดขายเยอะๆ สิ เดี๋ยวก็รวยเอง โบ๊ตบอกว่า ไม่จริง คนเป็นหนี้ บางคนก็รวย แต่มีนิสัยที่จะเป็นหนี้ต่างหาก ตรงนี้สำคัญนะ คนจะจน ต่อให้ค้าขายเก่ง ก็หาทางกลับมาจนได้ เพราะความคิดมันจน ทุกวันนี้ที่คนยังจนอยู่ มันไม่ได้จนเพราะหาเงินไม่ได้ แต่เพราะไม่มีความคิด ถ้าคนมีความคิด จะวิ่งไปหาความรู้ แล้วสร้างประสบการณ์ให้กับตัวเอง

ทุกวันนี้ เราพูดถึงแต่ความสำเร็จ เราเลยไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเราไม่เข้าใจคำว่า เนื้อแท้ของคำว่า “สำเร็จ” เวลาเราโฟกัสไปที่คำว่า “สำเร็จ” มันมีแต่ความล้มเหลวทั้งนั้นเลย คนไทยนอกจากจะดราม่าแล้ว เรายังเปราะบางและอ่อนแอเกินไป เกินกว่าที่เราจะออกไปสู้ในสมรภูมิ ธุรกิจที่เรียกว่า “พี่เลี้ยง” จึงเกิดขึ้น โบ๊ตแยกตัวเองออกจากการ เป็นโค้ช เป็นที่ปรึกษา เป็นโค้ชสัมมนา เป็นกูรู โบ๊ตเป็นแค่พี่เลี้ยงที่ทำตรงนี้ให้

โบ๊ต - เพ็ชร ประภากิตติกุล

  • แล้วคุณโบ๊ตเคยตั้งกลุ่มเป้าหมายไว้หรือไม่ว่า ใครคือลูกค้าของธุรกิจที่คุณโบ๊ตทำอยู่

คนที่วิ่งเข้ามาหาโบ๊ต คือคนที่อยากมีธุรกิจใหม่ หรือไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน หรือมีธุรกิจแล้วไปต่อไม่ได้ ลองคิดดูว่า คนเหล่านี้จะต้องเข้าสัมมนาทุกเดือนเพื่อพัฒนาอะไรบางอย่าง เค้าอาจจะต้องจ่ายค่าเข้าสัมมนาเดือนละประมาณห้าพันบาท ปีหนึ่งเค้าจ่าย หกหมื่นแล้วนะ เค้าอาจได้ความรู้ แต่ไม่มีกลไกในการย่อย เค้าอาจได้แรงบันดาลใจ แต่หนึ่งปีวาร์ปผ่านไป ไม่เกิดอะไรขึ้นเลย คือเค้าไม่รู้ว่า ออกจากห้องสัมมนาแล้ว What’s Next! ทำอะไรต่อไปดีล่ะ

ถ้าวันนี้โบ๊ตคิดว่า สิ่งที่โบ๊ตทำ มันคือ ธุรกิจ โบ๊ตจะไม่ทำอะไรนอกเหนือจากสิ่งที่โบ๊ตเคยตกลงไว้ คือโบ๊ตจะเหนื่อยทำไม ถามว่า consult เหมาะกับอะไร consult จะเหมาะกับ ธุรกิจที่มันใหญ่หน่อย เพราะ SMEs ไม่มีกำลังคน ไม่มีกำลังเงิน ไม่มีอะไรเลย ต่อให้ consult อะไรลงไป มันก็ทำไม่ได้ แต่บริษัทใหญ่ๆ สมมติมีลูกน้องยี่สิบคน พอ consult ปุ๊บ เค้ามี man power เค้ามี over draft ไปหมุนเงิน เค้าทำได้ มันจึงเหมาะกับการมี consult สิ่งที่โบ๊ตทำ คือ ไปปรับความคิด ไปสร้างอาชีพ ให้เค้ายืนได้เอง

  • คุณโบ๊ตได้แรงบันดาลใจอะไรในการมาทำธุรกิจนี้

ในวันที่เกิดวิกฤตในชีวิต ทำให้โบ๊ตเข้าใจว่า “ความพอเพียง” คือ “ความสุข” เป็นความสุขที่เกิดจากการได้มองเห็นคุณค่าในตัวเอง พอรู้ว่า คุณค่าของตัวเองคืออะไร มัน positive ขึ้นมาเลย ชีวิตเลยไม่ดราม่า โบ๊ตมีหลัการทำงานของตัวเองว่า ปัญญานำทุน น้ำใจนำกำไร” พอได้หลักแบบนี้ มันเลยตกผลึก โบ๊ตค้นพบว่า วันที่เรามีน้ำใจให้คนอื่น ยังไม่ได้เงินเลยนะ แต่มันมีความสุข

โบ๊ตเชื่อว่า คำว่า “พอเพียง” ที่ ในหลวงรัชกาลที่9 ให้กับคนไทย ไม่ได้มีความหมายเดียว แต่เมื่อค้นหาความหมายนั้น เราจะเจอได้ด้วยตัวเอง โบ๊ตค้นพบว่า แต่ก่อน โบ๊ตมีรายได้เดือนละหลายๆ แสน แต่วันนี้โบ๊ตกลับมาเริ่มต้นด้วยเงิน 7,500 บาท แต่ทำไมโบ๊ตมีความสุข โบ๊ตสามารถดูแลชีวิตตัวเองได้ ไม่ใช้เงินเกินตัว คือเมื่อหาเงินได้ 7,500 บาท โบ๊ตจะใช้ 3,000-5,000 บาท แต่ถ้าโบ๊ตหาเงิน 750,000 บาท โบ๊ตก็สามารถใช้เงินได้ 300,000-500,000 บาท นั่นคือความพอเพียง พูดง่ายๆ คือ “หาให้มากกว่าที่ใช้ แต่ไม่ใช้ให้มากกว่าที่หาได้” มันไม่ง่ายเลยที่จะเข้าใจคำว่า “พอเพียง” แต่เมื่อเข้าใจแล้ว เลิกเข้าใจไม่ได้ โบ๊ตเรียกเขตเศรษฐกิจนี้ว่า REconomy หรือ ปัญญานำทุน เป็นเขตเศรษฐกิจที่โบ๊ตเซ็ตขึ้นมาเป็น business model

โบ๊ตมีความฝันอยากรวบรวมคนไทยให้ได้หนึ่งหมื่นคนมาช่วยทำเขตเศรษฐกิจให้ตัวเองยืนได้ หนึ่งหมื่นคนนี้จะกลายเป็นสังคมที่มีความเข้มแข็ง ไม่ได้เอาเงินมาเป็นตัวชี้วัด วันนี้มันเปรียบเทียบไม่ได้ว่า ระหว่างคนที่มีเงินสิบล้านกับคนที่มีเงินล้านเดียว ใครจะมีความสุขมากกว่ากัน มันเอาเงินเป็นตัวดัชนีชี้วัดไม่ได้ มันมีมิติอื่นๆ อีก ถ้าคนเข้าใจในจุดนี้ เค้าจะทุกข์น้อยลง

โบ๊ต - เพ็ชร ประภากิตติกุล

  • อยากให้คุณโบ๊ตเล่าย้อนกลับจุดเริ่มต้นของ REthingkingTV ให้เราฟังหน่อยครับ

โบ๊ตไม่ตั้งความหวังว่ามันจะยิ่งใหญ่อะไร เราทำเพราะว่าสิ่งนี้มันน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อื่น โบ๊ตเริ่มต้นทำ REthingkingTV เมื่อหกเจ็ดปีที่แล้ว เป็นการถ่ายวิดีโอเซลฟี่ลงโซเชียลยุคแรกๆ ตอนนั้นแค่รู้สึกว่า ถ้าโลกนี้มีแรงบันดาลใจดีดี คนก็น่าจะหยิบแรงบันดาลใจนั้นไปทำอะไรต่อได้

แต่พอทำไปสักระยะ เรามองเห็นว่า แรงบันดาลใจมันมีมิติมากกว่านั้น มันไม่ควรเป็นแค่คนถ่ายวิดีโอแล้วเอามาแชร์ มันควรจะลงไปทำให้เค้าเห็นเลย โจทย์ใหม่คือ ถ้าเราสามารถทำให้คนเกิดแรงบันดาลใจได้ ที่ไม่ใช่แค่ดูวิดีโอ พูดให้ชัดคือ ถ้าคนได้ดูวิดีโอ แล้วชอบก็กดไลค์ แต่กดไลค์แล้วคนใช้ประโยชน์ได้จริงหรือเปล่า เราเลยมีความคิดที่ว่า อยากหยิบเอาคนที่มีแรงบันดาลใจมานั่งคุยกัน สิ่งที่เราโฟกัส คือ ทำอย่างไรให้แรงบันดาลใจเหล่านั้น มันกว้างขึ้น มีพลังมากขึ้น เลยทำสัมมนา

  • ช่วงนั้นคุณโบ๊ตยังทำงานประจำอยู่รึเปล่า

ยังทำอยู่ครับ ก่อนหน้านี้โบ๊ตเคยทำงานเป็น ครีเอทีฟ ในบริษัทเอเจนซี่ทำอีเว้นต์มาก่อน แต่ช่วงที่เริ่มทำ REthingkingTV โบ๊ตลาออกมาแล้วไปจัดรายการวิทยุที่คลื่นหนึ่ง พอมีเวลาเหลือ ก็เริ่มต้นทำคลิปวิดีโอง่ายๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้คน คนก็ตามดูมาเรื่อยๆ

อย่างที่บ้านมีนาข้าวเป็นของตัวเอง ก็ถ่ายเล่าเรื่องนาข้าวของตัวเองนี่แหละ ช่วงนั้นใช้ชีวิตมั่วซั่วไปหมดเลยนะ อยากทำอะไรก็ทำ (หัวเราะ) ที่บอกว่า ชีวิตมั่วซั่ว เพราะเราไม่ได้มีกระบวนการ การจัดการทางความคิดที่ดี เราเป็นเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่อยากทำตามความฝัน ฝันอะไร ก็ทำไปตามนั้น แต่สุดท้ายแล้ว มันไม่เวิร์ค เพราะว่าเราไม่ได้ตกตะกอนและจัดเรียงมัน แต่ข้อดีของมันคือ เราได้พาตัวเองไปใช้ชีวิตหลายๆ รูปแบบ เป็นนักจัดรายการวิทยุ เป็นเกษตรกร ในขณะเดียวกันก็เป็นเจ้าของธุรกิจด้วย คือ ทำทุกอย่างที่อยากทำ มันมั่วไปหมด

โบ๊ตว่าข้อดีอีกอย่างหนึ่งของชีวิตที่มั่วเนี่ย มันทำให้เราเห็นโลกกว้าง มันทำให้เราเห็นโลกในหลากมิติ เด็กบางคนไม่ยอมพาชีวิตตัวเองไปมั่ว หรือมั่ว ก็มั่วอยู่ด้านเดียว ชีวิตมันไม่ครบรอบด้าน มันจะไม่สามารถที่จะกลับมาเจอตัวเอง พูดง่ายๆ คือ เค้าไม่ยอมออกเดินทาง เพื่อกลับมาสร้างทักษะให้กับตัวเอง ในความเป็นตัวเองอย่างแท้จริง

สมมติว่าเราจะผลิต A ขึ้นมา A มันเท่ากับ 1+2+3 คือถ้าไม่มั่ว มันจะเจอแค่ 1 หรือ 2 แต่ชีวิตที่มันมั่วเนี่ย คือมันเอา 1 ไปบวก 2 ไปบวก 3 มันเลยเข้าใจ A และถ้าคนอยากจะไปให้ไกลมากขึ้น สมมติว่าเป็น B มันเท่ากับ 1+2+3 บวกไปจนถึง 10 ถ้าชีวิตมันพาไปเจอเรื่องเหล่านี้ครบในเวลาอันสั้น มันจะเข้าใจ B แต่มนุษย์ส่วนใหญ่ชีวิตมันยาก เพราะว่ามันมอง A มอง B ไม่ออก แค่ 1 2 3 4 ก็ปวดหัวแล้ว ชีวิตมันก็พลิกไปเรื่อย ถ้าเราขมวดปมชีวิตไม่ได้ ชีวิตมันจะมีปัญหา

โบ๊ต - เพ็ชร ประภากิตติกุล

  • เล่าถึงชีวิตของผู้ชายที่ชื่อ เพ็ชร ประภากิตติกุล ให้เราฟังหน่อย

ชีวิตโบ๊ตมันพลิกมากเลยนะ เราเป็นลูกจ้างเค้า เป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นพระ เป็นนักจัดรายการวิทยุ เป็นเกษตรกร พอชีวิตมันพลิกเยอะๆ เราก็เลยเห็นว่า ชีวิตมันมีหลายมิติ แต่จุดที่ขมวดปมชีวิตมาทำ REthingkingTV จนมาถึง REconomy มันคือวันที่หมดตัว

วันที่เราไม่เหลือเงินให้ทำอะไรแล้ว เลยกลับไปดูชีวิตที่มันเคยพลิกว่า ทำอะไรมาแล้วบ้าง ประเด็นคือ ชีวิตที่มันเคยพลิก มันคือประสบการณ์ชีวิต ทัศนคติ ความรู้ แล้วก็ทักษะ ยกตัวอย่างเช่น ตอนเป็นพระ เราจะได้ทัศนคติอย่างหนึ่ง ความรู้อย่างหนึ่ง ทักษะอย่างหนึ่ง เราจะได้วินัยและความอดทน ตอนเป็นลูกจ้างประจำ คือการแก้ไขปัญหา

โบ๊ตไม่คิดว่า คนจะลาออกจากงานประจำมาทำธุรกิจเองแล้วจะประสบความสำเร็จได้ทุกคน เพราะฉะนั้นคนบางคนคิดว่า กระโดดออกมาจากงานประจำมาเป็นเจ้าของธุรกิจเพื่อหวังจะได้เงินเยอะๆ อยากรวย โบ๊ตมองว่า มิติมันหยาบเกินไป เค้าออกมา เพราะแค่ “ความอยากรวย” แต่เค้าไม่ได้มีจิตวิญญาณของความเป็นเจ้าของธุรกิจ ทำธุรกิจอย่างไรมันก็ไปไม่รอด

  • แล้วคุณโบ๊ตหันมาสนใจทำธุรกิจเป็นของตัวเองตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ

เผอิญโบ๊ตมีเซ้นต์ทางด้านนี้อยู่บ้าง เพราะที่บ้านเป็นเจ้าของธุรกิจ ทำอาหารกุ้ง ปลูกข้าวขาย ขายรถยนต์มือสอง แล้วก็เปิดอู่ด้วย โบ๊ตเลยอยู่ในบ้านที่มีจิตวิญญาณของเจ้าของธุรกิจ โบ๊ตได้เห็นป๊าออกไปทำธุรกิจ เห็นอากงทำรถมือสอง มันซึมซับมา เวลาจะขาย ต้องขายยังไง เวลาดูแลลูกค้า ต้องดูแลยังไง แบบนี้เราไม่ได้ไปเรียนในห้องสัมมนา เราเรียนจากบ้านเราจริงๆ

ตอนเด็กๆ โบ๊ตเรียนโรงเรียนรัฐบาลทั่วไป เพื่อนเราก็จะเป็นลูกทหารบ้าง เป็นลูกคุณครูบ้าง มีพื้นฐานครอบครัวและฐานะที่แตกต่างกันไป ซึ่งวิธีคิดของเด็กมัธยมฯ มันไม่เหมือนเพื่อนที่ทำงาน หรือเพื่อนมหาวิทยาลัย มันไม่ได้มาอวดกัน เพราะมันวิ่งเตะบอลมาด้วยกัน มันโตมาด้วยกัน สังคมเพื่อนมัธยมฯ ที่บ้านเค้ามีเงินเยอะๆ เราจะไม่รู้สึกอิจฉา ยังไงมันก็คือเพื่อน เราจะมองข้ามเรื่องนี้ไปเลย ตรงนั้นมันหล่อหลอมให้เราเห็นภาพว่า ถ้าเราไม่ได้มองคนด้วยเงิน แต่มองคนที่เข้าไปข้างใน มันจะได้อะไรบางอย่างที่มากกว่าคบกันด้วยเงิน ชีวิตมัธยมฯ มันสอนแบบนี้ พอโตขึ้นมา เราอาจจะมีบ้านที่พอมี บางบ้านอาจจะมีมากกว่าเรา แต่จน ณ ปัจจุบัน เราก็ยังคบกันอยู่

พอโตขึ้นมาเรียนมหาวิทยาลัย โบ๊ตมีความโชคดี สังคมมหาวิทยาลัยเอกชน (คณะบริหารธุรกิจ เอกคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ) เราเจอสังคมที่หลากหลายขึ้น โบ๊ตเจอกลุ่มเพื่อนที่ดี คือชวนกันเรียน ตอนสอบ ก็ชวนกันอ่านหนังสือ เรารอดเพราะเพื่อน เราไม่ได้รอดเพราะเรียนเก่ง นอกจากกลุ่มเพื่อนที่เรียนด้วยกันแล้ว โบ๊ตก็พาตัวเองไปทำในสิ่งที่เราอยากทำ โบ๊ตเข้าชมรมกระจายเสียง ไปจัดรายการวิทยุในมหาวิทยาลัย โบ๊ตจึงเป็นเด็กบริหารฯ ที่มีเพื่อนเป็นเด็กนิเทศฯ

ตอนเลือกเรียนคณะนี้(คณะบริหารธุรกิจ เอกคอมพิวเตอร์) มันไม่ได้เริ่มต้นจากสิ่งที่เราอยากเรียน แต่เลือกเรียนเพราะเรามีกรอบความคิดว่า เราเลือกเรียนสาขานี้ จบออกมา จะไม่ตกงาน โลกกำลังต้องการคนที่ทำคอมพิวเตอร์เป็น เราไม่รู้หรอกว่า ชีวิตจริงแล้ว จริงๆ เป็นยังไง โบ๊ตโชคดี ถึงแม้เราไม่รู้โลกจริงๆ มันเป็นเช่นไร แต่เราดันทำสิ่งที่เราชอบ คือการพาตัวเองไปอยู่ในสังคมที่มีเพื่อนเรียนนิเทศฯ คือเราเป็นคนที่มีความใฝ่มาตั้งแต่เด็ก แต่เราเรียนในสิ่งที่เราไม่ได้เป็นตัวเรา แต่โชคดีที่เราพาตัวเองไปทำกิจกรรม ไปเป็นครีเอทีฟ ไปฝึกคิด ไปอยู่กับเด็กที่ทำพวกอาร์ตเวิร์ค ทำสื่อโฆษณา เราได้สังคมเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เพื่อนเรียนบริหารฯ ได้แกนเดียว เราได้สองแกนแล้ว นั่นคือโจทย์ในชีวิตที่พลิกไปเรื่อยๆ มันมีความปรารถนาปลายทางเป็นของตัวเอง

พอเราจบออกมาทำงานประจำไปสักระยะหนึ่ง โบ๊ตค้นพบว่า ตัวเองเป็นหัวหน้าที่ดีไม่ได้ โบ๊ตมองเห็นไม่เหมือนคนอื่น โบ๊ตจึงตัดสินใจออกมา หนังสือหลายๆ เล่ม ชอบเขียนเชียร์ให้คนลาออก ส่วนตัวโบ๊ตไม่ชอบเลย โบ๊ตรู้สึกว่า การชวนให้คนลาออกมาอย่างไม่มีเหตุผล มันทำให้เกิดความพังในสังคม

โบ๊ตโชคดีที่ได้เรียนรู้ในการรับมือกับปัญหาจากการทำงานก่อนหน้านี้ คนที่จะออกมาเป็นเจ้าของธุรกิจ แล้วคุณไม่มีทัศนคติที่ดี ไม่มีวิธีการจัดการที่ดีในการแก้ปัญหา คุณก็รันธุรกิจไม่ได้ เพราะคุณจะต้องเจอปัญหาทุกวัน ทั้งหมดนี้ โบ๊ตจึงมองว่า คุณจะเอาแต่แรงบันดาลใจแล้วออกมาทำธุรกิจเลย…ไม่ได้ ธุรกิจต้องการแรงบันดาลใจ แต่แรงบันดาลใจเป็นแค่จุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณดำเนินธุรกิจ แต่ระหว่างทางนั้นต่างหาก ที่ต้องใช้ทั้งแรงกระตุ้น แรงขับเคลื่อน อีกหลายๆ แรงมาประกอบกัน

โบ๊ต - เพ็ชร ประภากิตติกุล

  • สำหรับคนทำงาน มันมีคำว่า วิสัยทัศน์ หรือ มองการณ์ไกล สมัยเด็กๆ คุณโบ๊ต มองสิ่งรอบตัวอย่างไร และคิดว่าเด็กสมัยนี้คิดต่างกับเด็กยุคก่อนๆ อย่างไร

โบ๊ตว่า มันเป็นไปตามยุคตามสมัยมากกว่า ด้วยความเป็นเด็กๆ ก็จะมองอะไร สั้นๆ ใกล้ๆ มองสิ่งรอบตัวเค้านั่นแหละ เด็กสมัยนี้เค้าก็ยังมองอะไรรอบตัว แต่รอบตัวเค้ามันไปไกล มองอะไรที่เป็นระหว่างประเทศ เพราะอินเทอร์เน็ตมันเข้าถึงหมด ต่างกับเด็กสมัยก่อนที่มองอะไรรอบตัวเหมือนกัน แต่รอบตัวคือรอบตัวจริงๆ จึงบอกไม่ได้ว่า ต้องมองไกลหรือมองใกล้ขนาดไหน แต่ตอนนี้ต้องวัดที่ความถี่ที่จะย้อนกลับมาคิดแล้วตกผลึก โบ๊ตไม่ได้บอกว่า ตกผลึกครั้งเดียวแล้วจะนำชีวิตเราไปทางไหน แต่การตกผลึกหลายๆ ครั้งจนหลอมรวมจนเป็นทางของเรา นั่นคือ ปัญญา”

  • คุณโบ๊ตพูดถึงคำว่า “ปัญญา” อยู่บ่อยครั้ง อยากรู้ว่า “ปัญญา” ในความหมายของคุณโบ๊ตคืออะไร

ปัญญาเกิดจากประสบการณ์ที่มาพร้อมกับพื้นฐานของทัศนคติที่ดี เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤต อย่างเช่น หมดตัว ทัศนคติที่ดีจะช่วยนำพาตัวเองให้กลับมาสร้างตัวได้อย่างยิ่งใหญ่ในปลายทาง เช่นเดียวกัน ถ้าวันนี้คุณเจ็บน้อย คุณจะกลับมายิ่งใหญ่มากไม่ได้ นี่เป็นเงื่อนไข พูดง่ายๆ คือ ถ้าคุณอยากมีชีวิตที่ยิ่งใหญ่ มันต้องการเงื่อนไข ถ้าคุณอยากรวย ชีวิตมันก็ต้องการเงื่อนไขเช่นกัน การประสบความสำเร็จ มันต้องมีปัจจัยพร้อม

ถ้าจะบอกว่า คนสมัยนี้ไม่มีปัญญา พูดแบบนี้ก็ดูแรงไป โบ๊ตขอใช้คำว่า “รู้ไม่เท่าทัน” ดีกว่า คือ เราโดนหลอกง่ายเกินไป เพราะเราเข้าใจว่า มีแค่หนึ่งกับสองก็ประสบความสำเร็จได้แล้ว แต่จริงๆ แล้ว มันยังมีปัจจัยอื่นๆ ซ่อนอยู่ ซึ่งปัจจัยเหล่านั้นเราไม่สามารถก็อปปี้กันได้ เพราะมันคือประสบการณ์ชีวิตที่เราสะสมมา

การที่เข้าถึงซึ่ง “ปัญญา” นั้น เราจะรวย เราจะมีความสุข ในแบบของเรา ทำไมเราต้องมี รถหรูราคาแพง ในเมื่อเราอยากขึ้นรถไฟฟ้า ทุกวันนี้โดนที่บ้านบังคับให้ซื้อรถ ก็ยังไม่ได้ซื้อ เพราะชีวิตมันยังไม่ต้องการตรงนั้น พอชีวิตเราเริ่มมั่นคงในเรื่องความคิด เรารู้ว่าทำไมเราต้องใส่เสื้อสีดำ ในขณะที่เราเดินเข้าไปในกลุ่มที่ใส่เสื้อสีๆ เราจะไม่ดราม่า การที่คนเราเห็นคนอื่นเป็นแบบนั้น แล้วเราสงสัย เกิดดราม่า แสดงว่า คนนั้นยังไม่ได้เรียกว่า “มีปัญญา” หรือ “ปัญญายังน้อย” เพราะยังไม่เข้าใจคนอื่น มนุษย์นั้นพลาดตรงที่ เอาสิ่งที่เปรียบเทียบกันไม่ได้ มาเปรียบเทียบกัน มันเลยหาความสุขของตัวเองไม่เจอ ไม่เคยรู้ตัวเองว่าต้องการอะไร

โบ๊ตขอเล่าถึง ในหลวงรัชกาลที่9 อีกครั้ง พระองค์รู้ว่า พระองค์คือใคร ต้องทำอะไร ความสุขของพระองค์อยู่ตรงไหน เราจึงเห็นชีวิตของพระองค์ที่ไม่ใช่แบบสมมติเทพ เป็นชีวิตของพระองค์จริงๆ ที่จับต้องได้ เพราะพระองค์รู้ว่า พระองค์เกิดมาเพื่อเป็นแบบอย่าง พระองค์จึงอยู่ในบทบาทของนักตัวอย่าง…ทุกอย่าง พระองค์กินดี กินอิ่ม แต่พระองค์ไม่ได้ฟุ้งเฟ้อ หรือเราจะเห็นรถพระที่นั่งของท่าน ไม่ใช่รถใหม่ แต่เชื่อว่า เป็นรถคุณภาพดีมากพอที่จะใช้งานได้ พระองค์เจอตรงกลาง ในทุกๆ เรื่อง แต่คนเราชอบเอาความไม่กลางไปตัดสิน สังคมมันเลยยุ่ง อิรุงตุงนัง เละเทะไปหมด

ถ้าพูดถึงหน้าที่ที่พระองค์ทำเป็นแบบอย่าง เราจะทำหน้าที่ได้อย่างไม่ทุกข์ นี่ต่างหากที่เป็นประเด็นให้คนที่มีปัญญา และสามารถค้นเจอตัวเอง ดำเนินชีวิตอยู่บนโลกแห่งความจริงแล้วไม่ทุกข์ โบ๊ตเองบางทีเจอเรื่องที่เรารับไม่ได้ เราก็สะเทือน เพราะเราไม่เคยเจอ แต่พอเรากลับมาดูสิ่งที่พระองค์ทำไว้แบบอย่าง เราก็จะค่อยๆ นิ่งสงบเอง

โบ๊ต - เพ็ชร ประภากิตติกุล

  • คนเก่ง มักจะมีคำว่า “ลึกซึ้ง” และ “เหนือ” มันมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

คนเก่งมากๆ จะคิดว่าตัวเองอยู่ “เหนือ” แต่คนที่เค้าเก่งจริงๆ เค้าจะเข้าใจ “ลึกซึ้ง” และไม่ยกตัวเองให้อยู่ “เหนือ” นี่ก็เป็นอีกมิติหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีคำว่า “เห็นถูก” และ “เห็นผิด” สองสิ่งนี้มันต่างกัน “เห็นผิด” คือเป็นจริงแค่ช่วงเดียว ส่วน “เห็นถูก” คือสิ่งนั้นจะเป็นจริงตลอดไป อะไรที่ทำให้ “เห็นถูก” หรือ “เห็นผิด” ล่ะ มันคือความคิด สิ่งที่ทำให้มนุษย์มีปัญหามากที่สุด ก็คือ “ความคิด” แต่จะทำอย่างไรให้ความคิดนี้ถูกล่ะ ง่ายๆ คือ “ไม่คิด” (หัวเราะ) หยุดคิดแล้วมามองตัวเองก่อน

  • จาก REthingkingTV จนมาเป็น REconomy ใช้เวลากี่ปีครับ

ประมาณ 6 ปีครับ ส่วน REconomy ถูกปรับขึ้นมาเมื่อสามปีที่แล้ว เราตั้งโจทย์ใหม่ โดยเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง REthingkingTV เป็นเพียงสื่อที่ให้กำลังใจ ให้แรงบันดาลใจ ผ่านช่องทางโซเชียลบนเฟซบุ๊ค แต่ REconomy มันถูกปรับให้จับต้องได้มากขึ้น เริ่มต้นจากการให้ความรู้ก่อน แล้วก็มาเป็น consult แล้วเราก็รู้ว่า ให้ความรู้กับ consult ไม่พอแล้ว เลยเอาตัวเองลงภาคสนามไปด้วยเลย เพราะอย่างที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า ปัญญาเกิดจากประสบการณ์ ถ้าเราไม่จัดการกับประสบการณ์ให้ดีดี คนก็ไปเรียนรู้ประสบการณ์แบบเลอะเทอะ ก็เสียเวลา โบ๊ตจึงลงไปจัดกระบวนการบางอย่างให้เกิดประสบการณ์ใหม่ พอเกิดประสบการณ์ เราก็จะเกิดปัญญา แต่ปัญญามันบอกไม่ได้ว่า จะเกิดเมื่อไหร่ เราแค่สร้างสิ่งแวดล้อมให้พวกเขาเพื่อเกิดปัญญา พูดง่ายๆ ว่า เราไม่ใช่คนสร้างปัญญาให้พวกเขา เขาสร้างปัญญาขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง

ย้อนกลับมาที่ “ความคิด” ที่ยังเป็นปัญหา แม้กระทั้งโบ๊ตเอง บางทีก็มีหลงผิด สมมติว่า เราเรียนรู้ A B C แล้ว เราก็กำลังจะเดินต่อไป D บางทีก็มีหลงผิด แต่เราจะรู้หรือเปล่าว่า เรากำลังหลงผิด สิ่งนี้ต่างหากที่สำคัญ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่คุณรู้ทุกอย่างว่ามันถูก แต่เมื่อรู้ว่ามันผิด เราจะกลับมาได้มั้ย เราเรียกว่า รู้เท่าทัน โบ๊ตจึงเป็นตัวอย่างของการ ผิดเป็น พลาดเป็น โบ๊ตไม่ได้เป็นตัวอย่างของคนประสบความสำเร็จ เราเป็นคนธรรมดา เราไม่ได้มีหัวโขน “ฉันทำผิดไม่ได้” เรากล้าผิดให้ดู แล้วเราจะทำให้ดูว่า เรากลับมาได้นะ

โบ๊ต - เพ็ชร ประภากิตติกุล

  • บางคนอาจสงสัยว่า “ทำผิด ไม่กลัวเสียหน้าเหรอ” คุณโบ๊ตจะตอบคำถามนี้อย่างไร

ไม่เห็นเป็นไรเลย ก็เสียหน้า มันคือความจริงอ่ะ (หัวเราะ) ประเด็นมันคืออย่างนี้ ถ้าเราไม่ผิด หรือไม่เคยผิด เราจะไปไกลกว่านี้ไม่ได้ นี่ก็คือความจริงอีกข้อ เป็นหลักการเดียวกับคนหัดปั่นจักรยาน ถ้าคุณไม่เคยล้ม คุณจะไม่รู้วิธีทรงตัวอย่างไร ให้ปั่นต่อไปได้ เพียงแต่ชีวิตมันเดินทางไกลขึ้น ชีวิตมันยากขึ้น ความผิดก็อาจจะใหญ่ขึ้น แต่ถ้าคุณรู้แล้วว่ามันจะผิด คุณก็เตรียมเบาะให้ใหญ่ขึ้น หนาขึ้น เวลาล้มจะได้เจ็บน้อยหน่อย

ไฟไม่ใช่ปัญหา แต่ความคิดของเรานี่แหละคือ ตัวปัญหา”

ขอยกอีกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น มันเหมือนกับไฟ เราจะไม่มีทางรู้เลยว่ามันร้อนอย่างไร จนกว่าเราจะได้สัมผัสมัน นี่คือปัญญา มันมีคนสองแบบ คนแรกกลัวไฟมากเลย นั่นคือคนกลัวที่จะเรียนรู้ กับคนที่สอง วิ่งเข้าหาไฟตลอดเลย อันนั้นก็เสี่ยงที่จะตาย เราต้องหัดเรียนและทำความรู้จักกับ ไฟ แต่ต้องไม่เข้าหาไฟมากเกินจนตัวตาย นี่คือ ปัญญา เราต้องรู้ว่า ร้อนแค่ไหนที่เราจะรับได้ เพราะอย่าลืมว่า บางทีชีวิตเราก็ต้องการน้ำอุ่น บางทีเราอยากแช่ออนเซ็น หรืออะไรก็ตามที่ใช้ความร้อน ถ้าเรามองไฟเป็นปัญหา เราจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากไฟเลย คือโบ๊ตกำลังจะบอกว่า ไฟไม่ใช่ปัญหา แต่ความคิดของเรานี่แหละคือ ตัวปัญหา

สิ่งที่มันยากที่สุดของ REconomy คือ ทุกคนเข้ามาแล้ว “คาดหวัง” ว่า โบ๊ตจะบอกได้ว่า ระยะไหน คือระยะที่เค้าเหมาะที่สุดเมื่ออยู่ใกล้ไฟ หน้าที่ของโบ๊ตจริงๆ คือบอกได้แค่ว่า เข้าไปใกล้ได้อีกหรือเปล่า ตรงนี้ร้อนรึยัง ถ้ายังก็เข้าไปได้อีก ถ้าร้อนเกินก็ถอยออกมา เช็คกลับไปกลับมาแบบนี้ตลอด หน้าที่ของโบ๊ตคือ ไม่ทำให้เค้าถูกไฟคลอกตาย แต่จะทำให้เค้าเรียนรู้ว่า ศักยภาพสูงสุดที่พึงได้จากปัญญาของเค้าเองคือตรงไหน

 “มนุษย์สามารถประสบความสำเร็จได้ แต่ไม่ใช่ทุกคน”

ข้อดีของงานนี้ คือ โบ๊ตได้เรียนรู้คน แต่โบ๊ตจะไม่หลอกคนด้วยคำว่า “ประสบความสำเร็จ” และโบ๊ตพบว่า มนุษย์สามารถประสบความสำเร็จได้ แต่ไม่ใช่ทุกคน เพราะความปรารถนา ความพยายาม และการพัฒนาตนเอง แต่ละคนไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นดัชนีชี้วัดความสำเร็จที่ดีที่สุดคือ ตัวเค้าเอง

คนที่ฝากความหวังไว้ที่คนอื่น คนๆ นี้จะเสียความเป็นตัวเอง เสียพลัง เสียความสมดุล มีบางช่วงลูกค้ามองเห็นโบ๊ตเป็นเทวดาเลย เดินมาบอกว่า อยู่กับโบ๊ตต้องสำเร็จแน่ๆ โห-ห-ห! ดูน่ากลัวมาก (หัวเราะ) เจอแบบนี้เราต้องปรับความคิดเค้าก่อน เราได้แต่เป็นคนประคองสติให้ เพราะมนุษย์ชอบเผลออยู่ตลอด เผลอคิด เผลอเข้าใจไปเอง โห-ห-ห! มีหมด สุดๆ อ่ะ (หัวเราะ) โลกมันเลยวุ่นวายไง

  • เป็นเพราะคุณโบ๊ตเป็นคนช่างสังเกตหรือเปล่า เลยทำให้เข้าใจงานตรงนี้ได้เป็นอย่างดี มันดูเหมาะกับคุณโบ๊ตมากๆ ตั้งแต่แรก

มันก็ใช่ครับ โบ๊ตมองว่า คนน่าสงสาร คนเข้าใจสมการง่ายๆ ไม่ได้ เลยไปทำให้มันยากขึ้นไปอีก แล้วท้ายที่สุดก็กลับไม่ได้

  • คุณโบ๊ตหมายความว่า คนชอบมักสงสัยว่า 1+1 = 2 แบบนี้ใช่หรือเปล่า

ใช่ ใช่ ใช่ (หัวเราะร่า) เออ ใช่ คนมันไปคิดทำไม แล้วก็ชอบมีสูตรลัด ยังทำ 1+1 = 2 ไม่เสร็จเลย ก็ข้ามไปทำข้ออื่นแล้ว ถ้าเล่าเรื่องของคนเป็น case study ยังชัดมากกว่า ที่จะเล่าให้ฟังเป็นเชิงคอนเซ็ปต์ซะอีก

ที่ถามว่า งานนี้ทำไมถึงเหมาะกับตัวเรา มันไม่ใช่แค่การสังเกต แต่โบ๊ตดันเข้าใจเรื่องบางเรื่อง แล้วแค่อยากเอาเรื่องนั้นมาบอกต่อ แต่โบ๊ตบอกไม่ได้ว่า สเต็ปที่หนึ่ง คุณเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้มากแค่ไหน สเต็ปที่สอง คือ คนที่เข้าใจมันได้มากๆ แล้ว จะทำให้สำเร็จได้มากแค่ไหน เพียงแต่โบ๊ตเข้าใจมัน แล้วทำออกมาเป็นรูปธรรมได้ โบ๊ตคิดนะ เมื่อเราทำได้ มันจะต้องมีใครสักคนทำได้เหมือนอย่างเราสิ

โบ๊ต - เพ็ชร ประภากิตติกุล

  • แล้วคุณโบ๊ตมีวิธีการสอนอย่างไร ให้คนเข้าใจในสิ่งที่คุณโบ๊ตพยามจะสื่อสารมาตลอดครับ

เวลาโบ๊ตสอนลูกค้า โบ๊ตจะสอนให้เค้าปลูกต้นไม้สองชนิดพร้อมๆ กัน ต้นไม้ชนิดแรกโบ๊ตเรียกว่า “ถั่วงอก” ข้อดีคือปลูกสามวัน เจ็ดวันก็ได้กิน กับต้นไม้อีกชนิดหนึ่ง โบ๊ตเรียกว่า “มะม่วง” ที่ต้องรอสามปีกว่าจะเก็บกินได้ ให้เราลองจินตนาการว่า ปลูกถั่วงอก กับ ปลูกมะม่วง คนชอบคิดว่า ปลูกมะม่วง มันยากไป คนจึงหันไปปลูกถั่วงอก พอมาวันหนึ่งที่เกิดวิกฤต มีปัญหา ถั่วงอก มันก็เอาไม่อยู่ คิดจะปลูกมะม่วงก็ช้าไปเสียแล้ว

เราไม่ได้บอกว่าให้ปลูกถั่วงอกหรือปลูกมะม่วง แค่อยากจะบอกว่า เราต้องปลูกทั้งถั่วงอกและมะม่วง เพราะชีวิตเรารอกินมะม่วงไม่ได้ เราต้องกินถั่วงอกไปก่อน เป็นเรื่องเดียวกันกับ เกษตรส่วนผสม เราปลูกถั่วงอกเก็บกินทุกวันจนครบสามปี เราเก็บมะม่วงกินได้ เราอาจจะไม่ต้องปลูกถั่วงอกแล้วก็ได้ หรือ ยังจะปลูกถั่วงอกต่อ ตอนนั้นเราก็อาจกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านถั่วงอกไปแล้วก็ได้ ไม่ต้องตัดสินว่า อะไรดี ไม่ดี แต่เราจะไม่อดตายแล้ว

ประเด็นคือว่า มะม่วงมันมีมูลค่ามากกว่าถั่วงอกไง คนไทยส่วนใหญ่คิดแต่จะปลูกถั่วงอก ประเทศไทยถึงได้เป็นแบบนี้ พอล้มก็ล้มหมด นั่นคือโจทย์ที่จะทำยังไงให้คนหันมาปลูกมะม่วงและถั่วงอกไปด้วย โบ๊ตจึงใช้ธุรกิจมาเป็นเครื่องมือ ไม่ใช่สอนให้คนทำธุรกิจนะ แต่ใช้ธุรกิจเพื่อให้คนจับต้องได้และเข้าใจมากที่สุดว่า ทำไมถึงต้องปลูกมะม่วง สิ่งที่ตลกที่สุดคือ คนไทยยังมีความคิดที่ว่า อยากปลูกถั่วงอกให้รวย ถ้าคุณจะรวยจากการปลูกถั่วงอก คุณจะต้องผลิตให้ได้เยอะๆ คุณต้องเอาเวลาไปพัฒนาถั่วงอก ถ้าเทียบกัน คุณต้องขายถั่วงอกเท่าไหร่ถึงจะเท่ากับขายมะม่วงหนึ่งลูก ถ้าคุณเอาแรง เอาเวลาไปทำมะม่วง คุณจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับมะม่วงได้ตั้งเท่าไหร่ในช่วงเวลาเดียวกัน ถั่วงอกจึงเปรียบได้กับ การค้าขายแบบซื้อมาขายไป แต่มะม่วงคือโครงสร้างธุรกิจ ธุรกิจที่ไม่มีโครงสร้าง มันโตไม่ได้ หรือยิ่งโตยิ่งน่ากลัว เพราะคนสามารถเปลี่ยนใจไปซื้อของใหม่ หรือมีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาทดแทน ธุรกิจเดิมจึงล้ม

ถ้าพูดในมุมธุรกิจ มะม่วงก็คือ ต้องรู้วิธีว่า ทำอย่างไรให้คนมากินมะม่วงให้ได้ เมื่อใดก็ตามที่มีคนรักมะม่วง คุณจะได้ลูกค้าที่มี loyalty มะม่วงมันจึงเกิดมูลค่าขึ้นมา นั่นหมายถึงจะมีคนมากินมะม่วงซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่อย่างที่บอกไปว่า เราต้องปลูกทั้งสองอย่าง เพราะมะม่วงให้ผลลัพธ์อย่างหนึ่ง ถั่วงอกให้ผลลัพธ์อีกอย่างหนึ่ง เพราะกว่ามะม่วงจะโต คุณต้องมีกิน นั่นคือวิธีการคิด เช่นเดียวกันกับ เมื่อเจอซ้ายและขวา มันก็จะเจอตรงกลาง

เมื่อคุณปลูกมะม่วงเป็น คุณจะเริ่มขยายพันธุ์มะม่วง เมื่อคุณขายมะม่วง คุณก็จะได้เงิน เมื่อคุณขยายพันธุ์หรือแปรรูปมะม่วงคุณก็จะได้เงิน และเมื่อคุณสอนคนปลูกมะม่วง คุณจะได้เงินมั้ย ชัวร์! คุณก็จะได้เงิน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่า เมื่อคุณเข้าใจราก คุณจะสามารถสร้างเม็ดเงินได้มากมาย ต่างกับถั่วงอกที่ต้องขายเยอะๆ ถึงจะได้เม็ดเงิน

นี่คือการคิดแบบ “ปัญญานำทุน” โดยไม่ได้เอาเงินเป็นที่ตั้ง ไม่เน้นที่กระบวนการขายในเบื้องต้น แต่เน้นที่กระบวนการตกผลึกทางความคิด ให้คนนั้นๆ มีประสบการณ์จึงเกิดปัญญา แล้วไปสร้างเม็ดเงินได้ด้วยตนเองภายใต้ทัศนคติที่ดี ความรู้ที่มากขึ้น และทักษะที่ชำนาญขึ้น

โบ๊ต - เพ็ชร ประภากิตติกุล

  • คุณโบ๊ตมีมุมมองต่อ “ฟินเทค” ที่กำลังจะเข้ามาในประเทศไทยอย่างไร

มันดีนะ แต่ต้องมีตลาดกลาง คนที่เข้าใจเทคโนโลยีก็ดีไป แต่เกษตรกรที่ไม่เข้าใจเทคโนโลยี หรือไม่รู้เท่าทัน คนส่วนนี้จะแย่ มันจึงต้องมีตลาดกลาง ถ้ารัฐบาลดำเนินการมันก็ดี หรือเอกชนเข้ามาดำเนินการก็ดี แต่ปัญหาอยู่ที่ตลาดกลางมันเอาเปรียบ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี แต่มันอยู่ที่คน เพราะยังไงก็ต้องมีคนกลาง แต่คนกลางมันต้องมีคุณธรรมด้วย

อย่างกล้องดิจิทัล มันดีนะ และมันจะดีมากถ้าคนจะมีจิตวิญญาณในการถ่ายรูปไปพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่คนสมัยนี้ทิ้งจิตวิญญาณนั้นไปแล้ว แล้วไปพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ โบ๊ตยังย้ำคำเดิมว่า “เทคโนโลยีไม่ใช่ปัญหา แต่คนคือปัญหา” โบ๊ตบอกไม่ได้ว่า เทคโนโลยีไหนดี ไม่ดี เมื่อโลกบังคับให้เราต้องใช้เทคโนโลยี แต่เราต้องรู้เท่าทันมัน ก็เท่านั้นเอง

  • ทิ้งท้ายสำหรับงานที่คุณโบ๊ตทำอยู่สักหน่อยครับ

โบ๊ตทำงานที่ไม่ค่อยมีใครกล้าทำ ไม่มีใครอยากทำเพราะมันเหนื่อย การที่โบ๊ตกระโดดลงมาในสนามนี้ ต้องพร้อมรับการโดนด่า โดนตำหนิ แค่นั้นเอง มันเลยบอกไม่ได้ว่า จะสำเร็จชาตินี้หรือเปล่า แต่เมื่อตัดสินใจมาทำแล้ว เราก็แค่รู้เท่าทันว่า เราต้องรับมือกับมันอย่างไร มันก็เลยไม่ทุกข์มาก มันง่ายมากกว่านี้ ถ้าโบ๊ตเป็นแค่ที่ปรึกษาหรือเป็นโค้ช แต่การที่โบ๊ตลงไปดำเนินการด้วยตัวเอง เพราะโบ๊ตอยากไปทำความเข้าใจ อยากลงไปช่วยคนจริงๆ ในอนาคตวิธีการดำเนินงานอาจจะเปลี่ยนไปตามโลกที่หมุนไปก็ได้ แต่จุดหมายปลายทางเดิมจะต้องไม่เปลี่ยนครับ

โบ๊ต - เพ็ชร ประภากิตติกุล

สิ่งที่เราได้คุณกับคุณโบ๊ตในวันนี้ทั้งหมด ทำให้เราตกผลึกได้ว่า ทุกอย่างบนโลกนี้มันมีเงื่อนไขของมัน และเมื่อเรารู้เท่าทันในทุกสิ่งบนโลกนี้ นั่นคือ “ปัญญา” ที่จะนำพาให้เราค้นพบทางของตัวเอง อ่านจนมาถึงบรรทัดนี้แล้ว เราอยากให้ทุกคนได้ลองกลับมาทบทวนชีวิตของตัวเองกับสิ่งที่ทำอยู่ ว่าตอบโจทย์ชีวิตของตัวเองแล้วหรือยัง ถ้ายัง ลองค้นหาตัวเองใหม่ แล้วกลับมาเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง เหมือนกับ โบ๊ต – เพ็ชร ประภากิตติกุล ผู้ชายที่ไม่เคยหยุดนับหนึ่งใหม่อีกหลายๆ ครั้ง จนกว่าจะเดินไปถึงจุดปลายทางของตัวเอง


Interview : ธนกฤต ชัยสุวรรณถาวร

Photo : ธนายุทธ สร้อยสุวรรณ

keyboard_arrow_up