เรื่องเล่าต่างมิติ กับ 20 ปีในโลกใต้น้ำของ อ. นัท สุมนเตมีย์

นัท สุมนเตมีย์ || เรื่องเล่าต่างมิติ กับ 20 ปีในโลกใต้น้ำ

เรื่องเล่าต่างมิติ กับ 20 ปีในโลกใต้น้ำของ อ. นัท สุมนเตมีย์
เรื่องเล่าต่างมิติ กับ 20 ปีในโลกใต้น้ำของ อ. นัท สุมนเตมีย์

WHO # FAV talk with นัท สุมนเตมีย์ : เมื่อเดือนก่อนผมมีโอกาสได้ไปเดินชมนิทรรศการ Okeanos : โอเคียนอส ของ อาจารย์ นัท สุมนเตมีย์ ช่างภาพใต้น้ำระดับชั้นนำของเมืองไทยที่ตระเวนถ่ายภาพใต้น้ำมาแล้วทั่วโลก ในงาน ผมได้เจอกับ อ.นัท โดยบังเอิญจึงชวนเจ้าของภาพมานั่งพูดคุยและฟังเรื่องราวที่เขาได้พบเจอในโลกใต้น้ำตลอดการทำงานกว่า 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคกล้องฟิล์มจนถึงยุคดิจิทัล รวมไปถึงมุมมองความคิดเห็นส่วนตัวของ อ.นัท ที่มีต่อการถ่ายภาพและธรรมชาติของโลก จะเป็นเช่นไรตามอ่านกันได้เลยครับ

อาจารย์เริ่มเรียนถ่ายภาพใต้น้ำตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ

ตอนนั้นผมเรียนอยู่ ปี 3 ที่วารสารฯ ธรรมศาสตร์ ช่วงประมาณปี 1990 ครับ มาเริ่มต้นถ่ายจริงจังตอนเรียนจบแล้วครับ สมัยเรียนก็เริ่มต้นฝึกถ่ายภาพทั่วไปล่ะครับ จริงๆ แล้ว ผมมีความผูกพันกับใต้ท้องทะเลมาตั้งแต่เด็กนะครับ ไปเที่ยวทะเลกับคุณพ่อ คุณพ่อชอบตกปลา ชอบไปนอนตามเกาะครับ

พื้นเพของอาจารย์เป็นคนจังหวัดไหนครับ

เป็นคนกรุงเทพฯ ครับ แต่ไปเที่ยวทะเลบ่อย อย่างระยอง บางเสร่ ไล่ยาวไปถึงตราด ทางใต้คุณพ่อก็ชอบลงไปกระบี่ครับ

ช่วงนั้นอาจารย์ติดตามคุณพ่อไปเที่ยวทะเล แล้วได้ดำน้ำด้วยรึเปล่าครับ

ดำด้วยครับ แต่สมัยนั้นจะดำน้ำแบบ Snorkel ส่วนคุณพ่อเป็นนักดำน้ำ Scuba มานานประมาณ 40 ปีได้แล้วครับ นานมาก เรียกว่าเป็นคนยุคบุกเบิกรุ่นแรกๆ ของเมืองไทยเลยก็ว่าได้ ตอนนั้นผมเองก็อยากดำแบบ Scuba นะ แต่คุณพ่อบอกว่าผมยังเด็กไป รอให้โตกว่านี้ก่อน ก็เลยเริ่มดำ Snorkel แบบค่อยเป็นค่อยไป จนชำนาญก็เปลี่ยนมาดำ Scuba ครับ

เรื่องเล่าต่างมิติ กับ 20 ปีในโลกใต้น้ำของ อ. นัท สุมนเตมีย์

คนส่วนใหญ่แทบจะไม่รู้เลยว่า การถ่ายภาพใต้น้ำอย่างจริงจังในประเทศไทยนั้นมีมานานแล้ว

ภาพถ่ายใต้น้ำเนี่ย ถ้าสืบย้อนกันจริงๆ ในประเทศไทย มีประวัติศาสตร์เกี่ยวกับภาพถ่ายใต้น้ำหรือการถ่ายภาพยนตร์ใต้น้ำมาตั้งแต่ปี 2500 แล้วล่ะ สมัยเด็กๆ ผมเคยดูหนังเรื่อง อุกาฟ้าเหลือง ของท่านมุ้ย ก็เป็นหนังใต้น้ำนะครับ แล้วก็มีคนรุ่นก่อนยุคผมเนี่ยก็มี น้าดร แล้วก็ น้าอัสนี ที่เริ่มต้นถ่ายภาพใต้น้ำตั้งแต่ปี 2526 มาลงตีพิมพ์ตามนิตยสารต่างๆ

ถ้าย้อนไปเมื่อ 20 ปีก่อน การถ่ายภาพใต้น้ำมีความยากลำบากอย่างไรบ้างครับ

สมัยก่อนเรื่องความพร้อมของอุปกรณ์ต่างจากทุกวันนี้นะครับ ผมยังเคยเห็นอุปกรณ์ของคุณพ่อสมัยเก่าๆ ที่เป็นกล้องถ่ายภาพใต้น้ำ ไฟแฟลชยังเป็นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งคือไม่ใช่ไฟอิเล็กทรอนิกส์ พอฉายเข้าไปปุ๊บก็ต้องเปลี่ยนหลอด มันเป็นอุปสรรคของคนถ่ายภาพใต้น้ำในสมัยนั้น แถมฟิล์มก็มีราคาแพง หลอดไฟก็แพงมากๆ การถ่ายภาพใต้น้ำแต่ละภาพค่อนข้างใช้ทุนค่อนข้างมหาศาล

สมัยนั้นใช้วิธีการเซฟกล้องไม่ให้น้ำเข้ายังไงครับ

เขาจะสร้างเป็นเหมือนกล่องที่เรียกว่า Housing ขึ้นมาครับ จะให้มีขนาดใหญ่กว่าตัวกล้องเล็กน้อย แล้วก็มีสวิตซ์ที่มาเป็นกลไกของกล้องต่างๆ ให้ใช้งานได้เหมือนปัจจุบันครับ สมัยนั้นเป็นอะไรที่น่าสนุก ตื่นเต้นมากครับ

เพราะอะไร อาจารย์ถึงไม่เลือกถ่ายภาพบนบก

ผมคิดนะครับว่า การถ่ายภาพ ถ้ามองในเรื่องของการสื่อสาร ผมเรียนสื่อสารมวลชนมา การที่เราจะเล่าเรื่องอะไรสักอย่าง ควรเป็นเรื่องที่เรารู้จักมันดี หรือชอบ หรือรักสิ่งนั้นจริงๆ ยุคที่ผมเริ่มถ่ายภาพอยู่ในช่วงต้นปี 2530 ครับ ปัญหาของคนเริ่มถ่ายภาพในยุคนั้นคือ อยากถ่ายภาพ แต่ไม่รู้จะถ่ายภาพอะไร ผมมาคิดดูครับว่า จริงๆ การถ่ายภาพ มันก็คือการสื่อสาร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การเราสื่อสารในสิ่งที่เรารู้ออกไป คนไหนชอบเรื่องกีฬา ก็เน้นไปถ่ายภาพด้านกีฬา ถ้าชอบภาพที่เกี่ยวกับเรื่องของคนก็ไปถ่ายพวก street พวกชีวิตคน แล้วแต่แนวทางที่แต่ละคนชอบครับ ผมว่า การถ่ายภาพ มันเป็นแค่สื่ออย่างหนึ่ง ภาพในความคิดผมนะมันก็คือ ภาษา เป็นข้อมูลที่เราจะใช้สื่อสารกับคนรับสาร คือ ภาษาของภาพ ก็มีภาษาของมัน

เรื่องเล่าต่างมิติ กับ 20 ปีในโลกใต้น้ำของ อ. นัท สุมนเตมีย์

ในความคิดของอาจารย์ ภาษาภาพ โลกใต้น้ำของอาจารย์ สามารถสื่อสารอะไรได้บ้างครับ

สิ่งที่ผมสื่อสารก็คือ ผมมีความเชื่อว่า คนในสังคมเมืองอย่างเรา ไม่รู้หรอกว่า โลกใต้น้ำ มันเป็นอีกโลกหนึ่งที่ทับซ้อนกันอยู่ ขณะที่เรานั่งคุยกันอยู่ตอนนี้ อาจจะมีอีกเหตุการณ์หนึ่งกำลังดำเนินอยู่ใต้น้ำ ขอเล่าให้เห็นภาพอีกนิด อย่างขณะนี้ที่นี่เป็นเวลา 4 โมงเย็น ที่เกาะสิปาดัน มาเลเซีย เวลาจะห่างจากประเทศไทยประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า คือ ประมาณ 6 โมงเย็น จะเป็นเวลาที่ปลาแมนดารินจับคู่เวดดิ้งกันละ (หัวเราะ)

ง่ายๆ คือ เรื่องราวของโลกใต้น้ำ จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตลอดเวลานะครับ แต่เราจำกัดการรับรู้อยู่แค่ในกรอบของโลกบนบกที่เราคุ้นเคย อย่างเช่น เราจะรู้ว่า ช่วง 4 โมงเย็น จะเป็นช่วงที่เด็กเลิกเรียน บนรถไฟฟ้าขบวนที่กำลังจะเข้าชานชาลา เด็กจะแน่นแน่ๆ คือ มันก็ขึ้นอยู่กับการรับรู้หรือมุมมองของแต่ละคน แต่จริงๆ แล้ว โลกมันกว้างกว่าสิ่งที่เรามองเห็น มันมีเรื่องราวอีกตั้งมากมายที่ซุกซ่อนอยู่ตามแต่ละมุมของโลกและผมเชื่อว่า ทุกชีวิตบนโลกนี้มันเกี่ยวพันกัน

หลายคนมองว่า เวลาดำน้ำลงไปสัมผัสโลกใต้ทะเล มันเหมือนเวลานั้นแทบจะหยุดหมุน ในความคิดของอาจารย์ มองมันอย่างไรครับ

ถ้ามองในแง่ของความสุขใจก็มองเป็นอย่างนั้นได้ครับ แต่ถ้าถามในด้านการทำงานจริงๆ เวลาถ่ายงานใต้ทะเลมันมีข้อจำกัดเยอะมากๆ ครับ อย่างเช่น ถ้าเราลงไปในความลึก 120 ฟุต เรามีเวลาอยู่แค่ 15 นาที ยิ่งลึกยิ่งอยู่ได้น้อย มันมีข้อจำกัดในเรื่องของความปลอดภัยเกี่ยวกับก๊าซไนโตรเจนที่จะเข้ามาอยู่ในร่างกายของเราที่เราต้องควบคุมอยู่ ทุกวินาทีในโลกใต้ทะเลมีค่ามาก

อาจารย์กำลังบอกเราว่า ตัวเราต้องพร้อมที่สุดก่อนลงน้ำ

ใช่ครับ นอกจากเราจะต้องเตรียมอุปกรณ์แล้ว เราต้องแพลนการทำงานของเราด้วย ผมจะไม่ทำงานที่เสี่ยงเกินไป ผมทำงานนี้มา 20 ปีแล้ว ผมไม่เคยเจออุบัติเหตุในการดำน้ำเลย เพราะผมจะระมัดระวังในการทำงานมากๆ ผมคิดไว้ว่า ถ้าวันนี้เราผ่านไปได้ วันหน้าถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ เราก็สามารถกลับมาถ่ายใหม่ได้

คือเราไม่จำเป็นจะต้องเอาความเสี่ยงมาแลกกับอะไรบางอย่าง

ใช่ครับ แต่ในขณะเดียวกัน โอกาสบางครั้งมันเกิดแค่ครั้งเดียว หรือ ช็อตที่ดีที่สุดอาจจะมีแค่ครั้งเดียวในชีวิต ดังนั้น เราจึงต้องบริหารความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลาว่า จุดนี้เราจะอยู่ได้นานเท่าไหร่ นอกจากการถ่ายภาพแล้ว เรายังต้องวางกลยุทธ์ไว้ด้วยว่าเราดำเดินการทำงานต่อไปยังไงด้วย

เรื่องเล่าต่างมิติ กับ 20 ปีในโลกใต้น้ำของ อ. นัท สุมนเตมีย์

อาจารย์จะมีการไปสำรวจพื้นที่ก่อนเริ่มถ่ายภาพบ้างมั้ยครับ

งานหลักของผมมันไม่ใช่การถ่ายภาพยนตร์ เราถ่ายภาพนิ่ง แต่เราจะศึกษาข้อมูลก่อนเดินทางไป เพราะพอไปถึงนั่น แปลว่าเงินมันถูกใช้ไปในการเดินทางแล้ว เราต้องแพลนไว้ก่อนว่า เราจะไปที่นั่นเพื่ออะไร เช่น เราจะไปกาลาปากอส เราจะถ่ายฉลามหัวค้อน หรือไปตองกา เพื่อถ่ายวาฬหลังค่อมกับลูก ประมาณนี้ครับ

ฟังแล้ว มันอาจต้องแพลนมากกว่าถ่ายงานบนบกด้วยซ้ำ

ใช่ครับ ต้องหาข้อมูลที่ชัดเจนและอัพเดทแล้ว แล้วยังต้องหาคนที่เชื่อใจได้ ที่จะพาเราไปที่ตรงนั้น ณ บริเวณนั้น

ปกติอาจารย์จะหาคนท้องถิ่นรึเปล่าครับ

ก็มีทั้งคนท้องถิ่น หรืออาจจะเป็นเพื่อนช่างภาพ แล้วก็หาข้อมูลจากการอ่านตำราต่างๆ

ทริปไหนที่อาจารย์ไปแล้วรู้สึกมหัศจรรย์สุด ตั้งแต่ที่ถ่ายมา

จริงๆ ก็มีเหตุการณ์มหัศจรรย์เกือบทุกทริปนะครับ โลกใต้ทะเลทุกที่มันมีความแตกต่างกันออกไปครับ มันมีทั้งความประทับใจในเรื่องของความยากลำบากก็มี หรือในเรื่องประสบการณ์ที่พบเห็นก็มี อย่างการไปดูวาฬที่ตองกาก็เป็นอะไรที่ประทับใจมากเพราะว่าเวลาเราลงไปดูวาฬแม่ลูกที่อยู่ด้วยกันเนี่ย ผมมีความรู้สึกว่า เขาให้เราเข้าไปอยู่ในโลกของเขา ตัวเขาใหญ่มาก ตัวแม่นี่ใหญ่กว่ารถเมล์อีกนะ ตัวลูกก็ประมาณ 3 เมตร คือตัวใหญ่มาก-ก-ก

ตอนเราลงไปดู พวกมันมีอาการระแวงเรามั้ย เหมือนอยู่ดีดีก็มีคนแปลกหน้าเดินเข้ามาในบ้าน

บอกเลย สัตว์ทุกชนิดกลัวมนุษย์ครับ

เรื่องเล่าต่างมิติ กับ 20 ปีในโลกใต้น้ำของ อ. นัท สุมนเตมีย์

แล้วอาจารย์สร้างความคุ้นเคยหรือเป็นมิตรกับพวกมันยังไงครับ

การถ่ายวาฬหรือการถ่ายภาพใต้น้ำทุกชนิด ปัจจัยการถ่ายภาพหลักคือไม่ใช่อุปกรณ์ แต่การ approach เข้าหาสัตว์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ผมใช้เวลาในการเรียนรู้จากประสบการณ์ประมาณ 20 ปี ผมไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด แต่ผมสามารถคาดเดาได้ว่า สถานการณ์นี้ควรเข้าไปอีก หรือถอยออกมาจากตรงนั้น มันไม่ใช่เรื่องของความเสี่ยงนะครับ แต่มันเป็นเรื่องของสวัสดิภาพของตัวเราเองด้วย และมันเป็นสัญชาติญาณของสัตว์ที่ไม่อยากให้เราเข้าไปใกล้มากกว่านั้น อย่างวาฬแม่-ลูก เวลาเราจะเข้าไป approach เราจะต้องรออยู่เฉยๆ รอตัวลูกว่ายมาหาเราเอง นั่นคือวิธีการเข้าใกล้ของเรา มันเป็นเรื่องของการรอจังหวะเวลา ผมจะบอกว่า สัตว์ทุกชนิดว่ายน้ำเร็วกว่าเรานะ ไม่มีทางที่เราจะว่ายน้ำได้เร็วกว่าพวกมัน ช่วงที่ลงไปถ่ายภาพใหม่ๆ เมื่อ 20 กว่าปีก่อน ผมคิดว่าถ้าเจอปลาต้องว่ายไล่ ถ่ายรูปให้ดีที่สุด แต่ผ่านมา 20 ปี ผมคิดว่าการที่เราหยุดอยู่นิ่งๆ แล้วเขาสนใจเรา ว่ายมาหาเรา โอกาสจะถ่ายรูปได้ดีกว่า

อาจารย์ใช้แฟลชถ่ายภาพใต้น้ำด้วยรึเปล่าครับ

ใช้ในบางกรณีครับ คือ สัตว์บางชนิดไม่ควรใช้แฟลช พวกวาฬกับพะยูน ถ้าเป็นไปได้ไม่ควรใช้แฟลชเลยครับ

เหมือนตอนนี้เราอยู่ในยุคที่การท่องเที่ยวทุกรูปแบบเฟื่องฟู มันมีผลกระทบเกี่ยวกับระบบนิเวศต่อโลกใต้น้ำอย่างไรบ้างครับ

เออ…(หยุดคิด) เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่พูดยากนะ แน่นอนที่สุด ทุกอย่างมันมีทั้งข้อดีข้อเสีย การที่ผมคิดว่าการที่คนหันมาสนใจธรรมชาติ การท่องเที่ยวเยอะขึ้น มันก็อาจจะส่งผลต่อธรรมชาติมาก แต่ผมว่ามันอยู่ที่กฎเกณฑ์การดูแลรักษาธรรมชาติแต่ละพื้นที่ดีแค่ไหน ส่วนตัวนักท่องเที่ยวเอง ผมเชื่อว่าคนรักธรรมชาติ ถ้าเขารู้ว่าสิ่งไหนทำไปจะเป็นการรบกวน เขาจะไม่ทำ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ การไม่มีระบบการจัดการที่ดี ผมเชื่อว่าระบบจัดการที่ดีอยู่ในภาวะสมดุลสำคัญที่สุด อย่างผมไปที่ กาลาปากอส การจัดการของเขาดีมากๆ ข้อแรกคือ การจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว อย่าง โคโค่ไอส์แลนด์ เป็นเกาะที่อยู่กลางมหาสมุทร อยู่ในเขตประเทศคอสตาริกา จะจำกัดนักท่องเที่ยวต่อปี ประมาณ 800-1,000 คน แต่มองกลับมาที่บ้านเรา อุทยานแห่งชาติ วันเสาร์หรือวันอาทิตย์วันเดียวอาจจะมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 1,000 คน แล้ว มันขึ้นอยู่กับการจัดการ การมองเห็นคุณค่าในทรัพยากรธรรมชาติ ผมว่า ทรัพยากรธรรมชาติอาจจะไม่ใช่ต้นทุนทางเศรษฐกิจอย่างเดียว มันคือ ต้นทุนของชีวิต ต้นทุนของทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ มันมีคุณค่ามากกว่าที่เราจะมองว่ามันเป็นต้นทุนของเศรษฐกิจ

ประเทศไทยเลยมีข่าวออกมาเรื่อยๆ ว่า คนแห่กันไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติ รถติดหนักมาก ทำให้ระบบเสียหาย อยู่บ่อยๆ

ใช่ครับ จุดที่เราควรระวังของระบบธุรกิจในไทย อันนี้ผมอาจจะพูดโยงไปไกลหน่อยนะครับ ในประเทศไทย ทำงานกัน 5-6 วันต่อสัปดาห์ มีวันหยุดตรงกันในช่วงเทศกาล เป็นไปไม่ได้เลยครับว่า ถ้าผมทำงานออฟฟิศแล้วผมอยากไปเที่ยวในวันธรรมดา ก็ต้องลาหยุดไป ซึ่งแต่ละคนก็มีข้อจำกัดต่างๆ นานา ในขณะที่ประเทศในแถบยุโรปหลายๆ ประเทศ จะสามารถหยุดได้เป็นเดือนๆ ลาพักร้อนแล้วออกไปท่องเที่ยวหาประสบการณ์ชีวิต วิถีชีวิตมันต่างกันนะครับ

เรื่องเล่าต่างมิติ กับ 20 ปีในโลกใต้น้ำของ อ. นัท สุมนเตมีย์

มันเป็นเพราะเรามีวิถึชีวิต มีสังคมที่แตกต่างกันด้วยรึเปล่าครับ ค่านิยมและวิธีคิดจึงแตกต่างกัน

ผมเชื่อว่า ระบบสังคมที่ต่างกัน ค่านิยมของคนจึงต่างกันออกไป คือคนในแถบอเมริกาหรือยุโรป โดยพื้นฐานชีวิตพวกเขาตั้งแต่เด็กส่วนใหญ่โรงเรียนจะปลูกฝังมาว่า ให้คนรักและเข้าใจธรรมชาติ เคารพในธรรมชาติ แต่ในขณะที่การปลูกฝังของโรงเรียนในบ้านเราอาจจะเน้นไปด้านวิชาการมากกว่าการปลูกฝังให้เข้าใจถึงกฎเกณฑ์หรือระบบธรรมชาติ เรื่องนี้ผมรู้สึกว่า เด็กทั่วโลก จะ connect กับธรรมชาติได้ดีกว่าผุ้ใหญ่ คือเด็กจะสนใจเรื่องธรรมชาติ คนที่ดูสารคดีสัตว์ส่วนมากจะเป็นเด็ก ผมว่าอาจจะเป็นสัญชาติญาณดั้งเดิมของมนุษย์ที่เกิดมาปุ๊บ มันจะ connect กันอยู่แล้ว เมื่อเราเติบโตขึ้น มันจะมีเรื่องอื่นที่เราให้ความสำคัญมากกว่า หรือเราถูกสังคมเบี่ยงเบนความสนใจไปทางอื่นมากขึ้นทุกทีๆ

ถ้าพูดถึงภัยธรรมชาติอย่างล่าสุดที่คนเริ่มตื่นตัวมากขึ้น คือ สึนามิและแผ่นดินไหว เท่าที่อาจารย์ไปสำรวจมา ระบบนิเวศในใต้ท้องทะเลเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากน้อยขนาดไหนครับ

อย่างสึนามิ ส่งผลกระทบต่อปะการังในระดับหนึ่งแต่ยังไม่เท่ากับปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในปี 2553 นะครับ ในครั้งนั้น เราได้เสียแนวปะการังที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งในโลกไปเกือบ 70% เราต้องใช้คำว่า ยอมรับชะตากรรมครับ คือเรื่อง ปะการังฟอกขาว เป็นเรื่องที่ยังไม่มีมนุษย์คนไหนสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้

ปรากฏการณ์ ปะการังฟอกขาว เกิดจากอะไรครับ

อุณหภูมิน้ำสูงขึ้นครับ แต่ผมยังไม่อยากพูดไปถึงประเด็นโลกร้อนนะครับ เราอาจจะไม่เข้าใจธรรมชาติ เหมือนที่ธรรมชาติเข้าใจเรา การเกิดภาวะที่เรียกว่าอุณหภูมิน้ำสูงขึ้น ในอดีตเนี่ยมันก็เคยเกิดขึ้นแต่ว่าเป็นปกตินะครับ แต่เป็นระยะเวลาสั้นๆ และจะเกิดห่างกว่าในปัจจุบัน ตั้งแต่ดำน้ำมา 20 กว่าปี มันเคยเกิดขึ้น 3-4 ครั้ง ครั้งแรกปี 2538 แต่มันส่งกระทบไม่เยอะและไม่แพร่กระจายเป็นมุมกว้างเท่ากับปี 2553 และในปี 2559 นี้ มีนักวิชาการคาดการณ์ว่า จะเกิดปรากฏการณ์แบบนี้อีกครั้ง ในแถบ Great Barrier Reef ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลกและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว เป็น issue ใหญ่ระดับโลกเลยนะครับ อย่างที่บอก มันเป็นเรื่องที่เราป้องกันไม่ได้ เป็นเรื่องของธรรมชาติ แน่นอนที่สุดผมมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่า เราไม่ใช่ผู้ที่ควบคุมธรรมชาติ แต่ธรรมชาติจะสร้างสมดุลของเขาเอง

อาจารย์เคยเปิดสอนหลักสูตรถ่ายภาพใต้น้ำให้เด็กรุ่นใหม่บ้างรึเปล่าครับ

เคยมีทำ workshop อยู่ 2 3 ครั้งครับ ตอนนี้ก็มีสอนอยู่บ้าง

ปัจจุบันมีคนสนใจในด้านนี้เยอะมั้ยครับ

มีเยอะขึ้นครับ ถ้าพูดถึงเรื่องการสอนทางเทคนิคการถ่ายภาพมันเรียนรู้แปบเดียวก็จบแล้ว แต่ผมว่าความสำคัญที่สุดในการถ่ายภาพก็คือมุมมองและการเล่าเรื่อง อย่างที่บอกว่า การถ่ายภาพมันคือ ภาษา เราใช้เวลาไม่นานในการเรียนภาษาแต่ว่าเราจะสื่อสารอะไรบางอย่างออกไป มันไม่ได้ใช้แค่ภาษา แต่ใช้ความคิดในการสื่อออกไปด้วย ยกตัวอย่าง อย่างคนที่จะพูดได้7 ภาษาไม่ได้แปลว่า เขาจะสื่อสารทุกอย่างออกมาได้ดี คนบางคนพูดได้ภาษาเดียว แต่ว่าสิ่งที่เขาพูดออกมา มันน่าฟัง

เรื่องเล่าต่างมิติ กับ 20 ปีในโลกใต้น้ำของ อ. นัท สุมนเตมีย์

พูดถึง โอเคียนอส กันบ้าง หนังสือภาพเล่มนี้ อาจารย์กำลังสื่อสารเรื่องอะไรครับ

เรื่องของมหาสมุทรครับ ผมคิดว่าหนังสือที่เกี่ยวกับทะเลในเมืองไทย ยังไม่มีหนังสือเกี่ยวกับทะเลที่ดี ทั้งเรื่องคุณภาพของภาพถ่ายและคุณภาพของการจัดพิมพ์ และหนังสือเล่มนี้ไม่ได้บอกเล่าเรื่องแค่เมืองไทยเท่านั้นครับ จริงๆ มันคือบันทึกประสบการณ์ในการทำงานของผม 20 กว่าปีที่ผ่านมา ผ่านมุมมองที่ผมมองเห็นเรื่องราวของโลกใต้ทะเล ความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตที่อยู่ในโลกใต้ทะเล

20 ปีที่ผ่านมา อาจารย์อยากจะบอกอะไรกับคนไทยที่อยากจะสื่อสารกับโลกใต้น้ำ

ถ้าพูดถึงเรื่องทะเล ธรรมชาติ มันค่อนข้างจะไกลตัวในความคิดของคนไทยมากพอสมควรนะครับ คนทั่วไปอาจจะมีความรู้ว่า ดาราคนนี้เป็นแฟนกับคนนี้ มากกว่า โลกใต้ท้องทะเลเป็นอะไร หรือว่าฉลามมีประโยชน์อย่างไรต่อระบบนิเวศ

ถ้าให้ฝากถึงนักท่องเที่ยวที่เป็นคนไทย อาจารย์อยากจะบอกอะไรกับเขาครับในแง่ของการเล่าเรื่องหรือการประชาสัมพันธ์

ผมอาจจะมีความคิดที่แปลกอยู่อย่างหนึ่งครับ ผมเชื่อว่า มหาสมุทรหรือทะเล มันไม่ได้ถูกแบ่งด้วยดินแดน ทุกพื้นที่มันถูกเชื่อมต่อถึงกันหมด พูดง่ายๆ ว่า มีมหาสมุทรแค่อันเดียว มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแอตแลนติก เป็นสิ่งที่มนุษย์สมมติขึ้นมา มันเป็นมรดกของคนทั้งโลก มันไม่ได้เป็นมรดกของคนภูเก็ต คนพังงา คนกระบี่ หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างมันคือมรดกของโลกที่เราต้องร่วมกันดูแลรักษาเอาไว้ ผมอาจไม่ได้พูดถึงเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติสักเท่าไหร่นะครับ แต่ผมอยากจะพูดถึงนิสัยของคนไทย ผมมีความรู้สึกว่า นิสัยของคนไทยมักไม่มองเห็นความสำคัญของส่วนรวม คำพูดที่ผมเกลียดมากก็คือ ใครๆ เขาก็ทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ละ นึกออกมั้ยครับว่า สมมติคุณทำอะไรที่ผิดต่อธรรมชาติสักอย่างหนึ่งแล้วคุณอ้างว่า “ใครๆ เขาก็ทำกัน” หรือ “เราไม่ทำ คนอื่นเขาก็ทำ” ผมว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่มันเป็นค่านิยมที่ผิดนะครับ ถ้ามันผิด ก็ไม่ควรทำสิ ใช่มั้ยครับ แค่นั้นเอง ผมเชื่อว่า คนจะเติบโตมาอย่างมีวิจารณญาณ ทุกคนควรจะรู้ข้อควรปฏิบัติหรือไม่ควรปฏิบัติ ผมว่าในเมืองไทยดีขึ้นกว่าเก่านะครับ เดี๋ยวนี้ทุกคนรู้จักว่า เวลามีคนเยอะๆ เราต้องต่อคิวกัน นั่นเป็นสิ่งที่ดีมาก

เป็นเพราะเราเห็นตัวอย่างหรือข้อผิดพลาดจากประเทศอื่น เราถึงเริ่มทำ

คือผมอยากจะพูดอย่างหนึ่งว่า คนไทยชอบมองเห็นของส่วนรวมเป็นของส่วนตัว เช่น เวลาขับรถบนถนน ก็จะรู้สึกว่าถนนเป็นของตัวเอง จริงๆ แล้ว มันเป็นถนนที่ใช้ร่วมกันนะครับ ไม่ใช่ว่าเป็นถนนของฉันหรือถนนของคุณ แต่เราใช้ถนนด้วยกันหรืออย่างง่ายๆ สมมุติว่า มีต้นไม้ต้นหนึ่งอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์แต่อยู่หลังบ้านลุงคนหนึ่ง ลุงคนนั้นเห็นว่ามันรก ก็อยากจะตัด มันอยู่ในบ้านของฉัน มันจึงเป็นสิทธิ์ของฉัน แต่อย่าลืมว่า ต้นไม้ต้นนั้น มันเป็นสมบัติของโลก เป็นสมบัติของคนทุกคน ผมอยากย้ำอยู่เรื่องหนึ่งว่า ในมุมมองของผมนะครับ ผมว่าการอนุรักษ์ ไม่ได้หมายความว่า เราไม่สามารถใช้สิ่งนั้นได้เลย แต่หมายถึง การนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดมาใช้อย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุด

อยากให้ฝากถึงช่างภาพหรือคนที่สนใจในการถ่ายภาพสำหรับคนรุ่นใหม่หน่อยครับ

ผมว่าคนแต่ละรุ่นก็มีมุมมองต่อโลกที่แตกต่างกันไปนะครับ เหมือนกับ 20 กว่าปีที่แล้ว ผมก็เป็นเด็กรุ่นใหม่คนหนึ่ง มีไฟ มีความกระตือรือร้นมากกว่าทุกวันนี้ แต่ในวันนั้น สิ่งที่ผมไม่มี คือ อุดมการณ์ ถ้าผมย้อนกลับไป และได้ถ่ายภาพนั้นอีกครั้ง ผมเชื่อว่ามันก็ต่างกันไปเนอะ อย่างที่ผมย้ำอยู่เสมอว่า การถ่ายภาพ ประเด็นหลักมันไม่ใช่เรื่องของเทคนิค เทคนิคคือเรื่องที่ถูกห่อหุ้มไว้ข้างนอก สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการถ่ายภาพ มันคือ ภาษา มันคือ การสื่อสาร

ทุกวันนี้อุปกรณ์มันช่วยได้เยอะมาก ถ้าเด็กคนไหนกดชัตเตอร์ได้ ก็ถือถ่ายรูปได้ ในปัจจุบันคนจะมองว่า ทุกคนที่ถือกล้องคือช่างภาพ แต่ในความคิดของผมแล้ว ช่างภาพต้องมีมุมมอง มีการตั้งคำถามกับโลก กับสิ่งที่เห็น แล้วสื่อสารออกมาผ่านภาพถ่ายได้ ผมถึงเรียกคนนั้นว่า ช่างภาพ


Interview : ธนกฤต ชัยสุวรรณถาวร

Photo : Kabe Pastic

Location : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

keyboard_arrow_up