รีโนเวทบ้านเก่าอายุ 30 ปีให้เป็นบ้านเท่ๆ ในคอนเซ็ปต์ “บ้าน 100 ปี”

“ความคุ้มค่าของพื้นที่ในอนาคต” คือหัวใจหลักที่ทำให้คุณกวง – สังวรณ์ เติมกิจวาณิชย์ และคุณนก – อาชิรญาณ์ วานุช เลือกซื้อบ้านมือสองที่มีอายุกว่า 30 ปีหลังนี้ พร้อมกับรีโนเวทใหม่ในสไตล์ของตัวเอง ภายใต้คอนเซ็ปต์ “บ้าน 100 ปี” ที่ยังคงคำนึงถึงความคุ้มค่าของการอยู่อาศัย โดยเฉพาะเมื่อคุณกวงและคุณนกอยากให้บ้านหลังนี้ตกทอดสู่ลูกหลาน โดยไม่ต้องเสียสตางค์ไปกับการรีโนเวทอีกครั้งในอนาคต

หลังจากที่ทีมงานได้พูดคุยกับเจ้าของบ้านจนมาสะดุดกับคอนเซ็ปต์ “บ้าน 100 ปี” เราก็อดไม่ได้ที่จะสืบสาวถึงแนวคิดแรกเริ่มของคอนเซ็ปต์นี้ คุณกวงจึงเล่าถึงแนวคิดบ้านร้อยปีให้ฟังว่า “คอนเซ็ปต์ของผมไม่ได้เป็นเรื่องดีไซน์ คอนเซ็ปต์ของผมคือ ‘บ้านร้อยปี’ หมายถึงว่าผมจะอยู่บ้านหลังนี้โดยที่ไม่ต้องมีรีโนเวทอีก 100 ปี คือคิดว่าเราจะทำบ้านแบบไม่ต้องมานั่งซ่อมอีก พวกระบบต่างๆ ที่เราวางไว้ ผมพยามทำให้ลูกหรือหลานไม่ต้องมานั่งซ่อมมัน

เราเจอเพื่อนพี่น้องที่ซื้อบ้าน แล้วพอถึงเวลา 5 ปีต้องเปลี่ยน สมมติว่าเราซื้อตู้เสื้อผ้าหนึ่งใบ วัสดุที่มันเป็นไม้ บางทีมันเป็นไม้อัดเคลือบ คือพวกนี้มันมีระยะเวลาในการใช้งาน 5 ปี ต้องเปลี่ยนใหม่ แต่ว่าผมเลือกใช้ไม้จริง ปูนก็เป็นปูนธรรมดาเลย อะไรที่เป็นสัจจวัสดุของมัน เราก็ใช้มัน

renovate-home_20

renovate-home_14

มันอาจไม่ตอบสนองจริงๆ กับการเป็นบ้านร้อยปีโดยที่ไม่ต้องซ่อม มันอาจจะมีบ้างแหละที่ต้องซ่อมเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ว่าอะไรที่เราบริหารจัดการต่อเองได้เราก็จะทำเอง เรารู้ระบบหมดทุกอย่าง ตั้งแต่การวางระบบไฟ ระบบประปา เราก็จะเก็บไว้เป็นคัมภีร์ของบ้าน ซึ่งถ้าถามว่าเราซื้อบ้านจัดสรรเราไม่รู้หรอกว่าระบบประปาเขาเดินยังไง ไฟฟ้าเขาเดินยังไง แต่บ้านหลังนี้เรารู้หมด เรามีผังหมด ซึ่งเราเป็นคนวางผังทุกอย่างเองหมด มันก็เลยเป็นคอนเซ็ปต์ว่าอยากให้บ้านคงอยู่ 100 ปี โดยที่ไม่ต้องมีนั่งซ่อม ไม่ต้องมารีโนเวทอีก เพราะว่าการต้องมานั่งซ่อมมานั่งรีโนเวทเรื่อยๆ มันเป็นเงินค่าใช้จ่ายในชีวิตเหมือนกัน”

renovate-home_22

renovate-home_12

และจากความตั้งใจที่อยากให้บ้านคงทนไปอีกร้อยปีนี้เอง ทำให้คุณกวงออกแบบบ้านและแต่งบ้านโดยเลือกใช้สัจจวัสดุเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้ไม้จริงหรือปูนเปลือย ทำให้บ้านหลังนี้กลายเป็นบ้านเท่ๆ สไตล์ลอฟต์จนเพื่อนบ้านเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรงงาน นอกจากนี้ภายในบ้านยังแฝงเสน่ห์ด้วยเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งสไตล์วินเทจที่คุณกวงและคุณนกเก็บสะสมมากว่า 7 ปี ไม่ว่าจะเป็นมือจับรูปเขากวางที่เข้ากันกับประตูไม้ของห้องน้ำ ห่วงชูชีพสีส้มสดที่ประดับโดดเด่นบนผนังของโถงกลาง หรือธงชาติอเมริกาผืนใหญ่ที่แขวนประดับข้างบันได เป็นต้น

“ผมกับแฟนชอบของวินเทจ ลักษณะการใช้ชีวิตเลยเก็บของวินเทจ ผมแต่งบ้านลอฟต์ แต่ว่าของที่เอามาตกแต่งเป็นของวินเทจ พวกพร็อพต่างๆ ที่เอามาใช้คือของที่หามา ไล่เก็บมาได้สัก 6-7 ปี เป็นของสะสม แล้วเราก็เอามาแต่ง เพิ่งฟังก์ชั่นให้มัน”

renovate-home_08

จึงไม่แปลกหากบ้านเท่ๆ สไตล์ลอฟต์ที่เต็มไปด้วยของสะสมสไตล์วินเทจหลังนี้ จะกลายเป็นบ้านที่อบอวลด้วยความสุขของครอบครัว และทันทีที่ก้าวเข้าบ้านก็สะดุดตากับโถงกลางซึ่งเป็นทั้งห้องนั่งเล่นและพื้นที่รับแขก โดยคุณกวงยอมเสียสเปซชั้นสองเพื่อให้โถงกลางนี้เป็นพื้นที่ดับเบิ้ลสเปซที่ทั้งโล่งและโปร่ง เหมาะสำหรับนั่งพักผ่อนกับครอบครัว นอกจากนี้ผนังด้านหนึ่งยังออกแบบให้เป็นพื้นที่เก็บจักรยานคันโปรดอีกด้วย

“…ที่ทำบ้านนี้ก็เหมือนเอาสนุกมากกว่า ซึ่งข้างบ้านมีสเปซเท่ากัน แต่เขาสามารถแบ่งฟังก์ชั่นได้ 5 ห้องนอน แต่ว่าผมแบ่งได้แค่ 2 ห้องนอน ก็เหมือนอยากได้สเปซมากกว่า”

renovate-home_15

เมื่อเดินลึกเข้าไปก็จะพบกับโต๊ะรับประทานอาหารและห้องครัวที่มีพื้นที่กว้างไม่แพ้ส่วนหน้า ตัดความดิบให้บ้านน่าอยู่ด้วยเพดานสีเหลืองสดและผนังอิฐมอญสีส้ม โดยยังคงความเท่ด้วยโคมไฟเพดานที่เคยอยู่ในโรงซ่อมเครื่องบินกับตู้กับข้าวไม้วินเทจซึ่งเป็นเฟอร์นิเจอร์เก่าจากเจ้าของเดิม ส่วนห้องน้ำก็เก๋ไก๋ไม่แพ้กัน เริ่มจากการแต่งด้วยกระเบื้องลายสวยล้อมกรอบด้วยปูนเปลือย โดยชั้นล่างคุมโทนห้องน้ำด้วยสีเหลืองสดใส ส่วนชั้นสองเลือกคุมโทนด้วยสีฟ้าสบายตา ส่วนชั้นสองของบ้านเนรมิตเป็นห้องนอน 2 ห้องนอน 1 ห้องน้ำ และระเบียงนั่งเล่น โดยห้องนอนนั้นเน้นความเรียบง่าย โดยลดทอนความดิบของปูนเปลือยลงด้วยผนังสีฟ้า ส่วนระเบียงชั้นสองก็เนรมิตเป็นพื้นที่นั่งเล่นแบบเอ๊าต์ดอร์ที่ชวนคิดถึงบ้านเรือนไทย เพื่อให้สมาชิกได้มานั่งชิลยามว่าง

นอกจากความดิบที่ดูเท่และของสะสมวินเทจที่มีเอกลักษณ์แล้ว อีกหนึ่งจุดเด่นของบ้านหลังนี้คือการออกแบบให้บ้านมีสเปซที่สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ทั้งหมด ขณะเดียวกันก็แบ่งพื้นที่ได้อย่างชัดเจน

renovate-home_13

renovate-home_19

อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้บ้านหลังนี้แตกต่างจากบ้านรีโนเวทหลังอื่นคือ การเลือกใช้ผู้รับเหมาหลายราย ซึ่งแม้หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก โดยเฉพาะเรื่องการเชื่อมงานทั้งหมดเข้าด้วยกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับทำให้บ้านหลังนี้มีเอกลักษณ์ โดยเฉพาะเมื่อคุณกวงตั้งใจที่จะสร้างคัมภีร์ของบ้าน เพื่อให้บ้านหลังนี้เป็นบ้าน 100 ปีดังที่ตั้งใจไว้ “แล้วก็เรื่องของลอฟต์ คือผมไม่ได้ใช้ผู้รับเหมาตรงทั้งหมด ผมมีจ้างช่างรายวันบ้าง แล้วเราจะเจอปัญหาของช่างไม่เนี้ยบเยอะ บ้านก็เลยไม่เนี้ยบ แล้วบ้านเราใช้ช่างที่ค่อนข้างปุปะมาก แล้วผมเองก็เน้นเรื่องของฟังก์ชั่น เรื่องของดีไซน์ แล้วก็เรื่องของงานระบบมากกว่า มันก็เลยออกมาเป็นลอฟต์แบบดิบมาก”

คุณกวง – สังวรณ์ เติมกิจวาณิชย์ และคุณนก – อาชิรญาณ์ วานุช เจ้าของบ้านและผู้ออกแบบ
คุณกวง – สังวรณ์ เติมกิจวาณิชย์ และคุณนก – อาชิรญาณ์ วานุช เจ้าของบ้านและผู้ออกแบบ

ปิดท้ายกันด้วยคำนิยามของบ้านหลังนี้ที่คุณกวงบอกเล่าด้วยน้ำเสียงสนุกๆ ว่า “เคยได้ยินว่าบ้านในตำนานหรือรถในตำนาน แต่บ้านนี้เป็น ‘บ้านในทำนาน’ คือเป็นบ้านที่ทำนานมาก ทำนานจนคนอื่นคิดว่าเราเองเป็นดีไซเนอร์ เปลี่ยนไปเรื่อยหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีบ้าง แต่ไม่ได้เยอะมาก เพราะว่าผมวางแปลนเอง ทำรูปบ้านเองทั้งหมดอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันต้องมาดูหน้างาน อะไรที่มันเหมาะ มันควรจริงๆ ก็เลยมีปรับเปลี่ยน แต่ก็ไม่ได้เยอะมากหรอกครับ แต่อาจจะมีบางส่วนที่ผู้รับเหมาทำแล้วไม่ค่อยเนี้ยบเราก็แก้กันไป เพราะว่าเราไม่ได้ใช้ผู้รับเหมารายเดียวทั้งหมด พอหลายๆ ปาร์ตี้ ซึ่งจริงๆ ผมว่าซัพพลายเออร์เกิน 10 ปาร์ตี้ได้ ทั้งระบบไฟ ประปา พื้น โครงสร้าง ก็เลยนิยามว่าเป็น ‘บ้านในทำนาน’ นี่แหละ”

เจ้าของบ้านและออกแบบ : คุณกวง – สังวรณ์ เติมกิจวาณิชย์ และคุณนก – อาชิรญาณ์ วานุช
Story : Taliw
Photo : Sroisuwan.T
keyboard_arrow_up